Skip to main content
sharethis

นักกิจกรรมที่ร่วมม็อบช่วงกันยายน-ตุลาคมเข้ารายงานตัวรับทราบข้อกล่าวหา 4 คดีจาก 4 สน.ในวันเดียว 2 ดาวดินไม่ได้ร่วมม็อบยังถูกตำรวจออกหมายเรียกโดยคาดเดาจากภาพทั้งที่ไม่ใช่ 1 ใน 2 แสดงหลักฐานยืนยันจนตำรวจไม่แจ้งข้อหาแล้ว

3 พ.ย.2563 เวลา 13.00 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ที่สน.ชนะสงคราม นักกิจกรรม 12 คนผู้ถูกออกหมายเรียกและมีรายชื่อว่าจะถูกดำเนินคดีในกรณีการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เมื่อวันที่ 19-20 ก.ย.2563 บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และสนามหลวง ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหากับพนักงานสอบสวน แยกเป็นคดีปราศรัยและคดีฝังหมุดคณะราษฎร 63 ในเช้าวันที่ 20 ก.ย.

นอกจากการจับกุมแกนนำ ในทั้งสองคดี เจ้าหน้าที่ตำรวจสน.ชนะสงครามยังมีการออกหมายเรียกผู้ชุมนุมและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการฝังหมุดมารับทราบข้อหาเพิ่มเติมอีกอย่างต่อเนื่อง โดยนักกิจกรรมบางส่วนก็ยังไม่ได้รับหมายเรียก แต่ได้รับแจ้งว่าอยู่ในรายชื่อที่ตำรวจออกหมายเรียก รวมจำนวนทั้งหมด 17 ราย

ขณะที่ในวันนี้มีผู้เดินทางมารับทราบข้อหาจำนวน 12 ราย ได้แก่

  1. อรรถพล บัวพัฒน์ หรือ “ครูใหญ่” แกนนำกลุ่มขอนแก่นพอกันที

  2. ไชยอมร แก้ววิบูลพันธ์ หรือ “แอมมี่ The Bottom Blues”

  3. ชินวัตร จันทร์กระจ่าง แกนนำกลุ่มนนทบุรีปลดแอก

  4. อดิศักดิ์ สมบัติคำ

  5. ธานี สะสม

  6. ณัฐชนน ไพโรจน์

  7. ภัทรพงศ์ น้อยผาง

  8. สุวรรณา ตาลเหล็ก

  9. วสันต์ เสดสิทธิ์

  10. ธนชัย เอื้อฤาชา

  11. ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา

  12. สุวิชชา พิทังกร

นักกิจกรรม 12 คน ที่เดินทางมาตามหมายเรียกในวันนี้ ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาไป 11 คน

เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะผู้ถูกออกหมายเรียก 2คน คือ สุวิชชาและวสันต์ สมาชิกดาวดินชี้แจงกับพนักงานสอบสวนว่าไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทั้ง 2 วันแต่อย่างใด กลับถูกออกหมายเรียกมาด้วย โดยเจ้าหน้าที่นำภาพผู้ชุมนุมที่เกี่ยวข้องกับการพังรั้วสนามหลวง และมีการคาดเดาว่าเป็นทั้งสองคน ทั้งที่ไม่ใช่แต่อย่างใด

ทั้งนี้สุวิชชามีพยานหลักฐานมาแสดงว่าไม่ได้อยู่ในการชุมนุมดังกล่าวพนักงานสอบสวนจึงไม่แจ้งข้อหา แต่วสันต์ไม่ได้นำหลักฐานมาแสดงพนักงานสอบสวนจึงดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหา ทั้ง 2 คนระบุว่าการถูกออกหมายเรียกดังกล่าว เป็นดำเนินการโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ เนื่องจากพวกเขาไม่ได้ไปร่วมชุมนุมเลย ทำให้ต้องเสียเวลาเดินทางมาสถานีตำรวจ โดยในส่วนของวสันต์ยังต้องนั่งรถมาจากต่างจังหวัดอีกด้วย และกลับต้องมาต่อสู้คดีต่อ

คดีจากการชุมนุมและปราศรัย 19-20 ก.ย.

ในส่วนคดีการชุมนุม ผู้ต้องหา 8 คน ได้แก่ อรรถพล, ชินวัตร, ธานี, ณัฐชนน, ภัทรพงศ์, สุวรรณา, ธนชัย และ ณวรรษถูกพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหา 3 ข้อหาหลัก ได้แก่ ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 385 ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะ, พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 114 ร่วมกันวางสิ่งของกีดขวางการจราจร และข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้ง 3 ข้อหานี้มีโทษเป็นอัตราโทษปรับ

นอกนจากนั้น 4 ใน 8 คือ ธานี, ณัฐชนน , ภัทรพงศ์ และสุวรรณา นอกจากถูกแจ้ง 3 ข้อหาหลักดังกล่าวแล้วยังถูกแจ้งทั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215, ข้อหาไม่แจ้งการชุมนุม ตามพ.ร.บ.การชุมนุมฯ และข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ด้วยโดยตำรวจอ้างว่าร่วมขึ้นปราศรัยโจมตีขับไล่นายกรัฐมนตรีด้วย

ขณะที่อีก 3 คนไชยอมร, อดิศักดิ์ และวสันต์ นั้น ถูกแจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 เพียงข้อหาเดียว เรื่องการร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง เพียงข้อหาเดียว จากกรณีพฤติการณ์พั้งรั้วกำแพงของกรุงเทพมหานคร เข้าไปภายในสนามหลวง และกรณีพบการตัดกุญแจรอบสนามหลวง

อดิศักดิ์ ถูกพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาในคดีนี้เพียงคดีเดียว

คดีจากการฝังหมุดคณะราษฎร

ในส่วนคดีฝังหมุดคณะราษฎร ผู้ต้องหา 4 คน ได้แก่ อรรถพล, ชินวัตร, ธนชัย และณวรรษ ถูกแจ้งข้อกล่าวหา 3 ข้อหา จากการฝังหมุดลงบนท้องสนามหลวง คือข้อหาร่วมกันแก้ไข ต่อเติม โบราณสถานฯ ตามพ.ร.บ.โบราณสถาน มาตรา 10, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 และข้อหาติดตั้ง ตากวาง หรือแขวนสิ่งใดๆ ในที่สาธารณะ ตามพ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 39 ส่วนผู้ต้องหาอีก 2 คน คือไชยอมร และวสันต์ ถูกแจ้งเฉพาะข้อหาร่วมกันทำให้เสียทรัพย์เพียงข้อหาเดียว

แฟ้มภาพ ภาพขณะทำพิธีฝังหมุดคณะราษฎร 63 ที่สนามหลวงเมื่อเช้าวันที่ 20 ก.ย.2563

กรณีธานี, ณัฐชนน, ภัทรพงศ์ และสุวรรณา รวม 4 คน ถูกแจ้งข้อหาตามพ.ร.บ.ความสะอาดฯ เพียงข้อหาเดียว โดยในส่วนของณัฐชนนยังปฏิเสธจะลงลายมือชื่อในเอกสารการแจ้งข้อหา เนื่องจากเห็นว่าพฤติการณ์ที่พนักงานสอบสวนอ้าง ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง

ผู้ต้องหาทั้งหมดได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาในทั้ง 2 คดี และขอให้การเพิ่มเติมเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 30 วัน

2 ผู้ต้องหาต้องรายงานตัวปาสีหน้าค่ายทหารอีกคดี

นอกจากคดีเหตุชุมนุมใหญ่ 19-20 ก.ย.แล้ว วันนี้ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังรายงานถึงคดีจากเหตุปาสีและไข่หน้าม.พัน 4 พล.1 รอ. เมื่อ 28 ก.ย.2563 ซึ่งสืบเนื่องมาจากกิจกรรม "ตามหานาย" การไปทวงถามความคืบหน้าในการลงโทษทหาร 3 นาย ที่ล็อกคอผู้ชุมนุมเพื่อบังคับลบภาพถ่ายป้ายของค่ายหลังเลิกกิจกรรมเดินขบวนยื่นชื่อแก้รัฐธรรมนูญที่รัฐสภาพเมื่อวันที่ 22 ก.ย.2563

คดีปาสีปาไข่ใส่ค่ายทหารนี้มีผู้ต้องหา 2 คน คือ ธนชัย เอื้อฤาชา จากเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย และณัฐชนน ไพโรจน์ จากแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม (เป็น 2 ผู้ต้องหาจากคดี 19-20 ก.ย.) เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.เตาปูน

พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาธนชัยและณัฐชนนรวม 5 ข้อหา ได้แก่ ร่วมกันบุกรุก, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์, ร่วมกันมั่วสุมฝ่าฝืนข้อกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน, ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุม และร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต

ทั้งสองให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และขอให้การเป็นหนังสือในรายละเอียดภายในเวลา 15 วัน ภายหลังพิมพ์ลายนิ้วมือแล้ว พนักงานสอบสวนได้ปล่อยตัวไป โดยนัดหมายให้มารายงานตัวเพื่อดำเนินการต่อไปในวันที่ 1 ธ.ค. 2563

นอกจากทั้งสองคนนี้แล้ว ในการแจ้งข้อกล่าวหายังระบุผู้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ เป็นตำรวจและทหาร คือ พ.ต.ท.สรัล สุรเดชานนท์ รอง ผกก.ป.สน.เตาปูน และ ร.อ.สำเนา ดำเนื้อดี ปฏิบัติหน้าที่นายทหารเวร ม.พัน 4 พล.1 รอ. โดยได้รับมอบอำนาจจาก พ.ท.อิทธิศักดิ์ เสนตา ผบ.ม.พัน 4 พล.1 รอ. ให้ดำเนินคดี ภานุพงศ์ จาดนอก, ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, ณัฐชนน ไพโรจน์, ธนชัย เอื้อฤาชา, ฉัตรมงคล วัลลีย์, ชินวัตร จันทร์กระจ่าง และบอม (นามสมมติ) เยาวชนอายุ 17 ปี ทั้งนี้ ในส่วนของทหารได้กล่าวหาว่า ภานุพงศ์กับพวกซึ่งชุมนุมบริเวณหน้าทางประตูทางเข้า ม.พัน 4 พล.1 รอ. ได้กระทำความผิดกฎหมายอันเป็นเหตุให้กองทัพบกได้รับความเสียหาย

ชุมนุมปล่อยเพื่อนเรา #ม็อบ16ตุลา

นอกจากนั้น มติชนออนไลน์ยังรายงานอีกว่า ที่ สน.ปทุมวัน อรรถพล บัวพัฒน์ ครูใหญ่ขอนแก่นพอกันที พร้อม นายนรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มามอบตัวกับพนักงานสอบสวนหลังถูกออกหมายจับในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กรณีไปชุมนุมที่แยกปทุมวันเมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา

อรรถพล กล่าวว่า นอกจากหมายจับที่ไปชุมนุมกันที่แยกปทุมวัน ในวันที่ 16 ตุลาคมที่มีการสลายการชุมนุม ยังมีหมายจับ สน.ลุมพินี เพราะไปชุมนุม ที่แยกราชประสงค์ในวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา จึงได้มีการลงบันทึกประจำวันเอาไว้ที่ สน. ชนะสงคราม ว่าจะมามอบตัวที่ สน.ปทุมวัน พอมาถึง ก็ได้ทำบันทึกรับมอบตัวเสร็จก่อนจะก็แจ้งข้อกล่าวหาพิมพ์ลายนิ้วมือ และนัดพบพนักงานสอบสวนอีกครั้ง จากนั้นก็ปล่อยตัวกลับบ้าน เพราะมามอบตัวเอง

อรรถพล กล่าวอีกว่า ตอนแรกตำรวจเข้าใจผิดคิดว่าการที่มาปรากฏตัวที่ สน.ปทุมวัน คือการจับกุม แต่วันนี้ตนได้เจรจากับรองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 6 ว่าการที่มาปรากฏตัวนั้นคือการมามอบตัว

นรเศรษฐ์ กล่าวว่า ตอนนี้สำหรับอรรถพลแล้วหมายเรียกรับทราบข้อหา 2 แห่ง ของ สน.ชนะสงคราม และ สน.สำราญราษฎร์ และ หมายจับอีก 2 แห่ง สน.ปทุมวัน และ สน.ลุมพินี ถือว่าสิ้นสุดแล้ว ดังนั้น จะไม่มีหมายอะไรแล้ว

คดี #ม็อบ13ตุลา เข้ารายงานตัวอีก 6 'ลูกเกด'ขอ รอง.ผบช.1 กับสันติบาล เป็นพยาน

นอกจาก 2 คดีที่กล่าวไปแล้วบ่ายวันเดียวกันนักกิจกรรม 6 คนยังไปเข้ารับทราบข้อหาคดี #ม็อบ13ตุลา ที่สน.สำราญราษฎร์ด้วยจากการกรณี คณะราษฎรอีสานชุมนุมที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2563 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ตำรวจเข้าจับกุมคนถึง 21 คน และมีออกหมายเรียกตามหลังมาอีก 6 คน ได้แก่ ชินวัตร จันทร์กระจ่าง, ชาติชาย แกดำ, อรรถพล บัวพัฒน์, กรกช แสงเย็นพันธ์, กฤษณะ ไก่แก้ว และชลธิชา แจ้งเร็ว ด้วย

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net