Skip to main content
sharethis

'ก้าวไกล' เเถลงจุดยืนไม่เห็นด้วยต่อกรณี ส.ส.พปชร. เเละ ส.ว. นำโดย ไพบูลย์ นิติตะวัน และสมชาย แสวงการ เสนอญัตติต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภามีมติขอให้ศาล รธน. ตีความว่า รัฐสภามีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 256 เพื่อให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ชี้เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย


ชัยธวัช ตุลาธน แฟ้มภาพ

11 พ.ย. 2563 วันนี้ ที่รัฐสภา ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ระบุว่า ไพบูลย์ นิติตะวัน, สมชาย แสวงการ และคณะ ผู้ยื่นญัตติดังกล่าว (ให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า รัฐสภามีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 256 เพื่อให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่) เห็นว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่มีบทบัญญัติใดให้อำนาจรัฐสภาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีแต่อำนาจแก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราเท่านั้น ดังนั้น การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ม.256 ให้มี สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมทั้งของ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และของประชาชนที่เข้าชื่อกัน รวม 3 ฉบับ จึงเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนั้น

พรรคก้าวไกลเห็นด้วยว่า ไพบูลย์และคณะไม่ใช่แค่การเตะถ่วงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือการยุติหรือไม่อนุญาตให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาแทนที่รัฐธรรมนูญ ฉบับ คสช. โดยเด็ดขาด ซึ่งพรรคก้าวไกลยืนยันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อให้มี ส.ส.ร. มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นอำนาจโดยชอบของรัฐสภาและเป็นอำนาจโดยชอบของประชาชน ผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ การจัดทำรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ผ่าน ส.ส.ร. จะเป็นกุญแจดอกสำคัญเพื่อเปิดประตูหาทางออกจากวิกฤตการเมืองให้แก่ประเทศไทย 

ซึ่ง รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 255 ได้กำหนดข้อห้ามไว้เพียงว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ จะกระทํามิได้ ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 ทั้งสามฉบับของรัฐบาล ฝ่ายค้าน และประชาชน ก็มิได้เป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามดังกล่าวแต่ประการใด

นอกจากนี้ เลขาธิการพรรคก้าวไกลยังระบุว่า การร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่มาแทนที่ฉบับเก่าโดยกระบวนการทางประชาธิปไตยไม่ว่าจะผ่านรัฐสภาหรือผ่าน ส.ส.ร.ในอดีตประเทศไทยได้เคยทำกันมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น รัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. 2489 หรือ พ.ศ. 2540 แนวคิดของไพบูลย์ และคณะจึงเป็นแนวคิดที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย การเสนอญัตตินี้เป็นการแช่แข็งประเทศไทย เพียงเพื่อทำให้รัฐธรรมนูญของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ( คสช. ) เป็นรัฐธรรมนูญ ตราบนิรันดร์ โดยไพบูลย์และคณะเห็นว่า รัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ จะต้องมีบทบัญญัติไว้ให้กระทำได้เท่านั้น ดังเช่นใน รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 หรือฉบับ 2549 เป็นต้น 

“การบอกว่า รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นฉบับถาวร ไม่ใช่ฉบับชั่วคราว จึงไม่บัญญัติให้อำนาจรัฐสภาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รัฐสภาจึงไม่มีอำนาจแก้ไขให้มี ส.ส.ร. การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะจะเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ การจัดทำประชามติเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ ก็กระทำมิได้เช่นกัน ดังนั้น โดยสรุปในความหมายของคุณไพบูลย์และคณะก็คือ การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่ว่าจะโดยอาศัยอำนาจของรัฐสภา หรืออาศัยอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญของประชาชนในทางใดๆจะไม่สามารถจะกระทำได้เลย เพราะล้วนแต่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น ประเทศไทยต้องถูกปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญ ฉบับ คสช. ไปตลอดกาล ดังนั้น เมื่อถึงที่สุดแล้ว แนวคิดและการตีความของคุณไพบูลย์และคณะก็คือแนวคิดที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย เพราะเท่ากับเป็นการยืนยันว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประเทศไทย จะไม่สามารถกระทำได้เลยตามกระบวนการของรัฐสภาในระบอบประชาธิปไตย ประเทศไทยจะรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ด้วยวิธีการ รัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญเท่านั้น”

ชัยธวัช ยังระบุด้วยว่า หากญัตตินี้ผ่านจะถือว่าเป็นการปิดประตูการแก้ไขรัฐธรรมนูญภายใต้กระบวนการประชาธิปไตย จึงขอเรียกร้องไปยังพรรคร่วมรัฐบาลด้วยว่าควรต้องแสดงจุดยืนให้ชัดเจนว่าจะร่วมพายเรือให้โจรนั่งหรือจะตลบแตลงแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต่อไป

 

อ้างอิง: วอยซ์ทีวี

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net