Skip to main content
sharethis

นักข่าวและนักจัดรายการในอังกฤษ ซามิรา อาห์เหม็ด ชนะคดีเรียกร้องค่าจ้างเท่าเทียมกันระหว่างเพศที่เขาฟ้องร้องต่อบีบีซี นับเป็นหมุดหมายสำคัญที่อาจจะทำให้เกิดการฟ้องร้องแบบเดียวกันจากคนทำงานรายอื่นๆ ซึ่งอาจจะทำให้บีบีซีต้องจ่ายหลายล้านปอนด์

ซามีรา อาห์เหม็ดเป็นผู้จัดรายการนิวส์วอทช์ของช่องบีบีซี เธอชนะคดีเรียกร้องค่าจ้างเท่าเทียมกับผู้ชายทำให้บีบีซีต้องจ่ายค่าจ้างคืนให้เธอ 700,000 ปอนด์ (ราว 27 ล้านบาท) เนื่องจากก่อนหน้านี้บีบีซีเลือกปฏิบัติทางเพศกับการจ่ายค่าจ้างให้เธอกับพิธีกรชายอย่างไม่เท่าเทียมกัน โดยที่พิธีกรชาย เจเรมี ไวน์ ได้รับค่าจ้าง 3,000 ปอนด์ต่อหนึ่งตอน (ราว 118,000 บาท) ขณะที่อาห์เหม็ดได้รับ 440 ปอนด์ต่อหนึ่งตอน (ราว 17,000 บาท) ถึงแม้ว่าจะทำงานในรูปแบบเดียวกันคือเป็นพิธีกรรายการข่าว

ศาลการจ้างงานของอังกฤษตัดสินอย่างเป็นเอกฉันท์ว่าบีบีซีไม่สามารถให้หลักฐานได้ดีพอในการอ้างอิงเหตุผลว่าทำไมถึงมีการจ่ายค่าจ้างต่างกันระหว่างสองพิธีกรนี้ทำให้เรื่องนี้มองเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากเป็นการเลือกปฏิบัติทางเพศสภาพ ฝ่ายอาห์เหม็ดบอกว่าเธอรู้สึกดีใจที่คดีนี้จบลงหลังจากที่มีข้อพิพาทกับที่ทำงานของเธอมาเป็นเวลาหลายปี

มิเชลล์ สตานิสตรีท เลขาธิการใหญ่สหภาพนักข่าวแห่งชาติอังกฤษผู้ที่หนุนหลังคดีของอาห์เหม็ดเปิดเผยว่ามีคดีรูปแบบเดียวกันที่ฟ้องร้องบีบีซีเกี่ยวกับกรณีการเลือกปฏฺิบัติค่าจ้างส่งถึงศาลว่าด้วยการจ้างงาน และมีคดีแบบเดียวกันนี้อีก 70 คดีที่ยังคงไม่ได้รับการตัดสิน สตานิสตรีทแถลงอีกว่าทางฝ่ายผู้บริหารของบีบีซีได้แสดงท่าทีว่าจะแก้ไขข้อพิพาทคดีเหล่านี้หลังจากที่มีกรณีของอาห์เหม็ด

ฝ่ายบีบีซีเคยให้การโต้กลับเกี่ยวกับคดีของอาห์เหม็ดว่างานของอาห์เหม็ดกับงานของไวน์ต่างกันทำให้มีค่าจ้างต่างกัน โดยอ้างว่ารายการที่ไวน์เป็นพิธีการต้องใข้คนที่ "มีความทะลึ่งทะเล้น" และมี "ประกายในแววตา" แต่ศาลก็ตัดสินว่าคำกล่าวอ้างของบีบีซีนั้นเป็นแค่ความแตกต่างเพียงเล็กน้อยในงานที่พิธีกรทั้งสองคนทำจึงไม่สามารถนำมาอ้างเลือกปฏิบัติในการให้ค่าจ้างได้

นอกจากนี้ยังมีพยานระบุว่างานของไวน์ก็ใช้วิธีอ่านสคริปจากเครื่องฉายข้อความอัตโนมัติ รวมถึงมีการกำกับน้ำเสียงที่ควรจะใช้พูดข้อความเหล่านี้เขียนไว้ และข้อความกำกับกิริยาท่าทางต่างๆ แม้กระทั่งการกลอกตา ซึ่งพยานรายนี้ระบุว่ามันเป็น "สิ่งที่ไม่ต้องใช้ทักษะเฉพาะทางหรือประสบการณ์ใดๆ เลย"

ผู้พิพากษาสรุปในคำตัดสินโดยอาศัยกฎหมายว่าด้วยความเสมอภาคว่า ทางบีบีซีไม่ได้แสดงให้เห็นสาเหตุเรื่องความแตกต่างในการจ่ายค่าจ้างด้วยปัจจัยทางวัตถุ จึงไม่สมควรที่จะทำให้มีการเลือกปฏิบัติต่ออาห์เหม็ด ทั้งนี้ศาลยังระบุอีกว่าพวกเขาไม่ยอมรับข้ออ้างออีกประการหนึ่งของบีบีซีที่บอกว่าราคาค่าจ้างของไวน์เป็นไปตามอัตราราคาตลาดสำหรับดาราที่มีชื่อเสียงมาก แต่หลักฐานกลับระบุตรงกันข้ามว่าไวน์ได้รับค่าจ้างสูงกว่าอัตราราคาตลาด

ชัยชนะของอาห์เหม็ดในครั้งนี้ทำให้เกิดเสียงชื่นชมจากพิธีกรและนักรณรงค์ที่มีชื่อเสียง หนึ่งในนั้นคือแคร์รี เกรซี ผู็ที่ลาออกจากบีบีซีในปี 2561 เนื่องจากไม่พอใจเรื่องการเลือกปฏิบัติค่าจ้าง เจน การ์วีย์ พิธีกรรายการของวิทยุเรดิโอ 4 ก็แสดงความชื่นชมว่าการสู้คดีนี้ต้องอาศัยความกล้าหาญอย่างแท้จริง

พอลลี รอดเวย์ หุ้นส่วนจากบริษัททนายความ BDBF กล่าวว่าชัยชนะในครั้งนี้จะทำให้มีคนฟ้องร้องข้อพิพาทในทำนองนี้มากขึ้นราวทำนบแตก ซึ่งอาจจะทำให้บีบีซีต้องจ่ายให้กับคำตัดสินจำนวนมาก และอาจจะถึงในระดับหลายล้านปอนด์

ฝ่ายบีบีซีแถลงว่าพวกเขากำลังพิจารณาคำตัดสินในครั้งนี้และมองว่าคำตัดสินนี้ไม่ได้เป็นคำตัดสินที่จะครอบคลุมต่อคณะทำงานฝ่ายข่าวและฝ่ายบันเทิงทั้งหมด และพวกเขาจะยังคงสู้คดีอื่นๆ ในศาลว่าด้วยการจ้างงานขอองอังกฤษต่อไป โฆษกของบีบีซีแถลงว่า "พวกเรากำลังพิจารษาคำตัดสินนี้อย่างถี่ถ้วน พวกเรารู้ว่าการสู้คดีในศาลว่าด้วยการจ้างงานเป็นประสบการณ์ที่ไม่น่าพิศมัยไม่ว่าจะกับใครก็ตามที่เกี่ยวข้อง พวกเราต้องการทำงานร่วมกับซามีราในการดำเนินการให้เป็นไปในทางบวก"


เรียบเรียงจาก
BBC facing huge bill for equal pay cases after Samira Ahmed verdict, The Guardian, 10-01-2020
https://www.theguardian.com/media/2020/jan/10/samira-ahmed-wins-equal-pay-claim-against-bbc

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net