Skip to main content
sharethis

แอนโธนี ดวอร์กิน นักวิจัยฝ่ายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สภายุโรป นำเสนอบทวิเคราะห์เกี่ยวกับปฏิบัติการสังหารกอเซ็ม สุไลมานี แสดงให้เห็นการยกระดับอย่างมีนัยสำคัญในการใช้กำลังของรัฐบาลสหรัฐฯ ต่อสิ่งที่ถูกมองเป็นภัยจากภายนอก นับตั้งแต่หลังจากเกิดเหตุการณ์ 911 เพราะใช้วิธีกำจัดผู้ก่อการร้ายกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ สะท้อนการยกระดับเพดานความรุนแรง อาจนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้น

กอเซ็ม สุไลมานี (ที่มา:วิกิพีเดีย)

สื่อด้านความมั่นคง Just Security นำเสนอบทวิเคราะห์กรณีการสังหาร กอเซ็ม สุไลมานี ผู้บัญชาการกองกำลังคุดส์ของอิหร่านที่มีอิทธิพลมากในภูมิภาคตะวันออกกลาง จากมุมมองของ แอนโธนี ดวอร์กิน นักวิจัยอาวุโสฝ่ายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของสภายุโรป

บทวิเคราะห์ระบุว่าคำสั่งสังหารสุไลมานีจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แสดงให้เห็นว่ามีการเบนเข็มออกจากปฏิบัติการ "สงครามต่อต้านการก่อการร้าย" แบบเดิมที่เป้าหมายมักจะเป็นบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทหารโดยทั่วไป แต่ในครั้งนี้เป้าหมายคือคนที่มีตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการของอิหร่าน ทำให้การโจมตีในครั้งนี้นำไปสู่บริบทของความขัดแย้งแบบระหว่างรัฐชาติ (inter-state) สุ่มเสี่ยงต่อเส้นแบ่งระหว่างสงครามกับสันติภาพ

หลังเหตุการณ์โจมตีตึกเวิร์ลด์เทรดและเพนทากอนในปี 2544 ที่เรียกว่าเหตุการณ์ 911 (ไนน์วันวัน) ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ต่างอาศัยปฏิบัติการแบบเน้นโจมตีสมาชิกกลุ่มติดอาวุธในพื้นที่ห่างไกลของประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปากีสถาน โซมาเลีย หรือเยเมน ทำให้ "กระบวนทัศน์สงคราม (war paradigm)" ในยุคนั้นถูกมองว่าเป็นปฏิบัติการแบบต่อต้านการก่อการร้าย อ้างสิทธิในการกำจัดผู้ก่อการร้ายในฐานะสมาชิกข้าศึกราวกับเป็นการสู้รบกับรัฐชาติอื่น

ปฏิบัติการสังหารสมาชิกกลุ่มติดอาวุธก่อนหน้านี้เป็นการลดกำแพงข้อจำกัดการใช้กำลังเพื่อให้บุคคลถึงแก่ชีวิต เพราะเป็นการตั้งเป้าสังหารผู้ก่อการร้ายนอกสภาพการณ์แบบสนามรบ โดยที่ผู้ก่อการร้ายเหล่านั้นไม่จำเป็นต้องแสดงให้เห็นว่าพวกเขาจะก่อเหตุอันตรายถึงชีวิตแต่อย่างใด ช่วงสงครามต่อต้านการก่อการร้ายนี้ยังเป็นการย้ายบริบทของสงครามไปสู่บริบทของการสอดแนมและการตั้งเป้าหมายเป็นรายบุคคลมากขึ้น ถือเป็นการขยายความหมายของสนามรบมากขึ้นแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

ดวอร์กินชี้ว่าในกรณีการสังหารสุไลมานีนั้นต่างกันออกไปตรงที่การโจมตีแบบวางเป้าหมายตัวบุคคลในครั้งนี้ ไม่ใช่ปฏิบัติการแบบจัดการกับผู้ก่อการร้ายแต่เป็นการดึงให้สหรัฐฯ เผชิญหน้ากับอีกรัฐหนึ่ง จริงอยู่ที่การสังหารแม่ทัพนายกองของข้าศึกในช่วงสงครามอาจจะถือเป็นเรื่องปกติและสหรัฐฯ ก็เคยทำมาก่อนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 คือการสังหารจอมพลเรืออิโซโรกุ ยามาโมโตะ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ แต่ปฏิบัติการดังกล่าวก็เกิดขึ้นในยุคสมัยที่เกิดสงครามเต็มรูปแบบ ในขณะที่การโจมตีสุไลมานีเกิดขึ้นในช่วงที่สหรัฐฯ กับอิหร่านไม่ได้มีความขัดแย้งในระดับสงครามโดยตรงต่อกันและกัน

ในทางตรงกันข้าม ฝ่ายทรัมป์กล่าวอ้างว่าการโจมตีในครั้งนี้เป็นปฏิบัติการเพื่อ "ยับยั้งสงคราม" ไม่ให้เกิดขึ้น นั่นทำให้การโจมตีสุไลมานีมีลักษณะคล้ายกับปฏิบัติการสังหารรายบุคคล ในแบบที่สหรัฐฯ อิสราเอล และประเทศอื่นๆ บางประเทศกระทำต่อเป้าหมายที่ไม่ใช่คนที่เกี่ยวข้องกับรัฐ แต่ถูกมองว่าเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย

กระนั้นก็ตามจากข้อมูลรายงานข่าว เจ้าหน้าที่ทางการสหรัฐฯ ก็เปรียบเทียบสุไลมานีกับผู้นำกลุ่มก่อการร้ายอย่าง อะบู บาการ์ อัลบักดาดี อดีตผู้นำกลุ่มรัฐอิสลาม หรือไอซิสที่เสียชีวิตในปี 2562 รวมถึงมีการพูดถึงบทบาทของสุไลมานีในฐานะคนที่สนับสนุนกลุ่มติดอาวุธในภูมิภาคตะวันออกกลางอย่างฮิซบอลเลาะห์ กลุ่มที่ถูกโยงเข้ากับการก่อเหตุโจมตีในอิรักที่สังหารชาวอเมริกันไปหลายราย

ดวอร์กินระบุว่า ไม่ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะมองสุไลมานีในแง่ไหนก็ตาม การโจมตีเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงในช่วงที่ไม่ได้มีสงครามถือเป็นการก้าวล่วงล้ำเส้นไปมากกว่าสงครามต่อต้านการก่อการร้ายก่อนหน้านี้ จากการที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนก่อนๆ หน้านี้ก็สามารถอนุมัติโจมตีสุไลมานีได้แต่ยับยั้งช่างใจไม่สั่งการในเชิงที่จะเป็นการกระตุ้นเร้าการโต้ตอบแบบในยุคสมัยของทรัมป์

บทวิเคราะห์ของดวอร์กินเปรียบเทียบกับอีกเหตุการณ์หนึ่งในยุคสมัยของประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน ในปี 2529 ที่มีปฏิบัติการจากสหรัฐฯ โจมตีฐานที่มั่นทางทหารในลิเบียโดยมีมูอัมมาร์ กัดดาฟี เป็นเป้าหมาย เพื่อโต้ตอบการที่ลิเบียก่อเหตุวางระเบิดดิสโกเทคที่เยอรมนีตะวันตกในปีเดียวกัน ดวอร์กินบอกว่าปฏิบัติการของสหรัฐฯ ในยุคสมัยนั้นไม่ได้รับการยอมรับจากสหประชาชาติและมีมติประณามการกระทำดังกล่าวโดยระบุว่าเป็นการละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติและกฎหมายนานาชาติ แต่ก็น่าสังเกตที่การสังหารสุไลมานีกลับถูกปล่อยให้เกิดขึ้นได้

รัฐบาลสสหรัฐฯ ระบุว่าพวกเขาปฏิบัติการสังหารสุไลมานีในฐานะที่เป็น "ปฏิบัติการป้องกัน" จากบุคคลที่พวก "ดำเนินการอย่างแข็งขันในการพัฒนาแผนการเพื่อโจมตีทูตอเมริกันและเจ้าหน้าที่รัฐที่อยู่ในอิรักและทั่วภูมิภาค(ตะวันออกกลาง)" แต่กฎบัตรของสหประชาชาตินั้นอนุญาตให้ใช้กำลังเช่นนี้ได้เฉพาะการปกป้องตนเองจากการโจมตีของกองกำลังติดอาวุธเท่านั้น การที่ปล่อยให้มีการโจมตีสุไลมานีเกิดขึ้นจึงเสมือนเป็นการลดระดับการควบคุมปฏิบัติการทหารของสหรัฐฯ ที่อาจจะมีการยกระดับให้รุนแรงขึ้นมากกว่านี้ได้

เรียบเรียงจาก

Soleimani Strike Marks a Novel Shift in Targeted Killing, Dangerous to the Global Order, Anthony Dworkin, Just Security, Jan. 7, 2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net