Skip to main content
sharethis

ผบ.ตร. ออกคำสั่ง สตช. แต่งตั้งพนักงานสืบสวนสอบสวน ให้  พล.ต.ท.พงษ์วุฒิ  ผู้ช่วย ผบ.ตร.นั่งหัวหน้าทีม คดี กอ.รมน. ฟ้องข้อหายุยงปลุกปั่นให้วงเสวนานับหนึ่งรัฐธรรมนูญใหม่ ระบุเพื่อความเรียบร้อย รวดเร็ว ต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ 

24 ต.ค.2562 จากกรณีที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า ได้แจ้งความร้องทุกข์เพื่อให้ดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ฐานยุยงปลุกปั่นแก่นักวิชาการ นักกิจกรรม และแกนนำพรรคฝ่ายค้าน อันเนื่องมาจากการเข้าร่วมการเสวนา “พลวัตแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่นับหนึ่งรัฐธรรมนูญใหม่” ที่บริเวณลานวัฒนธรรมจังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 28 ก.ย.ที่ผ่านมานั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ออกคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ที่ 548/2562 เรื่อง แต่งตั้งพนักงานสืบสวนสอบสวน โดยระบุว่า สตช. พิจารณาแล้วเห็นว่าคดีนี้เป็นคดีสำคัญเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ เป็นที่สนใจของประชาชนและสื่อมวลชน มีพยานวัตถุ พยานเอกสารและพยานบุคคลที่จะต้องรวบรวมเป็นจำนวมาก เพื่อให้การสืบสวนสอบสวนเป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวดเร็ว ต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ จึงแต่ตั้งพนักงานสืบสวนสอบสวน โดยมี พล.ต.ท.พงษ์วุฒิ พงษ์ศรี ผู้ช่วย ผบ.ตร. เป็นหัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวน มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบสืบสวนสอบสวนคดีดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา รวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ เพื่อที่จะทราบข้อเท็จจริงหรือพิสูจน์ความรับผิดชอบ กลุ่มบุคคลหรือเครือข่ายให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว หากการสืบสวนพบว่ามีผู้อื่นร่วมกะรทำผิดหรือมีการกระทำผิดอื่นเกี่ยวเนื่องกันก็ให้มีอำนาจสอบสวนดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดนั้นๆ แล้วรายงานต่อ สตช.ทราบ

พร้อมทั้ง มอบให้ พล.ต.อ.สุวัตน์ แจ้งยอดสุข รอง ผบ.ตร. เป็นผู้ควบคุมกำกับดูแลการสืบสวนสอบสวนเพื่อให้การสืบสวนสอบสวนคดีดังกล่าวเสร็จสิ้นโดยเร็ว

ก่อนหน้านี้ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) พร้อมกับนักวิชาการและบุคคลตามรายชื่อแนบท้ายจำนวน 268 คน ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลต่อกรณีดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง และแสดงความเห็นต่อสาธารณชน รวมทั้งข้อเสนอต่อสถาบันในกระบวนการยุติธรรมและสังคมไทยอันเนื่องมาจากกรณีข้างต้นดังนี้

1. องค์กรชั้นต้นในกระบวนการยุติธรรม อันได้แก่พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการ พึงแสดงความกล้าหาญและซื่อสัตย์ต่อหลักวิชาชีพด้วยการทำคดีนี้อย่างซื่อตรงและเป็นอิสระจากการชี้นำของผู้มีอำนาจ โดยยึดหลักเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลอันได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ตลอดจนเจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายอาญาตามมาตรา 116 โดยสั่งไม่ฟ้องคดีนี้ตั้งแต่ในชั้นของพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ เพื่อไม่ให้การฟ้องคดีเพื่อปิดปากประชาชนประสบผลสำเร็จ และเพื่อลดภาระของกระบวนการยุติธรรมในชั้นศาลในการพิจารณาคดีที่มีลักษณะการฟ้องคดีเพื่อปิดปากเช่นนี้

2. สถาบันการศึกษาทางนิติศาสตร์พึงนำกรณีนี้และกรณีอื่นๆ ที่มีลักษณะเป็นการนำกฎหมายปกติที่มีเจตนารมณ์คุ้มครองสังคมมาบิดเบือนในการสร้างความมั่นคงในอำนาจของผู้ปกครองและกำจัดฝ่ายที่เห็นต่าง ซึ่งเกิดขึ้นตลอดระยะเวลา 5 ปีภายใต้ระบอบการปกครองของ คสช. มาเป็นกรณีศึกษาในการเรียนการสอน เพื่อชี้ให้นักศึกษากฎหมายเห็นอันตรายจากการบิดเบือนกฎหมายเพื่อตอบสนองผู้มีอำนาจตามอำเภอใจ อันเป็นอุปสรรคที่ทำให้หลักนิติธรรมไม่อาจตั้งมั่นอยู่ได้ในสังคมไทย

3. สังคมไทยควรตระหนักถึงอันตรายจากการให้สถาบันทางทหารเข้ามาก้าวก่ายในกิจการพลเรือน โดยเฉพาะในพื้นที่ทางการเมืองซึ่งควรเปิดกว้างทางความคิดเห็นและปลอดจากความเกรงกลัวในผลกระทบใดๆ และช่วยกันผลักดันให้ทหารออกไปจากพื้นที่ของพลเรือน กลับไปปฏิบัติภารกิจหลักของตนดังเช่นทหารอาชีพในนานาอารยประเทศที่ยึดมั่นในหลักอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net