Skip to main content
sharethis

5 ปี การสูญหายอย่างไร้ร่องรอย ของ 'เด่น คำแหล้' แกนนำนักสู้เพื่อสิทธิที่ดินทำกิน แม้จะพบวัตถุพยานที่พิสูจน์ได้ว่าเสียชีวิตแต่คงต้องตามหาความยุติธรรมต่อไป เพราะยังไม่สามารถหาสาเหตุเพื่อตรวจสอบให้บ่งชัดต่อสังคมว่าปมปริศนาการหายตัวและการเสียชีวิตเกิดขึ้นได้อย่างไร เพื่อนำผู้ที่กระทำความผิดมาดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม

รำลึก 5 ปี การสูญหาย 'เด่น คำแหล้' แกนนำนักสู้เพื่อสิทธิที่ดินทำกิน

ภายใต้บรรยากาศการต่อสู้ ภายหลังหัวหน้าคณะ คสช.มีคำสั่ง ทวงคืนผืนป่า

ขณะที่ชาวบ้านชุมชนโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ กว่า 30 ครัวเรือน กำลังเผชิญอยู่บนท่ามกลางการต่อสู้กับสถานการณ์ “ทวงคืนผืนป่า” เจ้าหน้าที่ทหาร และป่าไม้ รวมทั้งฝ่ายปกครอง เข้ามาในพื้นที่หลายครั้ง เช่น วันที่ 25 ส.ค.2557 เข้ามาปิดประกาศคำสั่ง คสช.64/57 ให้อพยพ รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่ภายใน 15 วัน และวันที่ 6 ก.พ. 2558 โดยทุกครั้งเจ้าหน้าที่สนธิกำลังเข้ามาไม่ต่ำกว่า 100 นาย โดยมีเป้าหมายคือต้องเอาชาวบ้านออกจากพื้นที่ให้ได้

ทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้น พ่อเด่น เป็นแกนนำในการปกป้องชุมชน  และเพื่อคลี่คลายปมปัญหาข้อพิพาท โดยเดินทางเข้ายื่นหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริง และร่วมประชุมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) เพื่อให้รัฐบาลมีมาตรการแก้ไขปัญหาในระดับนโยบาย จนมีมติให้ชะลอการไล่รื้อจนกว่าจะมีกระบวนการแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้อง

ทว่าหลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ทหาร ได้เข้ามาพยพยามเกลี้ยกล่อม โดยรับปากจะจัดสรรที่ดินให้ แต่ชาวบ้านยืนยันจะอยู่บนผืนดินเดิมที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ที่ผูกพันคุ้นเคยอยู่กับป่าแห่งนี้มานาน

กระทั่งเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด นายเด่น คำแหล้ แกนนำนักต่อสู้สิทธิที่ดินทำกิน และเป็นประธานโฉนดชุมชนโคกยาว ได้สูญหายไปในวันที่ 16 เม.ย.2559 หลังจากเข้าไปหาเก็บเห็ด หน่อไม้ ในบริเวณสวนป่าโคกยาว รอยต่อระหว่างป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนามและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว

คืนวันที่หายไป

"ปกติ ไม่เกินบ่าย 3 โมง ก็จะออกจากป่า เพื่อเตรียมของที่หาได้ เช่น เห็ด หน่อไม้ ผักต่างๆ และพาแม่ภาพซ้อนมอเตอร์ไซต์ ไปวางขายที่ตลาดทุ่งลุยลาย เป็นปกติทุกวัน เว้นแต่ช่วงที่พ่อเด่นไปชุมนุมเรียกร้องในเรื่องที่ดินทำกินที่หน้าทำเนียบฯ หรือช่วงที่ไปประชุม หรือไปร่วมเวทีเสวนาต่าง ๆ"

นางสุภาพ คำแหล้ หรือแม่ภาพ (ภรรยาพ่อเด่น) เล่าให้ฟังว่า เป็นเหตุการณ์ปกติในชีวิตประจำวัน ที่พ่อเด่นเข้าไปหาของในป่าพร้อมกับสุนัขคู่ใจ 2 ตัว ชื่อเติ่งกับหมี โดยได้ห่อข้าวเหนียว น้ำ มีดเหน็บ เสียม และเป้ ไปด้วย แต่ก่อนที่พ่อเด่น จะเข้าไปในป่า ตอนประมาณ 09.00 น.บอกกับแม่ภาพให้เตรียมพื้นที่และถางหญ้าไว้ เพราะจะหาไผ่หวายมาปลูก

"ประมาณ 15.00 น.หรือ บ่าย 3 สุนัขชื่อบักหมี (เพศเมีย) กลับเข้ามาก่อน ซึ่งแม่ภาพไม่ได้เอะใจ เพราะเข้าใจว่ามันคงรีบกลับมาให้ลูกดื่มนม จนเวลาล่วงเลยมาถึงบ่าย 4 แม่ภาพเริ่มรู้สึกแปลกใจ เพราะปกติ บ่าย 3 พ่อเด่น จะกลับมาเตรียมของไปขายที่ตลาด แต่นี่เลยเวลามาถึงบ่าย 4 แล้ว ปกติไม่เคยกลับมาบ้านช้าแบบนี้"  แม่ภาพเอ่ยถึงพ่อเด่น และเริ่มเป็นห่วง

การรอคอย ที่นับเวลาเลยมาหลายชั่วโมง กลายเป็นความเป็นไม่ปกติ และเป็นห่วงยิ่งขึ้น กลัวจะไม่สบาย เป็นลมหรือเป็นอะไร จนประมาณ 19.00 น. แม่ภาพตัดสินใจเดินเข้าไปตามหา ตะโกนเรียกในป่าเพียงลำพังคนเดียว เมื่อไร้เสียงการตอบกลับ และความมืดเริ่มปกคลุมผืนป่ามากขึ้น  จึงตัดสินใจกลับ ขณะมาถึงบ้านประมาณ 21.00 น เห็นสุนัขตัวผู้ ชื่อเติ่ง) กลับเข้ามา ซึ่งมีอาการหวาดกลัว คล้ายตื่นตกใจ และลำตัวมีบาดแผล คือใบหูข้างขวามีรอยฉีกขาด และขามีอาการเดินเป๋ ๆ แต่ไม่เห็นพ่อเด่น กลับมา

ตลอดทั้งคืนเป็นช่วที่แม่ภาพนอนไม่หลับ ในใจภาวนาให้ฟ้าสางเร็ว ๆ จนช่วงเช้ามืดวันที่ 17 เม.ย. แม่ภาพรีบเข้าไปหาในป่าคนเดียวอีกรอบ เมื่อยังหาไม่เจอ และเกิดความกังวลกลัวว่า จะโดนจับหรือเปล่า เมื่อกลับเข้ามาบ้าน ได้บอกให้สมาชิกในโคกยาวรับรู้ และช่วยกันตามหา กระทั่งถึงช่วงเย็น ยังไม่พบแม้วี่แวว จึงแจ้งให้ผู้ปฎิบัติงานเครือข่ายปฎิรูปที่ดินภาคอีสาน ได้รับทราบ เพื่อหาแนวทางและระดมการค้นหา

ระดมการค้นหา ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ เพื่อเชื่อมโยงไปสู่การค้นหา

18 เม.ย.2559 ทางเครือข่ายปฎิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) ได้ระดมกำลังสมาชิกเครือข่ายฯ ชาวบ้านจากทั้งในพื้นที่จังหวัดชันภูมิ และจังหวัดต่าง ๆ หลายพื้นที่ เพื่อเข้ามาร่วมระดมติดตามเดินเท้าค้นหาในบริเวณพื้นที่ป่าโดยกว้าง อย่างต่อเนื่อง ติดต่อกันหลายวัน รวมทั้งประสานทั้งเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ตำรวจ เพื่อกระจายกำลังค้นหา แต่ไม่มีผู้ใดพบเห็น 

ประสานและยื่นหนังสือกับหน่วยงานรัฐ และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน

ช่วงเวลาที่ค้นหา แม่ภาพ นอกจากจะเป็นตัวหลัก ทั้งยังคอยประสานกับองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนต่างๆ เช่น มูลนิธิผสานวัฒนธรรม รวมทั้งยื่นหนังสือร้องเรียนกับหน่วยงานรัฐ เช่น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อให้ช่วยติดตามความคืบหน้า ,กรมสอบสวนคดีพิเศษ  (DSI) โดยขอให้ทางดีเอสไอ รับเป็นคดีพิเศษ,กองกำกับการตำรวจกองปราบ เพื่อให้เร่งคลี่คลายคดี,สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น).สถาบันนิติวิทยาศาสตร์

และวันที่ 23 พ.ค 2559 ยื่นหนังสือร้องเรียนถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กรณีการข่มขู่คุกคาม การลอบสังหาร และการอุ้มหายนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ให้ได้รับการแก้ไขปัญหาโดยด่วน พร้อมทั้งให้เร่งรัดการออก พ.ร.บ. ป้องกันการบังคับให้สูญหาย โดย พล.ต.ท.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ ผู้ช่วย ผบ.ตร.เดินทางมารับเรื่องร้องเรียน

นอกจากนี้ ในวันที่ 14 ก.ค.2559 เข้าพบ พล.ต.ท.ทวิชชาติ พละศักดิ์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 (ผบช.ภ.3) เพื่อขอให้เร่งรัดการสืบสวนข้อเท็จจริงกรณีการหายตัว และขอความร่วมมือประสานไปยังเจ้าหน้าที่ร่วมค้นหา รวมทั้งให้มีการสืบสวนสอบสวนเพิ่มเติม

ซึ่ง ผบช.ภ.3 แจ้งว่า จะดำเนินการทุกอย่างตามที่ผู้ร้องได้เข้ามายื่น และจะมีการตั้งพนักงานสอบสวนขึ้นมาใหม่อีกชุด เพื่อดำเนินการสืบสวนกรณีนายเด่น โดยเฉพาะ

ต่อมา วันที่ 25 ก.ค.2559 นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมือง ได้เชิญตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งนางสุภาพ คำแหล้ ร่วมรับฟัง ให้ข้อมูลและติดตามความคืบหน้า ณ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ประธานอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมือง เผยว่ากรณีการหายตัวของนายเด่น เป็นเรื่องสำคัญของนักปกป้องสิทธิที่หลายฝ่ายให้ความสำคัญ และถือว่าเป็นหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานรัฐ ที่ต้องเร่งดำเนินการ สำหรับความคืบหน้า ทางตำรวจภูธรภาค 3 ให้ความสำคัญในการเร่งการสืบสวนสอบสวนเพิ่มเติม โดยได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานระดับภาคชุดใหม่ขึ้นมาเพื่อเร่งคลี่คลายคดี

พบผ้าขาวม้า กระดูก คาดน่าจะเชื่อมโยงไปสู่การหายตัว

การะดมค้นหาชุดใหญ่ ในวันที่ 1 ส.ค. 2559 ประกอบด้วย กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดชัยภูมิ ตำรวจสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 3 ตำรวจภูธรห้วยยาง พิสูจน์หลักฐานตำรวจ ป่าไม้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอคอนสาร เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลทุ่งลุยลาย รวมทั้งผู้นำท้องถิ่น และหน่วยกู้ภัยคุณธรรมเต๊กก่าคอนสาร กู้ภัยชุมแพจีแชเกาะ เป็นต้น ปรากฏว่า พบผ้าขาวม้า (แม่ภาพยืนยันว่าเป็นของพ่อเด่น เพราะเป็นคนถักให้เองกับมือ และปกติพ่อเด่น จะมัดติดกับย่ามเพื่อสะพายใส่ของ) และชิ้นส่วนกระดูก ปลอกกระสุนปืน ทั้งหมดที่พบ ทางพิสูจน์หลักฐานได้บรรจุใส่ห่อเพื่อนำไปตรวจพิสูจน์ ซึ่งคาดว่าการค้นพบวัตถุพยานครั้งนี้อาจเป็นการเชื่อมโยงไปถึงการหายตัว

เวลาผ่านไปกว่า 8 เดือน กระทั่งในวันที่ 24 มี.ค.2560 ในขณะที่ชาวบ้านไปหาหน่อไม้ ได้พบวัตถุพยานจำนวน 14 รายการ เช่น กางเกง รองเท้า และสิ่งของใช้ โดยแม่ภาพ ยืนยันว่าเป็นของพ่อเด่น จึงได้แจ้งเจ้าหน้าที่ และวันที่ 26 มี.ค.2560 เจ้าหน้าที่ป่าไม้ พิสูจน์หลักฐานตำรวจชัยภูมิ ลงพื้นที่ค้นหาเพิ่มเติม ปรากกฎว่าพบหัวกะโหลกมนุษย์วางอยู่ไม่ไกลจากจุดเดิมมากนัก หลังจากส่งมอบสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ตรวจสอบหัวกะโหลก มีสารพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) เดียวกันกับน้องสาวของพ่อเด่น

ผ่านมาถึงวันที่ 16 ก.ย.2562 เจ้าหน้าที่ดีเอสไอ พร้อมด้วยสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ลงพื้นที่ค้นหาหลักฐานตรงจุดที่เคยพบหัวกะโหลก ปรากกฎว่า พบกระดูกฝ่าเท้าจำนวน 8 ชื้น สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ตรวจพิสูจน์ ก็พบว่ามีสารพันธุธรรมเดียวกันกับน้องสาวพ่อเด่น

สรุป การสูญหายอย่างไร้ร่องรอย แม้จะพบวัตถุพยานที่ตรวจพิสูจน์ได้ว่าเสียชีวิต แต่ยังคงต้องตามหาความยุติธรรมต่อไป เพราะยังไม่สามารถหาสาเหตุการสูญหาย เพื่อตรวจสอบให้บ่งชัดต่อสังคมว่า ปมปริศนาการหายตัวและการเสียชีวิตนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร เพื่อนำผู้ที่กระทำความผิดมาดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม

จากการวิเคราะห์ในหลายประเด็น เช่น หลงป่าเป็นไปได้น้อยมาก เนื่องจากนายเด่น เป็นสหายเก่า มีความชำนาญในการอยู่ในพื้นที่ป่า และอยู่กับป่าแถบนี้มานาน

หากเกิดจากภัยธรรมชาติ หรือสัตว์ป่าทำร้าย จะต้องพบร่องรอยของการถูกสัตว์ป่าทำร้าย ไม่ว่าจะเป็นรอยการต่อสู้ เศษซากเสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัว จากการค้นหาไม่พบพยานหลักฐานใดที่จะบ่งบอกถึงเหตุทำให้หายไป

ส่วนปัญหาด้านสุขภาพ เป็นคนที่แข็งแรง ไม่มีปัญหาเรื่องสุขภาพหรือโรคประจำตัวแต่อย่างใด

ด้านการกระทำของมนุษย์ เป็นสาเหตุที่ชาวบ้านให้น้ำหนักมากเป็นพิเศษ เชื่อว่าอาจถูกทำให้สูญหาย ซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นฝีมือใคร และที่ผ่านมาพ่อเด่น ไม่เคยมีความขัดแย้งส่วนตัวกับใคร

จากสหายดาวอีปุ่ม สู่ ชีวิตเกษตรกร นักสู้เพื่อสิทธิที่ดินทำกิน จนสูญหายตัวในยุค ทวงคืนผืนป่า

เด่น คำแหล้ เกิดเมื่อวันที่ 7 ส.ค.2494 เป็นลูกชาวนาที่ยากจน ที่ต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมมาตลอดทั้งชีวิตนับแต่เด็ก เดิมเป็นคน บ้านท่าสี ต.หนองแสง  อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี เป็นลูกผู้ชายคนเดียวในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 4 คน ต่อมาในปี 2509 ครอบครัวได้อพยพมาที่บ้านวังหินซา ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู นายเด่น จบชั้น ป.4 ที่โรงเรียนบ้านวังหินซา ช่วงวัยหนุ่มได้บวชเป็นพระอยู่ระยะหนึ่ง แต่ต้องสึกออกมาทำงานช่วยเหลือครอบครัว โดยไปเป็นลูกจ้างดำนา และชกมวย และได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมกับสหาย ต่อมาในปี 2516 ได้เข้าร่วมกับ พคท. โดยเข้ามาเคลื่อนไหวในพื้นที่เขตงาน 196 (ภูซาง) ภายใต้ชื่อจัดตั้ง “สหายดาว อีปุ่ม” 

หลังออกจากป่า เข้ามายึดอาชีพรับจ้างเป็นจับกังแบกหามข้าวโพด ที่ ต.ทุ่งลุยลาย อ.คนสาร จ.ชัยภูมิ ต่อมาได้พบรักกับนางสุภาพ สนิทนิตย์ จากนั้นปี 2527 จดทะเบียนสมรส เป็นคู่สามี – ภรรยา ยึดอาชีพเกษตรกร บนพื้นที่ของพ่อตาและแม่ยาย ที่มอบเป็นมรดกตกทอดนับแต่นั้นเรื่อยมา โดยสมัยแม่ภาพเป็นสาว ก็ช่วยพ่อกับแม่ทำการเกษตรบนพื้นที่แห่งนี้มาตั้งแต่ปี 2512 จนปี 2516 ถูกประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม

ต่อมาปี 2528 รัฐได้เข้าดำเนินโครงการ “หมู่บ้านรักษ์ป่า ประชารักษ์สัตว์” โดยมีกำลังทหารพราน และเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ได้เข้ามาอพยพ ขับไล่ชาวบ้านในพื้นที่โคกยาว โดยอ้างว่าจะจัดสรรที่ดินรองรับ จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ปลูกสวนป่ายูคาลิปตัส ส่วนพื้นที่รองรับเป็นที่ดินที่มีการถือครองทำประโยชน์ของชาวบ้านทุ่งลุยลายอยู่แล้ว ทำให้ไม่สามารถเข้าทำกินได้ ในช่วงนั้นนายเด่น และชาวบ้านผู้เดือดร้อน ได้เรียกร้องขอความเป็นธรรมเพื่อขอเข้าทำกินในพื้นที่ดินเดิม

ภายหลังการแก้ไขปัญหาไม่มีข้อยุติ ชาวบ้านยังไม่สามารถเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่โคกยาวได้ ในช่วงปี 2549 พ่อเด่นและสมาชิกผู้เดือดร้อน ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายปฎิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) ได้เข้าร่วมเคลื่อนไหวโดยมีข้อเสนอให้รัฐบาล “ยกเลิกสวนป่า แล้วนำที่ดินมาจัดสรรให้ผู้เดือดร้อน” และผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบายการจัดการที่ดินโดยชุมชน ในรูปแบบ “โฉนดชุมชน”

ในปี 2554 ได้ชุมนุมติดตามปัญหา กระทั่งมีมติคณะรัฐมนตรีรับทราบแนวทางการแก้ไขปัญหา จึงเป็นที่มาของการเข้าพื้นที่โคกยาว ในเวลาต่อมา แต่เหตุการณ์ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นในช่วงเช้ามืดวันที่ 1 ก.ค.2554 เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ตำรวจ ฝ่ายปกครอง สนธิกำลังเข้าควบคุมตัวชาวบ้านโคกยาว และแจ้งข้อหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม จำนวน 10 คน โดยพ่อเด่น และแม่ภาพ ตกเป็นจำเลยในคดี

ที่สุดแล้วชาวบ้านชุมชนโคกยาว สามารถทำกินอยู่ในพื้นที่ได้ กระทั่งในยุคทวงคืนผืนป่า ตามคำสั่งหัวหน้าคณะ คสช.เจ้าหน้าที่ทหาร ป่าไม้ เข้ามาปิดประกาศไลารื้อ พ่อเด่น เป็นแกนนำต่อสู้มาตลอด จนวาระสุดท้ายได้หายตัวไป เมื่อ 16 เม.ย.2559

ไม่เคยมีหลักประกันใดจากอำนาจรัฐที่จะมารองรับให้ชาวบ้านมีชีวิตอยู่กับป่าได้อย่างมีความสุข นอกจากการยืนหยัดต่อสู้ด้วยสมองและสองมือเปล่าของชาวบ้านเกษตรกรธรรมดา ของเราเอง เด่น คำแหล้ "อยู่อย่างยิ่งใหญ่ ตายอย่างมีเกียรติ"

16 เม.ย. 2564 ครบรอบ 5  ปี การจากไปของ "เด่น คำแหล้" ที่ควรรำลึกถึงความทรงจำต่อนักต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดิน ที่ได้สร้างคุณค่าประโยชน์ที่ดีงามทั้งต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งที่อยู่อาศัยเพื่อให้ลูกหลานมีที่กินทำกิน จากรุ่นสู่รุ่นสืบไป
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net