Skip to main content
sharethis

นักเศรษฐศาสตร์เสนอไทยเร่งทำให้สิทธิแรงงานเป็นไปตามมาตรฐานสากลเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม คาด 6 เดือนข้างหน้าจะเกิดการลดชั่วโมงการทำงาน การหยุดงาน หยุดผลิต เลิกจ้างในธุรกิจอุตสาหกรรมส่งออกเพิ่มขึ้น แรงงานทักษะต่ำจำนวนมากต้องออกจากงานในระบบตอนอายุ 45 ปี สัดส่วนการจ้างงานนอกระบบของแรงงานในวัย 45-59 ปีจึงเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 61-69% 


ที่มาภาพประกอบ: Nick Youngson CC BY-SA 3.0 ImageCreator

3 พ.ย. 2562 ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้เสนอไทยเร่งทำให้สิทธิแรงงานเป็นไปตามมาตรฐานสากลเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม สิทธิจีเอสพีเป็นเพียงผลพลอยได้ ชี้ยังมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนตามมาอีกมากมาย อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ตกต่ำและการชะลอลงของเศรษฐกิจโลกทำให้ในระยะ 6 เดือนข้างหน้าจะมีการเลิกจ้าง การลดชั่วโมงการทำงาน การปิดงานชั่วคราวหรือการปิดโรงงานจะเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะธุรกิจอุตสาหกรรมส่งออก การส่งเสริมให้ผู้ใช้แรงงานและคนงานมีอำนาจต่อรองมากขึ้นจะเป็นหลักประกันในการสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและความเสมอภาคทางสังคม การจ้างงานที่ไม่เป็นมาตรฐาน การจ้างงานชั่วคราว การจ้างงานบางช่วงเวลาจะเพิ่มมากขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี 

ทั้งนี้การรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคม และการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน และ ILO ฉบับ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักแห่งสิทธิในการรวมตัวกัน และการเจรจาต่อรอง จะช่วยทำให้ระบบการจ้างงานมีความเป็นธรรมต่อผู้ใช้แรงงานมากขึ้น และยังทำให้เกิด 'ประชาธิปไตย' ในสถานประกอบการอันเป็นรากฐานของประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและการเมืองในระดับชาติอีกด้วย ILO ทั้งสองฉบับ 87, 98 นั้นมีการเรียกร้องให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญามาร่วม 20 ปีแล้วแต่ยังไม่มีรัฐบาลใดตอบสนอง ปัจจุบันแม้ไทยจะมีกฎหมายคุ้มครองการรวมตัวของแรงงานในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 แต่ก็ถือเป็นกฎหมายแรงงานฉบับที่มีสาระที่ไม่ก้าวหน้านัก การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพการจัดตั้งองค์กรและเรียกร้องต่อรองของลูกจ้างยังไม่ได้มาตรฐาน มีการแก้ไขในสมัยรัฐบาลรัฐประหารหลายยุคในการลดความเข้มแข็งของขบวนการแรงงานโดยเฉพาะประเด็นการลิดรอนสิทธิแรงงานในการรวมกลุ่มในปี พ.ศ. 2519 และ พ.ศ. 2534 

นโยบายและมาตรการต่างๆ ของหลายรัฐบาลมุ่งไปที่การดูแลคนยากจนและผู้มีรายได้น้อยเป็นนโยบาย 'เอื้อคนจน' (Pro-poor policy) เป็นเรื่องที่ดี นโยบายเหล่านี้ล้วนเป็นประโยชน์ในการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เพิ่มความเป็นธรรมทางสังคม รวมทั้งมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากที่หลายปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจเติบโตเฉพาะเศรษฐกิจฐานบน ขณะที่เศรษฐกิจฐานรากยังมีความอ่อนแออยู่ การเพิ่มอำนาจการเจรจาต่อรองและการเพิ่มสิทธิในการรวมกลุ่มของผู้ใช้แรงงานทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจลดลงได้ 

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ในฐานะอดีตอนุกรรมการกลั่นกรองกฎหมายฯและพัฒนาสิทธิประโยชน์ สำนักงานประกันสังคม กล่าวอีกว่า การปกป้องสิทธิของแรงงานเปราะบางรวมทั้งแรงงานข้ามชาติและการจ้างงานในภาคนอกระบบมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในภาวะที่การจ้างงานที่ไม่ได้มาตรฐาน ความไม่มั่นคงในการทำงานเพิ่มสูงขึ้นและรายได้ลดต่ำลง แม้นไทยจะรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 181 ว่าด้วย 'หลักการไม่เลือกปฏิบัติ' ในกฎหมายแรงงานสำคัญ เช่น พรบ คุ้มครองแรงงาน พรบ ประกันสังคม พรบ เงินทดแทน แต่แรงงานข้ามชาติยังมีอุปสรรคในการเข้าถึงสิทธิต่างๆและขาดเสรีภาพในการสมาคมและสิทธิในการเจรจาต่อรองร่วม มีแรงงานต่างด้าวจำนวนมากถูกเอาประโยชน์ เอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรมในการจ้างงานโดยเฉพาะในภาคประมง ภาคก่อสร้าง ภาคเกษตรกรรมและงานบ้าน และ แรงงานต่างด้าวเหล่านี้เป็นพลังในการร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจและภาคการผลิตไทย และ แรงงานข้ามชาติเหล่านี้เข้ามาอยู่ในไทยประมาณ 3.8 ล้านคน ขณะที่คนไทยมากกว่า 1 แสนคนก็ออกไปทำงานในต่างประเทศ การทำให้เรื่องสิทธิแรงงานในไทยเป็นมาตรฐานสากลย่อมทำให้ประเทศไทยสามารถคุ้มครองสิทธิ “คนงานไทย” ในต่างประเทศได้อย่างเท่าเทียมอีกด้วย 

ทั้งนี้มาตรฐานแรงงานและสิทธิแรงงานที่เป็นสากลนั้นมีเนื้อหาครอบคลุม 22 หัวข้อ เช่น เสรีภาพในการสมาคม การร่วมเจรจาต่อรอง และแรงงานสัมพันธ์ (Freedom of association, collective bargaining, and industrial relations) การขจัดการใช้แรงงานเด็ก และการคุ้มครองเด็กและผู้เยาว์ ห้ามใช้ระบบแรงงานทาสและแรงงานบังคับ โอกาสและการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน การร่วมปรึกษาหารือไตรภาคี การส่งเสริมและนโยบายการจ้างงาน  การฝึกอบรมและการแนะแนวอาชีพ การคุ้มครองความเป็นมารดา ความมั่นคงในการจ้างงานและทางสังคม ความปลอดภัยและสุขอนามัยในการทำงาน เป็นต้น หลายเรื่องนั้นไทยได้ก้าวหน้าไปไกลและดีขึ้นตามลำดับ ไม่ว่าสหรัฐอเมริกาก็ดี อียูก็ดี ไม่สามารถนำมาใช้เป็นมาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษีกับสินค้าส่งออกไทยได้อีกต่อไป 
    
ผศ.ดร.อนุสรณ์ ระบุว่าแต่บางเรื่องนั้นเรายังไม่ได้มาตรฐานจริงและยังมีการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงอีกมาก แรงงานไทยส่วนใหญ่ร้อยละ 49 อยู่ในภาคการจ้างงานที่มีประสิทธิภาพต่ำจึงไม่สามารถจ่ายค่าจ้างสูงได้ การส่งเสริมผลิตภาพภาคแรงงานจึงเป็นเรื่องที่ต้องทำควบคู่กับการคุ้มครองแรงงาน จึงทำให้ความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจไทยและคุณภาพชีวิตแรงงานไทยดีขึ้นไปพร้อมกัน นอกจากนี้ แรงงานทักษะต่ำจำนวนมากต้องออกจากงานในระบบตอนอายุ 45 ปี สัดส่วนการจ้างงานนอกระบบของแรงงานในวัย 45-59 ปีจึงเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 61-69% จากการสำรวจข้อมูลล่าสุด และแรงงานในวัย 45-60 ปีจะถูกเลิกจ้างเพิ่มขึ้นในช่วง 6 เดือนข้างหน้าและต้องออกมาทำงานนอกระบบโดยไม่สมัครใจจำนวนไม่น้อยเนื่องจากไม่มีเงินออมมากพอที่จะดำรงชีพได้จึงต้องทำงานเพื่อหารายได้ต่อไป ขณะที่นักศึกษาจบใหม่จะว่างงานมากขึ้นหรือทำงานไม่ตรงกับสาขาที่เรียนอันเป็นผลจากความอ่อนแอของการเชื่อมโยงกันระหว่างภาคการผลิตกับภาคการศึกษา นโยบายแรงงานจึงต้องไม่มองขบวนการแรงงานหรือสหภาพแรงงานหรือการเจรจาต่อรองในเรื่องแรงงานเป็นความวุ่นวายแต่ต้องมองว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน (Fundamental Rights at Work) ได้แก่ ค่าตอบแทนที่เป็นธรรม ห้ามการบังคับใช้แรงงาน คุ้มครองแรงงานเด็ก การห้ามเลือกปฏิบัติ และสิทธิรวมตัวและการเจรจาต่อรองร่วม นอกจากนี้ยังต้องส่งเสริมศักยภาพการมีงานทำ (Productive Employment) ได้แก่ การมีงานทำที่มั่นคงต่อเนื่อง การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน การเข้าถึงตลาด และสินเชื่อ ฯลฯ ต้องมีการขยายความคุ้มครองทางสังคม (Social Protection) ได้แก่ หลักประกันสังคม อาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน การศึกษา ฯลฯ ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยก้าวหน้าขึ้นจากการเพิ่มการมีส่วนร่วมของตัวแทนลูกจ้างและองค์กรแรงงาน ฉะนั้น การมีผู้แทนและมีส่วนร่วม (Social Dialogue) เพื่อเป็นหลักประกันในการกำหนดนโยบายหรือกฎเกณฑ์ที่สอดคล้องกับระบบแรงงานที่เป็นธรรมและมีผลิตภาพจึงมีความสำคัญ 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net