Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

โอ้ว่าเสื้อครุยกรุยกรายฉายเฉิด จงบังเกิดเกียรติผู้พิพากษา       

ประสงค์ประสิทธิ์ประสาทวิชา   ปริญญาบัตรจัดแสดงตน

ป่าวประกาศประดับรับบัณฑิต   วงศ์ญาติมิตรปีติทุกแห่งหน

ฤาปริญญาพาคนเหนือคน       เทิดเทียมชนสากลยลโลกา       

สัปดาห์นี้มีข่าวว่าตำรวจตั้งด่านตรวจบัตรประชาชน เช็คประวัติผู้เข้ารับปริญญาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกักตัวคนรณรงค์ไม่รับปริญญา หลังกลุ่มบัณฑิตธรรมศาสตร์ของราษฎรรณรงค์งดเข้าหอประชุม [1] เมื่อหาข่าวเพิ่มเติมก็พบว่าบัณฑิตจำนวนหนึ่งใส่เสื้อครุยซ้อมรับปริญญา [2] บทความนี้ขอชวนผู้อ่านลองเปรียบเทียบดูว่างานรับปริญญาในมหาวิทยาลัยไทยต่างจากมหาวิทยาลัยอเมริกันและญี่ปุ่นอย่างไร


บัณฑิตอเมริกันที่อยากรับปริญญาจากคณบดีต้องใส่เสื้อครุย

มหาวิทยาลัยอเมริกันบังคับให้บัณฑิตที่อยากรับปริญญาใส่เสื้อครุย แต่ไม่กำหนดชุดภายใต้เสื้อครุยเพราะปกติไม่มีเครื่องแบบ ใส่อะไรก็ได้ที่ไม่ผิดกฎหมายแม้แต่ชุดว่ายน้ำ ส่วนคณาจารย์ใส่เสื้อครุยของมหาวิทยาลัยที่ตนจบมาไม่ใช่เสื้อครุยมหาวิทยาลัยที่สังกัดปัจจุบัน วันงานรับปริญญาในภาษาอังกฤษแบบอเมริกันแปลว่า“วันเริ่มต้น” (Commencement Day) หมายถึงวันเริ่มต้นชีวิตหลังเรียนจบ จัดในสุดสัปดาห์หลังจบปีการศึกษาก่อนแยกย้ายไปประกอบอาชีพ บัณฑิตไม่ต้องลางานเพื่อรับปริญญาภายหลัง

งานเริ่มด้วยการเปิดงานโดยอธิการบดีที่หอประชุมหรือสนามกีฬา ตามด้วยคำปราศัยโดยคนที่ประสบความสำเร็จในวิชาชีพต่างๆ เช่น นักธุรกิจ อดีตประธานาธิบดี ผู้พิพากษาศาลสูงสุด ดาราฮอลลีวูด ฯลฯ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจแก่บัณฑิต ผู้ปราศัยไม่จำเป็นต้องเป็นศิษย์เก่า [3] หลังจากนั้นก็แยกย้ายกันไปรับปริญญาบัตรจากคณบดี บัณฑิตที่ไม่สนใจฟังคำปราศัยก็ไม่ต้องเข้าฟัง รอรับปริญญาจากคณบดีเลย ถ้าไม่อยากใส่เสื้อครุยก็ขอปริญญาบัตรจากฝ่ายทะเบียนได้หลังสุดสัปดาห์นั้น  

มหาวิทยาลัยอเมริกันอนุญาตให้นักศึกษาที่ “เกือบ”เรียนจบเข้ารับปริญญาได้ กลุ่มนี้คือนักศึกษาที่คาดว่าจะจบการศึกษาก่อนงานรับปริญญาในปีการศึกษาหน้า กรณีนี้สมุดปริญญาจากคณบดีจะเป็นสมุดเปล่าปราศจากปริญญาบัตร และไม่รับประกันว่าจะได้จบการศึกษาก่อนงานรับปริญญาในปีการศึกษาหน้าหรือไม่ ตราบใดที่นักศึกษาไม่ทำตามเงื่อนไขให้จบการศึกษาจริงๆฝ่ายทะเบียนก็ไม่ออกปริญญาบัตรให้ จะได้เพียงรูปภาพในเสื้อครุยซึ่งนำไปใช้สมัครงานไม่ได้


บัณฑิตญี่ปุ่นไม่โดนบังคับให้ใส่เสื้อครุยรับปริญญา

มหาวิทยาลัยญี่ปุ่นไม่บังคับให้บัณฑิตใส่เสื้อครุยรับปริญญา ด้วยแนวคิดจารีตนิยมที่ว่าเสื้อครุยคือสัญลักษณ์ของอาณานิคมอังกฤษ แม้ว่าคณาจารย์ญี่ปุ่นจำนวนมากจบปริญญาเอกจากอังกฤษและสหรัฐฯซึ่งเคยเป็นอาณานิคมอังกฤษ (และได้รางวัลโนเบลมากถึง 28 คน) บัณฑิตใส่อะไรก็ได้ยกเว้นคนได้ที่ 1 ของคณะและคนเป็นตัวแทนบัณฑิตขึ้นปราศัย กลุ่มนี้ต้องใส่ชุดสุภาพเรียบร้อย กิโมโนก็ได้ ชุดสากลก็ได้ (สูทก็ได้ ไม่ใช่สูทก็ได้) และกลุ่มนี้เท่านั้นที่ต้องซ้อมรับปริญญา การซ้อมใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมง และในวันซ้อมใส่ชุดอะไรก็ได้

งานรับปริญญาในภาษาญี่ปุ่นแปลว่า“พิธีจบการศึกษา”และจัดในวันจบปีการศึกษาก่อนบัณฑิตแยกย้ายกันไปประกอบอาชีพ บัณฑิตไม่ต้องลางานเพื่อรับปริญญาภายหลังเช่นเดียวกับแบบอเมริกัน เริ่มพิธีด้วยการให้บัณฑิตหลายคณะเข้าฟังคำปราศัยโดยตัวแทนบัณฑิตในหอประชุม และอธิการบดีเป็นประธานมอบปริญญาให้คนได้ที่ 1 ของคณะ หลังจากนั้นก็แยกย้ายกันไปรับปริญญาจากคณบดีที่คณะตน [4] ได้รับปริญญาบัตรรวดเร็ว ถ้าไม่อยากเข้าหอประชุมก็ตรงไปรับปริญญาที่คณะได้เลย ส่วนบัณฑิตที่ไม่ไปงานวันจบการศึกษาก็ขอปริญญาบัตรได้จากฝ่ายทะเบียนหลังพิธีจบการศึกษาสิ้นสุดลง

โปรดสังเกตุว่ามหาวิทยาลัยญี่ปุ่นไม่ห้ามถ้าบัณฑิตอยากใส่เสื้อครุยในงานรับปริญญา “ใส่อะไรก็ได้”แปลว่าเสื้อครุยก็ได้ด้วย ปัจจุบันมหาวิทยาลัยญี่ปุ่นหลายแห่งเปิดหลักสูตรอินเตอร์สอนด้วยภาษาอังกฤษเพื่อขยายตลาดรับนักศึกษาต่างชาติ บางแห่งหันมาให้คณาจารย์ใส่เสื้อครุยเข้าร่วมงาน เช่น ม.โตเกียว เริ่มมีบัณฑิตใส่เสื้อครุยบ้างแต่ยังเป็นส่วนน้อยมาก บัณฑิตจำนวนมากใส่สูทหรือกิโมโน น่าสนใจว่า ม.โตเกียวหันมาเรียก“วันจบการศึกษา”เป็นภาษาอังกฤษว่า Commencement Day ตามแบบอเมริกัน [5] น่าติดตามว่าในอนาคตบัณฑิตม.โตเกียวจะหันมาใส่เสื้อครุยแบบอเมริกันมากแค่ไหน


เสื้อครุยมาจากไหน?

กำเนิดเสื้อครุยมาจากเสื้อคลุมของนักบวชศาสนาคริสต์ในยุโรป วิวัฒนาการมาเป็นชุดนักศึกษาหลังนักบวชก่อตั้งมหาวิทยาลัยในยุคกลาง ภายหลังก็วิวัฒนาการมาเป็นชุดเครื่องแบบมหาวิทยาลัยในอังกฤษและในอาณานิคมของอังกฤษ [6]

ในสมัยที่สหรัฐอเมริกาเป็นอาณานิคมของอังกฤษ มหาวิทยาลัยอเมริกัน เช่น ม.พรินซ์ตัน ม.บราวน์ ม.โคลัมเบีย เคยใช้เสื้อครุยเป็นเครื่องแบบ แต่หลังสหรัฐฯปลดแอกประกาศอิสรภาพจากอังกฤษก็ยกเลิกเครื่องแบบดังกล่าว ให้ใช้เสื้อครุยตอนรับปริญญาเท่านั้น [7]

แม้ว่าเสื้อครุยเป็นสัญลักษณ์ของอาณานิคมอังกฤษในมุมมองอเมริกันและญี่ปุ่น คนยุโรปไม่ได้มองว่าเสื้อครุยเป็นสัญลักษณ์ของอาณานิคมอังกฤษเสมอไป

มหาวิทยาลัยในเยอรมนี(ตะวันตก)เคยยกเลิกเสื้อครุยเมื่อ 50 ปีที่แล้วด้วยเหตุผลว่าเป็นสัญลักษณ์อนุรักษ์นิยมขวาจัดซึ่งเกี่ยวข้องกับนาซี แต่มหาวิทยาลัยบางแห่งก็นำเสื้อครุยกลับมาใหม่ [8]

ในสวิตเซอร์แลนด์ ม.บาเซิลกำหนดให้คณาจารย์ใส่เสื้อครุยเข้าพิธีที่โบสถ์คริสต์เพื่อรำลึกถึงวันก่อตั้งมหาวิทยาลัยในยุคกลาง แต่บัณฑิตไม่ต้องใส่เสื้อครุย [9] ม.ซูริคไม่กำหนดให้ใส่เสื้อครุยทั้งคณาจารย์และบัณฑิต [10]

น่าสนใจว่าเสื้อครุยได้กลายเป็น“ของมันต้องมี”ในไทยทั้งๆที่ภาคภูมิใจว่าไม่เคยเป็นอาณานิคมตะวันตก และมหาวิทยาลัยไทยไม่มีอะไรเชื่อมโยงกับนักบวชศาสนาคริสต์ในยุคกลาง

 

หมายเหตุ

  1. ตร..ตรวจบัตรประชาชน-เช็คประวัติบัณฑิต-ปชช.ที่มางานรับปริญญาธรรมศาสตร์ ประชาไท 30 ตุลาคม 2563: https://prachatai.com/journal/2020/10/90216
  2. เปิดภาพ..วันซ้อมใหญ่พิธีพระราชทานปริญญาบัตรธรรมศาสตร์ คมชัดลึก 25 ตุลาคม 2563: https://www.komchadluek.net/news/edu-health/447098
  3. Commencement Day 2019, Stanford University:

https://news.stanford.edu/topic/commencement-2019/

  1. Academic Year 2019 Graduation Ceremonies, Hitotsubashi University: http://www.hit-u.ac.jp/eng/?news_topics=academic-year-2019-graduation-ceremonies
  2. AY 2018 Spring Undergraduate Commencement Held, University of Tokyo: https://www.u-tokyo.ac.jp/focus/en/articles/z1301_00012.html
  3. ประวัติเสื้อครุย Origin information on Academic Regalia in Medieval Europe: https://www.academicapparel.com/caps/Early-Academic-Dress.html
  4. Why caps and gowns at graduation? Let’s go back 900 years. Washington Post, May 20, 2017: https://www.washingtonpost.com/news/answer-sheet/wp/2017/05/20/why-caps-and-gowns-at-graduation-lets-go-back-900-years/
  5. Pompöse AbschlussfeierDie Rückkehr der Talare: Der Spiegel, July 13, 2005:

https://www.spiegel.de/lebenundlernen/uni/pompoese-abschlussfeier-die-rueckkehr-der-talare-a-364924.html

  1. Dies Academicus, University of Basel: https://www.unibas.ch/en/University/About-University/Dies-Academicus.html
  2. Graduation Ceremony, University of Zurich: https://www.oec.uzh.ch/en/studies/general/graduation/ceremonies.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net