Skip to main content
sharethis

ศาลสูงสุดของอินเดียมีคำสั่งให้ศูนย์จัดการภัยพิบัติแห่งชาติ (NDMA) ซึ่งมี 'นเรนทรา โมดี' นายกรัฐมนตรีนั่งเก้าอี้ผู้บัญชาการ ต้องจ่ายเงินเยียวยาแก่ครอบครัวของผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ทุกคน ซึ่งในขณะนี้ (1 ก.ค. 64) อินเดียมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 รวมเกือบ 400,000 รายแล้ว

1 ก.ค. 2564 วานนี้ (30 มิ.ย. 2564) ศาลสูงสุดของอินเดียมีคำสั่งให้ศูนย์จัดการภัยพิบัติแห่งชาติ (NDMA) ผู้รับผิดชอบการบริหารสถานการณ์โควิด-19 ต้องจ่ายเงินชดเชยเยียวยาให้ครอบครัวของประชาชนที่เสียชีวิตจากโรคระบาดโควิด-19 พร้อมกันนี้ ศาลยังสั่งให้ศูนย์ NDMA จัดทำแนวนโยบายการจ่ายเงินเยียวยาประชาชนให้แล้วเสร็จภายใน 6 สัปดาห์ และต้องจ่ายในรูปแบบ 'สินไหมกรุณา' (Ex-Gratia Payment) หรือเงินสินไหมทดแทนที่บริษัทประกัน (ผู้สื่อข่าว: ในที่นี้ คือ รัฐบาล) จ่ายให้ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดร้ายแรง และอยู่นอกเหนือข้อตกลงของกรมธรรม์

อย่างไรก็ตาม ศูนย์ NDMA ซึ่งมีนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย เป็นหัวหน้าศูนย์ตามพระราชบัญญัติการจัดการภัยพิบัติ พ.ศ.2548 ได้ยื่นคำร้องต่อศาลเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อขอความเห็นใจ โดยระบุว่ารัฐบาลท้องถิ่นของแต่ละรัฐไม่มีเงินมากพอที่จะนำมาจ่ายชดเชยเยียวยา และได้ยื่นเหตุผลสนับสนุนคำร้องว่าทางศูนย์ฯ จะขยายมาตรการจัดการโรคและดูแลประชาชน ซึ่งรวมถึงการแทรกแซงการจัดการด้านสาธารณสุข

ศูนย์ NDMA แถลงในคำให้การต่อศาลว่า ขณะนี้ อินเดียมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 มากเกือบ 400,000 คน ซึ่งจำนวนผู้เสียชีวิตมีมากเกินกว่าเงินที่รัฐบาลระดับท้องถิ่นของแต่ละรัฐจะนำมาจ่ายชดเชยให้ได้ พร้อมระบุว่าหากต้องจ่ายเงินให้ญาติผู้เสียชีวิตทั้งหมด "อาจต้องใช้" เงินทั้งหมดในกองทุนบรรเทาสาธารณภัยแห่งรัฐ (State Disaster Relief Fund: SDRF) ซึ่งจะทำให้แต่ละรัฐของอินเดียไม่มีเงินเหลือมากพอที่จะจัดการปัญหาโรคระบาดหรือไม่มีเงินเหลือสำหรับจัดการภัยพิบัติอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยรัฐบาลอินเดียชี้แจงต่อศาลว่าการสาธารณสุขถือเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐบาลท้องถิ่นระดับรัฐตามบทบัญญัติที่ 7 แห่งมาตรา 246 ของรัฐธรรมนูญอินเดีย ทั้งยังระบุว่างบที่กองทุนบรรเทาสาธารณภัยแห่งรัฐได้รับในปีงบประมาณ 2564-2565 สำหรับจัดการสาธารณภัย 12 ประเภทในทุกรัฐของอินเดียนั้น มีทั้งหมด 221,840 ล้านรูปี หรือประมาณ 95,600 ล้านบาทเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ศาลสูงสุดปฏิเสธคำร้องขอของศูนย์ NDMA ซึ่งรัฐบาลกลางอินเดียเป็นผู้ควบคุมดูแล โดยศาลกล่าวว่าศูนย์ NDMA ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.ภัยพิบัติฯ ซึ่งกำหนดให้การเยียวยาและบรรเทาสาธารณภัยเป็น 'ข้อบังคับ' ที่รัฐต้องปฏิบัติตาม ไม่ใช่ 'การใช้วิจารณญาณ' โดยปัจเจก อีกทั้งกฎหมายมาตรา 12 ยังระบุว่าการจ่ายเงินสินไหมกรุณาเป็นหนึ่งในมาตรการเยียวยาและบรรเทาสาธารณภัย ศาลจึงยืนยันคำสั่งให้รัฐบาลต้องจ่ายเงินเยียวยาและชดเชยแก่ประชาชนผู้สูญเสีย พร้อมระบุว่าเป็นเรื่องของรัฐบาลที่ต้องไปจัดสรรต่อว่าจะจ่ายเงินชดเชยให้ครอบครัวของประชาชนที่เสียชีวิตอย่างไรและเป็นจำนวนเงินเท่าไร โดยพิจารณาจากเงื่อนไขงบประมาณร่ายจ่ายประจำปีและสภาพเศรษฐกิจในช่วงโรคระบาด

ที่มา:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net