Skip to main content
sharethis

ในวาระ 88 ปีประชาธิปไตย ขอพาไปดูเค้าโครงเศรษฐกิจฯ ซึ่งเป็นปมทางประวัติศาสตร์ที่พลิกโฉมหน้าการเมืองไทย สรุปแล้วมันเป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่ ปรีดีทำผิดพลาดจริงหรือเปล่า ในยุคตั้งไข่ของประชาธิปไตย ทำไมสถาบันพระมหากษัตริ์กำหนดแนวทางบริหารเศรษฐกิจบ้านเมืองผ่านพระบรมราชวินิจฉัยฯ ได้ ฯลฯ

ในสัปดาห์แห่งการอภิปรายงบประมาณประจำปี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า ร่าง พ.ร.บ.งบปี 2564 กระทรวงและหน่วยที่รับงบประมาณจะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ซึ่งในเว็บสภาพัฒน์ฯ ระบุว่า ได้น้อมนำหลัก “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็นปรัชญานำทางในการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่องจนถึงฉบับที่ 12

เครือข่าว We Fair แจกแจงให้เห็นชัดขึ้นอีกว่าร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2564 ฉบับนี้ควรถูกขนานนามว่าเป็น ฉบับประชารัฐนิยม เนื่องจากมีการจัดงบประมาณสวัสดิการสุดเหลื่อมล้ำ เมื่อเปรียบเทียบระหว่างงบสวัสดิการที่ให้ข้าราชการ 2-3 ล้านคนราว 465,000 ล้านบาทกับสวัสดิการประชาชนที่เหลือทั้งประเทศใช้งบเพียง 388,000 ล้านบาท

ในแง่ลำดับความสำคัญ กระทรวงกลาโหมได้รับงบประมาณจำนวน 223,463.7 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบแล้ว กระทรวงกลาโหมได้รับมากกว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2.4 เท่า กระทรวงแรงงาน 3 เท่า กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 10 เท่า

ในวาระที่ประเทศไทยเดินบนเส้นทางประชาธิปไตยมา 88 ปีในปีนี้ เราขอพาย้อนกลับไปดูการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตในช่วงหลังการปฏิวัติ 2475 ซึ่งในยุคนั้นประเทศไทยก็กำลังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำอย่างหนักอันสืบเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจระดับโลกคล้ายๆ กับปัจจุบันนี้  โดยเราจะดู ‘แผนพัฒนาเศรษฐกิจ’ ฉบับแรก หรือ เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ซึ่งยกร่างโดยปรีดี พนมยงค์ หนึ่งในมันสมองของคณะราษฎร

แผนเศรษฐกิจนี้ไม่ได้สำคัญในแง่เป็นตัวแบบที่เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบัน แต่เป็นจุดสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่เราควรศึกษา เพราะมันคือการวางกรอบระบบเศรษฐกิจไทยทั้งหมดโดยมีประชาชนเป็นตัวตั้งเป็นครั้งแรก อีกทั้งยังเป็นต้นตอของข้อหา ‘คอมมิวนิสต์’ ที่ปรีดีเผชิญตลอดมา และข้อหานี้ก็เป็นส่วนสำคัญที่นำไปสู่การรัฐประหาร-การก่อกบฏสืบเนื่องจากนั้นซึ่งเปลี่ยนโฉมหน้าประชาธิปไตยไทยเลยทีเดียว

ความผิดพลาดของปรีดี?

นักประวัติศาสตร์คนสำคัญอย่างสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ถึงกับกล่าวว่า เค้าโครงเศรษฐกิจคือความผิดพลาดทางประวัติศาสตร์ของปรีดี

“ผลสะเทือนของเอกสารฉบับนี้ใหญ่หลวงยิ่ง มันได้นำไปสู่ความแตกแยกจากกันระหว่างสามผู้ก่อการที่เป็นนายทหารอาวุโส (พระยาทรงฯ, พระยาฤทธิ์ฯ, พระประศาสน์ฯ) กับที่เหลือของคณะราษฎร, ระหว่างคณะราษฎรกับขุนนางอาวุโสที่รับเชิญมาร่วมรัฐบาล (พระยามโนฯกับพวก) และระหว่างคณะราษฎรกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว....[ก่อนหน้านั้น] มันมีความเป็นไปได้ที่จะสร้างแนวร่วมที่กว้างขวางที่สุด (broadest coalition) ในหมู่ผู้นำ (elite) ไทยในขณะนั้น เพื่อวางรากฐานให้แก่ระบอบรัฐสภาประชาธิปไตย วิกฤตการณ์อันเกิดจาก "เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ" ของปรีดีทำให้ความเป็นไปได้นี้หมดไป”

ขณะที่ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์อีกคนระบุว่า บรรยากาศทางสังคมในขณะนั้นสื่อมวลชน ปัญญาชน ส.ส.มุ่งสนใจความยากไร้ของชาวนาเป็นหลักอยู่ก่อนแล้ว ไม่ว่าจะอย่างไรการผลักดันนโยบายโดยมุ่งเน้นที่ชาวนาเป็นศูนย์กลางย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่จะขัดแย้งกับระบอบเก่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับคณะราษฎรจึงไม่ใช่เป็นเพียงเพราะปรีดีเสนอเค้าโครงเศรษฐกิจหรือมีการวางแผนหักหลังปรีดีอย่างเดียว [จะกล่าวต่อไปเรื่องหลักหลัง] แต่เพราะกลุ่มคนชั้นกลางและนักวิชาชีพต่างๆ ที่เป็นพลังของระบอบประชาธิปไตยยังไม่เติบใหญ่เพียงพอจะเข้ามาเป็นฐานรองรับการปกครองใหม่และจินตนาการทางการเมืองใหม่ได้ทันท่วงที

เขมภัทร ทฤษฎิคุณ ได้เขียนบทความที่ขยายความบริบทในเวลานั้นเพิ่มเติมว่า นอกจากอาชีพข้าราชการแล้ว อาชีพอีกอย่างหนึ่งที่ชาวสยามนิยมทำกันในช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง คือ เกษตรกรรมและปัญหาเรื่องที่ดินเป็นปัญหาใหญ่มาก จากการสำรวจของคาร์ล ซี. ซิมเมอร์แมน (Carle C. Zimmerman) ซึ่งรัฐบาลสยามจ้างให้สำรวจเศรษฐกิจในชนบท ในปี พ.ศ. 2473 พบว่า แม้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีที่ดินเป็นของตนเองและอาศัยวิธีการเช่าที่ดินจากเจ้าของที่ดิน

คำถามสำคัญสำหรับคนรุ่นนี้ก็คือ 1.ร่างเค้าโครงฯ ที่ว่าหน้าตาเป็นอย่างไร? 2.แล้วมันมายังไงไปยังไง ทำไมเสนอ เราอาจเริ่มต้นด้วยการรวบรวมคำตอบของข้อหลังก่อน

เส้นทางของเค้าโครงเศรษฐกิจ

หลังการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองสำเร็จลุล่วง เพื่อให้เป็นไปตามหลักเศรษฐกิจในหลัก 6 ประการของคณะราษฎรที่ประกาศในวันปฏิวัติ 24 มิ.ย. 2475 หลักหนึ่งที่ว่า

“จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก”

ปรีดี พนมยงค์ ยกร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจด้วยความรวดเร็ว โดยมันยังเป็นเพียง “เค้าโครง” เท่านั้น เขาหวังว่ามันจะเป็นกุญแจนำไปสู่หลักของการบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ เอกสารชุดนี้ประกอบไปด้วย คำชี้แจงเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ พร้อมร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎรกับร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการประกอบเศรษฐกิจ ความยาวรวม 62 หน้า

เนื้อหาในเค้าโครงนำมาซึ่งความขัดแย้งเข้มข้นจนกระทั่งพระยามโนปกรณ์ฯ นายกคนแรกของไทยจากสายอนุรักษ์นิยมทำการยึดอำนาจผ่านพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภา งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราเสียอย่างนั้น

คู่ขัดแย้งหลักของปรีดี คือ พระปกเกล้าฯ ซึ่งในการศึกษาประวัติศาสตร์พบว่ามีการออกหนังสืออ้างว่าเป็น “บันทึกพระบรมราชวินิจฉัย” ตอบโต้ร่างเค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดีอย่างรุนแรงจนปรีดีต้องลี้ภัยหนีออกจากประเทศไทยไป

ณัฐพล ใจจริง นักประวัติศาสตร์ผู้เขียนหนังสือ ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ วิเคราะห์ “การเมือง” ของเค้าโครงเศรษฐกิจโดยระบุว่า หลักฐานชี้ว่าปรีดีเคยแจกร่างโครงการเศรษฐกิจของตนให้ที่ประชุมเตรียมการปฏิวัติอ่านแล้วชี้แจงว่าจะเสนอแนวทางสหกรณ์ครบรูป การประกันสังคม และให้รัฐบาลเข้าไปมีส่วนในเศรษฐกิจของชาติ ทุกคนก็เห็นพ้องทั้งสายทหารและพลเรือน หลังการปฏิวัติ พระยามโนฯ ได้มอบหมายให้ปรีดีร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติขึ้น ต่อมาพระปกเกล้าฯ รับสั่งให้พระยาพหลฯ และปรีดีเข้าเฝ้าและถามถึงแผนการเศรษฐกิจ ปรีดีเสนอการดำเนินเศรษฐกิจแบบสหกรณ์ครบรูป พระปกเกล้าก็เห็นชอบด้วย ฝั่งสภาผู้แทนราษฎรก็เร่งเร้าซักถามถึงการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจอยู่ไม่เว้นวาย ในที่สุดภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475 ปรีดีก็เขียนคำชี้แจงเค้าโครงการเศรษฐกิจสำเร็จ แล้วนำถวายให้พระปกเกล้าฯ อ่าน พระยามโนฯ แจ้งปรีดีว่าพระปกเกล้าเห็นชอบด้วย จากนั้นปรีดีจึงนำเสนอในคณะผู้ก่อการซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วยแต่สายทหารไม่เห็นด้วย อย่างไรก็ตาม ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ยังบันทึกขัดแย้งกันในช่วงนี้ว่า พระยามโนฯ เพ็ดทูลจนพระปกเกล้าไม่ไว้ใจเค้าโครงของปรีดีในภายหลัง หรือพระปกเกล้าไม่เห็นด้วยโดยพระองค์เองอยู่แล้ว (แล้วทำไมตอนแรกพระยาโนฯ บอกว่าทรงเห็นด้วย?!)

ปรีดีชี้แจงไม่ใช่คอมมิวนิสต์ แต่เป็น สังคมนิยมผสมทุนนิยม

มีนาคม 2476 ปรีดีนำเรื่องนี้เข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ครม.มีมติตั้งอนุกรรมการศึกษาเค้าโครงนี้ ปรีดีได้อธิบายว่า เค้าโครงเศรษฐกิจที่เสนอนั้นไม่ใช่แนวคิดลัทธิคอมมิวนิสต์ แต่เป็นแนวคิดสังคมนิยมผสมกับทุนนิยม ที่ประชุมได้มติแตกออกเป็น 2 ฝ่าย เสียงส่วนใหญ่สนับสนุนเค้าโครง ขณะที่พระยามโนฯ พระยาทรงสุรเดช ไม่เห็นด้วย โดยพระยามโนฯ ต้องการให้ดำเนินการนโยบายแบบเดิม พระยาทรงฯ ที่เคยก่อการมาด้วยกัน ถึงเวลานี้ก็กล่าวหาปรีดีอย่างรุนแรงว่าเป็น “คอมมิวนิสต์” ประชุมกันอยู่หลายรอบก็ไม่มีใครยอมถอย ในที่สุดในการประชุมครั้งหนึ่ง พระยามโนฯ เอาพระบรมราชวินิจฉัยให้ปรีดีอ่าน สรุปความได้ว่า โครงการนี้นั้นเป็นโครงการอันเดียวกันอย่างแน่นอนกับที่ประเทศรัสเซียใช้อยู่และควรล้มเลิกความคิดนี้เสียก่อนจะสร้างความพินาศให้ประเทศ จากนั้นปรีดีจึงขอลาออกจากรัฐมนตรี และทาง ครม.โหวตเอานโยบายเศรษฐกิจแบบเดิมของพระยามโนฯ

รัฐประหารครั้งแรกในระบอบประชาธิปไตยไทย

3 วันหลังจากนั้น วันที่ 1 เม.ย. 2476 พระยามโนฯ ทำการอำนาจโดยงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ออกพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร พร้อมตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ โดยมีข้ออ้างในการยึดอำนาจว่า บัดนี้มีความปรารถนาให้ใช้เค้าโครงเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ซึ่งจะเป็นอันตรายใหญ่หลวงต่อประเทศ ต่อมาวันที่ 2 เม.ย. 2476 รัฐบาลชุดใหม่ก็ได้ออกพ.ร.บ.ว่าด้วยคอมมิวนิสต์ 2476 ทำให้ในวันที่ 12 เม.ย. ปรีดีต้องลี้ภัยไปยังฝรั่งเศส ในวันเดียวกันนั้นมีการพิมพ์ “พระบรมราชวินิจฉัยฯ” โดยไม่ลงชื่อผู้เขียน ซึ่งอาจมีเจตนาทำให้คิดว่าพระปกเกล้าฯ เป็นผู้เขียน แต่นักวิชาการหลายท่านคาดว่าน่าจะเป็นข้าราชบริพารหรือคนใกล้ชิดเขียนขึ้นมา โดยมีการแจกจ่ายออกไปกว่า 3,000 ฉบับซึ่งเป็นการเริ่มต้นกล่าวหาปรีดีว่าเป็นคอมมิวนิสต์

ปรีดี พนมยงค์ในปี 2490 (ภาพจากวิกิพีเดีย)

เนื้อหาเค้าโครงเศรษฐกิจ

เค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์แบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ส่วนคือส่วนที่ 1 คำชี้แจ้งเค้าโครงการเศรษฐกิจ ส่วนที่ 2 ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร และส่วนที่ 3 ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการประกอบการทางเศรษฐกิจ โดยมีเนื้อหาหลักให้รัฐบาลเป็นผู้จัดการเศรษฐกิจเสียเองโดยให้สร้างความร่วมมือระหว่างคนมั่งมีกับคนจนโดยไม่ประหักประหารคนมั่งมี ไม่ใช้วิธีริบคืนที่ดินแบบคอมมิวนิสต์แต่จะให้รัฐบาลซื้อคืนที่ดินเท่าที่จำเป็น เว้นส่วนที่อยู่อาศัยไม่จำเป็นต้องซื้อคืน ให้ราษฎรทุกคนเป็นข้าราชการเพื่อให้ราษฎรทุกคนมีงานทำ รัฐบาลจะจ่ายเงินเดือนให้แก่ราษฎร เพื่อให้ราษฎรเอาไปแลกเปลี่ยนกับปัจจัยในการดำรงชีวิตโดยรัฐบาลจะจัดหาปัจจัยเหล่านั้นไว้ในรูปแบบสหกรณ์และรัฐบาลจะดำเนินการกิจการเอง ทั้งนี้เพื่อรับประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎรต่อความไม่เที่ยงแท้ของเศรษฐกิจ แต่ราษฎรที่มีความมั่งมีอยู่แล้วรวมถึงอาชีพอิสระที่ไม่ประสงค์จะเข้ารับเป็นราชการยังสามารถประกอบอาชีพของตนเองได้อย่างเต็มที่ เช่น นักประพันธ์ แพทย์ ช่างเขียน ครู ทนายความ ฯลฯ ในด้านของเงินทุนรัฐบาลจำเป็นต้องเก็บภาษีบางประเภทเช่น ภาษีมรดก ภาษีรายได้ และภาษีทางอ้อม รวมถึงกู้เงินจากผู้มั่งมีภายในประเทศหรือภายนอกประเทศ รัฐบาลจะแบ่งการปกครองทางเศรษฐกิจออกเป็นสหกรณ์ โดยสหกรณ์จะประกอบการตามแผนเศรษฐกิจแห่งชาติ ราษฎรที่เป็นสมาชิกสหกรณ์จะได้รับเงินเดือนตามอัตรา โดยสมาชิกสหกรณ์จะร่วมกันเป็นผู้ผลิต ขนส่งจำหน่าย และร่วมกันจัดหาของอุปโภคบริโภคให้แก่สมาชิก ซึ่งระบบสหการณ์จะเอื้อให้การจัดการสาธารณสุข และการศึกษาทำได้สะดวก และรัฐบาลต้องจัดการะบบกสิกรรม อุตสาหกรรมให้มีขึ้นเพื่อให้ประเทศพึ่งพาตนเองได้ เพื่อป้องกันผลกระทบจากการปิดประตูการค้าจากต่างประเทศ และให้มีการจัดตั้งสภาที่มีหน้าที่จัดวางแผนเศรษฐกิจแห่งชาติ เพื่อปฏิบัติและดูแลการทำงานตามนโยบายเศรษฐกิจ ให้มีการจัดตั้งธนาคารแห่งชาติโดยให้มีการนำเงินทุนสำรองของรัฐบาลและที่กู้จากเอกชนมาเป็นทุนของธนาคารแห่งชาติ และให้โอนกรมเงินตราในกระทรวงการคลังมาอยู่ในธนาคารแห่งชาติ เพื่อให้เป็นทุนที่จะให้รัฐบาลกู้ได

ปรีดี ตระหนักว่าจะต้องมีผู้วิจารณ์และกล่าวหาว่าเค้าโครงเศรษฐกิจฉบับนี้มีลักษณะเป็นคอมมิวนิสต์ ปรีดีจึงเน้นว่าไม่ได้มีความประสงค์จะทำให้มนุษย์กลายเป็นสัตว์ แต่มีความพยายามทำให้มนุษย์มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น และยังเคารพต่อความเป็นมนุษย์ ความสัมพันธ์ในสถาบันครอบครัวยังดำรงอยู่ ส่งเสริมงานด้านวิทยาศาสตร์ เอกชนมีสิทธิครอบครองสังหาริมทรัพย์ที่หามาเองได้ และมีการถือกรรมสิทธิแห่งสิ่งประดิษฐ์ทางการค้าได้

รับแนวคิดสมัยเรียนฝรั่งเศส

ทิพวรรณ บุญทวี ได้กล่าวว่าหลังปรีดี พนมยงค์จบการศึกษาปริญญาเอกด้านนิติศาสตร์แล้ว ปรีดียังสอบไล่ได้ประกาศนียบัตรการศึกษาขั้นสูงทางเศรษฐศาสตร์การเมือง ทำให้ได้ศึกษาระบบเศรษฐกิจหลายชนิด รวมถึงระบอบสังคมนิยมที่เกี่ยวกับแผนเศรษฐกิจด้วย และเล็งเห็นว่าสภาพท้องถิ่นไทยน่าจะเหมาะกับระบอบเศรษฐศาสตร์แบบสังคมนิยมที่เป็นวิทยาศาสตร์ โดยมีหนังสือ 2 เล่มที่น่าจะเป็นแนวทางผลักดันให้เกิดเค้าโครงเศรษฐกิจ

เล่มที่ 1 คือ “คำสอนเศรษฐศาสตร์” ของ ชาร์ล จี๊ด ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยปารีส ซึ่งปรีดีน่าจะได้อ่านเพราะหนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นเพื่อเป็นคำสอนในคณะนิติศาสตร์อยู่แล้ว โดยหนังสือเขียนครอบคลุมเศรษฐศาสตร์โดยกว้างๆ ไม่ได้เจาะจงเรื่องเรื่องหนึ่ง ชาร์ล จี๊ดเป็นผู้นำแนวคิดลัทธิโซลิดาลิสม์ที่กล่าวถึงว่า มนุษย์ย่อมอาศัยซึ่งกันและกันจึงควรจัดให้มีสหกรณ์ต่างๆ เช่นในการผลิต การใช้ การจำหน่ายเป็นต้น ลัทธิโซลิดาลิสม์เป็นหลักสำคัญที่ปรีดีได้นำมาเสนอในเค้าโครงเศรษฐกิจ

เล่มที่ 2 คือ “ประวัติศาสตร์ลัทธิเศรษฐศาสตร์” ของ ชาร์ล จี๊ดและ ชาร์ล รีส ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยมองต์เปลิเยร์ มีเนื้อหากล่าวถึงลัทธิเศรษฐศาสตร์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจบุัน(ปีเขียน 1909)

อิทธิพลการศึกษาจากหนังสือสองเล่มนี้ทำให้ปรีดีนำมาเสนอในเค้าโครงเศรษฐกิจ และด้วยความใหม่และก้าวหน้าของเนื้อหาเศรษฐศาสตร์ในโลกตะวันตก ซึ่งในไทยยังไม่มีการศึกษาเศรษฐศาสตร์จนกระทั่งก่อตั้งมหาวิทยาธรรมศาสตร์ในปี 2477 ทำให้เค้าโครงเศรษฐศาสตร์ฉบับนี้ดูก้าวหน้าเกินไปและถูกคิดว่าเป็นลัทธิคอมมิวนีสต์ตามแบบรัสเซีย ซึ่งปรีดีเคยกล่าวว่า หากพวกคอมมิวนีสต์มาอ่านเค้าโครงเศรษฐกิจฉบับนี้ คงติเตียนอย่างดุเดือดเป็นแน่

อนุสาวรีย์ของปรีดี ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

หยิบข้อดีของลัทธิต่างๆ มารวมกันเป็นเค้าโครงเศรษฐกิจ

ทิพวรรณ บุญทวี กล่าวว่า ปรีดี พนมยงค์ได้ผสมผสานข้อดีของลัทธิเศรษฐศาสตร์หลายลัทธิเข้าด้วยกัน ซึ่งสามารถแบ่งออกได้ใหญ่ๆ เป็น 4 ลัทธิ คือ

แนวคิดสังคมนิยม ปรีดีไม่เห็นด้วยกับแนวคิดเสรีนิยมที่เอกชนมีการแบ่งงานกันทำ จนเกิดการเอารัดเอาเปรียบและเกิดปัญหาต่อมาเช่น ปัญหาการว่างงาน ปัญหาความไม่เที่ยงของเศรษฐกิจ ทำให้ปรีดีเห็นว่าควรนำแนวคิดสังคมนิยมแบบกรรมสิทธิ์ร่วมมาใช้โดยให้รัฐบาลซื้อคืนที่ดิน เป็นผู้ดำเนินการทางเศรษฐกิจ และเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตแทนเอกชน แต่ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ของเอกชนไปเสียทั้งหมดซึ่งต่างกับลัทธิมาร์กซิสม์ที่ให้ชนชั้นกรรมมาชีพถือครองปัจจัยการผลิต แนวคิดสังคมนิยมสหกรณ์ก็ถูกปรีดีหยิบยกขึ้นมาเสนอในเค้าโครงเศรษฐกิจ โดยเน้นให้สหกรณ์พึ่งพาตนเองได้ ช่วยเหลือกันและกันแทนการแข่งขัน ตัดคนกลางออกไปเพื่อลดการเอาเปรียบและขูดรีด มีการทำสหกรณ์ในรูปแบบที่ครบวงจร 

นอกจากนี้ปรีดีได้รับอิทธิพลจากนักแนวคิดสังคมนิยมอีกหลายคน เช่น แซงต์ ซีมอง ในด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศเพื่อความเจริญ และการทำให้ทุกคนในสังคมมีงานทำ โรเบิร์ต โอเว่น ในเรื่องบัตรแลกเปลี่ยนสินค้ากับสหกรณ์ ซึ่งปรีดีนำมาประยุกต์โดยไม่ใช่บัตรแลกเปลี่ยนแต่ใช้เงินไปแลกเปลี่ยนสินค้าแทน ชาร์ลส์ ฟูริเอร์ เรื่องการแลกเปลี่ยนระหว่างสหกรณ์ ปรีดีต้องการที่จะสร้างระบบสังคมนิยมที่ไม่บีบบังคับ ทั้งเคารพสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลและประนีประนอมระหว่างคนจนและคนมั่งมี ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดสงครามชนชั้นซึ่งจะเป็นบ่อเกิดของลัทธิคอมมิวนิสต์

ลัทธิโซลิดาริสม์ มีแนวคิดที่เสนอให้รัฐเป็นผู้ประกันสังคม คนทุกคนมีหน้าที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และรัฐมีหน้าที่จะต้องปฏิรูปสังคม ออกกฎหมาย และจัดสรรทรัพยากร ซึ่งปรีดีได้นำแนวความคิดนี้มาผลักดันให้รัฐบาลเป็นหลักประกันให้แก่ราษฎรโดยรัฐบาลเป็นผู้ประกอบการเศรษฐกิจเสียเอง ให้ราษฎรเป็นข้าราชการ และกำหนดรายได้ขั้นต่ำที่รัฐบาลจะให้แก่ราษฎรเป็นการประกันว่าราษฎรทุกคนมีรายได้ ในด้านภาษีให้มีการจัดเก็บภาษีประเภทต่างๆ มาเพื่อเป็นทุนของรัฐ โดยภาษีมรดกจะถือว่าเก็บมาจากผู้มั่งมี และมีการเสนอให้ลดภาษีคนจนและไปเก็บที่คนมั่งมีให้มากขึ้น โดยไม่ใช่เป็นการเบียดเบียนคนมั่งมีแต่เป็นการให้คนมั่งมีได้ช่วยเหลือคนจนด้วย การเคารพกรรมสิทธิ์ของเอกชนก็เป็นอีกเรื่องที่ปรีดีนำมาจากลัทธินี้ ซึ่งเห็นได้จากการเก็บภาษีประเภทต่างๆ โดยไม่เข้าไปยึดหรือริบทรัพย์สินนั้นๆ ของเอกชน ซึ่งต่างจากลัทธิมาร์กซิสม์ที่ยึดทรัพย์สินของเอกชนมาทั้งหมด

ปรัชญาศาสนาพุทธ และมนุษยธรรมวิทยา ปรีดีเห็นถึงความคล้ายคลึงของปรัชญาศาสนาพุทธกับลัทธิโซลิดาริสม์ในเรื่องของการพึ่งพากันของคนในสังคม และการทำบุญทำบาปที่จะส่งผลต่อการกระทำ และในเรื่องของความเที่ยงไม่ว่าจะเป็นสังขารของมนุษย์หรือเรื่องทางเศรษฐกิจ ปรีดีจึงนำหลักปรัชญาศาสนาพุทธ และมนุษยธรรมวิทยาในด้านที่ว่ามนุษย์ต้องการความสบายและชีวิตที่เจริญคล้ายกับโลกพระศรีอารย์หรือยูโทเปียในแบบชาวพุทธเข้ามาใส่ด้วย

อุดมการณ์ชาตินิยม ปรีดี พนมยงค์ได้แฝงความเป็นชาตินิยมไว้ในเค้าโครงเศรษฐกิจ โดยมีความพยายามผลักดันให้เกิดการสร้างชาติและพัฒนาชาติให้เท่าทันอารยประเทศ โดยได้รับอิทธิพลมาจาก เฟรดอลิค ลีสต์ นักเศรษฐศาสตร์วิทยาชาวเยอรมันโดยกล่าวถึง การสร้างชาติโดยการสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่ออุตสาหกรรม เกษตรกรรม หรือการค้าให้แข็งแกร่งซึ่งจะนำพาชาติให้เจริญขึ้นได้ ซึ่งกล่าวได้ว่าอาจเลียนแบบการพัฒนาแบบชาตินิยมของประเทศเยอรมนีในเวลานั้น

การศึกษาเค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์เจาะลึกลงไปถึงแนวคิดแรกเริ่มนั้นแสดงให้เห็นว่ามีความแตกต่างกับลัทธิมาร์กซิสม์และคอมมิวนิสต์อยู่ โดยปรีดีไม่ได้อาศัยการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและไม่ได้กล่าวถึงการขูดรีดเอารัดเอาเปรียบและการต่อสู้ทางชนชั้นแบบมาร์กซิสม์เลย แต่ปรีดีได้มองถึงปัญหาความไม่เที่ยงแท้ของการเศรษฐกิจ และพยายามใช้ประโยชน์ของแรงงานให้เต็มที่ ให้ราษฎรมีงานทำมีรายได้ สร้างความสุขบริบูรณ์แก่ราษฎร และสร้างความเจริญแก่ชาติ

รัฐประหารครั้งที่สอง และกบฏครั้งแรกในระบอบประชาธิปไตยไทย

20 มิ.ย. 2476 พระยาพหลฯ และหลวงพิบูลสงครามได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพระยามโนฯ และกลับมาเปิดสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง พระยาพหลฯ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เรียกได้ว่าคณะราษฎรได้ทวงอำนาจคืนจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมด้วยการรัฐประหารครั้งนี้ ต่อมาปรีดีจึงถูกเรียกตัวกลับประเทศ สภาผู้แทนราษฎรได้ทำการไต่สวนข้อกล่าวหาว่าปรีดีเป็นคอมมิวนิสต์ และลงความเห็นว่าเขาไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์ตามข้อกล่าวหานั้น เมื่อปรีดีกลับมาไม่นานก็เกิดกบฏครั้งแรกในประเทศขึ้น คือ กบฏบวรเดช โดยข้อเรียกร้องแรกๆคือ การประณามรัฐบาลที่นำปรีดีเจ้าพ่อคอมมิวนิสต์กลับมา

ภาพจาก pridi.or.th

วาทกรรมผลิตซ้ำคอมมิวนิสต์ ระลอกคลื่นแห่งการใส่ร้าย

หลังพระยาพหลฯ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็มีการขอร้องให้ไม่มีการพิมพ์เค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์และพระบรมราชวินิยฉัยฯ ออกมาเผยแพร่อีกเพื่อความเรียบร้อยสงบสุขของสังคม เป็นเวลาถึง 14 ปีที่ไม่มีการผลิตซ้ำเอกสารทั้งสองฉบับ

การศึกษาของณัฐพล ใจจริง พบว่า ในปี 2490 มีหนังสือชื่อ บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ เรื่อง เค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ของศักดิ์ ศิลปานนท์ ซึ่งเป็นการพิมพ์พระบรมราชวินิจฉัยฯ ซึ่งเป็นฝ่ายค้านขึ้นก่อน แล้วพิมพ์เค้าโครงเศรษฐกิจซึ่งเป็นฝ่ายเสนอมาทีหลัง ภายหลังในการพิมพ์ซ้ำจึงเรียกว่า “สมุดปกเหลือง”  ซึ่งหากเปิดไปดูปกหลังของหนังสือเล่มนี้ของศักดิ์มีคำกล่าวถึงลัทธิคอมมิวนิสต์ว่าเป็นลัทธิที่เลวร้ายและมีการแทรกซึมอยู่ในประเทศไทย

ต่อมาในปี 2492 มีการพิมพ์หนังสือพระปกเกล้าฯ ทรงโต้เค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ โดยไม่มีชื่อผู้เขียนหนังสือ มีเพียงชื่อโรงพิมพ์ที่จัดพิมพ์ชื่อภักดิ์ดีประเสริฐ ซึ่งเป็นการผลิตซ้ำเค้าโครงเศรษฐกิจและพระบรมราชวินิจฉัยฯ คู่กันในหนังสือเล่มเดียวเป็นครั้งแรก และข้อสำคัญคือมีการลงชื่อ “ประชาธิปก” ในตอนท้ายของพระบรมราชวินิจฉัยฯ พบว่าแต่เดิมทั้งเอกสารต้นฉบับและหนังสือของศักดิ์ไม่มีการลงชื่อไว้ ซึ่งการใส่ชื่อลงไปเป็นการยืนยันถึงความเชื่อที่ว่าพระปกเกล้าฯ เป็นผู้เขียนพระบรมราชวินิจฉัยฯ เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือของเอกสารและใช้เป็นเครื่องมือโจมตีว่าปรีดีเป็นศัตรูต่อสถาบันกษัตริย์ และยังมีการตัดและแก้ไขคำชี้แจงในเค้าโครงเศรษฐกิจที่พูดถึงเบื้องหลังความคิดอย่างเป็นกลางของปรีดีออกไป รวมถึงคำสำคัญเช่น “ความไม่เที่ยงแท้แห่งการเศรษฐกิจ” และหัวข้อสำคัญ ผู้มั่งมี คนชั้นกลาง และคนยากจนก็อาจแร้นแค้น เหล่านี้ถูกตัดออก ในหนังสือสามโลก (2497) ของอารยันตคุปต์ได้ใช้หนังสือเล่มข้างต้นเป็นต้นฉบับเขียนวาทะสลับไปมาประเด็นต่อประเด็น ระหว่างฉบับปรีดีและฉบับพระบรมราชวินิจฉัย ทั้งยังเพิ่มคำลงไปในเค้าโครงเศรษฐกิจ เช่น ให้รางวัลแก่ทาส คอมมิวนิสต์รวบไว้หมด การนองเลือด

ตั้งแต่นั้นมาในการผลิตซ้ำพระบรมราชวินิจฉัยฯ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยมหรือฝ่ายปรีดีก็มีชื่อประชาธิปกอยู่ท้ายเอกสารเสมอ เช่น ในหนังสือท่านปรีดี รัฐบุรษอาวุโสใน(2500) ของเดือน บุนนาคก็มีการใส่ชื่อประชาธิปกไว้ท้ายเอกสารพระบรมราชวินิจฉัยฯ ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าเดือนอาจจะย้อนกลับถึงฝ่ายอนุรักษ์นิยมว่าใช้ชื่อของพระปกเกล้าฯ มาเป็นเครื่องมือโจมตีและกล่าวหาปรีดี

ในช่วงปี 2505-2515 ไม่มีการผลิตซ้ำเอกสารเค้าโครงเศรษฐกิจและพระบรมราชวินิจฉัยฯ ออกมา มีเพียงบทความวิวาทะลงในวารสารในช่วงปี 2510 เอกสารทั้งสองชิ้นถูกนำกลับมาพูดถึงอีกในช่วงหลัง 14 ต.ค.16 ซึ่งเป็นช่วงที่ฝ่ายนิยมปรีดีเปิดพื้นที่แห่งความทรงจำในเรื่องของปรีดีมากขึ้น เช่น หนังสือของสิริ เปรมจิตต์ ซึ่งผลิตซ้ำทั้งเค้าโครงเศรษฐกิจและพระบรมราชวินิจฉัยฯ ลงในเล่มเดียวกัน หนังสือของสุพจน์ ด่านตระกูล ที่ผลิตซ้ำเฉพาะเค้าโครงเศรษฐกิจโดยให้เหตุผลที่ไม่ผลิตพระบรมราชวินิจฉัยด้วยว่า “ไม่อยากซ้ำเติมพระปกเกล้าฯ”

ฝ่ายอนุรักษ์นิยมมีความตื่นตัวในการรื้อฟื้นความทรงจำของปรีดี โดยในช่วงปี 2519 หนังสือชื่อ พระปกเกล้าฯ กษัตริย์นักประชาธิปไตย ของชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ ซึ่งแสดงจุดยืนชัดเจนว่าเชิดชูเจ้าและโจมตีคณะราษฎรด้วยวาทกรรม “ชิงสุกก่อนห่าม” หนังสือพระปกเกล้าฯ กับระบอบประชาธิปไตย (2520) โดยปรีดี วัชรางกูล ตอกย้ำความทรงจำของปรีดีในเรื่องคอมมิวนิสต์

หลังการอสัญกรรมของปรีดี พนมยงค์ สังคมไทยก็เริ่มหันมาให้ความสนใจเค้าโครงเศรษฐกิจมากขึ้น ฝ่ายนิยมปรีดีจึงเริ่มผลิตซ้ำเอกสารทั้งสองฉบับมาออกมาหลายครั้ง เช่น หนังสืออนุสรณ์ปรีดี พนมยงค์ หรือในคราววาระฉลองครบ 100 ปีชาตกาลปรีดี พนมยงค์ ก็มีการพิมพ์หนังสือ “สมุดปกเหลือง” ของศักดิ์ ศิลปานนท์ออกมาแจกทั้งๆ ที่หนังสือของศักดิ์นั้นมุ่งรื้อฟื้นโจมตีปรีดี พนมยงค์

ยังมีหนังสืออีกหลายเล่มที่มีการผลิตซ้ำเอกสารทั้งสองฉบับไว้ในเล่มเดียวกัน เช่น หนังสือเค้าโครงเศรษฐกิจ(2542) ซึ่งคัดลอกเค้าโครงเศรษฐกิจมาจากต้นฉบับในปี 2476 แต่ในส่วนของพระบรมราชวินิจฉัยฯ คัดลอกจากหนังสือปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย(2526) ซึ่งไม่ตรงกับต้นฉบับในปี 2476 ดังพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำ และท้ายของเอกสารพระบรมราชวินิจฉัยฯ มีการลงชื่อ “ประชาธิปก”

ไม่มีใครทราบว่าหากเค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ ได้นำมาใช้จริงจะเกิดผลอย่างไรกับประเทศไทย แต่ที่แน่ๆ คือปรีดีถูกใส่ร้ายด้วยข้อหาคอมมิวนิสต์และกรณีสวรรคต ฝ่ายนิยมปรีดีจึงพยายามสร้างความทรงจำที่ถูกต้องเรื่อยมา กลับกันฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็สร้างความทรงจำใหม่ให้แก่พระปกเกล้าฯ ว่าเป็นบิดาแห่งประชาธิปไตย และเริ่มลบล้างความทรงจำของคณะราษฎร ส่วนข้อหาคอมมิวนิสต์ก็ดูจะเปลี่ยนรูปแบบเป็นข้อหาล้มล้างสถาบันในปัจจุบัน

เรียบเรียงและอ้างอิง :

  • ทิพวรรณ บุญทวี. (2528). ความคิดทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์ : ระยะเริ่มแรก (พ.ศ. 2443-2477). (วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย).
  • ณัฐพล ใจจริง. (2556). ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ : ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม (พ.ศ.2475-2500). นนทบุรี : ฟ้าเดียวกัน, น.237-286.
  • สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. (2544). ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ ๖ ตุลารำลึก, น.3-8.

สำหรับ พศวัต แซ่คู้ ผู้เขียนรายงานชิ้นนี้ ปัจจุบันเป็นนักศึกษาฝึกงานกับกองบรรณาธิการข่าวประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net