Skip to main content
sharethis

สถานการณ์เสรีภาพสื่อในมาเก๊าน่าเป็นห่วง หลังผู้สื่อข่าวของ TDM สถานีวิทยุและโทรทัศน์ที่ใหญ่ที่สุดของมาเก๊าได้รับคำสั่งห้ามนำเสนอข่าวขัดแย้งต่อรัฐบาลจีน เป็นเหตุให้ผู้สื่อข่าวขอลาออก 6 คน ด้าน รมต.ต่างประเทศของโปรตุเกสออกมาเรียกร้องรัฐบาลจีนให้เคารพเสรีภาพสื่อบนเวทีประชุมสุดยอดผู้นำระดับนานาชาติ สวนทางกับรัฐสภาโปรตุเกสที่ลงมติไม่แทรกแซงกิจการภายในมาเก๊า

16 เม.ย. 2564 สื่อท้องถิ่นของฮ่องกงรายงานว่าเมื่อช่วงกลางเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวชาวโปรตุเกสประจำสถานีวิทยุและโทรทัศน์ที่ใหญ่ที่สุดในมาเก๊า หรือช่อง TDM ได้รับแจ้งนโยบายการทำงานรูปแบบใหม่ ระบุให้ผู้สื่อข่าวทั้งหมดต้องสนับสนุนหลักการ ‘ฮ่องกงรักชาติ ปกครองฮ่องกง’ ซึ่งเป็นคำสั่งของรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีน รวมถึงมีคำสั่งห้ามพนักงานทุกคนของสถานีฯ เปิดเผยข้อมูลหรือแสดงความคิดเห็นที่ตรงข้ามกันนโยบายของรัฐบาลจีนและรัฐบาลท้องถิ่นของมาเก๊า เป็นเหตุให้มีผู้สื่อข่าวชาวโปรตุเกสลาออกแล้วอย่างน้อย 6 คน

สตูดิโอรายงานข่าวของสถานีโทรทัศน์ TDM (ภาพจากเฟซบุ๊ก TDM Canal Macau)
 

นโยบายการทำงานรูปแบบใหม่ของช่อง TDM คือนโยบายเช่นเดียวกับที่รัฐบาลจีนประกาศบังคับใช้กับช่อง RTHK สถานีวิทยุและโทรทัศน์ที่ใหญ่ที่สุดของฮ่องกง และเป็นสื่อสาธารณะแห่งแรกของฮ่องกงซึ่งก่อตั้งโดยรัฐบาลอังกฤษใน พ.ศ.2471 โดยรัฐบาลจีนกล่าวหาว่าช่อง RTHK มีการนำเสนอข่าวและเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นปรปักษ์กับรัฐบาลและพรรคคอมมิวนิสต์จีน

สำนักข่าวฮ่องกงฟรีเพรส (HKFP) รายงานว่า ผู้สื่อข่าวของ TDM ได้รับแจ้งนโยบายการทำงานรูปแบบใหม่เมื่อวันที่ 10 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยนโยบายดังกล่าวกำหนดให้ผู้สื่อข่าวต้องสนับสนุนหลักการพื้นฐานที่ว่า ‘เขตบริหารพิเศษฮ่องกงจะต้องถูกปกครองโดยคนที่รักชาติเท่านั้น’, ต้องสนับสนุนนโยบายการทำงานของรัฐบาลท้องถิ่นมาเก๊าซึ่งสอดคล้องกับหลักกฎหมาย, ต้องยุติการเผยแพร่ข้อมูลหรือความคิดเห็นที่สวนทางกับนโยบายของรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนและรัฐบาลท้องถิ่นมาเก๊า นอกจากนี้ ในแถลงการณ์ดังกล่าวยังระบุว่าผู้สื่อข่าวของ TDM เผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จและบิดเบือนข้อเท็จจริง สร้างความเสียหายแก่รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนและรัฐบาลท้องถิ่นมาเก๊า ดังนั้นจึงต้องปรับรูปแบบการดำเนินงานใหม่ โดยผู้สื่อข่าวของ TDM ต้องส่งเสริมแนวคิดความรักชาติและความเคารพรักต่อจีนแผ่นดินใหญ่ หากผู้สื่อข่าวคนใดไม่ปฏิบัติตามแนวนโยบายดังกล่าวอาจถูกไล่ออก

ต่อมา TDM ได้ออกแถลงการณ์ผ่านเว็บไซต์ โดยระบุว่า “TDM จะไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายการทำงานของกองบรรณาธิการข่าวชุดปัจจุบัน เรายืนยันจะทำหน้าที่รับผิดชอบสังคมในฐานะองค์กรสื่อสาธารณะต่อไป และจะยึดมั่นต่อหลักการความรักชาติและเคารพต่อแผ่นดินมาเก๊า โดย TDM ขอสงวนสิทธิ์ในการทำงานเพื่อให้หน้าที่ความรับผิดชอบที่สำคัญเหล่านั้นสำเร็จลุล่วงได้ตามขอบเขตของกฎหมาย”

ภายหลังการออกแถลงการณ์ดังกล่าว สำนักข่าว HKFP ได้สอบถามไปยัง เฌา ฟรานซิสโก ปินโต ผู้สื่อข่าวอาวุโสและผู้อำนวยการฝ่ายข่าวภาคภาษาโปรตุเกสของ TDM แต่ ปินโต ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นใดๆ ทั้งนี้ สำนักข่าว HKFP รายงานเพิ่มเติมว่า ปินโต และ ฌิลเบอร์โต โลเปส รองผู้อำนวยการฝ่ายข่าวภาษาโปรตุเกส ได้รับการต่อสัญญาว่าจ้างเพียงแค่ 6 เดือนเท่านั้น ซึ่งสัญญาการทำงานปกติของทั้งคู่มีอายุอย่างน้อย 1 ปี จึงเป็นที่น่าจับตามองว่าฝ่ายข่าวภาคภาษาโปรตุเกสของ TDM และนักข่าวต่างชาติในมาเก๊าจะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคต

เฌา ฟรานซิสโก ปินโต ผู้สื่อข่าวอาวุโสและผู้อำนวยการฝ่ายข่าวภาคภาษาโปรตุเกสของ TDM
(ภาพจากทวิตเตอร์ @Joao_F_Pinto)
 

รมต.ต่างประเทศโปรตุเกสเรียกร้องจีนให้ปกป้องเสรีภาพสื่อมาเก๊า

เมื่อวันที่ 25 มี.ค. ที่ผ่านมา สำนักข่าว LUSA ของโปรตุเกส รายงานว่า ออกุสโต ซานโตส ซิลวา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของโปรตุเกสเรียกร้องให้รัฐบาลกลางของจีนเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายพื้นฐานของมาเก๊า ซึ่งรัฐบาลโปรตุเกสและรัฐบาลจีนได้ร่วมกันร่างขึ้นเพื่อกำหนดให้มาเก๊ามีอิสระในการปกครองตนเองตามนโยบาย ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’ ตามข้อตกลงการส่งมอบเกาะมาเก๊าคืนแก่รัฐบาลจีนใน พ.ศ.2542 หลังจากที่โปรตุเกสปกครองมาเก๊ามานานกว่า 400 ปี

“กฎหมายพื้นฐานของมาเก๊าระบุชัดเจนว่ารัฐบาลท้องถิ่นมาเก๊าต้องรับประกันและคุ้มครองเสรีภาพสื่อ รัฐบาลโปรตุเกสเคารพและน้อมปฏิบัติตามกฎหมายพื้นฐานของมาเก๊ามาโดยตลอด ซึ่งเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนจะเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวอย่างเคร่งครัด เพราะมาเก๊าคือดินแดนแห่งเสรีภาพสื่อ” ซิลวา กล่าว

ออกุสโต ซานโตส ซิลวา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศโปรตุเกส
(ภาพโดย Arno Mikkor)
 

นอกจากนี้ ซิลวา ยังเน้นย้ำว่า กฎหมายพื้นฐานของมาเก๊าที่ประกาศใช้เมื่อ พ.ศ.2542 คือกฎหมายที่ส่งเสริมรากฐานการดำเนินชีวิตของประชาชนชาวมาเก๊าทุกคนในช่วงเวลา 50 ปีของการเปลี่ยนผ่าน และจะมีผลบังคับใช้เช่นนี้ต่อไปจนถึง พ.ศ.2592 ตามข้อตกลงการส่งมอบเกาะมาเก๊าที่รัฐบาลโปรตุเกสทำกับรัฐบาลจีน

ด้าน โฮยัตเส่ง ผู้ว่าการเขตปกครองพิเศษมาเก๊าให้สัมภาษณ์กับมาเก๊าเดลี่ ซึ่งเป็นสื่อของรัฐบาลจีนในมาเก๊า ถึงกรณีที่เกิดขึ้นว่าเสรีภาพสื่อในมาเก๊าไม่ได้ถูกจำกัดตามที่หลายคนเข้าใจ และรัฐบาลมาเก๊าไม่ได้มีคำสั่งบังคับการปฏิบัติงานของผู้สื่อข่าวตามที่ปรากฎเป็นข่าวก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ โฮ เชื่อว่าสื่อทุกสำนักในมาเก๊านั้นรักชาติและรักในความเป็นมาเก๊าอย่างแน่นอน

โฮยัตเส่ง ผู้ว่าการเขตปกครองพิเศษมาเก๊า (ภาพจากวิกิพีเดีย)
 

รัฐสภาโปรตุเกส ลั่น ‘งดแทรกแซงกิจการภายในมาเก๊า’

เมื่อวันที่ 7 เม.ย. ที่ผ่านมา สำนักข่าว LUSA ของโปรตุเกส รายงานว่า รัฐสภาโปรตุเกสนำประเด็นเสรีภาพสื่อในมาเก๊าเข้าที่ประชุมเพื่อหารือ หลังจากที่ผู้สื่อข่าวชาวโปรตุเกสจำนวน 150 คนยื่นจดหมายเปิดผนึกแสดงความกังวลต่อเสรีภาพสื่อในมาเก๊าต่อคณะกรรมาธิการการต่างประเทศและความปลอดภัยของชุมชนชาวโปรตุเกสในต่างแดน โดยหวังให้คณะกรรมาธิการจับตามองสถานการณ์เสรีภาพสื่อในมาเก๊าและหาทางออกร่วมกันกับรัฐบาลจีนโดยเร็ว

ระหว่างการประชุมหารือ ส.ส. จากพรรคสังคมนิยมโปรตุเกส (SP) ซึ่งเป็นฝ่ายรัฐบาล รวมถึงพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย (PSD) และพรรคคอมมิวนิสต์โปรตุเกส (PCP) จากฝ่ายค้าน ยืนยันหนักแน่นว่ามาเก๊ายังคงมีเสรีภาพสื่อ และปฏิเสธที่จะจุดชนวนความขัดแย้งระหว่างประเทศขึ้นมาใหม่ ด้าน ส.ส. จากพรรคฝ่ายซ้าย ซึ่งเป็นหนึ่งในฝ่ายค้าน ได้ตั้งคำถามถึงความโปร่งใสในการจัดการประชุมหารือครั้งนี้

เปาลู ปิสโก ส.ส. จากพรรค SP กล่าวว่า “ไม่คุ้มที่จะสร้างปัญหา ในที่ที่ไม่มีปัญหา” พร้อมยืนยันว่าสื่อของโปรตุเกสทำงานอย่างมืออาชีพและมีเสรีภาพโดยสมบูรณ์ แม้ว่าจะทำงานในจีน ซึ่งเป็นที่ที่มีข้อจำกัดสูงก็ตาม พร้อมกล่าวทิ้งท้ายว่าปัญหาเรื่องเสรีภาพสื่อในโปรตุเกสอาจมีมากกว่าที่มาเก๊าเสียด้วยซ้ำ ในขณะที่ โฌเซ เซซารีโอ ส.ส. อีกคนจากพรรค SP กล่าวว่าตนเดินทางไปเยือนมาเก๊าทุกปี นับตั้งแต่ พ.ศ.2542 ที่รัฐบาลโปรตุเกสส่งมอบมาเก๊าคืนแก่รัฐบาลจีน ตนไม่เห็นว่าเสรีภาพสื่อในมาเก๊าจะถูกจำกัดแต่อย่างใด พร้อมระบุว่ารัฐบาลจีนให้เงินช่วยเหลือสื่อหลายสำนักในมาเก๊าโดยไม่เข้าไปแทรกแซงการทำงานของสื่อนั้นๆ ด้าน เฌา โอลิเวียรา ส.ส. จากพรรค PCP บอกว่าข่าวนี้เป็นความพยายามส่งไม้ต่อจากเหตุการณ์ในฮ่องกง เพื่อทำลายความมั่นคงของมาเก๊า ซึ่งหากรัฐสภาโปรตุเกสรับไว้อาจทำให้เกิดเหตุการณ์อื่นๆ ตามมา และอาจส่งผลต่อความปลอดภัยของชาวโปรตุเกสที่อาศัยอยู่ในมาเก๊าจำนวนมาก

ส่วน เปโดร ฟิลิเป ซัวเรส ส.ส. จากพรรคฝ่ายซ้าย กล่าวว่า จดหมายคำร้องของผู้สื่อข่าวได้รับการสนับสนุนจากองค์กรนักข่าวไร้พรมแดน (Reporters Without Borders) ผู้สนับสนุนและปกป้องเสรีภาพสื่อและเสรีภาพข้อมูลข่าวสาร อีกทั้งองค์กรนี้ยังมีสถานะเป็นที่ปรึกษาในสหประชาชาติ (UN) ดังนั้น รัฐสภาและรัฐบาลโปรตุเกสต้องให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าว ทว่า ในท้ายที่สุด รัฐสภาโปรตุเกสลงความเห็นว่ารัฐบาลจีนได้ดำเนินการต่างๆ ในมาเก๊า ‘ด้วยความสุจริตใจ’ จึงปัดตกประเด็นนี้ออกจากที่ประชุม

เปโดร ฟิลิเป ส.ส. จากพรรคฝ่ายซ้ายผู้สนับสนุนให้สภาเดินหน้าเรียกร้องเรื่องเสรีภาพสื่อในมาเก๊า
(ภาพจากเฟซบุ๊ก Pedro Filipe Soares) 
 

เซอร์จีโอ โซวซา ปินโต หนึ่งในคณะกรรมาธิการและ ส.ส.พรรค SP กล่าวสรุปในตอนท้ายของการประชุมว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในมาเก๊าเป็นเรื่องทั่วไปที่เข้าใจได้ เพราะข้อตกลงการเปลี่ยนผ่านที่รัฐบาลจีนทำร่วมกับรัฐบาลโปรตุเกสนั้นผ่านมาเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว ซึ่งรัฐบาลจีนได้ทำตามข้อตกลงดังกล่าวอย่างสุจริตใจ

“รัฐสภาโปรตุเกสไม่จำเป็นต้องเลือกข้างในทุกเรื่อง และสมาชิกสภาได้หารือประเด็นนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้วในวันนี้ ซึ่งการหารือดังกล่าวเป็นการพูดคุยปลายเปิด เปิดให้สื่อรับทราบด้วยซ้ำไป แถมยังมีเสรีภาพกว้างไกลถึงประเด็นที่เกิดขึ้นในมาเก๊าอีกด้วย” ปินโต กล่าว

“เราเชื่อว่าการทำให้ประเด็นนี้ดูคลุมเครือและเล่นใหญ่เกินจริงนั้นไม่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งรัฐบาลมาเก๊าและชาวโปรตุเกสที่อาศัยอยู่ในมาเก๊า รวมถึงไม่เป็นผลดีต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของจีนและโปรตุเกสอย่างแน่นอน” ปินโต กล่าวทิ้งท้าย

เซอร์จีโอ โซวซา ปินโต (ขวา) ส.ส. จากพรรคสังคมนิยมโปรตุเกส (SP)
(ภาพจากเฟซบุ๊ก Sérgio Sousa Pinto)
 

สิ้นสุดเสรีภาพสื่อในมาเก๊า

ผู้สื่อข่าวคนหนึ่งในมาเก๊า เปิดเผยกับสำนักข่าว HKFP ว่าสำนักข่าวภาษาจีนในมาเก๊าต้องเปลี่ยนรูปแบบการทำข่าวอย่างสิ้นเชิงนับตั้งแต่สนธิสัญญาส่งมอบมาเก๊าแก่จีนมีผลบังคับใช้ใน พ.ศ.2542 โดยต้องนำเสนอข่าวเช่นเดียวกับสำนักข่าวอื่นๆ ของจีนแผ่นดินใหญ่ ในขณะที่ สำนักข่าวภาษาโปรตุเกสของมาเก๊ากลับกลายเป็นเหมือนโลกคู่ขนาน เพราะมีอิสระและเสรีภาพมากกว่าในการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับรัฐบาลจีน ตัวอย่างเช่น การนำเสนอข่าวเหตุการณ์สังหารหมู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมินใน พ.ศ.2532 สำนักข่าวภาษาจีนในมาเก๊าจะกล่าวถึงเหตุการณ์ดังกล่าวเพียงแค่สั้นๆ อย่างไม่เป็นทางการ และไม่ระบุเจาะจงลงไปว่าเป็นเหตุการณ์ใด ทำได้เพียงกล่าวขึ้นมาลอยๆ เท่านั้น แต่สำนักข่าวภาษาโปรตุเกสหรือภาษาอังกฤษสามารถเผยแพร่สกู๊ปเหตุการณ์ดังกล่าวได้อย่างตรงไปตรงมา และไม่ต้องเซ็นเซอร์เนื้อหาข่าวแต่อย่างใด

“ถ้าชาวจีนในมาเก๊าต้องการรับรู้ข่าวสารที่รัฐบาลจีนปกปิดเอาไว้ ก็แค่เอาข่าวภาคภาษาโปรตุเกสมาแปล แล้วส่งต่อกันทางโซเชียลมีเดีย คนมาเก๊าถึงมีเรื่องตลกเล่าต่อๆ กันว่าเจ้าหน้าที่ในศาลาว่าการคงอ่านภาษาโปรตุเกสไม่ออก เพราะปล่อยให้มีการแชร์ข่าวแปลแบบนี้ต่อๆ กันโดยไม่เซ็นเซอร์ใดๆ จนถึงตอนนี้” เขากล่าว

เขตบริหารพิเศษมาเก๊าได้ชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีเสรีภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งในสาธารณรัฐประชาชนจีน
มีประชากรกว่า 640,000 คน และมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับต้นๆ ของทวีปเอเชีย
โดยค่าแรงขั้นต่ำของมาเก๊าเฉลี่ยชั่วโมงละ 256 ปากาตามาเก๊า หรือประมาณชั่วโมงละ 1,000 บาท
(ภาพโดย Aleksandr Zykov)
 

ด้าน ฌอร์เฌ เมเนเซส ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายชาวโปรตุเกสที่อาศัยอยู่ในมาเก๊า กล่าวชื่นชมออกุสโต ซานโตส ซิลวา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของโปรตุเกสที่กล้าแสดงจุดยืนเพื่อปกป้องเสรีภาพสื่อและสิทธิมนุษยชนในเวทีนานาชาติ เพราะนอกจากจะเรียกรัฐบาลโปรตุเกสแสดงท่าทีต่อเรื่องนี้แล้ว ซิลวา ยังได้กล่าวถึงประเด็นนี้บนเวทีการประชุมสุดยอดรัฐมนตรีต่างประเทศของ NATO ในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ซึ่งสภาที่ปรึกษาแห่งสหภาพยุโรปได้เข้าร่วมรับฟังการประชุมครั้งนี้ จึงอาจเป็นสัญญาณว่าสหภาพยุโรปอาจจับตามองประเด็นสิทธิมนุษยชนในมาเก๊ามากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ เมเนเซส ยังกล่าวชื่นชมและให้กำลังใจผู้สื่อข่าวของ TDM ที่ประกาศลาออกหลังจากทราบนโยบายการทำงานรูปแบบใหม่ ทั้งยังระบุว่าการทำงานของผู้สื่อข่าวภาคภาษาโปรตุเกสและภาษาอังกฤษถือเป็นเสาหลักสำคัญที่ยึดมั่นรากฐานของกฎหมายพื้นฐานของมาเก๊าให้คงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้

ที่มา:

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net