Skip to main content
sharethis

กระแสประท้วงต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติสีผิวกระจายจากสหรัฐฯ ออกไปทั่วโลก โดยเมื่อวันอาทิตย์นี้ (7 มิ.ย.) ผู้ประท้วงที่อังกฤษโค่นอนุสาวรีย์ 'เอ็ดเวิร์ด โคลสตัน' นักค้าทาสแอฟริกันแห่งศตวรรษที่ 17 โดยพวกเขาพากันกลิ้งอนุสาวรีย์ไปตามท้องถนนแล้วทิ้งลงน้ำ เพื่อแสดงการรื้อถอนทำลายสัญลักษณ์ของลัทธิอาณานิคม นอกจากนี้การประท้วง Black Lives Matter ยังจัดขึ้นทั่วทุกมุมโลก รวมทั้งโรม ซิดนีย์ และฮ่องกง

ผู้ประท้วงต่อต้านการเหยียดสีผิว พากันโค่นอนุสาวรีย์เอ็ดเวิร์ด โคลสตัน ทิ้งลงน้ำที่บริสโตล เมืองท่าทางตะวันตกเฉียงใต้ของอังกฤษ เมื่อ 8 มิ.ย. 63 (ที่มา: Wikipedia/Harry135)

8 มิ.ย 2563 ผู้ประท้วงในเมืองบริสโตล ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอังกฤษพากันใช้เชือกดึงเพื่อโค่นอนุสาวรีย์เอ็ดเวิร์ด โคลสตัน บุคคลในประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นสมาชิกรัฐสภา และนักค้าทาสในยุคศตวรรษที่ 17 และมีรูปปั้นตั้งอยู่ในเมืองมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1895 (พ.ศ. 2438) แต่การที่รูปปั้นนี้ตั้งอยู่ในเมืองที่มีพหุวัฒนธรรมก็กลายเป็นเรื่องชวนให้โต้แย้งมากขึ้นเรื่อยๆ

ผู้คนพากันโห่ร้องแสดงความยินดีที่โค่นอนุสาวรีย์ดังกล่าวได้ มีผู้คุกเข่าทับอนุสาวรีย์นักค้าทาสแห่งยุคอาณานิคมผู้นี้ คล้ายกับที่ตำรวจคนขาวกระทำกับ 'จอร์จ ฟลอยด์' ที่สหรัฐอเมริกาจนเสียชีวิต ก่อนที่ผู้ประท้วงจะพากันกลิ้งอนุสาวรีย์ไปที่ท่าเรือบริสโตลแล้วโยนทิ้งน้ำ ท่าเรือซึ่งในอดีตเรือค้าทาสของโคลสตันเคยทอดสมอเทียบท่า

โดยหลังโยนอนุสาวรีย์ทิ้งน้ำมีผู้คนจำนวนมากแสดงความยินดีต่อการกระทำนี้ วิดีโอรูปปั้นถูกโค่นก็กลายเป็นกระแสไวรัลในอังกฤษ แต่ก็มีบางคนเช่นนายกรัฐมนตรีคนล่าสุดของอังกฤษ บอริส จอห์นสัน ที่ประณามการกระทำของผู้ประท้วง

นายกเทศมนตรีแห่งบริสโตล มาร์วิน รีส์ กล่าวหาว่าผู้คนกำลังออกห่างจากประวัติศาสตร์และอัตลักษณ์ประจำชาติของตัวเองซึ่งรีส์ไม่เห็นด้วยที่จะเป็นเช่นนี้เพราะเขามองว่าอนุสาวรีย์โคลสตันเป็น "ตัวแทนความเป็นบริสโตล"

ทางตำรวจกล่าวว่าพวกเขากำลังสืบสวนในเรื่องนี้และมีบันทึกวิดีโอเอาไว้ แอนดี เบนเนตต์ ผู้กำกับการตำรวจกล่าวว่าในขณะที่เขา "ผิดหวัง" กับการกระทำของผู้ประท้วง แต่ก็ "เข้าใจว่าทำไมถึงเกิดอะไรแบบนี้" เขาบอกอีกว่าที่เจ้าหน้าที่ไม่ห้ามหรือสกัดกั้นผู้ประท้วงก็เพราะว่าเป็นการตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์ เนื่องจากการเข้าไปห้ามฝูงชนที่กำลังล้มรูปปั้นเสี่ยงต่อการทำให้เกิดความวุ่นวาย

อย่างไรก็ตาม นายกเทศมนตรีของกรุงลอนดอน ซาดิก ข่าน ได้แถลงสนับบสนุนผู้ประท้วงว่า "ผมอยู่ข้างพวกคุณ การสังหารจอร์จ ฟลอยด์ อย่างโหดเหี้ยมจะต้องนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างเร่งด่วนและถาวรในทุกแห่งหน" อย่างไรก็ตามข่านประณามคนที่ใช้ความรุนแรงในการชุมนุมและเตือนนักกิจกรรมให้พยายามจำกัดการสัมผัสใกล้ชิดกันให้มากที่สุดเพื่อป้องกันการติดต่อของโรค COVID-19

เอ็ดเวิร์ด โคลสตัน (Edward Colston) พ่อค้าทาสชาวอังกฤษ
ภาพวาดเมื่อ ค.ศ. 1722 (ที่มา:
Wikipedia)

พอล สเตฟเฟอร์สัน นักรณรงค์ความเท่าเทียมทางเชื้อชาติและสีผิวของบริสโตล ในภาพเขาเข้าร่วมการคว่ำบาตรเพื่อประท้วงรถโดยสารของเมืองที่ไม่ยอมจ้างพนักงานผิวสี เมื่อ ค.ศ. 1963 (ที่มา: ITV)

สื่อ CNN ระบุว่าในอังกฤษยังมีวัฒนธรรมของการแสดงการรำลึกถึงบุคคลในยุคอาณานิคมและคนค้าทาสอยู่มาก ในเมืองบริสโตลเองนอกจากรูปปั้นแล้ว ยังมีถนน โรงเรียน และผับหลายแห่งที่ตั้งชื่อตามโคลสตัน ถึงแม้ว่าโคลสตันจะถูกมองว่าเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงตามประวัติศาสตร์เมืองบริสโตล แต่สิ่งที่โคลสตันเคยทำไว้ก็เริ่มถูกตั้งคำถามจากคนรุ่นใหม่ๆ

ในตอนนี้มีการล่ารายชื่อเรียกร้องให้อนุสาวรีย์คนค้าทาสถูกแทนที่เป็น พอล สเตฟเฟอร์สัน คนดำที่เป็นนักกิจกรรมด้านความเท่าเทียมทางเชื้อชาติสีผิวในบริสโตลสมัยราว 60 ปีที่แล้ว

นอกจากในบริสโตลแล้วยังมีการประท้วงในที่อื่นๆ เช่น ในกรุงลอนดอน ในกรุงโรมประเทศอิตาลี ในวอร์ซอ ในซิดนีย์ ในฮ่องกง และในเมืองอื่นๆ ซึ่งนับเป็นสัปดาห์ที่สองแล้วที่ผู้คนร่วมกันประท้วงในนาม Black Lives Matter หรือ "ชีวิตคนดำก็มีความหมาย" ซึ่งครั้งนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากการใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุของตำรวจต่อคนดำในเมืองมินนิแอโปลิส

ในเหตุการณ์ดังกล่าวตำรวจทำการจับกุมคนดำที่ชื่อ จอร์จ ฟลอยด์ ผู้ถูกกล่าวหาว่าจ่ายธนบัตรปลอมโดยที่ยังไม่มีการสืบสวนข้อเท็จจริงว่าเขาทำจริงหรือไม่ ตำรวจใช้วิธีการควบคุมตัวด้วยการคุกเข่าทับลำคอเขาเป็นเวลา 9 นาทีและไม่ยอมหยุดทั้งที่ฟลอยด์บอกว่าเขา "หายใจไม่ออก"

มีผู้ประท้วงหลายแห่งที่ทำการรำลึกถึงฟอลยด์และเรียกร้องให้มีการยกเลิกระบบที่มีการเหยียดเชื้อชาติสีผิว ผู้ประท้วงแสดงออกหน้าสถานทูตสหรัฐฯ ด้วยการนอนลงให้เป็นสัญลักษณ์แทนการเสียชีวิต มีการประท้วงในรูปแบบนี้เพื่อต่อต้านความรุนแรงจากตำรวจในสหรัฐฯ มาหลายครั้งแล้ว มีการตั้งข้อสังเกตอีกว่าผู้ประท้วงบางแห่งยอมฝ่าฝืนกฎข้อห้ามล็อกดาวน์ช่วง COVID-19 และการเตือนจากนักการเมืองในเรื่องนี้ แต่ผู้ประท้วงเหล่านี้ต่างก็สวมหน้ากากอนามัย ในชณะที่บางคนก็ถือป้ายระบุว่า ความเหลื่อมล้ำเรื่องเชื้อชาติสีผิวก็ถือเป็นวิกฤตการสาธารณสุขเช่นกัน

มีประเทศที่ยกเลิกการสั่งห้ามชุมนุมชั่วคราวคือประเทศออสเตรเลีย โดยที่ศาลของออสเตรเลียยกเลิกคำสั่งห้ามชุมนุมในซิดนีย์เพื่อให้ประชาชนสามารถประท้วงได้ ในการชุมนุมที่ซิดนีย์มีการแสดงของกลุ่มชนพื้นเมืองดั้งเดิมของออสเตรเลีย และมีการถือป้ายเรียกร้องให้มีการยุติการเสียชีวิตของผู้ที่ถูกจับกุมโดยตำรวจทั้งในสหรัฐฯ และในออสเตรเลีย

เรียบเรียงจาก

Protesters tear down statue of slave trader as anti-racism demonstrations take place worldwide, CNN, 08-06-2020

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Edward_Colston

https://en.wikipedia.org/wiki/Die-in

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net