Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

แม้ว่าโลกจะเผชิญกับเชื้อโควิด-19 อย่างพร้อมเพรียงกัน แต่รัฐ สังคม และผู้คนทั่วโลกล้วนตอบรับกับวิกฤตครั้งนี้แตกต่างกันไป คุณภาพและมาตรฐานการดำรงชีวิตของแต่ละประเทศอาจจะส่งผลต่อการจัดการควบคุมโรคอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ใช่ตัวชี้วัดทั้งหมดเพราะยังมีปัจจัยอีกหลากหลายแง่มุมที่ตอบโจทย์ความสำเร็จหรือล้มเหลว รัฐไทยตอบรับกับวิกฤตครั้งนี้แบบอำนาจนิยมและมุ่งแสวงหาผลประโยชน์ แม้ว่าจะคุมตัวเลขในระยะแรกได้ แต่ก็ส่งผลต่อการใช้อำนาจในระยะยาว และเวลาผ่านไปเพียงไม่นาน วิกฤตซ้อนวิกฤตก็เกิดขึ้นจากปัญหาต่างๆ ที่งอกเงยในช่วงที่โควิดยังคงระบาดอยู่

 

จากความสำเร็จในปี 2020 สู่ความล้มเหลวในปี 2021

ในช่วงปีแรกของการระบาด ประเทศไทยเป็นตัวแทนของประเทศในกลุ่มโลกที่สามที่มีการควบคุมตัวเลขผู้ติดเชื้อได้อย่างน่าทึ่ง ทั้งๆ ที่รัฐบาลในระบอบอำนาจนิยมที่สืบทอดอำนาจมาตั้งแต่การรัฐประหาร คสช. ในปี 2014 ขาดความชอบธรรมในหลายๆ มิติ มีการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลโดยคนหนุ่มสาวที่เกิดขึ้นอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง เป็นประจักษ์พยานสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่ฝังลึกในการเมืองไทยได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ดี เมื่อเข้าสู่การระบาดในระลอกที่สามช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2021 การระบาดเกิดขึ้นในอัตราที่รวดเร็วขึ้นจนทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อที่สูงขึ้นจนน่าวิตก สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่ประเทศอื่นๆ กำลังเร่งรัดเรื่องการฉีดวัคซีน หลายประเทศสามารถกระจายวัคซีนไปยังคนกลุ่มต่างๆ ได้อย่างทั่วถึง หลายประเทศถกเกียงกันเรื่องทางเลือกที่ดีที่สุดให้กับประชาชนตามฐานะทางงบประมาณของประเทศเหล่านั้น แต่ประเทศไทยกลับเผชิญปัญหาวัคซีนไร้ทางเลือก วัคซีนไม่มาตามกำหนดและการขาดวัคซีนในจำนวนที่เพียงพอกับจำนวนประชากร ทั้งผู้สูงอายุและประชากรส่วนใหญ่ต่างก็สับสนเพราะไม่รู้ว่าจะได้รับวัคซีนเมื่อไร ในขณะที่คนที่มีอำนาจมีเส้นสายหรือสังกัดหน่วยงานที่สามารถ “หา” วัคซีนมาได้กลับได้รับวัคซีนไปก่อนแล้ว

 

วัคซีนไม่มาตามกำหนด และการขาดวัคซีนในจำนวนที่เพียงพอกับจำนวนประชากร ทั้งผู้สูงอายุและประชากรส่วนใหญ่ต่างก็สับสนเพราะไม่รู้ว่าจะได้รับวัคซีนเมื่อไร

การตั้งรับตอบรับและหาประโยชน์จากวิกฤตครั้งนี้ สะท้อนลักษณะโครงสร้างสังคมการเมืองไทย ทั้งที่เห็นได้โดยง่ายถ้าหากยอมรับความจริงและทั้งที่เป็นธาตุแท้ซ่อนเร้นอยู่ เช่นนี้แล้วผู้เขียนจึงตั้งคำถามว่าความสำเร็จในการจัดการตัวเลขผู้ติดเชื้อในปีที่แล้วกับความไม่ชอบมาพากลในการจัดการวัคซีนในปีนี้ ได้แก่ การที่มีวัคซีนที่ประสิทธิภาพต่ำที่สุดในราคาที่สูงพอๆ กับวัคซีนตัวอื่น การที่มีผู้ได้รับวัคซีนจำนวนมาก แต่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงหรือกลุ่มเป้าหมาย ทั้งยังมีเรื่องวัคซีนที่บริษัทของไทยจะผลิตแต่ไม่สามารถผลิตได้ตามกำหนดเวลาอีก สิ่งเรานี้บอกอะไรเราบ้างเกี่ยวกับการเมืองไทย ในฐานะผู้ที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่นและศึกษาการเมืองในระดับท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งปฏิบัติการภาครัฐในส่วนที่เกี่ยวกับประชาชน จึงขอชวนดูโครงสร้างการใช้อำนาจที่เกี่ยวกับการตอบรับต่อการระบาดของไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้ผ่านกฎหมายสองฉบับที่กำหนดการบริหารจัดการ และเพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น ผู้เขียนจะเปรียบเทียบกับกรณีศึกษาของการบริหารจัดการในประเทศออสเตรเลียที่นับว่าเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการควบคุมโควิดตั้งแต่ปี 2020 ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2021 แม้ว่าในทางการเมือง สังคม และโครงสร้างภาครัฐของออสเตรเลียจะไม่เหมือนไทยเลย แต่การบังคับใช้กฎหมายและการบริหารจัดการทางการเมืองนั้นก็น่าจะนับได้ว่าเป็นตัวอย่างของมาตรฐานการจัดการภายใต้โครงสร้างเชิงสถาบันอย่างคงเส้นคงวาและเป็นไปตามกฎหมายที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน การปฏิบัติการเพื่อตอบรับการการแพร่ระบาดของโรคจึงดำเนินไปอย่างเป็นระบบและคาดเดาได้ ในกรณีเช่นนี้เราสามารถตรวจสอบขีดความสามารถของหน่วยงานรัฐต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้อย่างชัดเจน ซึ่งแตกต่างกันอย่างมากกับประเทศไทยที่โครงสร้างตามกฎหมายมีปัจจัยแทรกเป็นระยะๆ และไม่เป็นไปตามโครงสร้างเชิงสถาบัน ในการปฏิบัติเพื่อรับมือกับวิกฤติครั้งนี้ ยังเต็มไปด้วยความไม่โปร่งใส การทำลายลำดับชั้นทางการปกครอง และการไม่รักษาความเป็นสถาบันภาครัฐ
 

พ.ร.บ.โรคติดต่อ: เมื่ออำนาจเกิดการกระจายตัว

ประเทศไทยเป็นประเทศแรก ที่มีรายงานการติดเชื้อโควิดนอกประเทศจีน คือเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2020 และตลอดเดือนมกราคมมีรายงานผู้ป่วยติดเชื้อโควิดอย่างต่อเนื่อง แต่ทั้งหมดเป็นผู้ที่เดินทางมาจากประเทศจีน จนเมื่อวันที่ 31 มกราคม มีการยืนยันผู้ป่วยที่เกิดจากการระบาดในประเทศเป็นรายแรก เข้าสู่เดือนกุมภาพันธ์ ตัวเลขในไทยยังถือว่ามีผู้ติดเชื้อน้อยเพราะมียอดรวมเพียง 40 รายในเดือนนั้น

กฎหมายสำคัญที่มีอยู่และพร้อมใช้คือ พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มีผลบังคับใช้ เมื่อกระทรวงสาธารณสุขประกาศให้โรคโควิด19 เป็น “โรคติดต่ออันตราย” ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2020 พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็น พ.ร.บ. ที่ทำให้เกิดการจัดตั้งคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ คณะกรรมการฯ กทม. และคณะกรรมการฯ จังหวัดขึ้นทุกจังหวัด ลำดับชั้นทางอำนาจใน พ.ร.บ. ฉบับนี้ เน้นที่การปกครองส่วนภูมิภาค คือให้อำนาจและความเป็นอิสระแก่จังหวัดในฐานะเป็นหน่วยการปกครองที่สำคัญของการปกครองส่วนภูมิภาค และทำให้กทม. ที่มีหน่วยเทียบเท่าจังหวัด แต่มีฐานะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจเป็นอิสระมากขึ้น คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน คณะกรรมการฯ กทม. มีผู้ว่ากทม.เป็นประธาน และคณะกรรมการฯ ของจังหวัดต่างๆ มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน โดยที่มีนายกเทศมนตรีในจังหวัดนั้นนั่งเป็นกรรมการด้วย

พ.ร.บ. ฉบับนี้เองที่เราจะเห็นศักยภาพและความสามารถในการจัดการของแต่ละหน่วยการปกครอง เพราะได้ให้อำนาจจังหวัด และกทม. สามารถสั่งการ และปฏิบัติการได้อย่างเป็นอิสระ ตัวอย่างที่เราได้เห็นคือปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัย เมื่อนายกรัฐมนตรีสั่งห้ามกักตุนหน้ากากอนามัย ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม ตามมาด้วยการจับกุมผู้ค้ารายย่อยที่ขายหน้ากากอนามัยเกินราคา แต่กลางเดือนมีนาคมกลับพบหน้ากากอนามัย 5.6 ล้านชิ้นเตรียมส่งไปต่างประเทศ และมีการเพิ่มมาตรการคัดกรองที่สนามบิน โดยรัฐบาลมีคำสั่งให้ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองทำหน้าที่คัดกรอง ทำให้มีข่าวถึงความไม่รัดกุมของการคัดกรอง ซึ่งแน่นอนเพราะ พวกเขาไม่มีความชำนาญและอาจจะไม่มีงบประมาณที่เพียงพอ

ในทางกลับกัน ที่ระดับจังหวัด เราได้เห็นการตอบสนองอย่างรวดเร็ว เช่น การประกาศ “ปิดเมือง” ของกรุงเทพมหานคร ที่ผู้ว่ากทม. ประกาศไปก่อนที่รัฐบาลกลางจะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เนื่องจากในเดือนมีนาคมศูนย์กลางการระบาดเกิดขึ้นที่กทม. มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นับตั้งแต่เหตุการณ์วันที่ 6 มีนาคม 2020 ที่มีกลุ่มแพร่ระบาดกลุ่มใหญ่จากเวทีสนามมวยลุมพินี ทำให้จำนวนผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มขึ้นเกิน 100 คนต่อวัน และมีจำนวนสูงต่อเนื่อง ต่อมาในวันที่ 16 มีนาคม ผู้ว่าฯบุรีรัมย์ได้ประกาศปิดพรมแดนของจังหวัดเพื่อควบคุมโรค ตามมาด้วยการประกาศปิดเส้นทางเข้าหลายจังหวัดโดยคำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัด

และในระดับจังหวัดนี้เอง ที่ระบบสาธารณสุขของไทยได้มีบทบาทเต็มที่ในการทำหน้าที่ทั้งเฝ้าระวังและเตรียมการรองรับผู้ป่วย ขณะเดียวกันบทบาทขององค์กรปกครองท้องถิ่นก็มีส่วนสำคัญในการร่วมมือป้องกันการแพร่ระบาดของโรค จากงานวิจัยระดับเทศบาลนครของผู้เขียนเอง ผู้เขียนพบว่าบทบาทสำคัญของเทศบาลนคร คือการใช้กำลังคนของเทศบาล และเครือข่ายภาคประชาชน ทำงานร่วมกันกับอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) ในรูปแบบต่างๆ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถที่จังหวัดอาจจะมีไม่เพียงพอ ได้แก่ การเฝ้าระวังคนจุดที่มีคนผ่านในเวลาเดียวกันจำนวนมาก เช่น ท่ารถ ตลาด จุดแจกอาหาร การเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงในชุมชน จากผู้เดินทางมาจากภายนอก เป็นต้น ผู้เขียนพบว่า กลุ่มการเมืองในเทศบาล ต่างทำงานอย่างแข็งขัน ในภาระกิจที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันโควิด19  และมักจะทำเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้ประโยชน์สูงสุด เนื่องจากพวกเขาคาดว่าจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นในเวลาต่อมาไม่นาน ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้ว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อไร และจะเลือกตั้งระดับใด แม้บทบาทของเครือข่ายการเมืองท้องถิ่นจะไม่เป็นที่รับรู้ในวงกว้าง แต่ประชาชนในฐานะผู้มีสิทธิออกเสียงรับรู้ได้โดยตรง

ผู้เขียนเห็นว่า ความสำเร็จของการป้องกันการแพร่ระบาดในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย โดยเฉพาะในปี 2020 ต้องยกเครดิตให้กับขีดความสามารถของเครือข่ายระดับท้องถิ่น และชุมชน  ในการป้องกันโรคระดับจังหวัด ในส่วนนี้จะได้ขยายความตัวอย่างระดับท้องถิ่นในโอกาสต่อไป ในที่นี้ต้องการชี้ให้เห็นว่า พ.ร.บ. ที่ให้อำนาจคณะกรรมการควบคุมโรคนี้เอง ได้กระจายการตัดสินใจ การใช้งบประมาณ และการใช้ความชำนาญของหน่วยการปกครองระดับต่าง ๆ ผลที่ได้ออกมา จึงสะท้อนขีดความสามารถของส่วนกลาง และส่วนท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี

พ.ร.บ. ที่ให้อำนาจคณะกรรมการควบคุมโรคนี้เองได้กระจายการตัดสินใจ การใช้งบประมาณ และการใช้ความชำนาญของหน่วยการปกครองระดับต่าง ๆ ผลที่ได้ออกมา จึงสะท้อนขีดความสามารถของส่วนกลาง และส่วนท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี

แต่ความไม่คงเส้นคงวานี้เองได้ปรากฎให้เห็นในเวลาต่อมาว่า หลายๆ ครั้งรัฐบาลกับผู้ว่ากทม. ได้สั่งการไม่สอดคล้องกัน หรือผู้ว่าได้ใช้อำนาจไปแล้ว แต่รัฐบาลกลางมาประกาศกลับกัน ทั้งๆ ที่ผู้ว่าฯมีอำนาจสั่งการในพื้นที่การปกครองของตนอย่างเป็นอิสระตามที่ พ.ร.บ. นี้ให้อำนาจไว้

 

ศบค. ศูนย์ควบคุมข้อมูล มากกว่าศูนย์ควบคุมโรค

กลับมาที่รัฐบาลกลาง ด้วยมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ทำให้นายกฯประกาศตั้งองค์กร กลางทำหน้าที่กำหนดนโยบายและมาตรการเร่งด่วนในการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดเรียกว่า "ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)" (ศบค.)  เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2020  และนับตั้งแต่นั้นมา ศูนย์นี้ก็เป็นองค์กรกลางในการสั่งการและสื่อสารกับประชาชน และเลือกใช้กฎหมายยาแรงที่ใช้ในการควบคุมคน คือ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548

การจัดตั้ง ศบค. และการใช้พระราชกำหนดฯ นี้ คือการปฏิบัติการภายใต้วิธีคิดแบบอำนาจนิยม (authoritarian) โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการควบคุมข้อมูลข่าวสาร แม้ข้อมูลข่าวสารที่ให้ต่อประชาชนอย่างต่อเนื่อง จะช่วยทำให้ประชาชนตื่นตัว และให้ความร่วมมือกับภาครัฐอย่างเต็มที่ แต่การรวมศูนย์ดังกล่าวทำให้ภาพของวิกฤติการณ์ครั้งนี้เป็นเรื่องตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อ และการลดจำนวน แต่ขาดมิติด้านการประสานกับประชาชน และการเชื่อมโยงกับชุมชน ปกปิดปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อได้ดีในปี 2020 นั้น การผูกขาดการสื่อสารโดย ศบค. ทำให้เราไม่เห็นความสำเร็จในการป้องกันโรคจากเครือข่ายระดับท้องถิ่น และชุมชน หรือแม้แต่หน่วยงานราชการที่มีขีดความสามารถสูงอย่างหน่วยงานด้านสาธารณสุขก็ไม่ได้รับการสรุปบทเรียนอย่างตรงไปตรงมา เพราะความสำเร็จทั้งหมดไปรวมอยู่ที่ ศบค. และรัฐบาล การสื่อสารทางเดียวนี้ทำให้สังคมไม่เห็นบทเรียนที่แท้จริงของความสำเร็จในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค และไม่เห็นปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับประชาชนโดยตรง

การจัดตั้ง ศบค. และการใช้พระราชกำหนดฯ นี้ คือการปฏิบัติการภายใต้วิธีคิดแบบอำนาจนิยม (authoritarian) โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการควบคุมข้อมูลข่าวสาร

 

แต่ที่เป็นปัญหายิ่งกว่านั้น ก็คือเมื่อ ศบค. ที่นายกรัฐมนตรีให้อำนาจเต็มที และเมื่อใช้อำนาจในระยะเวลาหนึ่ง ก็เริ่มที่จะสั่งการ โดยไม่คำนึงถึง พ.ร.บ.โรคติดต่อ ที่ให้อำนาจคณะกรรมการควบคุมโรค กทม.และกรรมการควบคุมโรคจังหวัด ในการตัดสินใจเรื่องที่เกี่ยวกับพื้นที่ของตน ดังเราจะเห็นได้จากการที่ ศบค. เริ่มมีคำสั่งต่อหน่วยงานต่างๆ และต่อพื้นที่ทางการปกครอง ตั้งแต่ปลายปี 2020 เป็นต้นมา ทั้ง ศบค. ยังได้มีคำสั่งไปยังหัวหน้าส่วนงานโดยตรง โดยไม่ได้ผ่านคณะกรรมการควบคุมโรคอีกด้วย ซึ่งก่อให้เกิดความสับสนต่อประชาชนอย่างต่อเนื่อง
         

ประเทศปรกติเขาจัดการกันอย่างไร: ดูออสเตรเลียเป็นตัวอย่าง

เมื่อลองหันมาดูการจัดการบริหารทางการเมืองเพื่อควบคุมโรคในประเทศออสเตรเลียในวิกฤตการณ์เดียวกันก็จะเห็นได้ว่า การปกครองแบบสหพันธรัฐในประเทศออสเตรเลียเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้มีการกระจายอำนาจอย่างเต็มที่ กลไกต่างๆ ของภาครัฐก็สามารถตั้งรับต่อวิกฤตการณ์ครั้งนี้ตามที่กฎหมายได้บัญญัติหน้าที่ของรัฐบาลในแต่ละระดับไว้อย่างชัดเจนและคงเส้นคงวาโดยไม่ก้าวก่ายอำนาจของกันและกัน การกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปยังท้องถิ่นเช่นนี้อาจจะมีข้อเสียอยู่บ้างในเรื่องของการควบคุมจากศูนย์กลางให้แต่ละมลรัฐประกาศแนวทางปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกันกับนโยบายหลักของรัฐบาลกลาง และปัญหาความขัดแย้งในเชิงผลประโยชน์หรือ conflict of interest ระหว่างมลรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่มีมลรัฐเป็นจำนวนมากอย่างประเทศสหรัฐอเมริกาหรือประเทศเยอรมัน ความขัดแย้งระหว่างมลรัฐในประเทศเยอรมันนั้นทำให้เราได้เห็นรัฐบาลสหพันธรัฐของนางอังเกลาแมร์เคิลต้องออกกฎหมายดึงอำนาจการตัดสินใจล็อคดาวน์และการออกมาตรการอื่นๆ กลับมาที่ส่วนกลางในที่สุด  อย่างไรก็ดี เนื่องจากประเทศออสเตรเลียมีจำนวนมลรัฐไม่มากนัก ลักษณะของการบริหารราชการที่ให้อิสระในการตัดสินใจกับรัฐบาลท้องถิ่นมากกว่าการรวบอำนาจรวมศูนย์ ก็ทำให้การจัดการโควิดเป็นไปได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพมากกว่าเมื่อมองจากความสำเร็จในการจัดการโควิดที่ผ่านมาเกือบสองปี

การปกครองแบบสหพันธรัฐในประเทศออสเตรเลีย เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้มีการกระจายอำนาจอย่างเต็มที่ กลไกต่างๆ ของภาครัฐก็สามารถตั้งรับต่อวิกฤตการณ์ครั้งนี้ตามที่กฎหมายได้บัญญัติหน้าที่ของรัฐบาลในแต่ละระดับไว้อย่างชัดเจนและคงเส้นคงวา โดยไม่ก้าวก่ายอำนาจของกันและกัน

ประเทศออสเตรเลียยืนยันผู้ติดเชื้อเมื่อวันที่ 25 มกราคม และได้ใช้กฎหมายสำคัญคือกฎหมายความมั่นคงทางชีวภาพ ค.ศ.2015 (Biosecurity Act 2015) ที่มีอายุเท่าๆ กับ พ.ร.บ.โรคติดต่อของไทย ผลของการที่รัฐบาลออสเตรเลียประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความปลอดภัยชีวภาพของมนุษย์ (Human biosecurity emergency) ในวันที่ 18 มีนาคม 2020 ได้ทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมีอำนาจในการสั่งการและกำหนดมาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดไว้ รัฐบาลกลางยังมีบทบาทในการสนับสนุนมลรัฐ ในรูปแบบกว้างๆ สองแบบคือ หนึ่งให้การสนับสนุนทางการด้านทรัพยากรและการเงินที่รัฐบาลมลรัฐมีความจำเป็น และสองให้ความร่วมมือผ่านข้อตกลงระหว่างรัฐบาลและรัฐบาลมลรัฐ ซึ่งทำให้เกิดโครงสร้างความร่วมมือและการแบ่งปันข้อมูลระหว่างรัฐบาลกลางและรัฐบาลมลรัฐ เพื่อรับมือกับสภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข โดยแต่งตั้งปลัดกระทรวงสาธารณสุข (Secretary of Department of Health) ให้เป็นตัวกลางในการประสานงาน 

รัฐบาลกลางยังมีบทบาทในการสนับสนุนมลรัฐ ในรูปแบบกว้างๆ สองแบบคือ หนึ่งให้การสนับสนุนทางการด้านทรัพยากรและการเงินที่รัฐบาลมลรัฐมีความจำเป็น และสองให้ความร่วมมือผ่านข้อตกลงระหว่างรัฐบาลและรัฐบาลมลรัฐ

บทบาทหลักในการจัดการเรื่องการควบคุมพื้นที่จึงตกเป็นของรัฐบาลมลรัฐ เมื่อมีสถานการณ์ที่เป็นภัยคุกคามต่อประชาชน ทรัพย์สิน หรือความมั่นคงแห่งรัฐ รัฐบาลมลรัฐสามารถใช้อำนาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้ ภายใต้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนี้เอง ได้ทำให้รัฐบาลมลรัฐมีอำนาจตัดสินใจสั่งการและออกนโยบายเพื่อป้องกันภัยจากการระบาดของไวรัสได้ ตัวอย่างการใช้อำนาจภายใต้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนี้ ได้แก่ การบังคับสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ การสั่งปิดสถานที่สาธารณะ เช่น โรงเรียน ห้องสมุด สิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะ ตลอดจนกิจการต่างๆ การจัดให้มีการตรวจโควิด และการติดตามกลุ่มผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อ จัดให้มีการกักตัว และคำสั่งสำคัญของมลรัฐคือการประกาศล็อคดาวน์ตามสถานการณ์ของแต่ละมลรัฐ

ตัวอย่างการใช้อำนาจควบคุมพื้นที่ ได้แก่ เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2021 รัฐบาลมลรัฐวิคตอเรีย มีการประการล็อคดาวน์ในเขตรัฐวิคตอเรีย โดยให้หยุดกิจกรรมที่ไม่จำเป็นทุกอย่างในมลรัฐเป็นเวลาหนึ่งอาทิตย์ เนื่องจากมีการยืนยันผู้ติดเชื้อโควิด19 พุ่งขึ้นสูงถึง 26 ราย ท่ามกลางสถานการณ์นี้ แต่ละมลรัฐยังมีคำสั่งจำกัดการเดินทางระหว่างมลรัฐ เป็นระยะๆ ที่อาจจะเข้มงวดหรือย่อหย่อนแตกต่างกันตามแต่สถานการณ์ คำสั่งเหล่านี้ประกาศโดยมุขมนตรี (premier) ของมลรัฐ ผ่านการประชุมร่วมกันของคณะทำงานด้านการควบคุมโรคในระดับมลรัฐที่ประกอบด้วยบุคลากรจากแต่ละกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย รวมถึงตัวแทนจากกรมตำรวจของมลรัฐด้วย

ในส่วนของรัฐบาลท้องถิ่นที่อยู่ระดับล่างสุด และใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด แม้ว่าไม่มีอำนาจในการประกาศภาวะฉุกเฉิน แต่ก็มีบทบาทสำคัญในการควบคุมดูแลและบังคับใช้กฎข้อบังคับให้เป็นไปอย่างราบรื่นภายใต้แผนการตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินที่รัฐบาลกลางและรัฐบาลมลรัฐกำหนดไว้ นอกจากนี้แล้วยังมีบทบาทในการทำงานร่วมกับรัฐบาลมลรัฐในการสนับสนุนการเตรียมความพร้อมและการปฏิบัติตามมาตรการตลอดจนการสื่อสารข้อมูลสู่ชุมชน เช่น การปิดสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะและติดป้ายประกาศเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติตามมาตรการ เป็นต้น ถือได้ว่ารัฐบาลท้องถิ่นมีหน้าที่นำนโยบายไปสู่การปฏิบัติเพราะเป็นรัฐบาลที่อยู่ในระดับด่านหน้าที่ใกล้ชิดชุมชนมากที่สุด ซึ่งใกล้เคียงกับการปฏิบัติงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทยในวิกฤตการณ์ครั้งนี้


บทสรุป

ในภาพรวมนั้น พ.ร.บ.โรคติดต่อที่รัฐบาลไทยประกาศใช้ก่อให้เกิดการกระจายตัวของอำนาจ ทำให้เราเห็นภาพความสามารถและไม่สามารถของลำดับชั้นต่างๆ ในองคาพยพของรัฐ เราได้เห็นความไม่ชอบมาพากลในระดับรัฐส่วนกลาง แต่กลับได้เห็นขีดความสามารถของหน่วยงานในระดับต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรปกครองท้องถิ่นและเครือข่าย อสม.ที่ทำให้การตั้งรับผ่านพ้นไปได้อย่างดี แต่รัฐส่วนกลางที่เคยชินกับการบริหารอำนาจในแบบอำนาจนิยมกลับผูกขาดข้อมูลข่าวสาร ทั้งยังเพิ่มอำนาจข้ามลำดับขั้นทางการปกครองจนเกิดความสับสนในการใช้อำนาจรัฐ มีคำกล่าวว่าวิกฤตจะทำให้องค์กรต่างๆ เข้มแข็งขึ้น แต่กรณีของรัฐไทยกลับกลายเป็นว่าวิกฤตการณ์ครั้งนี้กลับยิ่งทำให้องค์กรต่างๆ ในภาครัฐอ่อนแอลงไปด้วยปฏิบัติการของรัฐบาลเอง ซึ่งแน่นอนว่ามันจะกลายเป็นแบบแผนและส่งผลในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราจะเห็นภาพเหล่านี้ชัดยิ่งขึ้นเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับประเทศที่ใช้อำนาจรัฐตามระบบที่ได้วางไว้อย่างชัดเจนเช่นประเทศออสเตรเลีย ความคงเส้นคงวาและความโปร่งใสของระบบทำให้ประชาชนสามารถคาดเดาได้ว่าทิศทางของการบริหารจัดการเพื่อต่อสู้กับวิกฤตครั้งนี้จะมีพัฒนาการและแนวโน้มอย่างไร และสุดท้ายความสำเร็จของการบริการจัดการรวมถึงการควบคุมทิศทางทางการเมืองเหล่านี้ก็จะส่งผลต่อการตัดสินใจทางการเมืองของพลเมืองตามครรลองของประชาธิปไตยต่อไป

 

หมายเหตุ: บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Comparative assessment of the pandemic responses in Australia and Thailand สนับสนุนโดย The Australia-ASEAN Council under Australia-ASEAN Council COVID-19 Special Grants Round กระทรวงการต่างประเทศและการค้า ประเทศออสเตรเลีย

ดูเพิ่มเติมจากงานวิจัยได้ใน Vongsayan, Hatchakorn and Nethipo, Viengrat. “The Roles of Thailand’s City Municipalities in the COVID-19 Crisis”. in Contemporary Southeast Asia. Vol. 43/1 (April 2021) pp. 15-23.

ติดตามข้อมูลและข่าวสารของโครงการได้ที่

Website: https://www.austhaipandemic.com

Facebook: https://www.facebook.com/AusThaiPandemic

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net