Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อเราดูซีรีย์จีนย้อนยุคจะพบว่า “คัมภีร์” เป็นที่มาของจินตนาการความบันเทิงอย่างพิศดาร เพื่อที่จะเป็นเจ้ายุทธภพหรือเจ้าผู้ครองบันลังก์เหนือใครๆ ในใต้หล้า จะต้องช่วงชิงคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์สักอย่างมาให้ได้ ในฝ่ายพุทธมหายานมีเรื่องราวของพระถังซัมจั๋งเดินทางไปอินเดียเพื่อนำคัมภีร์ไตรปิฎกมายังแผ่นดินจีน จนกลายเป็นที่มาของนิยายอมตะ “ไซอิ๋ว” อันโด่งดัง

ในทางปรัชญา ศาสนา นึกถึงคัมภีร์เต้าเต๋อจิงของเล่าจื้อ, คัมภีร์หลุน-อฺวี่ของขงจื้อ และอื่นๆ กระทั่งตำราพิชัยสงครามอันลือลั่น เรื่อยมาถึงคัมภีร์ลัทธิมาร์กซ์-เลนิน, ลัทธิเหมา เป็นต้น ทั้งเรื่องบันเทิงและประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ศาสนา ปรัชญา การเมือง เศรษฐกิจของจีนที่เน้นเรื่องจารีตประเพณี บุญคุณ ความแค้น กลยุทธ์พลิกแพลงต่างๆ ทางการเมืองและการค้า จึงเกี่ยวโยงกับคัมภีร์อย่างมีนัยสำคัญ 

แต่ดูเหมือนว่าในวัฒนธรรมจีน การตีความ ปรับใช้ ผลิตซ้ำ และสร้างใหม่เกี่ยวกับเนื้อหาของคัมภีร์จะเปลี่ยนแปลง ยืดหยุ่น และก้าวหน้ากว่าโลกของคัมภีร์ในวัฒนธรรมอินเดียและเอชียตะวันออกเฉียงใต้ที่รับอิทธิพลจากอินเดีย

ในอินเดียเหตุผลสำคัญที่มหาตมะ คานธี ปฏิเสธข้อเสนอให้ “ยกเลิกระบบวรรณะ” ก็คือการยืนยันความศักดิ์สิทธิ์ของคัมภีร์ธรรมศาสตร์ที่บัญญัติระบบวรรณะเอาไว้เพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคม ขณะที่อัมเบ็ดการ์ ผู้ซึ่งรับอิทธิพลความคิดยุคเรืองปัญญาของยุโรปเสนอให้ปฏิเสธอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของคัมภีร์ ด้วยเหตุผลว่า “สิ่งที่บัญญัติไว้ในคัมภีร์ ไม่สำคัญเท่ากับว่าเราเข้าใจความหมายเหล่านั้นอย่างไร” ด้วยวิธีคิดเช่นนี้เองจึงทำให้อัมเบดการ์รณรงค์ยกเลิกระบบวรรณะ และตีความพุทธศาสนาสนับสนุนหลักเสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ ประชาธิปไตย และสิทธิสตรี แต่ดูเหมือนจะล้มเหลวมากกว่าจะประสบความสำเร็จ

ในงานศึกษาของอรุณธตี รอย ตั้งข้อสังเกตว่า ในวัฒนธรรมวรรณะของอินเดีย คนทุกวรรณะต่างมี “วิธีคิดแบบพราหมณ์” พวกพราหมณ์อ้างว่าวรรณะตนเองประเสริฐที่สุด วรรณะอื่นๆ ก็อ้างว่าตนเองประเสริญกว่าวรรณะที่ต่ำลงไป ศูทรก็ถือว่าพวกตนประเสริฐกว่าพวกคนนอกวรรณะอย่างจัณฑาล แต่คนนอกวรรณะไม่ได้มีแต่จัณฑาล ยังมีคนนอกวรรณะอื่นๆ แยกย่อยจากจัณฑาลออกไปอีกจำนวนมาก และจัณฑาลก็อ้างว่าพวกตนประเสริฐกว่าหรือสูงกว่าคนนอกวรรณะเหล่านั้น

ดังนั้น การดำรงอยู่ของระบบวรรณะจึงเป็นรากฐานอันแข็งแกร่งของการดำรงอยู่ของคนนอกวรรณะที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดินกว่าคนทั้งสี่วรรณะด้วย และสมรภูมิรบของวัฒนธรรมอินเดียก็คือการต่อสู้กันว่าใครหรือกลุ่มคนวรรณะไหนเป็น “ผู้ประเสริฐ/สูงส่ง” กว่าใคร

พุทธศาสนาก็เกิดขึ้นและมีพัฒนาการมาในสมรภูมิรบเช่นนี้ พูดให้ชัดคือพุทธะก็นิยามตนเองด้วย “วิธีคิดแบบพราหมณ์” เริ่มจากไตรปิฎกบันทึกการถือกำเนิดของสิทธัตถะว่า เกิดมาแล้วเดินได้ 7 ก้าว พร้อมกับเปล่ง “อาสภิวาจา” (พูดอย่างองอาจ) ว่า “เราเป็นผู้ยิ่งใหญ่แห่งโลก เป็นผู้ประเสริฐที่สุดในโลก...” สัจธรรมที่ตรัสรู้เป็นพุทธะ ก็เรียกว่า “อริยสัจ” ที่หมายถึง ความจริงที่ทำให้เป็นอริยะหรือผู้ประเสริฐ

ในอัคคัญญสูตรพุทธะกล่าวว่า “ในหมู่มนุษย์ผู้ถือโคตร (ถือวรรณะ) กษัตริย์ประเสริฐที่สุด แต่ผู้สมบูรณ์พร้อมด้วยวิชชาและจรณะคือผู้ประเสริฐที่สุดในหมู่มนุษย์และทวยเทพทั้งหลาย” ผู้สมบูรณ์พร้อมที่ว่านี้ก็คือพุทธะและอริยสาวก แต่อริยสาวกก็ต่ำกว่าพุทธะผู้ซึ่งเป็น “ศาสดาของทวยเทพและมนุษย์ทั้งหลาย” เมื่อเป็นศาสดาของมนุษย์และทวยเทพ พุทธะจึงไม่ลุกต้อนรับ หรือทำความเคารพกราบไหว้ใครเลย โดยให้เหตุผลว่า หากทำเช่นนั้นกับใคร ศีรษะของเขาก็จะแตกหลุดไป เรื่องเล่าเหนือจริงเช่นนี้มีในไตรปิฎกทั้งนั้นเลย

เป็นอันว่าในสมรภูมิรบของวัฒนธรรมศาสนาแบบอินเดีย ที่แข่งกันว่าใครคือผู้ประเสริฐที่สุด ซึ่งเป็น “แก่นแกน” ของวิธีคิดแบบพราหมณ์ พุทธะเองก็ยืนยันว่าตนเองประเสริฐที่สุดในหมู่มนุษย์และทวยเทพ  

ชาวพุทธอาจจะโต้แย้งว่า การยืนยันว่าพุทธะประเสริฐที่สุดไม่ใช่วิธีคิดแบบพราหมณ์ เพราะเกณฑ์ตัดสินความเป็นผู้ประเสริฐไม่ใช่ชาติกำเนิด แต่คือ “ธรรม” ซึ่งไม่ว่าใครจะมีชาติกำเนิดอย่างไร ถ้าประพฤติธรรมก็กลายเป็นคนดี เป็นอริยะชั้นต่างๆ และเป็นพุทธะเช่นเดียวกับสมณโคดมได้ แต่อย่างไรก็ตาม พวกพราหมณ์ก็ยืนยันเช่นกันว่า ระบบวรรณะไม่ขึ้นอยู่กับชาติกำเนิดเท่านั้น เพราะคนทุกวรรณะต้องมี “ธรรม” หรือหน้าที่ตามวรรณะของตนเองด้วย ก็เลยเกิดปัญหาต้องเถียงกันอีกว่าธรรมแบบพราหมณ์กับธรรมแบบพุทธอันไหนเหนือกว่า หรือเป็นสัจธรรมที่แท้กว่า

ปัญหาคือ การที่พุทธศาสนายืนยันว่า “ธรรม” เป็นเกณฑ์ตัดสินความประเสริฐของมนุษย์นั้นเท่ากับยืนยัน “ความเสมอภาค” หรือไม่? พูดอีกอย่างคือ เท่ากับหักล้างระบบวรรณะจริงหรือไม่? 

ปรากฏว่า มีบางสูตร (เช่น พาล-บัณฑิตสูต) ยืนยันว่าคนพาลที่ทำชั่วทางกาย วาจา ใจเมื่อตายไปแล้วย่อมเข้าถึงทุคติต่างๆ ถ้ามาเกิดเป็นมนุษย์ก็ย่อมเกิดในวรรณะต่ำ หรือเป็นพวกศูทร จัณฑาล ส่วนบัณฑิตที่ทำดีทางกาย วาจา ใจ เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงสุคติต่างๆ ถ้ามาเกิดเป็นมนุษย์ก็จะเกิดในวรรณะสูง คือวรรณะกษัตริย์ พราหมณ์ที่มั่งคั่ง 

กลายเป็นว่า “ธรรม” กับระบบวรรณะไม่ได้ขัดแย้งกัน หรือการใช้ธรรมเป็นเกณฑ์ตัดสินความประเสริฐของคนไม่ใช่การต่อต้านระบบวรรณะเลย เพราะที่คุณเกิดมาในวรรณะสูงหรือเป็นชนชั้นสูงก็เพราะว่าคุณเคยประพฤติธรรมหรือทำดีด้วยกาย วาจา ใจมาแต่ชาติก่อนไง ส่วนพวกคนจน คนชั้นต่ำก็เพราะว่าทำเลวมาแต่ชาติปางก่อน

ตกลงประเด็นปัญหาวรรณะ หากพูดตามหลักฐานในไตรปิฎกตรงไปตรงมากันจริงๆ ย่อมจะเกิดคำถามสำคัญว่า พุทธศาสนาแก้ปัญหาระบบวรรณะ หรือทำให้เกิดความคลุมเครือและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

ส่วนเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดตามกฎแห่งกรรม ศาสนาพราหมณ์ฮินดูมีระบบคิดที่ชัดเจนว่า คนเกิดมาในวรรณะต่างกันเพราะทำกรรมมาต่างกัน ทำไมการเวียนว่ายตายเกิดเป็นไปได้ ก็เพราะว่าทุกคนมี “อาตมัน” ที่เป็นอมตะในร่างกายของตนเอง ร่างกายของเราก็เหมือนเสื้อผ้า ถ้ามันชำรุดใช้ไม่ได้ เราก็ทิ้งมันไป แล้วหาเสื้อผ้าตัวใหม่มาใส่แทน เมื่อร่างกายของเราตาย อาตมันในร่างกายเราไม่ได้ตาย มันก็ออกจากร่างของเราไปไปยู่ในร่างกายใหม่เรื่อยๆ จนกว่ามันจะเรียนรู้ขัดเกลากิเลส อวิชชาให้หมดไป แล้วอาตมันของเราทุกคนก็จะกลับไปรวมเป็นหนึ่งเดียวกับพรหมันหรือปรมาตมัน เป็นอันสิ้นสุดการเวียว่ายตายเกิด 

ดังนั้น ทฤษฎีการเวียว่ายตายเกิดแบบพราหมณ์ฮินดู จึงอธิบายได้ว่า เมื่อ ก. ตายแล้วเขาไปเกิดเป็น ข.(เป็นต้น) ได้อย่างไร แต่ทฤษฎีการเวียนว่ายตายเกิดแบบพุทธที่ยืนยันว่า “สรรพสิ่งเป็นอนัตตา ไม่มีตัวตน ไม่มีอาตมัน” นั้นยากที่จะอธิบายได้ว่า เมื่อ ก.ตายไปแล้วเขาไปเกิดเป็น ข. (เป็นต้น) ได้อย่างไร 

ทว่าภายใต้ความคลุมเครือเช่นนี้ ไตรปิฎกและอรรกถากลับมีเรื่องเล่ามากมายที่ยืนยันว่า พุทธะสามารถระลึกชาติของตนเองและสรรพสัตว์ได้นับไม่ถ้วน เช่น รู้ว่าตนเองเคยเกิดเป็นสัตว์ชนิดใดมาบ้าง เกิดเป็นคนวรรณะไหนบ้าง เป็นกษัตริย์โพธิสัตว์ยุคไหนมาบ้าง รู้ด้วยว่าคนรอบข้างที่เป็นมิตรและศัตรู ตั้งแต่พ่อ แม่ ลูก เมีย สาวก สาวิกาชาติก่อนๆ พวกเขาเคยเกิดเป็นใครมาบ้าง รู้กระทั่งว่าพระสารีบุตรเคยเกิดเป็นลิงแล้วติดนิสัยลิงมาจนบรรลุอรหันต์แล้วนิสัยบางอย่างแบบลิงก็ยังคงอยู่ในพฤติกรรมของพระสารีบุตร และรู้ด้วยว่าที่พวกศากยวงศ์ถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เพราะชาติก่อนเคยทำกรรมอะไรไว้ เป็นต้น เรื่องทั้งหมดนี้มีในไตรปิฎกและอรรถกถา

ผมเองไม่มีความรู้เกี่ยวกับคัมภีร์พราหมณ์ฮินดู เลยไม่แน่ใจว่าในคัมภีร์ศาสนานั้นมีบันทึกว่า ผู้สอนศาสนาหรือปราชญ์ในศาสนาเขาระลึกชาติได้พิศดารพันลึกแบบพุทธะและพระสาวกหรือไม่ 

นอกจากไตรปิฎกจะบันทึกไว้ชัดเจนว่า พุทธะประกาศตนเป็นผู้ประเสริฐกว่าใครในโลกแต่แรกเกิด และประกาศตนเป็นศาสดาของทวยเทพและมนุษย์ทั้งหลาย ซึ่งเป็นการยืนยันว่าตนประเสริฐกว่าใครในสามโลกแล้ว ไตรปิฎกยังบันทึกว่าพุทธะมักเปรียบเทียบตนเองกับกษัตริย์ หรือจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่เสมอ 

เช่น แรกเกิดก็มีโหรทำนายว่า หากครองราชย์จะได้เป็นจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก หากออกบวชจะได้เป็นศาสดาเอกของโลก และเมื่อเลือกออกบวชก็กลายเป็นศาสดาของทวยเทพและมนุษย์ทั้งหลาย ซึ่งถือว่ายิ่งใหญ่กว่าจักรพรรดิ 

ยังมีที่พุทธะเปรียบเทียบตนเองเหมือนเป็นกษัตริย์ของสังฆะว่า “กษัตริย์บัญญัติกฎ แต่ไม่จำเป็นต้องทำตามกฎ ตถาคตบัญญัติกฎ (วินัยสงฆ์) แต่ไม่จำเป็นต้องทำตาม หรือละเมิดกฎนั้นก็ได้” และยังยืนยันว่า “บุคคลสองประเภทเกิดมาเพื่อประโยชน์สุขของมหาชนในโลก คือพุทธธรรมราชากับจักรพรรดิธรรมราชา” เมื่อพุทธะจะปรินิพพานก็บอกให้จัดพิธีศพเหมือนพิธีศพของจักรพรรดิ ให้มีสถูปเจดีย์สำหรับมหาชนได้บูชาเหมือนสถูปเจีย์ของจักรพรรดิ

จากเรื่องเล่าในไตรปิฎกและอรรถกถาที่ว่ามาเป็นต้น คือคำตอบต่อคำถามที่ว่า ทำไมประวัติศาสตร์พุทธศาสนาในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงแยกไม่ออกจากประวัติศาสตร์อุปถัมภ์การสังคายนาคัมภีร์พุทธศาสนาของบรรดากษัตริย์ 

คำตอบ ก็เพราะว่าเราแทบจะนึกภาพหน้าตาของกษัตริย์ในแถบนี้ไม่ออกเลย ถ้าไม่มีคัมภีร์พุทธศาสนาวาดภาพเอาไว้ แล้วบรรดากษัตริย์ชาวพุทธในแถบนี้ได้สวมภาพกษัตริย์ตามที่คัมภีร์วาดไว้นั้น จนกระทั่งพวกเขากลายเป็นกษัตริย์ผู้เป็นที่รักของมวลมนุษย์และทวยเทพ (เทียบกับพุทธะผู้เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย) เป็นธรรมราชา จักรพรรดิธรรมราชา สมมติเทพ พระโพธิสัตว์ พระพุทธเจ้าอยู่หัว 

ข้อสังเกตคือ การเป็นกษัตริย์ตามราชธรรม ราชนิติแบบพรามณ์ฮินดูนั้นมีความชัดเจนว่า ต้องมาจากวรรณะกษัตริย์เท่านั้น แต่การเป็นกษัตริย์ตามราชธรรมแบบพุทธนั้นไม่ผูกติดกับวรรณะไหน จึงเป็น “พื้นที่คลุมเครือ” แต่ในพื้นที่คลุมเครือเช่นนี้ทำให้สามารถพลิกแพลงอย่างหาที่สุดมิได้ เช่นทำรัฐประหารชิงบัลลังก์ได้ง่าย จะใช้คติพราหมณ์ ผีมาผสมผสานคติพุทธก็ทำได้สะดวก 

ดังนั้น กษัตริย์พุทธในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงใช้คัมภีธรรมศาสตร์รองรับสถานะและอำนาจเด็ดขาดของตน ใช้คัมภีร์ไตรปิฎก อรรถกถาสร้างภาพความยิ่งใหญ่ด้วยบุญญาธิการของธรรมราชา, จักรพรรดิธรรมราชา, กษัตริย์โพธิสัตว์ และใช้คัมภีร์อรรถศาสตร์ในการบริหารอำนาจที่แปลงออกมาเป็นคติที่ว่า “ตัดหวายอย่าไว้หนามหน่อ ฆ่าพ่ออย่าไว้ลูก” เพราะอรรถศาสตร์ก็คือ “The Prince” ฉบับอินเดียที่เสนอว่า หากจำเป็นต้องรักษาความมั่นคงแห่งอำนาจ ก็จงฆ่าได้แม้แต่บิดามารดา เมียๆ ลูกๆ และญาติพี่น้องของตนเอง 

แน่นอน บางครั้งก็อาจใช้ศาสนาผี พิธีกรรม และไสยศาสตร์เพื่อเพิ่มความเป็น “myth - รหัสยนัย” หรือความลึกลับของสถานะและอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของกษัตริย์ด้วย

คัมภีร์ไตรปิฎก อรรถกถา ธรรมศาสตร์ อรรถศาสตร์จึงเป็นที่โปรดปรานของบรรดากษัตริย์พุทธผสมพราหมณ์ ผีในเอเชียอาคเนย์ โดยเฉพาะไตรปิฎกกับอรรถกาคือคัมภีร์หลักที่สร้าง “พื้นที่คลุมเครือ” ให้เกิดการตีความ ฉวยใช้ หรือเอาศาสนาอื่น ความเชื่ออื่นๆ มาผสมผสานอย่างไรก็ได้ตามอำนาจผูกขาดการตีความของเจ้าผู้ปกครอง และ “พระราชาคณะ” ของเจ้าผู้ปกครอง

ด้วยเหตุนี้ การเป็นกษัตริย์แบบพุทธจึงชัดเจนตามระบบวรรณะแบบพราหมณ์ไม่ได้ แต่ต้องมีนัยยะบางอย่างของพราหมณ์อย่างขาดไม่ได้ จะเป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญตามระบอบเสรีประชาธิปไตยก็ไม่ได้ แต่ต้องมีรัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองสถานะและอำนาจไว้แบบคลุมเครือ แน่นอนว่าจะยึดถือตามหลักทศพิธราชธรรมแบบชัดเจนเถรตรงก็ไม่ได้อีกเช่นกัน 

ความคลุมเครือเช่นนี้คล้ายๆ กับการอ้าง “ธรรมาธิปไตย” ไล่รัฐบาลโกง แต่ต้องถือว่ารัฐประหารไม่ใช่โกงชัดแจ้ง มันคือความคลุมเครือในฐานะที่มันล้มรัฐบาลโกง และเป็นความหวังว่าจะปกป้องสถาบันกษัตริย์ให้มั่นคง

แน่นอน สถานะและอำนาจของศาสนจักรของรัฐก็อยู่ในพื้นที่คลุมเครือเช่นกัน จึงสามารถพลิกแพลงได้เสมอเพื่อรับใช้สถาบันกษัตริย์และรักษาสถานะเดิมของตนให้มั่นคง 

ศาสนจักรเช่นนี้เองที่ทำหน้าที่รักษาคัมภีร์ไตรปิฎกและอรรถกถาที่บันทึกคำสอนศาสนาที่บรรดาชนชั้นนำ พระสงฆ์ ปัญญาชนพุทธอ้างว่าเป็นศาสนาแห่งเหตุผลและเป็นวิทยาศาสตร์ แต่เนื้อหาจริงๆ ในคัมภีร์มากด้วยเรื่องราวเหนือจริงและย้อนแย้งดังกล่าวแล้ว 

 

ที่มาภาพ: https://www.matichonweekly.com/column/article_242821


 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net