Skip to main content
sharethis

'สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน' (สนส.) ชี้การรณรงค์ #saveวันเฉลิม-ไม่ใช่แค่การ save ชีวิต แต่คือการ save สิทธิของพวกเราทุกคน 

7 มิ.ย. 2563 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ระบุว่าเป็นเวลากว่า 3 วันที่มีการเรียกร้องผ่าน #saveวันเฉลิม ให้มีการค้นหาตัวนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ที่หายตัวไปเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2563 โดยการถูกนำตัวขึ้นรถคันหนึ่ง และหายไปจากหน้าคอนโดที่พักอาศัยของตนในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา โดยมีพนักงานรักษาความปลอดภัยบริเวณหน้าที่พัก เป็นผู้เห็นเหตุการณ์นายวันเฉลิมถูกอุ้มไปโดยกลุ่มคนที่พกอาวุธปืน ทำให้ไม่สามารถมีใครเข้าไปช่วยเหลือได้ทัน

.การหายตัวไปของนายวันเฉลิม เป็นที่ได้รับความสนใจและมีผู้แสดงความห่วงใยเป็นจำนวนมาก เนื่องจากนายวันเฉลิมเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองไทยรายที่ 7 ที่มีรายงานการหายตัวไปในช่วงยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อ้างอิงจากการรายงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (https://bit.ly/3dRLQLW) โดยในทุกกรณียังไม่มีความคืบหน้าเรื่องการติดตามผู้สูญหายแต่อย่างใด

จากกรณีดังกล่าวนี้ ถือได้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิในชีวิต เนื้อตัวและร่างกายของนายวันเฉลิมเป็นอย่างมาก การควบคุมตัวหรือการอุ้มหายไปโดยอำเภอใจ หรือปราศจากเหตุอันสมควรเป็นสิ่งที่ไม่สามารถกระทำได้ และเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องติดตามตัวและสืบหาความจริงของผู้ที่สูญหายไป เนื่องจากสิทธิที่จะมีชีวิตและสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของบุคคลนั้นเป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ซึ่งรัฐมีหน้าที่โดยเฉพาะเจาะจงในการทำให้ประชาชนได้รับสิทธินั้น โดยในมาตรา 25 วรรค 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ก็ได้บัญญัติไว้ว่า “บุคคลซึ่งได้รับความเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพ หรือจากการกระทำความผิดอาญาของบุคคลอื่น ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาหรือช่วยเหลือจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ”

อีกทั้งประเทศไทยยังได้เข้าเป็นภาคีโดยการภาคยานุวัติกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง International Covenant on Civil and Political Rights (ICCPR) เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2539 และมีผลใช้บังคับกับไทยเมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2540 โดยในข้อ 6 และ ข้อ 9 แห่ง ICCPR ได้บัญญัติคุ้มครองความปลอดภัยในเนื้อตัวร่างกายของบุคคล อันรัฐมีหน้าที่ต้องปกป้องดูแล และบุคคลจะถูกควบคุมตัวไปโดยอำเภอใจมิได้ รัฐไทยจึงมีหน้าที่โดยตรงในการติดตามค้นหาตัวนายวันเฉลิมให้พบ และดำเนินคดีแก่ผู้ที่ควบคุมตัวนายวันเฉลิมไป เพื่อรักษาไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิของรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ และเป็นการแสดงความตั้งใจในการแก้ปัญหาการอุ้มหายตามที่เข้าลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ และเป็นการเคารพซึ่งศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของปวงชนชาวไทยไม่ว่าเขาจะอยู่ ณ ที่ใดบนโลกใบนี้ก็ตาม

เบื้องหลังคนหาย มีการต่อสู้เรียกร้องของผู้คน

ในประเทศไทย มีผู้ที่ออกมาต่อสู้เรียกร้องในประเด็นสิทธิมากมายที่ต้องหายตัวไปอย่างไร้ร้องรอย ไม่ว่าจะเป็นกรณีคุณทนง โพธิ์อ่าน ผู้นำแรงงาน และเป็นผู้ที่ต่อต้านการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) หายไปวันที่ 19 มิ.ย. 2534, กรณีทนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งทำงานช่วยเหลือทางคดีความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนใต้เพื่อให้ผู้คนในพื้นที่เข้าถึงความยุติธรรมท่ามกลางสภาวะที่รัฐมีอำนาจล้นเกิน ถูกทำให้หายไปเมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2547 หรือกรณีนายพอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ (อ้างอิง : http://naksit.net/2020/04/6years_billy/) ผู้ที่ต่อสู้ผลักดันสิทธิที่จะอยู่อาศัยในพื้นที่เกิดและใช้ชีวิตตามวิถีชาติพันธุ์กะเหรี่ยงดั้งเดิมในพื้นที่แก่งกระจาน หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย ภายหลังจากที่ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานควบคุมตัว เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2557 เป็นต้น จากกรณีที่ยกตัวอย่างมานั้นจะเห็นได้ว่า เบื้องหลังการหายตัวไปของบุคคลเหล่านี้มีเรื่องราวการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิซึ่งความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่ใช่เพื่อตนเอง แต่เพื่อชุมชน เพื่อประชาชนทุกคนซึ่งกรณีการหายตัวไปทั้งหมดนี้ ยังไม่มีกรณีใดที่สามารถนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้เลย

ในกรณีการหายตัวไปของนายวันเฉลิม เดิมทีเขาเคยทำงานองค์กรพัฒนาเอกชนในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นประเด็นด้าน HIV ความหลากหลายทางเพศ และด้านเด็กและเยาวชน ซึ่งนายวันเฉลิมเป็นคนหนึ่งที่ติดตามข่าวสารบ้านเมือง และแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง โดยการแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร อำนาจที่ได้มาโดยไม่ชอบธรรม และหลังจากที่เกิดการรัฐประหารปี 2557 นายเฉลิมถูกเรียกให้ไปรายงานตัวเมื่อวันที่ 3 มิ.ย. 2557 แต่นายเฉลิมไม่ได้ไปรายงานตัวตามคำสั่ง เนื่องจากตนเองไม่ยอมรับอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ในการออกกกฎหมายหรือการบริหารประเทศ

ต่อมานายวันเฉลิมได้ถูกแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(2) โดยถูกอ้างเป็นผู้ที่ดูแลเพจ “กูต้องได้ 100 ล้านจากทักษิณแน่ๆ” ซึ่งเป็นเพจที่นำเสนอเนื้อหาเสียดสีการเมืองและวิพากษ์วิจารณ์ คสช. และในคดีนี้มีผู้ที่ถูกจับกุมเนื่องจากแชร์เพจดังกล่าวทั้งหมด 9 ราย ซึ่งมี 7 รายให้การรับสารภาพ และอีก 2 รายให้การปฏิเสธ ซึ่งต่อมาศาลพิพากษายกฟ้องคดีนี้ในวันที่ 20 ม.ค. 2563 เนื่องจากศาลเห็นว่าคดีนี้ไม่ปรากฏว่าข้อมูลตามโพสต์ดังกล่าวเป็นเท็จหรือไม่ อีกทั้งข้อความก็ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ มีเพียง คสช. ได้รับความเสียหายเท่านั้น เป็นความเสียหายต่อภาพลักษณ์ คสช. ซึ่งไม่มีผลต่อความมั่นคงของประเทศ (อ้างอิง : https://www.tlhr2014.com/?p=15542)

การอุ้มหาย อาชญากรรมโดยรัฐ หยั่งรากลึกวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด

การอุ้มหาย หรือ การบังคับให้สูญหาย มีความสำคัญแตกต่างไปจากการลักพาตัวแบบปกติตรงที่เป็นการกระทำโดยอาศัยอำนาจของรัฐ หรือการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ โดยความหมายที่ได้บัญญัติไว้ในข้อ 2 อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance: CED) ความว่า “การจับ ควบคุมตัว ลักพาตัว หรือวิธีการอื่นใดในการทำให้บุคคลสูญเสียอิสรภาพ กระทำโดยตัวแทนของรัฐ บุคคลหรือกลุ่มบุคคลโดยการอนุญาติ การสนับสนุน หรือ การรู้เห็นเป็นใจจากรัฐ และรัฐปฏิเสธการกระทำนั้น หรือโดยปกปิดชะตากรรม หรือสถานที่อยู่ของบุคคลนั้น ทำให้บุคคลนั้นต้องตกอยู่ภายนอกความคุ้มครองของกฎหมาย” ซึ่งการอุ้มหายนี้มักจะมาพร้อมการใช้กำลังซ้อมทรมานกับเหยื่อที่ถูกอุ้มหายด้วย อันถือได้ว่าเป็นการละเมิดต่อสิทธิมนุษยชน สิทธิต่อเนื้อตัวร่างกายของบุคคล และเป็นการย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างร้ายแรง

เนื่องจากการอุ้มหายมีลักษณะพิเศษเป็นอาชญากรรมที่ก่อขึ้นโดยเจ้าหน้าที่รัฐ หรือโดยความยินยอมจากรัฐ จึงทำให้การเรียกร้องความยุติธรรม หรือการแสวงหาพยานหลักฐานเป็นไปได้ยากมากกว่าปกติ เนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐหรือหน่วยงานรัฐผู้ซึ่งมีหน้าที่ปกป้อง คุ้มครองประชาชน เป็นส่วนหนึ่งในการก่ออาชญากรรมเสียเอง อีกทั้ง การที่ผู้กระทำความผิดเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้พยานเกรงกลัวต่ออำนาจของผู้กระทำความผิดอีกด้วย และส่วนใหญ่บุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหายจะไม่มีศพให้พบเห็น ซึ่งเป็นอุปสรรคอย่างมากต่อการดำเนินคดี ส่งผลให้ไม่เคยมีกรณีใดที่เกิดขึ้นประเทศไทยที่สามารถนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้ การอุ้มหายซึ่งเป็นอาชญากรรมที่ก่อขึ้นโดยรัฐจึงเป็นส่วนสำคัญที่หยั่งรากให้เกิดวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดให้อยู่ในสังคมไทย

สร้างกลไกปกป้องบุคคลจากการอุ้มหาย ผลักดันพ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหาย ฉบับประชาชน

ประเทศไทยได้ลงนามเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance: CED) ไปเมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2555 แต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบันเป็นรัฐภาคีในอนุสัญญาดังกล่าว ซึ่งความสำคัญของการปกป้องและคุ้มครองบุคคลจากการอุ้มหายหรือการบังคับให้สูญหายนั้น ไม่ใช่เพียงแต่การลงนามหรือเข้าเป็นรัฐภาคีในอนุสัญญา แต่รัฐพึงมีหน้าที่ปกป้องและคุ้มครองจากเหตุการณ์ดังกล่าวโดยการมีกฎหมายภายในประเทศที่เคารพความเป็นมนุษย์ และคุ้มครองความปลอดภัยและชีวิตของประชาชนจากการถูกอุ้มหายด้วย

ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายเดิมทีมีฉบับที่กระทรวงยุติธรรมเป็นผู้จัดทำ ซึ่งในขณะนั้นภาคประชาสังคมก็ได้ร่วมผลักดันให้มีกฎหมายฉบับดังกล่าวขึ้น แต่เมื่อเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กลับถูกปัดตกไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2560 โดยไม่ปรากฏเหตุผลที่ชัดเจน มีเพียงการแถลงข่าวที่อ้างว่าร่างกฎหมายดังกล่าวไม่มีการรับฟังความเห็นที่รอบด้าน และเมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2563 องค์กรภาคประชาสังคมรวมตัวกันเสนอร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย ฉบับประชาชนต่อกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน โดยเป็นการผลักดันให้ร่างกฎหมายฉบับประชาชนนี้ยืนยันสิทธิและกลไกที่จะปกป้องประชาชนได้อย่างครบถ้วนเป็นไปตามที่อนุสัญญาฯ บัญญัติไว้

ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้สูญหาย ฉบับประชาชน มีความน่าสนใจตรงที่ร่างกฎหมายนี้จะผลักดันให้เกิดกลไกที่สามารถคุ้มครองประชาชนได้อย่างแท้จริง ทั้งสร้างกลไกอุดช่องว่างทางกฎหมาย เช่น กรณีการอุ้มหายที่มักไม่สามารถเจอศพเพื่อนำตั้งรูปคดีเพื่อดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิด หรือกรณีที่ไม่สามารถตั้งข้อหาฆาตกรรมแก่ผู้ต้องสงสัย ซึ่งส่วนมากกรณีการอุ้มหาย มักจะถูกตั้งข้อหากักขังหน่วงเหนี่ยวไว้ก่อน ซึ่งไม่ตรงกับสภาพความเป็นจริงของกรณี เนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับในกรณีนี้ มากไปกว่านั้น ยังมีมาตรการป้องกันตั้งแต่เจ้าหน้าที่รัฐควบคุมตัว โดยจะต้องแจ้งสิทธิแก่ผู้ที่ถูกควบคุมตัว และเปิดเผยข้อมูลการควบคุมตัวให้ญาติของผู้นั้นรับรู้ด้วย และหากมีบุคคลหายไปหลังจากที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐควบคุมตัว ผู้ที่อยู่กับบุคคลที่หายไปเป็นคนสุดท้าย จะต้องตกเป็นผู้ต้องสงสัย และเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ความจริง หรือแม้กระทั่งสามารถเอาผิดกับผู้บังคับบัญชาที่รู้เห็นกับการกระทำความผิดได้ด้วย เป็นต้น

การแก้ปัญหาที่แท้จริงคือการเคารพความเห็นต่าง-ยุติการอุ้มหาย-ยุติ SLAPP

การแสดงความคิดเห็นหรือการออกมาเรียกร้องสิทธิของประชาชนเป็นกลไกที่สำคัญประการหนึ่งของสังคมประชาธิปไตย เป็นฟันเฟือนหนึ่งที่ทำให้ประเทศชาติขับเคลื่อนไปสู่การพัฒนา อีกทั้งการแสดงออกของประชาชนถึงการดำเนินการต่างๆ ของรัฐบาลหรือการทำงานของหน่วยงานรัฐก็เป็นส่วนสำคัญที่จะตรวจสอบผลประโยชน์จากการทำงานของรัฐเพื่อให้ประเทศชาติได้ประโยชน์สูงสุด ซึ่งการแสดงออกหรือการเรียร้องเหล่านี้ควรได้รับความคุ้มครองเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติเอง แต่ในทางกลับกัน กลับเกิดเหตุการณ์อุ้มหายบุคคลที่ออกมาเรียกร้องสิทธิให้แก่ประชาชน หรือออกมาตรวจสอบหน่วยงานของรัฐ จากที่ผ่านมาในประเทศไทยก็มีกว่า 80 รายที่ถูกทำให้สูญหายโดยไร้วี่แววการดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิด

ในปัจจุบัน ได้มีการคุกคามบุคคลที่ออกมาแสดงความคิดเห็นในประเด็นสาธารณะรูปแบบใหม่ คือการคุกคามโดยใช้กฎหมายหรืแกระบวนการยุติธรรม หรือที่รู้จักกันในชื่อ การฟ้องคดีปิดปาก หรือ SLAPP โดยบริษัทเอกชนหรือรัฐมักใช้วิธีนี้ฟ้องคดีต่อนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหว แกนนำหรือสมาชิกชุมชนที่ออกมาใช้เสรีภาพในการแสดงออก แสดงความคิดเห็น การร้องเรียน การชุมนุมหรือการมีส่วนร่วมในรูปแบบต่างๆ ที่กระทบต่อการดำเนินงานของตน หรือการเข้าตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐ เป็นต้น ซึ่งจุดประสงค์ในการฟ้องไม่ได้หวังให้เกิดความยุติธรรม แต่เป็นการสร้างอุปสรรค ลดทอนทรัพยากร สร้างบรรยากาศแห่งความกลัว และนำมาซึ่งการยับยั้งประชาชนจากการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในการร้องเรียนต่อรัฐบาล และพูดถึงประเด็นสาธารณะ (อ่านเพิ่มเติม : http://naksit.net/2019/06/report_slapps-public-participation/) ซึ่งในปัจจุบัน จากการเก็บข้อมูลของสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) มีคดีที่เข้าข่ายลักษณะการฟ้องคดีปิดปากรวมทั้งหมด 233 คดี (อ้างอิง SLAPP Data Center : http://naksit.net/2019/12/legal-threats-database/)

เนื่องจากการฟ้องคดีปิดปากไม่ใช่การใช้กระบวนการยุติธรรมอย่างขาวสะอาด ไม่นำมาซึ่งความหวังของความยุติธรรม ที่ผ่านมามีการแก้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 161/1 และ มาตรา 165/2 เพื่อหวังให้เป็นกลไกเพื่อคัดกรองคดีที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะหรือคดีที่มีลักษณะเป็นการฟ้องกลั่นแกล้งนี้ แต่ในทางปฏิบัติ กฎหมายดังกล่าวยังมีข้อจำกัดด้านขอบเขตในการบังคับใช้ กล่าวคือ มาตรา 161/1 ไม่ใช้กับกรณีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ทั้งที่ในข้อเท็จจริง คดีSLAPP จำนวนมากถูกฟ้องโดยพนักงานอัยการ อีกทั้งบทบัญญัติทางกฎหมายดังกล่าวไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการดำเนินการที่ชัดเจน จึงไม่อาจประกันได้ว่าจะสามารถรักษาความสมดุลระหว่างการคุ้มครองสิทธิของพลเมืองในการเข้าไปมีส่วนร่วมสาธารณะของคู่กรณีที่ถูกฟ้อง กับสิทธิในชื่อเสียงและการเข้าถึงศาลของคู่กรณีฝ่ายที่ฟ้องคดีได้ (อ่านเพิ่มเติม ปัญหาที่ผู้ถูกฟ้องคดีปิดปากเผชิญในชั้นก่อนการพิจารณา : http://naksit.net/2020/04/attorney_slapp/)

นอกจากการผลักดันให้ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย ฉบับประชาชน สามารถบังคับใช้เป็นกฎหมายที่คุ้มครองปกป้องประชาชนได้แล้ว การผลักดันให้เกิดกลไกคัดกรองการฟ้องคดีปิดปากก็เป็นสิ่งที่สำคัญต่อการยุติการใช้อำนาจและเครื่องมือต่างๆ ของรัฐ ที่จะมาใช้ปิดกั้นหรือยับยั้งประชาชนจากการแสดงออกในประเด็นสาธารณะ หรือการตรวจสอบการทำงานของรัฐ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์แก่การพัฒนาของประเทศชาติ และความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในประเทศเอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net