Skip to main content
sharethis

ทวิตเตอร์ประกาศนโยบายใหม่เกี่ยวกับการเผยแพร่ข้อมูลเท็จหรือวิดีโอปลอมแปลง โดยระบุว่าจะใช้วิธีการแปะป้ายเตือนและในบางกรณีก็จะทำการลบรูปภาพ เสียง หรือวิดีโอที่มีการตัดต่อปลอมแปลงในทำนองที่ชวนให้ผู้คนเข้าใจผิด และยังเตรียมโต้ตอบเนื้อหาที่เป็นภัย เช่น การข่มขู่คุกคามเสรีภาพและจำกัดสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง เพื่อให้พ้นไปจากพื้นที่ทวิตเตอร์ด้วย

ที่มาของภาพประกอบ: Flickr/Christopher (CC BY-SA 2.0)

โซเชียลมีเดียที่มีผู้ใช้งานราว 330 ล้านบัญชีอย่างทวิตเตอร์เปิดเผยเมื่อวันที่ 4 ก.พ. นี้ว่า พวกเขาออกกฎใหม่ที่จะสั่งห้ามไม่ให้มีการนำเสนอเนื้อหาตัดต่อปลอมแปลงที่จะ "สร้างความเสียหาย" ส่วนในกรณีเนื้อหาที่ตัดต่อปลอมแปลงแต่ไม่ได้เป็นการสร้างความเสียหายจะมีการแปะป้ายเตือนแทน

ทวิตเตอร์ระบุว่ากฎแนวทางใหม่นี้จะทำให้มีผลบังคับใช้ภายในวันที่ 5 มี.ค. ที่จะถึงนี้ โดยมีการยกตัวอย่างกรณีวิดีโอตัดต่อรูปโฆษกรัฐสภาสหรัฐฯ แนนซี เปโลซี พูดจาเหมือนคนเมา ทวิตเตอร์ระบุว่าถ้าหากมีการเผยแพร่วิดีโอแนวนี้จะถูกแปะป้ายเตือน แและถ้าหากสามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นวิดีโอที่สร้างความเสียหายทวิตเตอร์ก็จะสามารถนำมันออกได้

อย่างไรก็ตามการจะตัดสินได้ว่าเนื้อหาแบบใดที่สร้างความเสียหายนั้นเป็นเรื่องยากที่จะตัดสินได้ และมีเนื้อหาบางประเภทที่มีความกำกวมหรือก้ำกึ่งในแง่ที่ว่าจะถือว่าเป็นการสร้างความเสียหายหรือไม่ โดยที่ทวิตเตอร์ระบุถึงเรื่องนี้ว่า "เรื่องนี้จะเป็นสิ่งที่ท้าทายและพวกเราก็จะทำอะไรผิดพลาดไปตามการดำเนินการครั้งนี้ พวกเรายินดีถ้าหากยอมอดทนกับพวกเรา ... อย่างไรก็ตามพวกเรามีพันธกรณีที่จะต้องทำในสิ่งที่ถูกต้อง"

ทวิตเตอร์ระบุอีกว่าพวกเขามองเรื่องภยันตรายต่อผู้คนละกลุ่มคนเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย รวมถึงเรื่องความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงในระดับใหญ่ๆ หรือจลาจลในวงกว้าง อย่างไรก็ตามเรื่อง "ความเสียหาย" ที่ทวิตเตอร์ระบุถึงในประกาศล่าสุดนี้ยังรวมถึงเรื่องภัยต่อสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้คนหรือภัยต่อเสรีภาพในการแสดงออกของผู้คนด้วย นั่นหมายความว่าการสะกดรอยตาม (stalking) การจำกัดสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง การใช้คำในเชิงข่มขู่คุกคาม และ "การใช้วัตถุที่มีเป้าหมายปิดปากบุคคล" ก็ถือว่าเป็นเนื้อหาที่เป็นภัยตามหลักการของทวิตเตอร์ด้วย

บรรษัทให้บริการไอทีอย่างกูเกิล, เฟสบุค, ทวิตเตอร์ ต่างก็กำลังอยู่ภายใต้การกดดันให้ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้มีการแทรกแซงการเลือกตั้งสหรัฐฯ ในปี 2563 หลังจากที่ในปี 2559 เคยมีการตรวจสอบพบว่าคนที่เกี่ยวข้องกับรัสเซียเคยทำการชักใยข้อมูลจนส่งผลต่อการเลือกตั้งในครั้งนั้นมาก่อน

หนึ่งในเทคโนโลยีที่พวกเขาต้องเฝ้าระวังคือเทคโนโลยีที่เรียกว่า "ดีปเฟค" (deepfake) ซึ่งเป็นการตัดต่อใบหน้าบุคคลในใส่วิดีโอต่างๆ ได้ นอกจากทวิตเตอร์แล้ว กูเกิลที่เป็นเจ้าของยูทูบก็ประกาศนโยบายใหม่ในการสั่งห้ามวิดีโอที่มีการใช้ดีปเฟคในเชิงที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งสหรัฐฯ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการชักใยทางการเมือง ขณะที่เฟสบุคก็เพิ่มมาตรการความปลอดภัยเกี่ยวกับการเลือกตั้งสหรัฐฯ ในปีนี้ด้วย

อย่างไรก็ตามมีข้อวิจารณ์ว่าแม้แต่การดำเนินการตามนโยบายเดิมของทวิตเตอร์เองก็ทำได้ไม่ดีนัก เช่นเรื่องการดำเนินการต่อวาจายุยงให้เกิดความเกลียดชังต่อกลุ่มอัตลักษณ์หรือ "เฮทสปีช" กับการข่มเหงรังแกออนไลน์ทวิตเตอร์ก็ดำเนินการได้ช้ามากหรือดำเนินการแบบไม่คงเส้นคงวา อีกเรื่องหนึ่งคือการเผยแพร่ข้อมูลเท็จซึ่งทางเฟสบุคเคยอาศัยเว็บตรวจสอบข้อเท็จจริงจากภายนอกเข้ามาช่วยซึ่งก็ส่งผลลัพธ์ที่ดีแต่การต่อสู้กับการบิดเบือนข่าวสารก็ยังคงต้องสู้กันอีกนาน

ทวิตเตอร์เคยทำการสำรวจก่อนหน้านี้จากกลุ่มตัวอย่างผู้ใช้งาน 6,500 รายใน 6 ภาษา ผู้ใช้งานเหล่านี้ส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าควรจะมีการแปะป้ายในกรณีที่ข้อมูลชวนใก้เกิดความเข้าใจผิด แต่ผู้ใช้งานเหล่านี้ก็ตกลงใจไม่ได้ว่าควรจะมีการนำเนื้อหาเหล่านี้ออกจากเว็บไซต์หรือไม่

เรียบเรียงจาก

Twitter will label and may remove media designed to mislead, The Guardian, 05-02-2020

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net