Skip to main content
sharethis

ปล่อยผู้ต้องขัง คดีระเบิดน้ำบูดู เพิ่มอีก 4 ราย ยังเหลืออีก 1 รายในเรือนจำ และมีกำหนดพ้นโทษในปลายปีนี้ ในคดีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งสิทธิในการประกันตัว พยานหลักฐานที่หลายฝ่ายมองว่ายังอ่อน การให้น้ำหนักกับผลการซักถามในค่ายทหารภายใต้กฎหมายพิเศษ และข้อข้องใจในเรื่องการซ้อมทรมาน ฯลฯ

14 ก.ย.2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชลิตา บัณฑุวงศ์ นักวิชาการจากเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.)โพสต์รายงานว่า ช่วงเช้าวันนี้ (14 ก.ย.63) ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร มีการปล่อยตัวผู้ต้องขัง คดีระเบิดน้ำบูดู ที่พ้นโทษเพิ่มเติมอีกจำนวน 4 คน โดยมีญาติพี่น้องที่เดินทางไกลมาจาก อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส มารอรับอย่างอบอุ่น รวมทั้งมีนักศึกษาจาก สมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย (สนมท.) และตัวแทนจาก คนส.มาร่วมให้กำลังใจ

 

+++ ขอต้อนรับอาเด๊ะ (น้องๆ) จาก “คดีระเบิดน้ำบูดู” กลับบ้าน +++ ช่วงเช้าวันนี้ (14 กันยายน 2563)...

โพสต์โดย Chalita Bundhuwong เมื่อ วันอาทิตย์ที่ 13 กันยายน 2020

 

ทั้งนี้ ชลิตา ระบุอีกว่า ยังมีผู้ต้องขังจากคดีนี้เหลืออีก 1 รายในเรือนจำ และมีกำหนดพ้นโทษในปลายปีนี้

ชลิตา ได้สรุปข้อมูลเกี่ยวกับ 'คดีระเบิดน้ำบูดู' ว่า เริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2559 ที่มีการกวาดจับนักศึกษาและเยาวชนมลายูมุสลิมจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งใหญ่ เริ่มจากย่านที่พักอาศัยบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง ก่อนขยายผลไปยังพื้นที่อื่นที่มีคนมลายูมุสลิมอาศัยอยู่รวมกันมาก กระทั่งนำมาสู่การตั้งข้อหากับ 14 รายว่าร่วมกันเป็นอั้งยี่ ร่วมกันเป็นซ่องโจร และมีหนึ่งรายที่มีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมายด้วย

อนึ่ง เมื่อวันที่ 25 ก.ย.2561 ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาคดีนี้ให้จำเลยที่ 1,2,4 และ 9-13 ผิดข้อหาอั้งยี่ ซ่องโจร รวมโทษจำคุก 6 ปี ลดโทษ 1 ใน 3 เนื่องจากให้การเป็นประโยชน์กับคดี เหลือ 4 ปี จำเลยที่ 3 ผิดข้อหาอั้งยี่ ซ่องโจร และมีวัตถุระเบิดรวมโทษจำคุก 9 ปี ลดโทษ 1 ใน 3 เหลือ 6 ปี และยกฟ้องจำเลยที่ 5-8 และ 14 เนื่องจากไม่มีหลักฐานให้เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับขบวนการก่อการร้าย

หลังติดคุกได้ 3 ปีกว่า ผู้ต้องหาคดีระเบิดน้ำบูดูก็ทยอยพ้นโทษ (ได้เข้าเกณฑ์อภัยโทษ) ขณะนี้พ้นโทษมาแล้ว 4 ราย ยังเหลืออีก 5 รายที่เข้าเรือนจำทีหลังเนื่องจากได้ร่วมโครงการของศูนย์สันติสุขที่ค่ายอิงคยุทธฯ ตามคำแนะนำของนายทหารในพื้นที่ก่อนจะถูกนำตัวมามอบตัวที่กองปราบในเดือนพฤษภาคม 2560 และต้องถูกโทษเช่นเดียวจำเลยคนอื่นๆ

คดีนี้ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์จากสังคม นักสิทธิมนุษยชน และนักวิชาการ อย่างกว้างขวางถึงกระบวนการของฝ่ายความมั่นคงภายใต้กฎหมายพิเศษและกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นประเด็นสิทธิในการประกันตัว โดยใช้เวลา 18 เดือนในการฝากขังนับแต่ผู้ต้องหาคนแรกถูกนำตัวมาฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ หรือใช้เวลา 15 เดือนหลังจากที่อัยการยื่นฟ้องโดยไม่ได้สิทธิในการประกันตัว รวมทั้งพยานหลักฐานของโจทก์ที่หลายฝ่ายมองว่ายังอ่อน เนื่องจากใช้เพียงการซัดทอดจากผู้ต้องหาด้วยกัน และการให้น้ำหนักกับผลการซักถามในค่ายทหารภายใต้กฎหมายพิเศษ โดยในกระบวนการซักถามนั้นมีเพียงผู้ต้องหา ไม่มีทนายหรือญาติอยู่ด้วย ข้อข้องใจในเรื่องการซ้อมทรมาน และการใช้เรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ของฝ่ายรัฐเกี่ยวกับรัฐปาตานีหรือขบวนการแบ่งแยกดินแดนมาถือเสมือนว่าเป็นข้อเท็จจริงเพื่อนำมาผูกโยงกับหลักฐานอื่นๆ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net