Skip to main content
sharethis

รายงานเครือข่ายปกป้องเด็กจังหวัดชายแดนใต้ แจงข้อมูลผลกระทบความขัดแย้งในพื้นที่ชายแดนใต้ต่อนักเรียน ครู และโรงเรียน กังวล ทหารติดอาวุธปืนเข้าโรงเรียนตาดีกาทั้งทำกิจกรรม สอดแนม จะทำให้นักเรียนชินชากับความรุนแรง เสียสุขภาพจิต แนะ งดทหารเข้าทำกิจกรรมในโรงเรียน หรือแจ้งวัตถุประสงค์ให้ชัด ไม่ติดอาวุธ

ภาพทหารติดอาวุธเข้าทำกิจกรรมในโรงเรียนในพื้นที่ชายแดนใต้ (ที่มา:มูลนิธิผสานวัฒนธรรม)

10 ม.ค. 2563 เครือข่ายปกป้องเด็กจังหวัดชายแดนใต้ ได้เผยแพร่รายงานการศึกษา โรงเรียนปลอดภัยเพื่อทุกคน ผ่านทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ (อ่านรายงานฉบับเต็ม)

รายงานให้ข้อมูลเชิงสถิติของจำนวนครูที่เสียชีวิตในพื้นที่ชายแดนใต้ช่วง 15 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ในโรงเรียนตาดีกา และแสดงความกังวลต่อการเข้าไปทำกิจกรรมในโรงเรียนของหน่วยทหารที่มักพกอาวุธเข้าไปในโรงเรียน ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพจิตในระยะยาวของครูและนักเรียน โดยเสนอแนะให้เจ้าหน้าที่ทหารไม่ควรเข้ามาทำกิจกรรมในโรงเรียน โดยแจ้งวัตถุประสงค์ที่แท้จริง แต่งกายให้เหมาะสมและไม่สวมใส่อาวุธ

รายงานฉบับย่อมีเนื้อหาดังนี้

วันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคม ทุกปีเป็นวันเด็กแห่งชาติ  ในปีนี้เครือข่ายปกป้องเด็กจังหวัดชายแดนใต้ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้  เพื่อสร้างให้เกิดโรงเรียนปลอดภัยเพื่อทุกคน Safe School for  All

มีข้อเท็จจริงในสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ที่ผ่านมาว่ามีการโจมตีจำนวนมากเหล่านี้มุ่งเป้าไปที่กองกำลังความมั่นคงของรัฐบาลรวมทั้งที่ปฏิบัติการอยู่ในบริเวณโรงเรียนเพื่อปกป้องครูและนักเรียน ความรุนแรงทำให้โรงเรียนเสียหายและมีการทำร้ายนักเรียนและครู การโจมตีโรงเรียนเหล่านี้ยังคงมีการรายงานอย่างต่อเนื่องแต่เริ่มมีแนวโน้มที่ลดลงตั้งแต่ปี 2558 โดยตัวเลขการโจมตีโรงเรียนตั้งแต่ปี 2547-2562 มีจำนวน 400 โรง และจากข้อมูลของสมาพันธ์ครู 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่า ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา มีครูเสียชีวิตจากเหตุความรุนแรง 182 คน และทุพพลภาพถาวร จำนวน 11 คน แต่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาแทบไม่เกิดเหตุรุนแรงกับครู ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ดี

อย่างไรก็ตามเครือข่ายปกป้องเด็กจังหวัดชายแดนใต้ ได้พบว่ามีรายงานสถานการณ์ที่น่าห่วงกังวลต่อเด็กในจังหวัดชายแดนใต้ คือการปฏิบัติการทางทหารโดยรัฐภายในโรงเรียนภายใต้นโยบายการป้องกันการชักจูงเด็กเข้าร่วมขบวนการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งทำให้หน่วยงานทหารในจังหวัดชายแดนใต้มีมาตรการการดูแลโรงเรียนตาดีกา โดยมีเป้าหมายอยู่ที่เด็กจำนวนกว่าหนึ่งแสนห้าหมื่นคนในจังหวัดชายแดนใต้ หากมาตรการนี้ยังยุติหรือไม่ดำเนินการโดยบุคลากรที่มีความเข้าใจเรื่องสิทธิเด็กแล้วย่อมส่งผลกระทบทางด้านจิตใจต่อเด็กในระยะยาว และขัดต่อปฏิญญาสากลว่าด้วย โรงเรียนที่ปลอดภัย (Safe School Declaration) อีกทั้งกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศระบุว่า “โรงเรียนจะต้องได้รับการพิจารณาว่าเป็นพื้นที่ของพลเรือนและจะต้องไม่ถูกโจมตี ครูและนักเรียนมีความเสี่ยงเป็นพิเศษหากอาคารเรียนถูกใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางทหารโดยฝ่ายต่างๆที่ขัดแย้งกัน

โดยข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2561 จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) มีโรงเรียนตาดีกาจำนวน 2,116 ศูนย์ มีจำนวนนักเรียน 159,305 คน จำนวนครู 14,732 คน ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา   

รายงานฉบับนี้ได้รวบรวมข้อมูลจากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ที่เกี่ยวข้องกับการโจมตีโรงเรียน ครูและนักเรียน และการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) กับครูตาดีกาจำนวน 12 โรงเรียนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ รวมจำนวน 17 คนและสัมภาษณ์แบบกลุ่ม (Focus group) จำนวน 30 คน เพื่อศึกษาเบื้องต้นถึงรูปแบบการปฏิบัติการทางทหารโดยรัฐในโรงเรียนตาดีกาและค้นหาแนวทางในการปกป้องคุ้มครองเด็กนักเรียนและครูในสถานศึกษาซึ่งอาจไม่ใช่จำนวนทั้งหมดของครูตาดีกาแต่เพื่อศึกษารูปแบบปฏิบัติการทหารในโรงเรียนตาดีกาและแนวทางในการแสวงหาแนวทางในการปกป้องและคุ้มครองเด็กในโรงเรียนตาดีกาและเพื่อป้องกันโรงเรียนอื่นๆต่อไปในอนาคต

มีข้อค้นพบว่า การไปทำกิจกรรมในโรงเรียนของหน่วยทหารเหล่านี้มักจะพกพาอาวุธไปด้วย ซึ่งภายใต้หลักกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศการมีทหารไปปฏิบัติหน้าที่ในโรงเรียนตาดีกาทำให้เด็กนักเรียนตาดีกาตกอยู่ภายใต้ความเสี่ยงต่อชีวิตและส่งผลต่อพฤติกรรมและสุขภาพจิตของเด็กในระยะยาว กิจกรรมของหน่วยทหารในพื้นที่ส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอน  ต่อครูและต่อเด็กในโรงเรียน อีกทั้งการมาโรงเรียนตาดีกาของเจ้าหน้าที่ทหารมีเป้าหมายที่เชื่อได้ว่าเป็นการต้องการข้อมูลครูตาดีกาเพราะหน่วยงานทหารมีความเชื่อว่าครูตาดีกาคือครูที่ชักจูงเด็กให้เข้าร่วมกองกำลังติดอาวุธที่ไม่ใช่รัฐในระหว่างการสอนตาดีกา โดยมุ่งสอดส่องพฤติกรรมเด็กผ่านการใช้กลไกของผู้ปกครอง ครูประจำชั้นและผู้นำศาสนา ตลอดจนในระยะยาวแล้วก็มุ่งปรับเปลี่ยนหลักสูตรและครูของโรงเรียนตาดีกาไปตามที่รัฐเห็นสมควร

เครือข่ายปกป้องเด็กชายแดนใต้มีข้อห่วงกังวลถึงผลกระทบระยะยาวต่อเด็ก เช่น มีผลต่อพฤติกรรมที่ก้าวร้าวและส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็กหรือไม่ทำให้เกิดความชินชาและไม่แสดงออกในเชิงการปฏิเสธความรุนแรงอีกต่อไป มีความรู้สึกเหมือนว่าภาพจำที่ทหารถือปืนเดินไปเดินมาเป็นภาพปกติในชีวิตประจำวันที่ควรจะเป็นแต่จริงๆ ไม่ควรเป็นเช่นนั้น เป็นต้น

จากการสัมภาษณ์และเก็บข้อมูลรายงานฉบับนี้ได้นำเสนอข้อแนะนำที่ควรนำไปปรึกษาหารือและปรับปรุงแนวทางเพื่อให้กิจกรรมดังกล่าวคำนึงถึง ผลประโยชน์ต่อเด็กเป็นสำคัญทั้งนี้ครูตาดีกาได้มีข้อเสนอแนะต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหารไม่ควรมาทำกิจกรรมใดใดในโรงเรียนตาดีกา หากทหารต้องมาโรงเรียนต้องไม่พบอาวุธ แจ้งล่วงหน้ากับผู้ใหญ่บ้านหรือผู้ดูแลโรงเรียน มาเฉพาะเวลาพักระหว่างวันเพื่อมิให้รบกวนเวลาสอน รวมทั้งขอให้แต่งกายชุดธรรมดา ไม่ใส่ชุดเครื่องแบบทหาร แต่ควรมีป้ายชื่อหรือแสดงตนว่าเป็นทหารชัดเจนไม่ใช่การเข้ามานอกเครื่องแบบแบบแอบแฝง  และแจ้งวัตถุประสงค์ที่แท้จริง ว่าเข้ามาเพื่ออะไร  เจ้าหน้าที่ที่ทำงานกับเด็กควรได้รับการอบรมเรื่องสิทธิเด็กเพื่อมิให้การทำงานไปกระทบกับสิทธิของเด็ก ถ้าเจ้าหน้าที่ต้องการข้อมูลก็ให้ติดต่อที่หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงโรงเรียนตาดีกา เป็นต้น

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net