Skip to main content
sharethis

ราชกิจจานุเบกษา พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 28) พ.ศ. 2564 อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ ทำแท้งได้

ราชกิจจานุเบกษา

เมื่อวันที่ 6 ก.พ.2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 28) พ.ศ. 2564 ความว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 28) พ.ศ. 2564"

มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 301 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2560 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา 301 หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูกขณะมีอายุครรภ์เกินสิบสองสัปดาห์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 305 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา 305 ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 301 หรือมาตรา 302 เป็นการกระทำของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภาในกรณีดังต่อไปนี้ ผู้กระทำไม่มีความผิด

(1) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากหากหญิงตั้งครรภ์ต่อไปจะเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายต่อสุขภาพทางกายหรือจิตใจของหญิงนั้น

(2) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากมีความเสี่ยงอย่างมากหรือมีเหตุผลทางการแพทย์อันควรเชื่อได้ว่าหากทารกคลอดออกมาจะมีความผิดปกติถึงขนาดทุพพลภาพอย่างร้ายแรง

(3) หญิงยืนยันต่อผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมว่าตนมีครรภ์เนื่องจากมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ

(4) หญิงซึ่งมีอายุครรภ์ไม่เกินสิบสองสัปดาห์ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์

(5) หญิงซึ่งมีอายุครรภ์เกินสิบสองสัปดาห์ แต่ไม่เกินยี่สิบสัปดาห์ ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์ภายหลังการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและผู้ประกอบวิชาชีพอื่นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของแพทยสภาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น"

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

อาจารย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยาแจงรายละเอียดกฎหมาย

 

ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา...

โพสต์โดย Ronnakorn Bunmee เมื่อ วันจันทร์ที่ 25 มกราคม 2021

 

ก่อนหน้านี้ ผศ.ดร.รณกรณ์ บุญมี อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้อธิบายร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาฯ นี้ไว้ทาง เฟสบุ๊ค Ronnakorn Bunmee เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2564 ดังนี้

ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ว่าด้วยความผิดฐานทำแท้งผ่านการพิจารณาของวุฒิสภาแล้วเมื่อวานนี้...แล้วยังไงต่อ

ขั้นต่อไปก็คือการทูลเกล้า และหลังจากที่ทรงลงพระปรมาภิไธยกฎหมายฉบับนี้ก็จะไปแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา 2 มาตราคือมาตรา 301 และ 305 โดยมีสาระสำคัญดังนี้

1. อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ (นับจากวันแรกของประจำเดือนครั้งล่าสุด)

1.1 ตัวหญิงเจ้าของครรภ์

ก) หญิงทำเอง = หญิงไม่ผิด 

ข) หญิงให้คนอื่นทำให้ = หญิงไม่ผิด

ไม่ผิดนี้คือ จะกินยา หรือใช้วิธีการอะไร จะทำเองที่บ้าน หรือไปให้หมอทำให้ที่ รพ หรือให้ใครทำให้ที่ไหนก็ตาม ตัวหญิงเจ้าของครรภ์จะก็ไม่ผิดเลย เพราะกฎหมายนี้เคารพ และเปิดโอกาสให้หญิงจัดการชีวิตตัวเอง ร่างกายตัวเองโดยอิสระ  ตราบใดที่อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ ดังนั้นใครก็ตาม  จะเป็นพ่อเด็ก พ่อแม่หญิง ครูบาอาจารย์ ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ จะมาห้ามไม่ได้ จะมาอ้างว่าเพื่อคุ้มครองเด็กเลยขังหญิงไว้ไม่ให้ไปไหนไม่ได้ ผิดหมด เพราะเรื่องนี้เป็นอำนาจของหญิงเจ้าของครรภ์ 100% 

แล้วคนอื่นนอกจากตัวหญิงเจ้าของครรภ์ล่ะ ผิดอะไรไหม?

1.2 คนอื่นที่ไม่ใช่หมอ

ก) ถ้าแค่หายามาให้ หาเครื่องมือมาให้ ขับรถพาไปหาหมอ หรือสนับสนุนให้กำลังใจ ส่งเสริมให้ไปทำแท้ง อันนี้ไม่ผิดเลย สบายใจได้ ชัดเจน

ข) แต่ถ้าเป็นคนเอายาเข้าปากหญิง หรือใช้ vacuum ดูด หรือทำอะไรก็ตามให้หญิงแท้งลูก ทั้งที่ตัวเองไม่ใช่หมอ (ถึงแม้จะเป็นพยาบาล สัตวแพทย์ นักเรียนแพทย์ แต่ยังไม่ใช่แพทย์) อันนี้ถ้าหญิงเค้ายอมให้ทำตัวเราที่เป็นคนอื่นจะติดคุก 5 ปี ถ้าหญฺิงเค้าไม่ยอม เราจะติดคุก 7 ปี แล้วอาจติดคุกเพิ่มถ้าหญิงได้รับอันตรายสาหัส หรือตาย

1.3 คนอื่นที่เป็นหมอ อันนี้จะซับซ้อนนิดหนึ่ง ค่อย ๆ ดูไปด้วยกัน

ก) หญิงไม่ยอม อาจจะหมดสติอยู่ แต่ทำเพราะชีวิตหญิงตกอยู่ในอันตราย ถ้าหมอทำแท้ง เพื่อรรักษาชีวิตแม่ อันนี้ผิดกฎหมายอาญาแต่ไม่ต้องรับโทษ (แต่ยังถูกฟ้องเรียกเงินได้)

ข) แต่ถ้าหญิงไม่ยอม และไม่มีเหตุทางการแพทย์ให้ทำ แต่หมอยังทำแท้งฝ่าฝืนความต้องการของหญิง อันนี้ก็ติดคุก 7 ปี เหมือนคนธรรมดา

ค) หญิงยอม หญิงขอให้ทำให้ อันนี้หมอทำได้ไม่ผิดกฎหมาย (และโปรดได้รับความขอบคุณ) ทันทีที่ทรงลงพระปรมาภิไทย กฎหมายมีผลใช้บังคับ หมอทำได้เลย ไม่ผิดทั้งอาญา ทั้งแพ่ง ที่ท่านรองวิษณุแสดงความเห็นตามที่ปรากฏใน The MATTER - โพสต์ | Facebook ว่าหมอต้องรอข้อบังคับแพทยสภา ไม่งั้นหมอติดคุกนั้นด้วยความเคารพ ผมคิดว่าน่าจะเป็นการตีความที่คลาดเคลื่อน ผมจะพูดเรื่องนี้รวมกับเรื่องมาตรา 305 ด้านล่างในข้อ 4.

2. อายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ยังไม่เกิน 20 สัปดาห์ (นับจากวันแรกของประจำเดือนครั้งล่าสุด)

2.1 ตัวหญิงเจ้าของครรภ์ --> อันนี้ทำเองไม่ได้แล้ว ถ้าทำไปอาจติดคุก 6 เดือน ถ้าอยากทำต้องไปปรึกษาหมอเพื่อฟังข้อดีข้อเสีย ความเสี่ยง ผลกระทบต่าง ๆ รวมทั้งทางเลือกที่มี แล้วถ้าหลังจากฟังแล้วยังยืนยันที่จะทำแท้ง 
ก็ต้องให้หมอเป็นผู้ทำให้ จะทำเองเหมือนก่อน 12 สัปดาห์ไม่ได้ กรณีที่ปรึกษาแล้ว และหมอทำให้อันนี้จะไม่ผิด ใครก็ห้ามไม่ได้

2.2 คนอื่นที่ไม่ใช่หมอ --> เหมือนเดิม (1.2)

2.3 คนอื่นที่เป็นหมอ -->  เหมือนเดิม (1.3) หลัก ๆ คือถ้าหญิงขอคำปรึกษา และให้คำปรึกษาแล้ว ถ้าอายุครรภ์เกิน 12 แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ หมอทำแท้งให้ไม่ผิด ไม่ติดคุก ไม่ถูกฟ้อง ไม่เสียเงิน

3. อายุครรภ์เกิน  20 สัปดาห์ (นับจากวันแรกของประจำเดือนครั้งล่าสุด)
ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่ตัวอ่อนเจิญเติบโตจนถึงจุดที่กฎหมายเลือกที่จะให้ความสำคัญกับสิทธิในการมีชีวิตของตัวอ่อนเป็นหลักมากกว่าสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของหญิง ดังนั้น การทำแท้ง ณ จุด ๆ นี้ถือว่าเป็นข้อยกเว้นเท่านั้น โดยจะทำได้ต้องประกอบด้วย 3 เงื่อนไข

(1) หญิงต้องยอมให้ทำ

(2) คนทำแท้งต้องเป็นแพทย์เท่านั้น (หญิงเจ้าของครรภ์อาจเป็นแพทย์เองก็ได้)

(3) มีเหตุประการหนึ่งประการใดต่อไปนี้

(3.1) การตั้งครรภ์ต่อไปจะกระทบต่อสุขภาพกายหรือสุขภาพจิตของหญิง เช่นการเสี่ยเป็นโรคซึมเศร้า การเป็นโรคหัวใจ การเป็นมะเร็งเป็นต้น พูดง่าย ๆ ว่าถ้าท้องต่อไปจะกระทบกับสุขภาพของแม่ การทำแท้งในแง่นี้จึงเป็นการรักษาทางการแพทย์ เหมือนที่เราไปหาหมอนั่นเอง

(3.2) การตั้งครรภ์เกิดจากการกระทำความผิดทางเพศเช่นหญิงถูกข่มขืน, การตั้งครรภ์เกิดจากการที่หญิงร่วมประเวณีกับแฟนขณะที่หญิงอายุไม่ถึง 15 ปี, หญิงขายบริการผ่านนายหน้าแล้วตั้งครรภ์จากการขายบริการในครั้งนั้น เป็นต้น

(3.3) ทารกในครรภ์ทุพพลภาพอย่างร้ายแรง หรือมีเหตุทางการแพทย์ให้เชื่อได้เช่นนั้น

อย่างที่กล่าว การทำแท้ง ณ จุดที่ทารกโตขนาดนี้แล้วต้องทำภายใต้เงื่อนไขเหล่านี้เท่านั้น ไม่งั้นหญิงอาจติดคุก 6 เดือน ส่วนแพทย์ติดคุก 5 ปี

4. ต้องรอแพทยสภา หรือ รมว สธ หรือหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องออกประกาศอะไรไหม เพราะมาตรา 305 กำหนดไว้

4.1 ถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกประกาศ ก็ต้องทำตามนั้น เช่นอาจกำหนดว่าต้องมีแพทย์ยืนยันกี่คน ต้องทำที่ศูนย์การแพทย์กี่เตียง ต้องมีการเข้ารับฟังคำปรึกาาจากใครบ้าง อันนั้นก็ว่าไป แต่ข้อบังคับเหล่านี้ต้องไม่เคร่งครัดจนคนทั่วไปไม่สามารถทำแท้งได้ (เคยเกิดขึ้นที่ Texas USA ดูคดี Whole Woman's Health v. Hellerstedt)

4.2 แล้วถ้าหน่วยงานเหล่านี้ไม่ออกประกาศ ข้อบังคับสักทีแปลว่าทำแท้งไม่ได้เลยเหรอ ท่านรองวิษณุก็ได้แสดงความเห็นไว้ในแนวทางนั้น คำตอบคือรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 25 วรรค 2 ได้ให้ทางออกเรื่องนี้ไว้แล้ว เพราะการคุ้มครองสิทธิของประชาชนไม่ควรถูกระงับเพราะความล่าช้า หรือติดขัดในขั้นตอนการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ ดังนั้นตราบใดที่หน่วยงานต่าง ๆ ยังไม่ออกประกาศ ข้อบังคับมา หมอสามารถทำแท้งให้หญิงได้ ภายใต้เงื่อนไขที่กล่าวมาข้างต้น ทั้งอายุครรภ์ ความยินยอม และเหตุประกอบอื่น

ผมขอยกมาตรา 25 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญมาให้ดู "สิทธิหรือเสรีภาพใดที่รัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ หรือให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ แม้ยังไม่มีการตรากฎหมายนั้นขึ้นใช้บังคับ บุคคลหรือชุมชนย่อมสามารถใช้สิทธิหรือเสรีภาพนั้นได้ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ"

ทั้งนี้สิทธิที่จะทำแท้งเป็นสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของหญิงตามมาตรา 28 ของรัฐธรรมนูญตามที่ศาลรัฐธรรมนูญตีความไว้ในคำวินิจฉัยที่ 4/2563 ดังนั้นการใช้สิทธิดังกล่าว ซึ่งย่อมรวมถึงการที่แพทย์ช่วยดำเนินการให้หญิงสามารถใช้สิทธินั้นได้ด้วยต้องดำเนินการไป โดยไม่ต้องรอประกาศหรือข้อบังคับของแพทยสภา สธ หรือหน่วยงานต่าง ๆ การตีความว่าสิทธิของประชาชนดำเนินไปไม่ได้ ตามแนวทางของท่านรองจึงน่าจะขัดแย้งกับหลักการในรัฐธรรมนูญ
ในกรณีของไทยเรามีข้อบังคับแพทยสภาปี 2548 ที่กำหนดเงื่อนไขการยุติการตั้งครรภ์กรณีสุขภาพหญฺงและการการถูกกระทำทางเพศไว้ก็ต้องใช้ตัวนี้ไปพลางก่อน สำหรับเหตุอื่นไม่ว่าจะเป็นไม่เกิน 12 สัปดาห์ ทารกพิการ หรือกรณีไม่เกิน 20 สัปดาห์ที่ได้หารือแล้ว จึงให้ทำได้โดยไม่ต้องรอข้อบังคับหรือประกาศ

กฎหมายฉบับนี้เป็นก้าวที่สำคัญในการเคารพและยอมรับให้ผู้หญิงจัดการเนื้อตัวร่างกายตัวเอง หวังว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นแพทยสภา สธ พม มท แรงงาน และ ศธ จะเร่งออกประกาศที่เกี่ยวข้องโดยคำนึงถึงประโยชน์และความปลอดภัยของหญิงโดยเร็ว ให้สอดคล้องกับที่ทั้งฝ่ายตุลาการ นิติบัญญัติและภาคประชาสังคมตั้งใจดำเนินการมาครับ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net