Skip to main content
sharethis

นักกิจกรรมยังทยอยเข้ารับทราบข้อหาคดีชุมนุมการเมืองต่อเนื่องจากเหตุชุมนุม 17-18 ต.ค.2563 ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิและอโศก ข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

10 พ.ย.2563 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ที่สน.พญาไท สามนักกิจกรรรม ได้แก่ ชลธิชา แจ้งเร็ว, ธัชพงศ์ หรือชาติชาย แกดำ และสมบัติ ทองย้อย เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก ก่อนจะถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เหตุจากการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อวันที่ 18 ต.ค.2563

ชลธิชา แจ้งเร็ว, ธัชพงศ์(ชาติชาย) แกดำ และสมบัติ ทองย้อย ภาพจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ก่อนหน้านี้ พ.ต.ท.เกษม พิพิธกุล สารวัตรสอบสวนสน.พญาไท ได้ออกหมายเรียกลงวันที่ 2 พ.ย.2563 ให้ทั้งสามคนมารับทราบข้อกล่าวหาในวันนี้ โดยคดีนี้มี พ.ต.ท.ชัยณรงค์ ทรัพยสาร รองผู้กำกับสืบสวนสน.พญาไท เป็นผู้แจ้งความโดยในตอนแรกยังไม่ทราบว่าเป็นหมายเรียกจากการชุมนุมเมื่อใด

ในวันนี้ พ.ต.ท.เกษม พิพิธกุล ได้เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาทั้งสามคน อันเนื่องมาจากการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อวันที่ 18 ต.ค.2563 หรือ #ม็อบ18ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย โดยกล่าวหาว่าทั้งสามคนกระทำความผิดฐาน “ชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ หรือกระทำการอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย” ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ในระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง

ผู้กล่าวหาระบุพฤติการณ์คดี เมื่อวันที่ 18 ต.ค.2563 มีกลุ่มผู้ชุมนุมนัดหมายกันทางแอพพลิเคชั่นต่างๆ ให้มารวมตัวกันบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิและบริเวณใกล้เคียง จนถึงเวลาประมาณ 16.15 น. ได้มีกลุ่มผู้ชุมนุมมารวมตัวกันบริเวณที่เกิดเหตุประมาณ 15,000-20,000 คน รวมถึงผู้ต้องหานี้ อยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมโดยทำหน้าที่เป็นการ์ดหรือรักษาความปลอดภัยให้กับผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวนสน.พญาไท จึงมาแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับผู้ต้องหา

ทั้งสามคนได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเพิ่มเติมเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 20 วัน พนักงานสอบสวนได้ให้ผู้ถูกกล่าวหาพิมพ์ลายนิ้วมือไว้ และให้ปล่อยตัวไปโดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ประกันตัว พร้อมกับนัดให้ทั้งสามคนมารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 20 พ.ย.2563 เวลา 9.00 น.

ทั้งนี้ การชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยเมื่อวันที่ 18 ต.ค.2563 เป็นการชุมนุมในระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง โดยผู้ชุมนุมไม่ได้มีการตั้งเวทีปราศรัย และไม่ได้มีแกนนำชัดเจน เกิดขึ้นเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนำหลักที่ถูกจับกุมคุมขังในช่วงดังกล่าว รวมทั้งยืนยันข้อเสนอ 3 ข้อของการเคลื่อนไหว การชุมนุมมีเพียงการใช้ลำโพงขนาดเล็กหลายจุดในที่ชุมนุม และเปิดโอกาสให้ผู้ชุมนุมร่วมกันขึ้นพูด

ในส่วนการฝ่าฝืนข้อกำหนดตามมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้น มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

หนูหริ่งก็เข้ารายงานตัวคดีชุมนุมที่อโศก

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานอีกว่าวันนี้สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ หนูหริ่ง ก็เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.ทองหล่อ ด้วยเช่นกันตามหมายเรียกข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในคดีที่เขาชุมนุมที่บีทีเอสอโศก เมื่อวันที่ 17 ต.ค.2563

สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ หนูหริ่ง ภาพจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net