Skip to main content
sharethis

ยูเอ็น ย้ำกองทัพพม่าต้องปล่อยนักโทษการเมืองทุกคน รวมถึง ปธน. วินมยิ้ด และอองซานซูจี หลังกองทัพพม่าเพิ่งปล่อยตัวนักโทษการเมือง 2,296 คนทั่วประเทศเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่ไป่ต่านคูน หรือที่คนไทยรู้จักในชื่อ ไป่ทาคน ดาราดังชาวพม่า ที่ก่อนหน้านี้ถูกจับกุมหลังออกมาต้านรัฐประหาร ยังไม่ได้รับการปล่อยตัวเช่นกัน

ชาวพม่าในไทยชุมนุมต้านรัฐประหารต่อเนื่องหน้า UN (ที่มา เครือข่าย)
 

3 ก.ค. 64 สำนักข่าว อิระวดี รายงานวันนี้ (2 ก.ค.) สหประชาชาติ (ยูเอ็น) ย้ำข้อเรียกร้องต่อกองทัพพม่า ต้องปล่อยนักโทษการเมืองทั้งหมดในประเทศเมียนมา รวมถึง ประธานาธิบดี วินมยิ้ด และ อองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ หลังกองทัพพม่ามีคำสั่งปล่อยตัวนักโทษทั่วประเทศ 2,296 คน ในจำนวนนั้น มีสื่อมวลชนที่รายงานข่าวผู้ประท้วงต้านรัฐประหาร ซึ่งถุกจับกุมไปตั้งแต่เดือน ก.พ.-มิ.ย. 64 โดยหลายคนถูกตั้งข้อหามาตรา 505[a] ตามประมวลกฎหมายอาญา ประเทศเมียนมา 

อนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 505[a] ระบุว่า ใครก็ตามที่ให้ความคิดเห็น อันจะก่อให้เกิดความหวาดกลัว หรือเผยแพร่ ‘ข่าวลวง’ หรือ ‘ปลุกปั่นทั้งโดยตรงและโดยอ้อมให้ผู้อื่นกระทำอาชญากรรมต่อต้านเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล’ ถือว่ามีความผิด อาจถูกจำคุกสูงสุด 3 ปี 

สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า หรือ AAPP ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชนที่ติดตามและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับประชาชนที่ถูกกองทัพพม่าจับกุม เปิดเผยว่า ตั้งแต่กองทัพพม่าทำรัฐประหาร เมื่อ 1 ก.พ. 64-2 ก.ค. 64 มีผู้ถูกจับกุมด้วยข้อหาทางการเมืองไปแล้วทั้งสิ้น 6,642 คน แม้จะมีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองจำนวน 2,296 คนเมื่อวันพุธที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา แต่ยังมีนักโทษการเมืองที่ยังอยู่ในเรือนจำอีก 4,000 คน รวมถึง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD แกนนำผู้ประท้วง และเจ้าหน้าที่รัฐและพนักงานที่เข้าร่วมขบวนการอารยขัดขืน หรือที่ชาวพม่าเรียกชื่อเล่น CDM (Civil Disobedience Movement)   

นอกจากนี้ แดนนี เฟนสเตอร์ นักข่าวสหรัฐฯ และเป็นบรรณาธิการบริหารของฟรอนเทียร์เมียนมาร์ ยังไม่ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำเช่นกัน ขณะที่ ไป่ต่านคูน หรือที่ชาวไทยรู้จักกันในชื่อ ไป่ทาคน ดาราดังชาวพม่า ซึ่งถูกจับกุมหลังออกมาต้านรัฐประหาร ยังอยู่ในเรือนจำเช่นกัน 

 

ไป่ต่านคูน ดาราและนายแบบชาวเมียนมาถูกตำรวจจับกุมเมื่อวันที่ 8 เม.ย.2564 (ที่มา Khit Thit Media)

เอริ คาเนโกะ โฆษกเลขาธิการใหญ่แห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า 1 ก.ค. 64 สหประชาชาติ (ยูเอ็น) ทราบเรื่องการปล่อยตัว และกังวลอย่างมากต่อความรุนแรงและการคุกคามที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหมายรวมถึง การจับกุมโดยพลการโดยหน่วยงานความมั่นคง 

"เราขอย้ำข้อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวผู้ที่ถูกจับกุมโดยพลการ ซึ่งรวมถึง ประธานาธิบดี วินมยิ้ด และ อองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ" เอริ คาเนโกะ ระบุ 

การจับกุมโดยกองทัพพม่า ทำให้นักกิจกรรมการเมือง นักการเมืองฝั่งตรงข้ามกองทัพ และเจ้าหน้าที่รัฐ ต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ 

"เผด็จการอันไร้ความชอบธรรมไม่เคยสร้างความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีเลย เขาเพียงแค่ทำอะไรก็ตามที่ทำให้เขาได้รับการยอมรับจากยูเอ็นในเดือน ก.ย.ที่จะถึงนี้" AAPP กล่าวหลังจากมีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 64

"พวกเขา (ผู้สื่อข่าว - กองทัพพม่า) จับกุมคนอื่นโดยไร้ซึ่งความชอบธรรม ถ้าการปล่อยตัวมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการปฏิรูปจริงๆ นักโทษการเมืองทั้งหมด รวมถึงอองซานซูจี ต้องได้รับการปล่อยตัวด้วย ต้องยุติความรุนแรง และคนที่กระทำการทรมานและฆาตกรรมประชาชนต้องถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม" โบจี เลขาธิการร่วมแห่ง AAPP กล่าว 

นอกจากนี้ AAPP กล่าวเพิ่มว่า นานาชาติต้องไม่มองว่า การปล่อยตัวนักโทษการเมืองครั้งนี้จะทำให้เกิดการผ่อนปรนมาตรการกดดันต่อกองทัพพม่า นานาชาติต้องกดดันอย่างเป็นรูปธรรมต่อไปจนกว่ากองทัพจะยุติการใช้ความรุนแรง และปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมด 

"ประชาชนในพม่าถูกความกลัวเข้าครอบงำ และการปล่อยตัวนักโทษเป็นเพียงแค่การเปลี่ยนจากสถานที่คุมขังเท่านั้น จากเรือนจำขนาดเล็กไปสู่เรือนจำที่ใหญ่ขึ้น พวกเขายังไม่มีอิสระ ถึงแม้ว่าเขาหนีไปแล้วก็ตาม มากกว่านั้น การปล่อยตัวของกองทัพเป็นการกระทำโดยมีเงื่อนไข" อ่องเมียวมิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิทธิมนุษยชน แห่งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) กล่าว 

NUG คือรัฐบาลคู่ขนาน ซึ่งก่อตั้งโดยคณะกรรมการผู้แทนสภาแห่งสหภาพ (CRPH) โดยรัฐมนตรีส่วนใหญ่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรค NLD ผู้ชนะการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อเดือน พ.ย. 2563 

ก่อนหน้านี้ กองทัพพม่ากล่าวหาว่า กลุ่ม CRPH และ NUG ว่าเป็นองค์กรนอกกฎหมาย และกลุ่มก่อการร้าย และแปะป้ายผู้ที่สนับสนุนสององค์กรนี้ว่าเป็น 'ผู้ก่อการร้าย'

ตั้งแต่มีการรัฐประหาร กองทัพพุ่งเป้าโจมตีไปที่สมาชิกพรรค NLD และเจ้าหน้าที่รัฐและพนักงานอาชีพต่างๆ ที่เข้าร่วมขบวนการอารยขัดขืน เช่น แพทย์ นักข่าว และนักกิจกรรมการเมือง เพื่อปราบกลุ่มต่อต้านเผด็จการทหาร มีรายงานด้วยว่า ประชาชนจำนวนมากถูกทรมานจนเสียชีวิตระหว่างถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงควบคุมตัว  

นอกจากนี้ ญาติของนักโทษที่ได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 64 กล่าวว่า ผู้ต้องหาบางคนได้รับบาดเจ็บสาหัสระหว่างการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ และถูกดำเนินคดีตามมาตรา 505[a] หรือข้อหา 'ยุยงปลุกปั่น' ภายในเรือนจำ 

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่กองทัพปล่อยตัวนักโทษออกจากเรือนจำ ย้อนไปเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา กองทัพพม่าเคยอภัยโทษ และปล่อยตัวนักโทษจากเรือนตามธรรมเนียมช่วงเทศกาลสงกรานต์มาแล้ว จำนวนประมาณ 23,000 คนทั่วประเทศ แม้จะมีนักโทษการเมืองที่ถูกจับกุมหลังกองทัพทำรัฐประหารเพียงเล็กน้อยก็ตาม 

อนึ่ง รายงานของ AAPP เผยแพร่ตัวเลขผู้ที่เสียชีวิตจากการปราบปรามผู้ประท้วงนองเลือดของกองทัพพม่า ตั้งแต่มีการรัฐประหารเดือน 1 ก.พ. 64 จนถึง 2 ก.ค. 64 จำนวนทั้งสิ้น 884 ราย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กองทัพพม่าสั่งปล่อยตัวนักโทษ 2,296 คน มีผู้ประท้วงและนักข่าวรวมอยู่ด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net