Skip to main content
sharethis

เมื่อ 3 วันที่ผ่านมา เกิดเหตุเพลิงไหม้โรงเรียนมัธยมศึกษาหลายแห่งในพม่า คาดฝีมือผู้ประท้วงต้านรัฐประหาร เพื่อตอบโต้คำสั่งกองทัพที่ให้โรงเรียนกลับมาเปิดเทอม 1 มิ.ย. 64 สถานการณ์ชายแดนไทย-พม่าวันที่ 26 พ.ค. ฝั่ง จ.แม่ฮ่องสอน ยังสงบ เหลือผู้ลี้ภัยในฝั่งไทย 1,047 คน 

เจ้าหน้าที่กำลังพยายามดับเพลิงที่กำลังไหม้โรงเรียนแห่งหนึ่งในเมืองทวาย ภูมิภาคตะนินตายี ประเทศพม่า เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 64 (ที่มา ชาวบ้านทวาย)
 

สืบเนื่องจากสำนักข่าวอิระวดี รายงานเมื่อวันที่ 25 พ.ค. ระบุว่า เมื่อวันจันทร์ที่ 24 พ.ค. 64 ที่เมืองทวาย เมืองหลวงแห่งภูมิภาคตะนินตายี หรือชาวไทยจะรู้จักในชื่อ ‘ตะนาวศรี’ ประเทศพม่า เกิดเพลิงไหม้โรงเรียนรัฐ 3 แห่ง ในสัปดาห์ลงทะเบียนเรียนตามการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือหลักสูตรรัฐบาล

ชาวบ้านผู้เห็นเหตุการณ์ให้สัมภาษณ์กับสื่ออิระวดีว่า “มีการเขวี้ยงระเบิดเข้าไปในโรงเรียนมัธยมการศึกษาขั้นพื้นฐาน หมายเลข 6 (No (6) Basic Education High School Dawei) โดยมีเป้าหมายที่ห้องทำงานของครูใหญ่ ซึ่งไม่เข้าร่วมขบวนการ CDM (ผู้สื่อข่าว - CDM เป็นชื่อเล่นของขบวนการอารยขัดขืนในพม่า) แต่ระเบิดกลับโดนที่ด้านล่างของห้องทำงานและเกิดระเบิดขึ้นมา จากนั้น ก็มีการขว้างระเบิดใส่โรงเรียนมัธยมศึกษาอีกแห่งไม่นานหลังจากนั้น เบื้องต้น ไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด” 

หลังเหตุระเบิด มีรถของกองทัพจำนวน 4 คัน เข้ามาตรวจสอบ และสอบถามผู้ที่ผ่านไป-มา นอกจากนี้ กองทัพพม่ามีการวางมาตรการคุ้มครองให้ครูใหญ่ของโรงเรียนมัธยมการศึกษาขั้นพื้นฐาน หมายเลข 6 แห่งนี้อีกด้วย

ผู้สื่อข่าวประชาไท สอบถามผ่านสื่อโซเชียลมีเดียกับแหล่งข้อมูลผู้ติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างชาวมอญในเขตทวาย และกองทัพพม่า เพื่อสอบถามเหตุการณ์เพิ่มเติม โดยแหล่งข้อมูล กล่าวว่า วันที่ 24 พ.ค. 64 มีเหตุการณ์ปะทะระหว่างกองทัพพม่าและผู้ประท้วงต้านรัฐประหารในหมู่บ้านตะเยชอง และในเมืองทวาย ก่อนที่จะมีเหตุเสียงดังคล้ายระเบิดประมาณเวลา 22.00-23.00 น. ที่โรงเรียนอะเมียวเกง ในหมู่บ้านอะเมียวเกง เมืองทวาย เมื่อตรวจสอบที่เกิดเหตุพบว่า เกิดเหตุเพลิงไหม้อาคารเรียน อุปกรณ์การศึกษา คอมพิวเตอร์ และอื่นๆ ยังไม่มีรายงานผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตออกมา นอกจากนี้ มีเหตุเสียงดังคล้ายระเบิดต่อเนื่องที่เมืองทวายในช่วงกลางคืนวันที่ 25 พ.ค. 64 อีกด้วย 

สภาพอาคารเรียน ของโรงเรียนแห่งหนึ่งในทวาย หลังเกิดเหตุเพลิงไหม้เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 64 (ที่มา ชาวบ้านทวาย)
 

นอกจากในเมืองทวาย ที่เมืองอื่น ๆ ก็มีเหตุระเบิดเช่นกัน โดยเกิดขึ้นที่โรงเรียนมัธยมต้น 3 แห่งในเขตชุมชนแว๊ตแล๊ต เขตชเวโบ ภูมิภาคสะกาย เมื่อช่วงเย็นวันที่ 24 พ.ค. 64 และมีเหตุระเบิดโรงเรียนมัธยมฯ ในเมืองกะเหล่ ภูมิภาคสะกาย เมื่อเช้าวันที่ 25 พ.ค. 64  

มีการคาดการณ์ว่าจุดประสงค์ของการทำลายอาคารเรียนโรงเรียนรัฐหลายแห่ง เพื่อตอบโต้คำสั่งของกองทัพพม่าที่ต้องการให้โรงเรียนรัฐกลับมาเปิดเทอมวันที่ 1 มิ.ย. 64 เนื่องจากที่ผ่านมา ผู้ประท้วงรณรงค์การทำอารยขัดขืน (CDM) ไม่เข้าเรียนในโรงเรียนรัฐ เพื่อต้านการทำรัฐประหาร

ศูนย์สั่งการชายแดนฯ เผยสถานการณ์สู้รบริมสาละวินยังสงบ เหลือผู้ลี้ภัยฝั่งไทย 1,047 คน

27 พ.ค. 64 สำนักงานประชาสัมพันธ์ จังหวัดแม่ฮ่องสอน โพสต์ข้อความบนเพจเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 26 พ.ค. 64 ระบุศูนย์สั่งการชายแดน ไทย-เมียนมา ด้านจังหวัดแม่ฮ่องสอน แถลงข่าวสถานการณ์ชายแดนไทย-เมียนมา จ.แม่ฮ่องสอน ประจำวันที่ 26 พ.ค. 64 เวลา 12.00 น. ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 24 พ.ค. 64 เวลา 20.00 น. เป็นต้นมา ยังไม่มีการสู้รบระหว่างกองทัพพม่า และกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติสหภาพกะเหรี่ยง (KNLA) ด้านตรงข้าม อ.แม่สะเรียง และ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน และทางพม่าไม่มีการใช้เครื่องบินรบทิ้งระเบิดพื้นที่กองพลที่ 5 สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ติดต่อกันเป็นวันที่ 26 

ภาพผู้ลี้ภัยรัฐกะเหรี่ยง เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 64 (ที่มา Khit Thit Media)

ขณะที่สถานการณ์ผู้ลี้ภัยใน จ.แม่ฮ่องสอน ศูนย์สั่งการชายแดนฯ กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ลี้ภัยความไม่สงบชาวเมียนมา เดินทางกลับไปยังภูมิลำเนาฝั่งประเทศเมียนมาเพื่อกลับไปดำเนินชีวิตตามปกติ จำนวน 559 คน ยังคงเหลือยอดผู้ลี้ภัยความไม่สงบชาวเมียนมา ที่อยู่ในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว 4 แห่ง จำนวน 1,047 คน ดังนี้

  • พื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว บริเวณห้วยมะระ ต.แม่คง อ.แม่สะเรียง จำนวน 197 คน
  • พื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว บริเวณห้วยจอกลอ ต.แม่คง อ.แม่สะเรียง จำนวน 77 คน
  • พื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว บริเวณห้วยโกเกร๊ะ ต.แม่คง อ.แม่สะเรียง จำนวน 747 คน
  • พื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว บริเวณ บ.เสาหิน ต.เสาหิน อ.แม่สะเรียง จำนวน 26 คน

สำหรับการให้ความช่วยเหลือขั้นต้นในด้านมนุษยธรรมนั้น หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 7 ร่วมกับศูนย์สั่งการชายแดนฯ ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องดังนี้

การดูแลรักษาความปลอดภัยให้กับผู้ลี้ภัยความไม่สงบชาวเมียนมาที่อพยพมายังพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราวในฝั่งประเทศไทย

การจัดระเบียบพื้นที่และจัดระบบสุขาภิบาล เพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รวมถึงการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่มาจากบุคคลภายนอกเข้าไปสู่ผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมาในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว และการจัดเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการชี้แจงข้อเท็จจริงของสถานการณ์ เพื่อให้ผู้หนีภัยความไม่สงบได้รับทราบถึงสถานการณ์ในปัจจุบัน

การให้การช่วยเหลือด้านสาธารณะสุข โดยหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 7 ได้จัดหมวดทหารเสนารักษ์เข้าให้การช่วยเหลือในการรักษาพยาบาลในขั้นต้น หากมีผู้ป่วยอาการหนักจะดำเนินการเคลื่อนย้ายไปยังโรงพยาบาลในพื้นที่เพื่อรับการรักษาต่อไป รวมถึงการดำเนินงานด้านเวชกรรมป้องกันในการฉีดพ่นยาฆ่าแมลงเพื่อกำจัดแมลงที่เป็นพาหะในการระบาดของโรคมาลาเรียในพื้นที่

สืบเนื่องจากเหตุการณ์กระสุนปืน ค. จากฝั่งพม่าตกที่บ้านท่าตาฝั่ง เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 64 จนทำให้ทางการไทยต้องอพยพชาวบ้านไปอยู่ในตำบลรวบรวมพลเรือน เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินตามแผนการอพยพพลเรือนในพื้นที่ ปัจจุบันมีราษฎรอยู่ในพื้นที่ตำบลรวบรวมพลเรือน 2 แห่ง จำนวน 217 คน ดังนี้ 

  • พื้นที่ตำบลรวบรวมพลเรือน ห้วยกองกูด ต.แม่ยวม อ.แม่สะเรียง จำนวน 178 คน
  • พื้นที่ตำบลรวบรวมพลเรือน ห้วยกองคา ต.แม่ยวม อ.แม่สะเรียง จำนวน 39 คน

ศูนย์สั่งการชายแดนฯ ร่วมกับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 7 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติตามแผนการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน โดยดำเนินการในเรื่องของการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ และการบูรณาการหน่วยงานของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ในการให้ความช่วยเหลือราษฎรไทยในพื้นที่ตำบลรวบรวมพลเรือน เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และการช่วยเหลือเข้าถึงราษฎรไทยทุกคน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net