Skip to main content
sharethis

จุดด์ เลกัม นักข่าวอเมริกันรายงานเรื่องที่โซเชียลมีเดียเฟสบุ๊คแอบเปลี่ยนแปลงกฎเกี่ยวกับการห้ามเผยแพร่ข้อมูลเท็จ โดยละเว้นเป็นกรณีพิเศษให้สำหรับ "โฆษณาทางการเมือง" ทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องที่พวกเขาอนุญาตให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เผยแพร่โฆษณาใหม่บนเฟสบุ๊คได้ถึงแม้ว่าจะมีเว็บตรวจสอบข้อเท็จจริงจากภายนอกที่ได้รับการรับรองจากเฟสบุ๊คระบุว่าเป็นข้อมูลเท็จก็ตาม

ที่มาของภาพประกอบ: pexels.com

จากที่ก่อนหน้านี้เฟสบุ๊คเคยมีกฎสั่งห้ามไม่ให้มีโฆษณาที่มีเนื้อหา "หลอกลวง เป็นเท็จ หรือชวนให้ไขว้เขว" ในเฟสบุ๊ค แต่นักข่าวจุดด์ เลกัม นักข่าวอเมริกันผู้เคยทำงานให้สื่อสายก้าวหน้าอย่าง ThinkProgress ก็ระบุว่เฟสบุ๊คแอบเปลี่ยนกฎในเรื่องนี้อย่างเงียบๆ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ให้ "โฆษณาทางการเมือง" สามารถเผยแพร่ได้ถึงแม้จะมีข้อมูลเท็จ นั่นทำให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เผยแพร่วิดีโอโฆษณาโจมตีผู้แทนฝ่ายตรงข้ามคือ โจ ไบเดน ได้โดยไม่ถูกห้าม มีการตั้งข้อสังเกตว่าฝ่ายหาเสียงของประธานาธิบดีทรัมป์เพิ่มเงินซื้อโฆษณาจากเฟสบุ๊คมากกว่า 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

โฆษณาใส่ร้ายป้ายสีที่มาจากเพจของโดนัลด์ ทรัมป์ ระบุว่า "โจ ไบเดน สัญญาว่าจะให้เงินแก่ยูเครน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถ้าหากพวกเขาไล่อัยการที่สืบสวนเรื่องบริษัทของลูชายเขาออก" ซึ่งเว็บไซต์ตรวจสอบข้อเท็จจริงหลายแห่งระบุว่าไม่เป็นความจริง เช่น factcheck.org ระบุว่า "ไม่มีหลักฐานใดๆ ที่ระบุว่าฮันเตอร์ ไบเดน (ลูกชายของโจ ไบเดน) ตกอยู่ภายใต้การสืบสวนสอบสวนใดๆ" ส่วน Politifact ระบุว่า "ฮันเตอร์ ไบเดน ทำงานในยูเครนก็จริง แต่พวกเราไม่พบข้อมูลใดๆ ที่ระบุว่ารองประธานาธิบดี โจ ไบเดน ช่วยเหลือเขาเลย"

อย่างไรก็ตามโฆษกของเฟสบุ๊คกล่าวว่าโฆษณาตัวนี้ไม่ถือเป็นการละเมิดนโยบายขอเฟสบุ๊คเพราะโฆษณาจากผู้แทนทางการเมืองไม่อยู่ในข่ายของสิ่งที่ต้องถูกพิจารณาข้อเท็จจริง

ก่อนหน้านี้ทางเฟสบุ๊คมีกฎระบุห้ามไม่ให้เนื้อหาเหล่านี้นำเสนอข้อมูลเท็จเช่นเนื้อหาที่ถือเป็น "โฆษณา, เพจหน้าแรก และการทำธุรกิจ" แต่ล่าสุดเฟสบุ๊คได้เพิ่มเติมข้อความในส่วนของนโยบายตรงจุดนี้ว่า เนื้อหาจำพวกที่จะไม่ถูกนำมาพิจารณาด้วยคือเนื้อหาที่ "มีเป้าประสงค์หลักต้องการแสดงความคิดเห็นหรือเป็นวาระจากบุคคลทางการเมือง" นั่นทำให้ไม่ว่าจะมีเรื่องโกหกจากโฆษณาของทรัมป์หรือนักการเมืองคนอื่นๆ มากมายขนาดไหนก็ตามเฟสบุ๊คก็จะอนุญาตให้เผยแพร่ได้

นอกจากโฆษณาทางการเมืองแล้ว นโยบายเพิ่มเติมของเฟสบุ๊คยังอนุญาตให้ข้อความอื่นๆ อย่างบทความแสดงความคิดเห็นและงานเชิงเสียดสี (satire) ไม่เข้าข่ายที่ต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริง

โฆษกของเฟสบุ๊คแถลงว่า "พวกเราไม่เชื่อว่าการทำตัวเองเป็นกรรมการทางการเมืองจะเป็นบทบาที่เหมาะสมสำหรับพวกเรา แล้วพวกเราก็ไม่เชื่อว่ามันเหมาะสมถ้าหากจะสกัดกั้นคำกล่าวของนักการเมืองไม่ให้เข้าถึงผู้รับชมแล้วปล่อยให้มันเป็นเรื่องของประชาชนจะไปถกเถียงอภิปรายและใคร่ครวญ"

อย่างไรก็ตามมีการตั้งข้อสังเกตว่าในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมามีโฆษณาของทรัมป์หลายตัวที่เข้าข่ายเป็นข้อมูลเท็จหรือชวนให้ไขว้เขว แต่ก็จะไม่เป็นปัญหากับกฎใหม่ที่เฟสบุ๊คเพิ่งออก ทั้งนี้สื่อ The Verge ยังเคยนำเสนอข้อมูลที่รั่วไหลจากการประชุมของเฟสบุ๊ค ซึ่งซีอีโอของเฟสบุ๊คกล่าวในที่ประชุมว่ามันจะเป็นเรื่อง "ห่วยแตก" ถ้าหาก อลิซาเบธ วอร์เรน หนึ่งในผู้แทนพรรคเดโมแครตที่มาแรงได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีและบอกอีกว่าจะ "สู้" กับเธอให้ "แพ้ชนะกันไปข้างหนึ่ง"

ซึ่งอลิซาเบธ วอร์เรน กล่าวโต้ตอบซัคเคอร์เบิร์กในเรื่องนี้ว่า "สิ่งที่จะถือว่า 'ห่วยแตก' จริงๆ คือการที่พวกเราไม่แก้ไขระบบที่ฉ้อฉลปล่อยให้บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างเฟสบุ๊คมีพฤติกรรมกีดกันทางการแข่งขันซึ่งถือว่าผิดกฎหมาย มีกระทำการเหยียบย่ำสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภค และ มีความเงอะงะซ้ำๆ หลายครั้งต่อเรื่องความรับผิดชอบของพวกเขาในการปกป้องประชาธิปไตย"

เรียบเรียงจาก

Facebook says Trump can lie in his Facebook ads, Popular Information, 03-10-2019

Facebook exempts political ads from ban on making false claims, The Guardian, 04-10-2019

READ THE FULL TRANSCRIPT OF MARK ZUCKERBERG’S LEAKED INTERNAL FACEBOOK MEETINGS, The Verge, 01-10-2019

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Judd_Legum
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net