Skip to main content
sharethis

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) เสนอมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในการจัดการแรงงานข้ามชาติ รัฐบาลควรมีมาตรการส่งเสริมให้ยังมีการจ้างงานต่อเนื่อง หรือชดเชยตามกฎหมายในช่วงระยะเวลาการปิดงานชั่วคราวของผู้ประกอบการที่จ้างแรงงานข้ามชาติ


ที่มาภาพประกอบ: United Nations Regional Information Centre

23 มี.ค. 2563 เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group - MWG) ออกแถลงการณ์ด่วนเรื่อง 'ข้อเสนอมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในการจัดการแรงงานข้ามชาติ' โดยระบุว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้น ทำให้แต่ละประเทศมีมาตรการที่เข้มงวดในการควบคุมมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งมาตรการการควบคุมพื้นที่เสี่ยงโดยการปิดสถานประกอบการจำนวนหนึ่ง การระงับกิจกรรมที่ทำให้เกิดการรวมผู้คนจำนวนมากของรัฐบาล รวมไปถึงการปิดด่านชายแดนทั้งของไทยและประเทศเพื่อนบ้านในปัจจุบัน ทั้งนี้เพื่อควบคุมการเดินทางของผู้คน และการแพร่ระบาดของโรค

มาตรการดังกล่าวแม้จะมีความจำเป็น แต่ก็เกิดผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนและเศรษฐกิจในระดับฐานราก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นกับแรงงานทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบต่อการดำเนินการต่อใบอนุญาตทำงานของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยตามมติคณะรัฐมนตรี 20 สิงหาคม 2562 การระงับการนำเข้าแรงงานกลุ่ม MoU จากประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงผลกระทบต่อการจ้างงานในรูปแบบการจ้างงานตามฤดูกาลหรือไปกลับในพื้นที่ชายแดน รวมทั้งการต้องปิดกิจการชั่วคราวของหลาย ๆ สถานประกอบการ และการปิดการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในบางส่วน ทำให้แรงงานข้ามชาติจำนวนมากไม่สามารถดำเนินการขออยู่ต่อ หรือไม่มีความมั่นคงในการจ้างงานในสถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้แรงงานข้ามชาติได้เดินทางกลับประเทศต้นทางจำนวนมาก จนเกิดสภาพแออัดในสถานีขนส่ง และด่านชายแดนซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดการระบาดของโรคในวงกว้างกระจายไปยังพื้นที่ต่างจังหวัด และประเทศต้นทางได้มากขึ้น จากสถานการณ์ที่น่ากังวลใจดังกล่าว ทางเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติซึ่งได้ทำงานใกล้ชิดกับแรงงานข้ามชาติและกลุ่มประชากรข้ามชาติ จึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาล ดังนี้

มาตรการด้านการจ้างงานและการตรวจคนเข้าเมือง

1. ขอให้นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง ออกมาตรการในการผ่อนผันให้แรงงานข้ามชาติ หรือคนต่างชาติที่อยู่อาศัยในประเทศไทยเกินระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตซึ่งไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทาง หรือไปขอขยายการอยู่ต่อไปประเทศไทยได้รับการผ่อนผันให้อยู่ต่อในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว และยกเว้นโทษปรับในกรณีอยู่อาศัยเกินกว่าที่ได้รับอนุญาต

2. มีมาตรการที่ให้แรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยตามข้อตกลงเรื่องการจ้างงาน (MoU) ซึ่งครบเงื่อนไขและกำลังจะครบเงื่อนไขในการทำงานในประเทศไทยสี่ปี สามารถขออนุญาตอยู่ต่อและทำงานในประเทศไทยเป็นการเฉพาะ โดยไม่ต้องใช้เงื่อนไขการเว้นระยะเวลาในการหยุดพัก 30 วัน ทั้งนี้เพื่อลดการเดินทางข้ามประเทศของแรงงานข้ามชาติ

3. มีมาตรการพิเศษสำหรับแรงงานข้ามชาติที่อยู่ระหว่างการดำเนินการนำเข้าตาม MoU ในลักษณะการนำเข้าแรงงานที่เกิดทำงานกับนายจ้างอยู่แล้ว (MoU Return) โดยที่ตัวแรงงานข้ามชาติจำนวนหนึ่งยังอยู่ในประเทศไทย ซึ่งขณะนี้ยังติดขั้นตอนในการรอการดำเนินการจากประเทศต้นทาง ในกรณีที่มีเอกสารยืนยันจากประเทศต้นทางแล้ว ให้มีมาตรการพิเศษที่จะดำเนินการต่อโดยสถานเอกอัคราชทูตของประเทศต้นทางในประเทศ ขอรับการตรวจลงตราวีซ่า และออกใบอนุญาตทำงานในท้องที่ที่แรงงานทำงานอยู่ ทั้งนี้เพื่อลดผลกระทบต่อนายจ้างและแรงงานข้ามชาติ ตลอดจนการลดการเดินทางอันจะก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคได้ง่ายขึ้น

4. มีมาตรการขยายระยะเวลาในการดำเนินการในการต่ออายุใบอนุญาตทำงานในลักษณะ MoU พิเศษตามมติคณะรัฐมนตรี 20 สิงหาคม 2562 ออกไปก่อน รวมทั้งผ่อนผันให้แรงงานข้ามชาติสามารถอยู่ต่อและทำงานได้ระหว่างรอการดำเนินการ รวมทั้งพิจารณาผ่อนผันให้แรงงานข้ามชาติที่ยังไม่สามารถยื่นเนมลิสต์ตามขั้นตอนดังกล่าว เนื่องจากนายจ้างใหม่ยังไม่สามารถแจ้งเข้าได้โดยเงื่อนไขระยะเวลาการหานายจ้างใหม่ภายใน 15 วัน ซึ่งมีความสับสนในการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถแจ้งเข้ากับนายจ้างใหม่และยื่นขอดำเนินการตามเงื่อนไขของมติคณะรัฐมนตรี 20 สิงหาคม 2562 ต่อไป เพื่อลดผลกระทบในการไม่สามารถนำเข้า MoU และการต้องเดินทางกลับประเทศต้นทาง ทั้งนี้คาดการณ์มีแรงงานกลุ่มดังกล่าวไม่ต่ำกว่า 500,000 คน

5. ขยายระยะเวลาในการตรวจลงตราเข้าออกของแรงงานข้ามชาติ  กรณีจ้างงานแบบไปกลับหรือตามฤดูกาลในพื้นที่ชายแดน ตามมาตรา 64 ของพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ฯ ซึ่งได้รับอนุญาตทำงานครั้งละไม่เกิน 90 วัน  แต่จะต้องตรวจลงตราเข้าออกทุก 30 วัน โดยมีมาตรการผ่อนผันให้ดำเนินการตรวจลงตราเข้าออกทุก 90 วันตามใบอนุญาตทำงาน จนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดจะคลี่คลาย

6. จากมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดของ Covid-19 ทำให้สถานประกอบการหลายแห่งจะต้องปิดกิจการชั่วคราว ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำงานของแรงงานข้ามชาติ รัฐบาลควรมีมาตรการส่งเสริมให้ยังมีการจ้างงานต่อเนื่อง หรือชดเชยตามกฎหมายในช่วงระยะเวลาการปิดงานชั่วคราวของผู้ประกอบการที่จ้างแรงงานข้ามชาติ รวมทั้งผ่อนผันมาตรการการเปลี่ยนย้ายนายจ้างที่มีเงื่อนไขตามมาตรา 51 ของพระราชกำหนดการบริหารการทำงานของคนต่างด้าว ฯ โดยใช้อำนาจตามมาตรา 14 ของพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวฯ โดยการยกเว้นการใช้มาตรา 50, 51, 52 และ 53 ของพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวฯเป็นการ ชั่วคราวจนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคและผลกระทบจะคลี่คลาย เพื่อให้เกิดการจ้างงานที่ยืดหยุ่นและสอดคล้องกับลักษณะการจ้างงานมากขึ้น

มาตรการด้านการสาธารณสุขและการควบคุมโรค

1. การหลีกเลี่ยงการเดินทางของประชาชนและแรงงานข้ามชาติในช่วงการป้องกันการแพร่ระบาดเป็นเรื่องจำเป็น แต่หากมีความจำเป็นที่จะต้องมีการเดินทางโดยเฉพาะการเดินทางข้ามประเทศ   หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีมาตรการในการตรวจคัดกรองและเฝ้าระวังป้องกันโรคในการเดินทาง รวมทั้งประสานการทำงานกับประเทศต้นทางในเรื่องการเฝ้าระวัง และการติดตามร่วมกันเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดขนาดใหญ่ของโรค

2. ปัจจุบันแรงงานข้ามชาติและประชากรข้ามชาติยังไม่มีหลักประกันสุขภาพที่ดูแลโดยหน่วยงานราชการไทยเป็นจำนวนมาก กระทรวงสาธารณสุขควรจะนำประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง การตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว พ.ศ. 2562 และประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง การตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพ 30 มีนาคม พ.ศ. 2558 มาดำเนินการขายประกันสุขภาพให้แก่แรงงานข้ามชาติหรือประชากรข้ามชาติอย่างเร่งด่วน   ทั้งนี้เพื่อให้เกิดมาตรการในการเฝ้าระวังป้องกันโรคติดต่อตามแนวทางประกาศทั้งสองฉบับ และเพื่อลดความเสี่ยงของการเข้าสู่การรักษาพยาบาลของผู้ป่วยที่เป็นประชากรข้ามชาติที่อาจจะเกิดขึ้นต่อไป

3. ด้วยภาษายังเป็นอุปสรรคที่สำคัญในการสื่อสารกับแรงงานและประชากรข้ามชาติ ส่งผลให้ข้อมูลและมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ ไม่สามารถสื่อสารไปถึงแรงงานข้ามชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ และอาจทำให้เกิดการสับสนและตื่นตระหนก ทั้งนี้ขอให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ ดำเนินการจัดทำเอกสารประกาศที่สำคัญเป็นภาษาเมียนมา กัมพูชา และลาว โดยเฉพาะประกาศเรื่องการตรวจและรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และแนวทางการป้องกันควบคุมโรคด้วยตนเอง เพื่อสื่อสารต่อแรงงานข้ามชาติและประชากรข้ามชาติต่อไป

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ เชื่อมั่นว่ามาตรการที่เอื้อต่อแรงงานข้ามชาติและประชากรข้ามชาติ ความร่วมมือของทุกภาคส่วน จะนำพาให้ประเทศไทยและภูมิภาคนี้ข้ามพ้นการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้วยดี

ด้วยความเคารพในสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net