Skip to main content
sharethis

ดินถล่มในไซต์งานก่อสร้างที่ญี่ปุ่น พบแรงงานไทยดับ 1 ราย

เกิดเหตุหน้าดินถล่มในไซต์งานก่อสร้างที่ จ.ชิบะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2563 ตามเวลาท้องถิ่น ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 คน ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ เปิดเผยว่า เป็นคนงานผู้หญิงสัญชาติไทย อายุประมาณ 40-50 ปี ทั้งนี้ จากการสอบถามเพื่อนร่วมงาน ระบุว่าไม่ทราบตัวตนและชื่อจริงของผู้เสียชีวิตดังกล่าว

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 17/1/2563

กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จัดอบรมเทคนิคการขับรถลากจูงหนุนการขนส่งและโลจิสติกส์

นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เปิดฝึกอบรมสาขา “เทคนิคการขับรถลากจูง” พัฒนาทักษะยกระดับอาชีพพนักงานขับรถบรรทุก ระหว่างวันที่ 6 มกราคม - 4 กุมภาพันธ์ 2563 รวมระยะเวลาการฝึกอบรมทั้งสิ้น 210 ชั่วโมง ณ ศูนย์ฝึกอบรมด้านโลจิสติกส์ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เพื่อพัฒนาพนักงานขับรถบรรทุกให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนเสริมสร้างวินัยผู้ขับรถบรรทุกขนาดใหญ่ ให้ปฏิบัติอย่างถูกต้องตามกฎจราจร เสริมสร้างความปลอดภัยแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน มีทัศนคติที่ดีต่อการประกอบอาชีพพนักงานขับรถบรรทุก และเพื่อยกระดับอาชีพพนักงานขับรถบรรทุกสู่ความเป็นมืออาชีพ

นายธวัช กล่าวต่อไปว่า สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติ ได้บูรณาการร่วมกับหลายหน่วยงาน อาทิ สำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงราย บริษัท เอสซีจี สกิล ดีวิลลอปเมนต์ จำกัด บริษัท เอสซี แคลิเออร์ จำกัด บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) บริษัท มนต์ทรานสปอร์ต จำกัด บริษัท ไปรษณีย์ไทย ดีสทริบิวชั่น จำกัด และสมาคม Northern - TLAPS โดยผู้เข้ารับการฝึกอบรมประกอบด้วย ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เจ้าของสถานประกอบกิจการ และพนักงานบริษัทจากหลากหลายจังหวัด สำหรับผู้เข้าอบรบในครั้งนี้เป็นผู้ที่เดินทางมาจากจังหวัด พิจิตร บึงกาฬ อำนาจเจริญ และพิษณุโลก จำนวน 20 คน และบุคลากรจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จำนวน 1 คน รวมจำนวนทั้งสิ้น 21 คน

นางสาวสุขศรี ไล่กสิกรรม ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะได้เรียนรู้ในหัวข้อ ความปลอดภัยทั้งในฐานะผู้ใช้รถและผู้ใช้ถนน กฎจราจร ระเบียบข้อบังคับตาม พ.ร.บ.การจราจร วิธีการขับรถอย่างถูกวิธี วิธีการลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุขณะขับรถ ความรู้พื้นฐานของเครื่องยนต์ อุปกรณ์ส่วนควบของรถพ่วง การตรวจสอบรถบรรทุกประจำวันก่อนใช้งาน การตรวจสอบระบบห้ามล้อ ระบบบังคับเลี้ยว ระบบรองรับน้ำหนัก ระบบส่งกำลัง และวิธีการใช้และบำรุงรักษาอุปกรณ์ส่วนควบ วิธีการต่อและปลดอุปกรณ์ส่วนควบ ตลอดจนมีทักษะและความสามารถเกี่ยวกับการขับขี่รถหัวลากพร้อมกับใช้งานอุปกรณ์ได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย

ที่มา: สยามรัฐ, 17/1/2563 

เผย MONO เตรียมเลิกจ้างพนักงาน 200 คน 'ฝ่ายข่าว-บันเทิง-บริการลูกค้า' หลังรายได้พลาดเป้า

รายงานข่าว เผยว่าฝ่ายบริหารงานบุคคล MONO29 ได้เรียกพนักงานฝ่ายต่างๆ เพื่อแจ้งให้ทราบถึงการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ โดยต้องลดจำนวนคน ซึ่งปัจจุบัน ฝ่ายข่าวมีพนักงานอยู่ประมาณ 80 คน และฝ่ายอื่นๆ ที่ต้องปรับรวมถึงฝ่ายบันเทิง ฝ่ายบริการลูกค้า รวมแล้วประมาณ 200 คน ซึ่งถือว่า เป็นการปรับใหญ่ที่สุดครั้งแรกของ MONO

ขณะเดียวกันมีการตั้ง บรรณาธิการบริหารฝ่ายข่าวคนใหม่ เบญจวรรณ สมสิน จากช่อง 3 แทนบรรณาธิการคนเดิมซึ่งได้ออกไปก่อนหน้านี้ราวกลางเดือน ม.ค. 2563

สำหรับโครงสร้างธุรกิจ MONO ประกอบด้วย 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มธุรกิจสื่อ สื่อทีวี สื่อออนไลน์ บริการสมัครรับข้อมูลข่าวสาร สื่อวิทยุ และ กลุ่มธุรกิจการให้บริการคอนเทนต์ ประกอบด้วย ธุรกิจภาพยนตร์ ธุรกิจกีฬา ธุรกิจเพลง ธุรกิจบันเทิง ธุรกิจเกม ธุรกิจคอมเมิร์ซ

ที่มา: โพสต์ทูเดย์, 17/1/2563 

นักธุรกิจมุสลิมยะลา เผย ครม.สัญจรฯ ควรเร่งแก้ปัญหาการว่างงานในพื้นที่ เพื่อยกระดับเศรษฐกิจ

นายอันวาร์ อุเซ็ง นักธุรกิจมุสลิมยะลา เปิดเผยว่า ในนามของนักธุรกิจจังหวัดยะลา และตัวแทนนักธุรกิจสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขอต้อนรับคณะรัฐมนตรีที่ลงมาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งการที่คณะรัฐมนตรีที่ลงพื้นที่ในครั้งนี้ ถือว่าให้ความสำคัญกับประชาชน ทำให้เข้าถึงประชาชนมากขึ้นและเกิดประโยชน์แก่ประชาชน ที่เห็นได้ชัดคือการการอัดฉีดเงินในส่วนของการดูแลคณะรัฐมนตรี ยกตัวอย่างคือธุรกิจร้านอาหารจะคึกคักมาก และการมาเยือนของคณะรัฐมนตรีในครั้งนี้จะได้รู้ว่าประชาชนต้องการอะไร ซึ่งจะนำสู่คณะรัฐมนตรี ส่วนเรื่องที่ตนกังวลก็คือในเรื่องของการรักษาความปลอดภัยด้านการจราจร เช่น การปิดเส้นทางสัญจร เรื่องนี้จะทำให้ประชาชนที่ทำธุรกิจค้าขายในเส้นทางที่ถูกปิดถนนเกิดความเดือดร้อน ต้องสูญเสียรายได้

นายอันวาร์ อุเซ็ง นักธุรกิจมุสลิมยะลา ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเด็นเศรษฐกิจในพื้นที่ในขณะนี้ สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ประชาชนมีการว่างงาน อาจมีสาเหตุที่มาจากทักษะการทำงานของประชาชน หรืออาชีพในปัจจุบันที่มีอยู่น้อยก็ตาม ถ้าสอบข้าราชการไม่ได้ การจะเป็นนักธุรกิจ การค้าขายหรือผู้ประกอบการก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนกันนี่คือจำกัด ส่วนเรื่องของยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่นั้น ตนมองว่า เรายังไม่พร้อมในหลายด้านไม่ว่าจะเป็นท่าเรือ หรือสนามบิน ซึ่งสนามบินก็ยังไม่พร้อมที่จะทำธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบ ดังนั้นสิ่งแรกที่ต้องมีและคำนึงถึงก็คือทักษะการทำงาน การหารายได้ การประกอบอาชีพของคนในพื้นที่ จะต้องเพิ่มมากขึ้นกว่านี้

“อย่างไรก็ตามเรื่องที่ต้องเร่งแก้เร่งด่วน คือเยาวชนในพื้นที่ ติดยาเสพติดกันเป็นจำนวนมาก เพราะเขาไม่รู้ว่าเป้าหมายของเขาคืออะไร ซึ่งเรื่องนี้ก็ล้วนเป็นปัจจัยการไม่มีงานทำ เมื่อไม่มีงานทำ อัตราการว่างงานที่เยอะ ก็จะทำให้เศรษฐกิจจะไม่เดิน ต้องเร่งการสร้างงานให้คนในพื้นที่ให้มากขึ้น ก็จะไม่ทำให้เยาวชนในพื้นที่จะไม่ยุ่งกับยาเสพติด ดังนั้นเรื่องที่เร่งด่วนคือการสร้างงานให้กับประชาชนในพื้นที่ ส่วนเรื่องการตั้งอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ตนเห็นด้วยอย่างยิ่ง อยากให้ใช้งานได้จริง ๆ เพราะทราบว่าโครงการนี้มีมานานแล้ว แต่ไม่มีการสานต่อและทำให้เห็นเป็นรูปธรรม ที่นี่เรามีทุกอย่าง อย่างเช่น อาหารทะเลที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งเราสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ดี ซึ่งต้องเรียนว่าเรามีปัญหาในเรื่องนี้ นักธุรกิจจึงไม่มีกิจกรรมที่จะทำธุรกิจ”

ที่มา: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 17/1/2563

'กมธ.แรงงาน' ระบุผลักดันงบประกันสังคมสำเร็จกว่า 1 หมื่นล้าน

16 ธ.ค. 2563 ที่รัฐสภา นายทวีศักดิ์ ทักษิณ โฆษกคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร แถลงว่า คณะกรรมาธิการฯ ได้ผลักดันของบประมาณเพิ่มเติมให้แก่สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เป็นผลสำเร็จ จำนวน 11,240 ล้านบาท เพื่อให้สำนักงานประกันสังคมมีงบประมาณมาใช้จ่ายหนี้ค้างชำระเงินสมทบกองทุนประกันสังคมตามกฎหมายประกันสังคมให้ครบถ้วน เพื่อกองทุนจะได้นำเงินส่วนนี้ไปใช้จ่ายเป็นเงินสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกันตน และรักษาเสถียรภาพกองทุน สร้างโอกาสในการนำเงินไปลงทุนเพื่อได้รับผลตอบแทนที่ดีแก่ผู้ประกันตน

นายทวีศักดิ์ กล่าวอีกว่าคณะกรรมาธิการฯ ได้รับรายงานด้วยว่าบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งได้ฟ้องหมิ่นประมาทผู้สื่อข่าวที่เผยแพร่ข่าวการละเมิดสิทธิแรงงาน โดยศาลชั้นต้นได้ตัดสินให้จำคุกผู้สื่อข่าวที่นำเสนอข่าวเป็นเวลา 2 ปีโดยไม่รอลงอาญา ซึ่งอาจส่งผลให้ไม่มีสื่อมวลชนกล้านำเสนอข่าวเรื่องการละเมิดสิทธิแรงงานอีกต่อไป เนื่องจากมีการฟ้องปิดปาก ดังนั้น กรรมาธิการฯ จึงได้หารือและได้ข้อสรุปว่า จะมีการตั้งคณะทำงานเพื่อยุติการฟ้องปิดปาก โดยจะทำงานร่วมกับคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อจัดทำกฎหมายป้องกันการฟ้องปิดปากสื่อมวลชนในอนาคต และเยียวยาต่อปัญหาที่เกิดขึ้นด้วย

นายทวีศักดิ์ กล่าวด้วยว่าขณะนี้มีการเลือกปฏิบัติผ่านอุดมการณ์ทางการเมืองในสถานประกอบการ ละเมิดสิทธิแรงงานที่มีความเห็นต่างทางการเมือง โดยบังคับให้ลาออก ตามที่ปรากฏเป็นข่าวว่า ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแห่งหนึ่งปฏิเสธรับสมัครบุคลากรที่มีความเห็นต่างทางการเมือง ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ จะตั้งคณะทำงานเพื่อทำการพัฒนากฎหมายป้องกันการเลือกปฏิบัติก่อนเข้าทำงาน เพื่อให้มีบทลงโทษที่ชัดเจน ทั้งนี้ในวันที่ 24 ม.ค. 2563 คณะกรรมาธิการฯ จะเดินทางไปประชุมร่วมกับรมว.แรงงาน และผู้บริหารส่วนราชการของกระทรวงแรงงาน เพื่อหารือถึงปัญหาแรงงานต่างๆ ด้วย

ที่มา: แนวหน้า, 16/1/2563 

กรมพัฒนาฝีมือแรงงานฝึกเสริมทักษะให้แก่กลุ่มผู้สูงอายุ สร้างราย-ลดปัญหาภาวะซึมเคร้าและอัลไซเมอร์ในผู้สูงวัย

นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จากข้อมูลของมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย และสถาบันวิจัยสังคมและประชากร มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ประเทศไทยมีประชากรกว่า 67 ล้านคน ในปี 2560 มีผู้สูงอายุ (บุคคลที่มีอายุ มากกว่า 60 ปี) อยู่ราว ๆ 11.3 ล้านคน (คิดเป็นร้อยละ 17.1 ของประชากรทั้งหมดในประเทศไทย) และคาดว่าภายใน 3 ปีข้างหน้า ไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์” คือมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 20 ซึ่งนั่นหมายถึงวัยแรงงานลดลง มีผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศอย่างแน่นอน

ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ และนโยบายของ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่มุ่งเน้นให้ส่งเสริมการมีงานทำที่มีคุณค่า (Decent Work) ให้คนทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัย ดังนั้นการฝึกอาชีพให้แก่ผู้สูงอายุ จึงเป็นอีกภารกิจหนึ่งที่กพร.ดำเนินการ เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้สูงอายุมีงานทำ อีกทั้งสามารถสร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว รวมถึงเพื่อให้ผู้สูงอายุมีกิจกรรมทำยามว่าง และป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้ด้วย นอกจากนี้ยังช่วยให้ผู้สูงอายุได้พบปะพูดคุยกับเพื่อนในวัยที่ใกล้เคียงกัน ส่งผลให้มีสุขภาพจิตใจที่ผ่องใส

นายธวัช กล่าวต่อไปว่า ล่าสุดได้มอบหมายให้นายประทีป ทรงลำยอง รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ลงพื้นที่จังหวัดเชียงราย เป็นเยี่ยมชมการฝึกในโครงการฝึกอบรมแรงงานผู้สูงอายุเพื่อเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ ซึ่งมีผู้สูงอายุเข้าฝึกอบรมจำนวน 20 คน ระหว่างวันที่ 9-13 มกราคม 2563 ณ วัดเทพวัน อ.เมืองพาน จ.เชียงราย โดยผู้สูงอายุจะได้รับการฝึกด้านศิลปะประดิษฐ์จากเศษวัสดุ เช่น นำซองกาแฟมาทำเป็นกล่องใส่กระดาษทิชชู กล่องใส่ของอเนกประสงค์ ตะกร้าใส่ของ หรือนำขวดพลาสติกมาทำเป็นของประดับตกแต่งบ้าน และวัสดุเหลือใช้อื่นๆ ในท้องถิ่น มาประดิษฐ์เป็นของใช้รูปแบบต่างๆ

ด้านนายประทีป ทรงลำยอง กล่าวเพิ่มเติมว่า จังหวัดเชียงรายมีประชากรกว่า 1,292,000 คน เป็นผู้สูงอายุจำนวนกว่า 214,000 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 16.56 ของประชากรในจังหวัด ซึ่งผู้สูงอายุสามารถนำความรู้และประสบการณ์ถ่ายทอดให้กับชนรุ่นหลังได้เป็นอย่างดี การเพิ่มพูนความรู้ในด้านดังกล่าว จะช่วยเพิ่มช่องทางให้ผู้สูงอายุมีงานทำ สามารถนำวัสดุเหลือใช้ที่มีในท้องถิ่นมาแปรรูปเป็นงานประดิษฐ์ในแบบต่างๆ จำหน่ายได้ทั้งในชุมชนและส่งไปขายจังหวัดอื่นได้ด้วย อาทิ กรุงเทพมหานคร

คุณยายผัดแก้ว เชื่อสุนทร เล่าว่า เคยผ่านการอบรมงานศิลปะประดิษฐ์มาหลายครั้ง แต่ละครั้งจะได้รับความรู้แตกต่างกัน และนำไปทำผลิตภัณฑ์จำหน่าย เคยทำตะกร้าใส่ของส่งไปขายที่กรุงเทพ ได้เงินมาครั้งละ 3,000 – 4,000 บาท ยายผัดแก้วยังบอกอีกด้วยว่า มีเจ้าหน้าที่ของอบต. จ้างยายไปสอนคนในหมู่บ้านอื่นๆ ด้วย ยายก็เอาความรู้จากที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 20 เชียงรายที่จัดวิทยากรมาสอน ไปแนะนำคนอื่นๆ ต่อ ได้บุญและมีรายได้ ที่สำคัญคือมีเพื่อนมากขึ้นทำให้ไม่เหงา

ที่มา: สยามรัฐ, 16/1/2563 

เกาหลีใต้คืนเงินประกันให้แรงงานไทยรวม 36 ล้านบาท ติดต่อขอรับคืนด่วน

ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กรมการจัดหางาน (กกจ.) ได้รับการประสานจากสำนักบริการพัฒนาบุคลากรแห่งเกาหลีประจำประเทศไทย (HRD Korea) แจ้งเร่งรัดให้แรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในเกาหลีใต้ ตามระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ (EPS) จนครบกำหนดตามสัญญาจ้างแล้วเดินทางกลับประเทศไทย แต่ยังไม่ได้ยื่นขอรับเงินประกันค่าบัตรโดยสารเครื่องบิน เงินรางวัลสิ้นสุดสัญญาจ้าง (เงินแทจิกกึม) และเงินบำนาญแห่งชาติ (เงินกุกมิน) คืนจากสาธารณรัฐเกาหลี ติดต่อขอรับเงินประกันคืน ตั้งแต่บัดนี้

ด้าน นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ขอให้ผู้ที่เคยไปทำงานสาธารณรัฐเกาหลีดำเนินการโดย 1.ตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิ์รับเงินประกันและ ดาวน์โหลดเอกสารคำร้องขอยื่นคืนเงินประกันได้ที่เว็บไซต์ www.hrdkoreathailand.com 2.กรอกเอกสารคำร้องและแนบเอกสาร ดังนี้ 1) ใบคำร้องขอเงินประกันคืน 2) สำเนาหนังสือเดินทาง เล่มที่เคยอยู่เกาหลี 1 ฉบับ 3) สำเนาสมุดบัญชีธนาคารของผู้มีสิทธิ์รับเงิน 1 ฉบับ โดยยื่นเอกสารที่ สำนักงานแรงงานจังหวัด ใกล้บ้าน หรือ สถาบันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เกาหลี ประจำประเทศไทย (HRD Korea Thailand EPS Center) กระทรวงแรงงาน ตึกประกันสังคมเขตพื้นที่ 3 ชั้น 12 ถนนมิตรไมตรี ดินแดง กทม. 10400 โดยทางสำนักบริการพัฒนาบุคลากรแห่งเกาหลีประจำประเทศไทย (HRD Korea) จะเป็นผู้โอนเงินคืนผ่านบัญชีธนาคาร ให้กับแรงงานไทย

“ แรงงานไทยที่ยังไม่ได้รับเงินคืน ขอให้รีบตรวจสอบสิทธิ์ทางเว็บไซต์ดังกล่าวข้างต้น แล้วดำเนินการยื่นเรื่องโดยด่วน ซึ่งมีแรงงานไทยที่มีสิทธิขอรับเงินคืน 1,781 คน เป็นเงินจำนวน 1,297,440,300 ล้านวอน หรือคิดเป็นเงินไทย มูลค่ากว่า 36 ล้านบาท สอบถามรายละเอียดการยื่นขอเงินประกันได้ที่ สำนักงานแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด , ทาง E-mail : hrdkoreathai@gmail.com , เว็บไซต์ www.hrdkoreathailand.com ,Facebook https://www.facebook.com/hrdkoreathai หรือโทร. 0 2245 9433 ” นายสุชาติกล่าว

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 16/1/2563 

เผยครูทั่วประเทศเป็นหนี้รวมกันกว่า 1.1 ล้านล้านบาท ตกรายละ 3 ล้าน

16 ม.ค. 2563 นายสำคัญ จงโกเย็น เลขาธิการศูนย์ประสานงานการแก้ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงปัญหาหนี้สินครูว่า ในปัจจุบันนี้ปัญหาหนี้สินครูยังถือว่าอยู่ในขั้นวิกฤต เนื่องจากสถิติพบว่า มีครูประมาณ 4 แสนราย หรือคิดเป็นร้อยละ 80 ของครูทั่วประเทศ เป็นหนี้สินท่วมตัว ส่วนใหญ่เฉลี่ยเป็นหนี้สินรายละไม่ต่ำกว่า 3 ล้านบาท โดยแยกออกเป็นหนี้ ชพค.4 แสนล้านบาท กับหนี้สหกรณ์ครู 7 แสนล้านบาท รวมแล้วเป็นเงินกว่า 1.1 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 16 ของมูลหนี้ทั้งประเทศเลยทีเดียว

นายสำคัญ กล่าวต่อว่า สิ่งที่ทำให้ครูมีปัญหาหนี้สินท่วมตัว ส่วนหนึ่งเกิดจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น ความต้องการในปัจจัย 4 สูงขึ้น ภาระครอบครัวมากขึ้น ความไม่มีวินัยของครู และความไม่มีวินัยของสถาบันการเงิน

ซึ่งขณะนี้ทางศูนย์ประสานงานการแก้ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาแห่งประเทศไทย กำลังดำเนินการช่วยเหลือครูที่เดือดร้อนจากปัญหาหนี้สินท่วมตัว แต่เนื่องจากว่าปัญหานี้มีมูลค่าเงินที่สูงมาก รัฐบาลเองก็ไม่ค่อยมีเงินจะมาแก้ปัญหา

เบื้องต้นจึงต้องเดินเรื่องฟ้องต่อศาลคุ้มครองผู้บริโภค 4 หน่วยงาน คือ 1.ครม.ที่ออกนโยบายปี 50 ซึ่งออกนโยบายมาไม่ประสบความสำเร็จ และยิ่งเพิ่มปัญหาให้ครูมากขึ้น อีกทั้งไม่มีการติดตามนโยบายอย่างจริงจัง 2.ธนาคารออมสิน ที่ออกสัญญาไม่เป็นธรรม เป็นสัญญาสำเร็จรูป มีข้อสัญญาหลายข้อที่เป็นการกระทำฝ่ายเดียว 3.สกสค. และ 4.ทิพยประกันภัย ซึ่งการฟ้องครั้งนี้เป็นทางแพ่งเพื่อนำไปสู่การทำให้สัญญาเป็นโมฆะ และเริ่มต้นกันใหม่

ขณะเดียวกันเนื่องในวันครูแห่งชาติ ตนก็อยากฝากถึงครูรุ่นใหม่ ที่กำลังจะได้รับบรรจุเข้ามาสอนหนังสือตามโรงเรียนและสถานศึกษาต่างๆ ขอให้ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง อย่าประมาท หากจะกู้เงินก็ขอให้มีวินัยทางการเงินด้วย ใช้หนี้แล้วอย่างน้อยต้องมีเงินเดือนเหลือ 30% จึงจะปลอดภัยที่สุด

ที่มา: ข่าวสด, 16/1/2563 

ชาวบ้านพับซองยาเส้นเตรียมร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน สธ.บังคับใช้ถุงสำเร็จรูปจากโรงงาน ทำลายอาชีพหลายพันคน

นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ มีมติเห็นชอบร่างอนุบัญญัติออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับหีบห่อผลิตภัณฑ์ยาสูบประเภทยาเส้นหรือยาเส้นปรุง หรือซองยาเส้นแบบเรียบ ตาม พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ 2560 และได้เสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงนามไปเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2562 แล้ว และจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 ก.พ. 2563 ที่จะถึงนี้ โดยมุ่งหวังลดแรงจูงใจในการบริโภค และแก้ไขปัญหาการใช้พื้นที่บนซองยาเส้นเป็นสื่อโฆษณาและส่งเสริมการขายนั้น

แต่เนื่องจากการกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าว เป็นการบังคับให้ซองยาเส้นพิมพ์สำเร็จจากถุงพลาสติกอย่างเดียวเท่านั้น เป็นการปิดกั้นและทำลายอาชีพพับฉลากซองยาเส้น ที่เน้นใช้แรงงานคนมากกว่า ทำให้คนเหล่านี้ต้องตกงานลงทันที โดยไม่มีมาตรการรองรับ ซึ่งมีแรงงานที่อยู่ในอาชีพนี้หลายพันคน อีกทั้งหลักเกณฑ์ดังกล่าว จึงเป็นการย้อนแย้งต่อนโยบายลดเลิกการใช้ถุงพลาสติกของรัฐบาลโดยตรงอีกด้วย

ทั้งนี้ มาตรการสำคัญที่ใช้ในการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบประเภทยาเส้นหรือยาเส้นปรุงเน้นการจัดให้มีฉลากรูปภาพ ขนาดตัวอักษรของชื่อตรา ชื่อผู้ผลิต ผู้นำเข้า ฉลากรูปภาพ ข้อความ รวมถึงคำเตือนถึงพิษภัยของยาเส้นหรือยาเส้นปรุง และช่องทางการติดต่อเพื่อการเลิกยาสูบนั้นเป็นสิ่งที่ชาวบ้านไม่ได้คัดค้าน หากแต่การมาบังคับให้ซองยาเส้นผลิตจากถุงพลาสติกพิมพ์สำเร็จจากโรงงานอย่างเดียวเท่านั้นเป็นสิ่งที่ชาวบ้านรับไม่ได้

ที่สำคัญการออกประกาศกฎหมายดังกล่าว ไม่ได้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องแต่อย่างใด รวมทั้งไม่ได้มีการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ ไม่มีการรับฟังความคิดเห็นเพื่อนํามาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอนตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 ม.77 บัญญัติไว้แต่อย่างใด

ด้วยเหตุดังกล่าว สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย และตัวแทนชาวบ้านที่มีอาชีพพับซองยาเส้น จะเดินทางไปร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อให้ใช้อำนาจในการเสนอแนะต่อหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการปรับปรุงประกาศกระทรวงสาธารณสุขดังกล่าว ซึ่งก่อให้เกิดความเดือดร้อนและไม่เป็นธรรมแก่ชาวบ้านเกินสมควรแก่เหตุต่อไป โดยจะเดินทางไปยื่นคำร้องในวันพฤหัสที่ 16 ม.ค. 2563 เวลา 12.00 น. ณ สนง.ผู้ตรวจการแผ่นดิน ชั้น 5 ศูนย์ราชการฯ อาคาร B ถ.แจ้งวัฒนะ หลักสี่ กทม.

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 15/1/2563 

กสร. จัดเวทีระดมความคิดเห็นค้นหาปัจจัยความสำเร็จมุ่งพัฒนาการบริหารกองทุน เพื่อผู้ใช้แรงงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่ากองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงาน เป็นทุนหมุนเวียนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และบริหารงานโดยคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงาน ซึ่งได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นอีกจำนวน 5 คณะ ประกอบด้วย 1. คณะอนุกรรมการพิจารณาเงินกู้กองทุนฯ 2. คณะอนุกรรมการบริหารและพัฒนากองทุนฯ 3. คณะอนุกรรมการพัฒนาและปรับปรุงกฎ ระเบียบ แนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับกองทุนฯ 4. คณะอนุกรรมการจัดทำตัวชี้วัดการประเมินผลการดำเนินงานกองทุนฯ และสุดท้าย 5. คณะอนุกรรมการติดตามและประเมินผลเงินกู้กองทุนฯ โดยมีภารกิจในการให้บริการเงินกู้แก่ผู้ใช้แรงงานโดยผ่านสหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบกิจการและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งนับตั้งแต่เริ่มให้บริการเงินกู้ในปีงบประมาณ 2540 มาถึงปัจจุบันสามารถสร้างประโยชน์และบรรเทาความเดือดร้อนทางการเงินแก่ผู้ใช้แรงงานที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบกิจการและรัฐวิสาหกิจกว่า 250,000 คน

ทั้งนี้ “กองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงาน” เป็นสวัสดิการภาครัฐรูปแบบหนึ่ง ที่มุ่งหวังจะช่วยให้ผู้ใช้แรงงานที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบกิจการสามารถปลดเปลื้องหนี้สินจากการกู้ยืมเงินนอกระบบที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง ตลอดจนช่วยให้ผู้ใช้แรงงานและครอบครัวมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม กลไกที่ขับเคลื่อนให้กองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงานสามารถบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลนั้น คณะกรรมการบริหารกองทุนฯ รวมถึงคณะอนุกรรมการทุกคณะถือเป็นส่วนสำคัญในการสร้างประโยชน์ให้แก่ผู้ใช้แรงงาน กรมจึงได้จัดเวทีเพื่อระดมความคิดเห็นจากคณะกรรมการฯ มาพัฒนาองค์ความรู้เดิม และเพิ่มเติมองค์ความรู้ใหม่ร่วมกันวิเคราะห์ค้นหาปัจจัยแห่งความสำเร็จ พร้อมทั้งเสริมสร้างวิสัยทัศน์ และทักษะในการบริหารผ่านกิจกรรม

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 15/1/2563 

สศช.ชี้แนวโน้มวัยทำงานลด สวนทางประชากรสูงวัยพุ่ง

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ครม.) เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2563 มีมติรับทราบรายงานประมาณการณ์ประชากรของประเทศไทย พ.ศ.2553 – 2583 ตามที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ โดยคาดการณ์ว่าประชากรของไทยจะเพิ่มขึ้นจาก 66.5 ล้านคน ในปี 2563 เป็น 67.2 ล้านคน ในปี 2571

หลังจากนั้นจำนวนประชากรจะริ่มลดลงในอัตรา -0.2% ต่อปี ทำให้ในปี 2583 คาดการณ์โดยประมาณว่าประเทศไทยจะมีประชากรทั้งหมดประมาณ 65.4 ล้านคน โดยจำนวนประชากรตามโครงสร้างประชากรแบ่งเป็น 1.วัยเด็ก (แรกเกิด - 14 ปี) มีแนวโน้มลดลง จากจำนวนรวมในปี 2563 มีจำนวนประชากรเด็ก 11.2 ล้านคนหรือ16.9% ของประชากรทั้งหมดจะลดลงเป็น 8.4 ล้านคน หรือสัดส่วนเหลือแค่ 12.8% ในปี 2583 2.ประชากรผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) ในปี 2563 มีจำนวนประชากรผู้สูงอายุ 12 ล้านคน หรือ18% ของจำนวนประชากรทั้งหมดนั้นจะเพิ่มเป็น 20.42 ล้านคน หรือ 31.28% ของจำนวนประชากรในปี 2583 “ในปี 2562 เป็นปีแรกที่จำนวนประชากรวัยเด็กเท่ากับประชากรผู้สูงอายุที่ 11.3 ล้านคน หลังจากนั้นจำนวนประชากรวัยเด็กมีแนวโน้มลดลงสวนทางกับจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่จะมีแนวโน้มสูงขึ้น ”

3.ประชากรวัยแรงงาน (15-59 ปี) มีแนวโน้มลดลงจาก 43.26 ล้านคนหรือ 65 % ในปี 2563 เป็น 36.5 ล้านคนหรือ 56% ในปี 2583 ลดลงประมาณ 6.7 ล้านคน ขณะที่อัตราส่วนของวัยแรงงานต่อผู้สูงอายุก็ลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ในปี 2563 มีวัยแรงงาน 3.6 คน ต่อผู้สูงอายุ 1 คน ลดลงเหลือวัยแรงงาน 1.8 คน ต่อผู้สูงอายุ 1 คน ในปี 2583 ซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนพึ่งพิงของผู้สูงอายุต่อวัยแรงงานเพิ่มขึ้นจาก 27.7 คนต่อวัยแรงงาน 100 คน ในปี 2563 เป็น 56.2 คนต่อวัยแรงงาน 100 คน ในปี 2563

ขณะที่อัตราส่วนเพศหญิงต่อเพศชายในปี 2563 ผู้หญิงมีอายุเฉลี่ย 80.4 ปี ผู้ชายมีอายุเฉลี่ย 73.2 ปี และในปี 2583 อายุเฉลี่ยทั้งเพศหญิงและชายจะเพิ่มขึ้นเป็น 83.2 ปี และ 76.8 ปี ส่งผลให้ผู้หญิงมีจำนวนมากกว่าผู้ชายเนื่องจากอายุยืนกว่า ซึ่งคาดการณ์ว่าในปี 2583 จะมีอัตราส่วนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เพศชาย 71 คน ต่อเพศหญิง 100 คน และจะลดลงอีกในกลุ่มผู้สูงอายุ 80 ปีขึ้นไป เพศชาย 41 คนต่อเพศหญิง 100 คน ส่วนโครงสร้างอายุของประชากรแต่ละภูมิภาค ในปี 2583 กรุงเทพฯมีสัดส่วนประชากรวัยแรงงานมากที่สุด ส่วนภาคเหนือมีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุมากที่สุด และภาคใต้จะมีสัดส่วนประชากรวัยเด็กสูงกว่าภาคอื่นๆ นอกจากนี้ ภาคตะวันออกมีการเติบโตของประชากรเมืองมากที่สุด 5.3% ต่อปี เฉพาะ 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่เขตพัฒนาพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

นางสาวรัชดา ยังกล่าวว่ารัฐบาลได้กำหนดให้วาระผู้สูงอายุเป็นวาระแห่งชาติ โดยมีแนวทางการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการผู้สูงอายุแห่งชาติครอบคลุมทั้งกลุ่มก่อนวัยสูงอายุ 25-59 ปี และผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 15/1/2563 

ก.แรงงาน เผยคนพิการใช้สิทธิตามมาตรา 35 แล้ว 14,198 ราย

รมว.แรงงาน ส่งเจ้าหน้าที่แรงงานลงพื้นที่ ตรวจสอบการให้สิทธิคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการเผยคนพิการใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ มาตรา 35 แล้วกว่า 14,198 ราย คิดเป็นร้อยละกว่า 98.6 นำร่องจ้างงานคนพิการในหน่วยงานภาครัฐทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคร่วม 88 ราย พร้อมลงพื้นที่ตรวจสอบนายจ้าง/สถานประกอบการยื่นใช้สิทธิตามมาตรา 35 ประจำปี พ.ศ. 2563 สำรวจตำแหน่งงานว่างเชิงรุกเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับความต้องการมีงานทำของผู้ถูกเลิกจ้างและประชาชนทั่วไป

นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่าหม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญกับการสร้างงานและการส่งเสริมอาชีพให้คนพิการอยู่อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี เลี้ยงตนเองได้ โดยได้มอบหมายให้กรมการจัดหางานเร่งตรวจสอบการให้สิทธิแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการว่าเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ และสร้างการรับรู้เกี่ยวกับมาตรา 35 ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2556 ให้แก่คนพิการและนายจ้าง/สถานประกอบการ พร้อมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้คนพิการได้รับสิทธิมากยิ่งขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา กรมการจัดหางานได้สนับสนุนให้คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการได้รับสิทธิตามมาตรา 35 ใน 7 ประเภทกิจกรรม โดยมีหลักเกณฑ์ว่า การจัดทำสัญญาขอใช้สิทธิของทั้งสองฝ่ายเป็นไปโดยสมัครใจ มูลค่าของสัญญาไม่น้อยว่า 112,420 บาทต่อปี และรายชื่อคนพิการที่ขอใช้สิทธิจะต้องไม่ซ้ำซ้อนกัน จากการดำเนินงานที่ผ่านมา และขณะนี้คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการมาใช้บริการขึ้นทะเบียนขอใช้สิทธิตามมาตรา 35 แล้ว จำนวน  14,397 ราย ได้รับสิทธิตามมาตรา 35 จำนวน 14,198 ราย คิดเป็นร้อยละ 98.6

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 14/1/2563 

ครม.อนุมัติควบรวม 'TOT-CAT' เป็น NT เปลี่ยนจาก 'รัฐวิสาหกิจ' เป็น 'บมจ.' ให้รับพนักงานในตำแหน่งเดิม-ไม่ปรับลดพนักงาน

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ (14 ม.ค. 2563) ว่าที่ประชุมอนุมัติการควบรวมกิจการของทางบริษัท TOT และ CAT ให้เป็นบริษัทเดียวกัน ในชื่อใหม่คือ บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ NT โดยให้ควบรวมให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือนนับตั้งแต่อนุมัติ พร้อมให้ทางกระทรวงการคลังถือหุ้น 100% รวมทั้งปรับเปลี่ยนรูปแบบเป็นบริษัท มหาชน ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ พร้อมให้ดำเนินงานเป็นผู้สนับสนุนนโยบายของรัฐในการพัฒนาระบบดิจิทัล โดยภาครัฐจะจัดสรรคลื่นความถี่ในการดำเนินภารกิจ พร้อมให้รับพนักงานที่ออกไปสังกัด 2 บริษัทแยกกลับมาเป็นพนักงานของทั้ง TOT และ CAT ในตำแหน่งเดิม ทั้งนี้การควบรวมกิจการตามมติ ยืนยันว่าไม่มีนโยบายในการปรับลดพนักงาน

นอกจากนี้ที่ประชุมอนุมัติการปรับลดอัตรารัษฎากรในการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจากร้อยละ 10 เหลือร้อยละ 2 ให้กับบริษัทนิติบุคคลที่จดทะเบียนในนาม มูลนิธิ และสมาคม เพื่อให้ช่วยเหลือผู้ยากไร้และช่วยเหลือสังคมได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 14/1/2563 

สหภาพฯ บินไทยเครื่องร้อน เผยหลังจดทะเบียนกรรมการใหม่เรียบร้อย เดินหน้าหารือเร่งด่วน 'ดีดี' ร้องขอปรับเงินเดือนพนักงาน 3%

หลังประกาศผลการเลือกตั้งประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2561 แต่ผ่านมาร่วม 4 เดือนคณะกรรมการชุดใหม่ไม่สามารถดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งได้ถูกต้องตามกฏหมาย จึงการส่งหนังสือถึงกระทรวงแรงงานเพื่อทวงถามถึงสาเหตุของเรื่องนี้

นายนเรศ ผึ้งแย้ม แกนนำกลุ่มจิตอาสา และว่าที่ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย เปิดเผยกับสื่อฐานเศรษฐกิจว่าสาเหตุที่เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2563 ตนและสมาชิกร่วม 20 คน ได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึง ม.ร.ว. จตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ก็เพื่อทวงถามถึงความคืบหน้าในการขอจดทะเบียนแต่งตั้งคณะกรรมการสหภาพแรงงานการบินไทยชุดใหม่ ที่ยืดเยื้อมาร่วม 4 เดือนนับตั้งแต่ประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการแต่จนบัดนี้ยังไม่มีความคืบหน้าในการจดทะเบียนแต่ประการใด

“ก่อนหน้านั้นเราได้ทวงถามมาหลายครั้งผู้รับผิดชอบมีคำตอบแต่เพียงว่า อยู่ในขบวนการจดทะเบียนและเอกสารพร้อมแล้วแต่ในทางปฏิบัติกลับไม่มีความคืบหน้าแต่ประการใด จนทำให้เกิดสูญญากาศสมาชิกที่เลือกตั้งมาและพนักงาน ก็ทวงถามมาตลอด จึงจำเป็นต้องเข้ามายื่นหนังสือทวงถามถึงเรื่องนี้ที่กระทรวงโดยตรง”

อย่างไรก็ดีหลังจากจดทะเบียนจัดตั้งกรรมการการใหม่เรียบร้อยเรื่องแรกที่สหภาพฯ จะเร่งดำเนินการคือการเข้าพบนายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) ในวันที่ 22 ม.ค. 2563 เพื่อทวงถามเรื่องการพิจารณาปรับเงินเดือนประจำปีพนักงาน หลังจากฝ่ายบริหารมีการระบุว่าจะใช้หลักเกณฑ์ใหม่ในการพิจารณาโดยจะปรับในอัตรา 1.1 %

ต่อเรื่องนี้ สหภาพฯ เห็นว่าไม่เป็นธรรมกับพนักงานจึงจะเสนอให้พิจารณาปรับเงินเดือนไม่ต่ำกว่า 3% โดยดูจากผลประกอบการปีที่แล้วบริษัทขาดทุน 1.1 หมื่นล้านบาท ยังมีการพิจารณาปรับเงินเดือน 3 % ซึ่งปีนี้ผลการดำเนินการน่าจะขาดทุนต่ำกว่าปีที่แล้วก็น่าจะได้รับการพิจารณาปรับเงินเดือนเช่นกัน นายนเรศกล่าวในที่สุด

ที่มา: ฐานเศรษฐกิจ, 14/1/2563 

‘อนุทิน’ เสนอแนวทางทำงานที่บ้านแก้ปัญหาฝุ่นพิษ เตรียมคุยหลายหน่วยงานเพื่อหาทางปฏิบัติได้จริง

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงปัญหาฝุ่น PM2.5 ว่ามันเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของโลก และพฤติกรรมของคนนี่เอง สิ่งที่ต้องคิดคือจะรับมืออย่างไร ตนเคยเสนอให้ทำงานที่บ้าน แล้วมีผู้ออกมาค้าน บอกว่าคนจะขี้เกียจ ไม่ทำงาน แต่จริงคนเราทำงาน ได้เงิน อยู่ที่ไหนเขาก็ทำ มันต้องกลับมาทบทวนเรื่องนี้กันใหม่ หน่วยงานเอกชน ท่านสามารถทำได้เลย ส่วนหน่วยงานราชการ ตนต้องไปหารือกับภาคส่วนอื่นๆก่อนว่าทำได้หรือไม่ ทำได้แค่ไหน

ทั้งนี้ หน่วยงานที่เดินตามแนวทางนี้จะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างไร ตนก็ต้องไปคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนตัวต้องการให้แนวคิดข้างต้นปฏิบัติได้จริง เพราะเป็นการเซฟสุขภาพประชาชนในหลายๆทางแน่นอน

นายอนุทิน กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขสำรองหน้ากากป้องกันฝุ่นพิษไว้แล้ว ประชาชนไปรับบริการได้ แต่หากใครมีกำลังทรัพย์จัดหาได้เอง ก็ขอให้บริการตนเอง เพราะภาครัฐ ไม่สามารถแจกจ่ายได้ครบทุกคน นอกจากนั้น แม้เราจะรับรักษาทุกความเจ็บป่วย แต่ประชาชนต้องตระหนักถึงการดูแลสุขภาพตัวเองบ้าง การออกกำลังกายในที่โล่งแจ้ง ต้องตรวจสอบค่าฝุ่น ว่าสมควรจะออกไปวิ่งหรือไม่

ที่มา: TNN, 13/1/2563 

'องค์การค้า' ของ สกสค. ชดเชยเลิกจ้างพนง.แค่ 30 วัน ชี้ ก.แรงงานแนะไม่ต้องจ่ายส่วนอื่นเพิ่ม

เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2563 นายดิศกุล เกษมสวัสดิ์ เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) และผู้อำนวยการองค์การค้า (อค.) ของ สกสค.เปิดเผยกรณีที่ลูกจ้างตามโครงการสรรหาเจ้าหน้าที่ อค.จำนวน 227 คน ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพราะถูกเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม เนื่องจากตามกฎหมายการเลิกจ้างต้องแจ้งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 60 วัน แต่ อค.กลับแจ้งล่วงหน้าเพียง 2 วันเท่านั้น ดังนั้น จะต้องจ่ายเงินค่าชดเชยการบอกกล่าวล่วงหน้าไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 60 วันด้วย แต่ อค.จ่ายค่าบอกล่วงหน้าให้เพียง 30 วันเท่านั้น โดยทางกลุ่มขอเรียกร้องเงินชดเชยตามอายุงานที่กฎหมายแรงงานกำหนดรวมประมาณ 16 ล้านบาท ว่า ทราบปัญหาแล้ว อค.ได้จ่ายค่าไม่บอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือน แต่ลูกจ้างต้องการให้จ่าย 2 เดือน และต้องการเงินชดเชยอื่นๆ ตามที่กฎหมายแรงงานกำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม ก่อนเลิกจ้างพนักงานเหล่านี้ ตนได้เสนอเรื่องนี้ให้ที่ประชุม อค.พิจารณาว่าจะจ่ายเงินชดเชยหรือไม่ นอกจากนี้ ได้ปรึกษากระทรวงแรงงาน ซึ่งได้รับคำตอบว่าถ้าไม่จำเป็นที่จะต้องจ่ายเงินเหล่านี้ อค.จึงไม่ทำการจ่ายเงินส่วนต่างๆ ที่ลูกจ้างเรียกร้องให้

"คิดว่าไม่มีปัญหา และ อค.ไม่ได้เบี้ยวจ่ายเงิน เพราะกระทรวงแรงงานให้คำแนะนำว่าไม่จำเป็นต้องจ่าย แต่ถ้ามีการวินิจฉัยใหม่ มีผู้ร้องเรียน และฟ้องร้องขึ้นมา ถ้าศาลตัดสินว่า อค.จำเป็นต้องจ่ายเงิน ไม่ว่าจะเป็นค่าไม่บอกกล่าวล่วงหน้า หรือค่าชดเชยต่างๆ อค.ก็พร้อมจ่าย" นายดิศกุล กล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 13/1/2563 

ก.แรงงาน เร่งผลิตคนครัวบนเรือสำราญ-เรือขนส่งระหว่างประเทศ

นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้กพร. เร่งดำเนินการจัดฝึกอบรมหลักสูตรการจัดการด้านอาหารและโภชนาการบนเรือ (Food and Catering) ให้แก่คนประจำเรือในตำแหน่งคนครัวบนเรือ เพื่อให้ปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล ค.ศ.2006 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และพระราชบัญญัติแรงงานทะเล พ.ศ. 2558 ที่กำหนดให้คนครัวบนเรือต้องผ่านการฝึกอบรมจากหน่วยงานที่ได้รับการรับรองจากกพร. พร้อมแก้ปัญหาขาดแคลนกำลังคนในสาขาดังกล่าว ซึ่งผู้ผ่านการฝึกอบรมสามารถประกอบอาชีพบนเรือสำราญและเรือขนส่งระหว่างประเทศได้ ในปี 2563 ได้มอบหมายให้สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.) 15 แห่งทั่วประเทศ ดำเนินการฝึกอบรม

นายธวัช กล่าวต่อไปว่า ล่าสุดสพร. 3 แห่ง ประกาศรับสมัครฝึกอบรม ได้แก่ สพร. 9 พิษณุโลก จำนวน 1 รุ่น ระหว่าง 29 มกราคม- 4 กุมภาพันธ์ 2563 สพร. 7 อุบลราชธานี จำนวน 4 รุ่น ระหว่างกุมภาพันธ์-สิงหาคม 2563 และสพร. 13 กรุงเทพมหานคร จำนวน 5 รุ่น ระหว่างมกราคม-กันยายน 2563 รับสมัครรุ่นละ 20 คน ใช้ระยะเวลาการฝึกอบรม 7 วัน (42 ชั่วโมง) คุณสมบัติผู้เข้ารับการฝึกอบรมอายุต้องไม่ต่ำกว่า 18 ปี สุขภาพแข็งแรง จบการศึกษาไม่ต่ำกว่าม.3 หรือเทียบเท่า หรือสำเร็จการศึกษาด้านคหกรรมศาสตร์ หรือมีประสบการณ์ฝึกอบรมที่เกี่ยวกับการประกอบอาหาร

“สพร.และสนพ. 15 แห่ง ประกอบด้วย สพร. 3 ชลบุรี สพร. 5 นครราชสีมา สพร. 6 ขอนแก่น สพร. 7 อุบลราชธานี สพร. 8 นครสวรรค์ สพร. 9 พิษณุโลก สพร. 11 สุราษฎร์ธานี สพร. 12 สงขลา สพร. 13 กรุงเทพมหานคร สพร. 21 ภูเก็ต สพร. 22 นครศรีธรรมราช สนพ. ชุมพร สนพ. กระบี่ สนพ. พังงา และสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติ มีความพร้อมทั้งสถานที่ ห้องครัวที่มีมาตรฐาน อุปกรณ์การฝึกทันสมัย และวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญ ผู้สนใจสามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ www.dsd.go.th และ www.facebook.com/dsdgothai หรือโทรสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน 02 245 4035 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4” อธิบดีกพร. กล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง, 13/1/2563 

 

 

 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net