Skip to main content
sharethis

อองซานซูจีฟังการพิจารณาคดีผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ที่เนปยิดอ โดนเพิ่มสองข้อหา ฐานยุยงปลุกปั่น และครอบครองวิทยุสื่อสารโดยไม่มีใบอนุญาต หากศาลตัดสินว่ามีความผิด อาจโดนโทษจำคุกเพิ่มเป็น 9 ปี ด้านทนายความของอองซานซูจีเปิดเผยว่า เธอถูกขัดขวางไม่ให้แต่งตั้งทนายเพื่อสู้คดี  

อองซานซูจีระหว่างหาเสียงเลือกตั้งปี 2012
อองซานซูจี ระหว่างหาเสียงเลือกตั้ง มี.ค. 2012
 

2 มี.ค. 2564 สำนักข่าว อิระวดี รายงานวันที่ 1 มี.ค. 2564 ระบุว่า อองซานซูจี หัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือเอ็นแอลดี ฟังการพิจารณาคดีผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ที่กรุงเนปยิดอ โดยเธอถูกดำเนินคดีเพิ่มอีก 2 ข้อหา จากมาตรา 505[b] ตามประมวลกฎหมายอาญา ประเทศเมียนมา ที่กำหนดว่า ผู้ใดทำให้เกิดความตระหนกตกใจและความหวาดกลัว ตลอดจนต่อต้านรัฐ หรือทำลายความสงบสุขของสาธารณชน มีโทษจำคุกสูงสุด 2 ปี และอีกข้อหาคือกฎหมายโทรคมนาคม อันเนื่องมาจากครอบครองวิทยุสื่อสารโดยไม่มีใบอนุญาต    

ส่งผลให้ปัจจุบัน เธอถูกดำเนินคดีรวมทั้งสิ้น 4 คดี และอาจโดนจำคุกเพิ่มเป็น 9 ปี โดยก่อนหน้านี้ อองซานซูจีถูกกองทัพพม่ากล่าวหา ละเมิดกฎหมายนำเข้าและส่งออก เนื่องจากครอบครองวิทยุสื่อสารผิดกฎหมาย ก่อนที่ต่อมา เธอโดนกองทัพดำเนินคดีอีกหนึ่งคดี ฐานละเมิดกฎหมายจัดการภัยพิบัติธรรมชาติ  เนื่องจากเธอไม่ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2563 

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลทหารฟ้องร้อง วินมยิ้ด อดีตประธานาธิบดีของพม่า และมโยอ่อง นายกเทศมนตรีกรุงเนปยิดอ จากการละเมิดกฎหมายอาญา มาตรา 505[b]   

ทั้งนี้ เมื่อเดือนที่แล้ว (ก.พ.) วินมยิ้ด ถูกแจ้งข้อกล่าวหา ละเมิดกฎหมายการจัดการภัยพิบัติธรรมชาติช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาเดียวกับอองซานซูจี และมีรายงานเพิ่มเติมว่า นับตั้งแต่การรัฐประหาร ทั้งวินมยิ้ด และอองซานซูจี ยังถูกควบคุมตัวเพื่อรอฟังการพิจารณาคดี 

ตำรวจเตะถ่วงไม่ให้อองซานซูจีตั้งทนายสู้คดี 

นอกจากการฟังพิจารณาคดีรอบล่าสุด อองซานซูจีจะโดนแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มอีก 2 คดีแล้ว ทนายความของเธอยังเปิดเผยว่า ตั้งแต่รัฐประหารเป็นต้นมา อองซานซูจีถูกขัดขวางไม่ให้พบทนาย เพื่อสู้คดีในศาล  

ขิ่นหม่องซอ หนึ่งในสองทนายความของหัวหน้าพรรคเอ็นแอลดี เปิดเผยว่า นับตั้งแต่รัฐประหารเป็นต้นมา อองซานซูจีขาดสิทธิ์พบทนายเพื่อสู้คดี ก่อนที่เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2564 หัวหน้าพรรคเอ็นแอลดีจะร้องขอต่อผู้พิพากษาเพื่อขอพบที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ซึ่งทางผู้พิพากษาเองก็เห็นชอบ และแจ้งไปยังตำรวจให้ดำเนินการให้   

อย่างไรก็ตาม ทนายขิ่นหม่องจอ กล่าวเพิ่มว่า แม้ว่าเอกสารที่ลงลายเซ็นอองซานซูจีเมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2564 จะถูกส่งไปยังตำรวจ เพื่อขออนุญาตให้อองซานซูจีสามารถแต่งตั้งทนายความเพื่อสู้คดีในศาลแล้วก็ตาม แต่จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีการตอบกลับจากทางตำรวจอีกเลย 

ทนายของเธอมองว่า อองซานซูจีควรมีสิทธิแต่งตั้งทนายประจำคดี เพื่อว่าความในศาลแทนตัวเธอ อีกทั้ง การไม่ให้เธอพบทนายความ ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ที่ถูกฟ้องร้องควรได้รับ

“จนถึงตอนนี้ เธอ (ผู้สื่อข่าว-อองซานซูจี) ยังไม่ได้รับการพิจารณาคดีอย่างยุติธรรม เนื่องจากยังไม่มีการแต่งตั้งทนายเพื่อต่อสู้คดีแทนเธอ สิทธิมนุษยชนของเธอกำลังถูกละเมิด” ขิ่นหม่องซอ กล่าว 

ทั้งนี้ ผู้ชุมนุมชาวพม่าออกมาประท้วงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่สาม เพื่อต่อต้านการทำรัฐประหารโดยกองทัพพม่า และเรียกร้องให้ทหารพม่าปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองทั้งหมด รวมถึง วินมยิ้ด อดีตประธานาธิบดี และอองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ 

ขณะที่รายงานของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า หรือ AAPP องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งขณะนี้ทำหน้าที่มอร์นิเตอร์เหตุการณ์จับกุม และคุกคามผู้ประท้วงทั่วประเทศเมียนมา ระบุว่า นับตั้งแต่กองทัพพม่าทำรัฐประหารเข้ามาจนถึงวันที่ 28 ก.พ. 2564 มีผู้ถูกจับกุมด้วยข้อหาที่เกี่ยวกับการต่อต้านรัฐบาลทหาร หรือกองทัพ พุ่งทะลุถึง 1,132 ราย 

มาตรา 505[b] เป็นกฎหมายที่ถูกวิจารณ์ว่ามีการใช้คำอย่างคลุมเครือ และในอดีต กฎหมายนี้มักถูกนำมาใช้เล่นงานนักเคลื่อนไหว หรือฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล

แปลและเรียบเรียงจาก 
Myanmar Military Sues Suu Kyi and President with Further Charges 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net