Skip to main content
sharethis

โพลล่าสุดของสมาพันธ์สหภาพแรงงานสากล (ITUC) สำรวจ 12,242 คน จาก 9 อาชีพ ใน 10 ประเทศ ช่วงเดือน มิ.ย. 2564 พบ 1 ใน 3 เชื่อว่าผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับความรุนแรงและการล่วงละเมิดในที่ทำงานมากกว่าผู้ชาย


ที่มาภาพประกอบ: mohamed_hassan (Pixabay License)

18 ก.ค. 2564 จากการสำรวจของสมาพันธ์สหภาพแรงงานสากล (ITUC) ที่ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นผ่านทางออนไลน์คนทำงาน 12,242 คนใน 10 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย บราซิล ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร อินเดีย อินโดนีเซีย อิตาลี ญี่ปุ่น เม็กซิโก และสหรัฐอเมริกา 

โดยคำถามหลักของการสำรวจนี้คือ "คุณคิดว่าผู้ชายหรือผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับความรุนแรงและการล่วงละเมิดในที่ทำงานพอ ๆ กันหรือไม่" โดยคนทำงานที่ตอบแบบสอบถามทำงานอยู่ใน 9 อาชีพ ได้แก่ ครู, พยาบาล, แพทย์, สื่อมวลชน, นักกฎหมาย, นักกีฬา, นักการเมือง, ผู้ทำอาชีพเกี่ยวกับการเงิน การธนาคาร และผู้ทำอาชีพในภาคการก่อสร้าง

ผู้ตอบแบบสอบถามประมาณ 1 ใน 3 (ร้อยละ 33) เชื่อว่าผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับความรุนแรงและการล่วงละเมิดในที่ทำงานมากกว่าผู้ชาย โดยพยาบาลเชื่อว่าผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับความรุนแรงและการล่วงละเมิดในที่ทำงานมากกว่าผู้ชาย มากที่สุดร้อยละ 49, นักการเมือง ร้อยละ 43, นักกีฬา ร้อยละ 40 และผู้ทำอาชีพในภาคการก่อสร้าง ร้อยละ 40

ส่วนอาชีพที่ระบุว่าผู้หญิงและผู้ชายมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับความรุนแรงและการล่วงละเมิดในที่ทำงานพอ ๆ กัน ได้แก่ แพทย์ ร้อยละ 45%, ครู ร้อยละ 44, สื่อมวลชน ร้อยละ 43, นักกฎหมาย ร้อยละ 42 และผู้ทำอาชีพเกี่ยวกับการเงิน การธนาคาร ร้อยละ 40 และโดยทั่วไปแล้วผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปีมักจะเชื่อว่าผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับความรุนแรงและการล่วงละเมิดในที่ทำงานมากกว่าผู้ชาย 

อนึ่ง เมื่อปลายเดือน มิ.ย. 2564 อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดความรุนแรงและการคุกคามทางเพศในโลกแห่งการทำงาน ค.ศ. 2019 (ฉบับที่ 190) [the Violence and Harassment Convention, 2019 (No. 190)] ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เพิ่งจะมีผลบังคับใช้ หลังจากที่ประชุมใหญ่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (the ILO’s International Labour Conference - ILC) ให้การรับรองเมื่อ 2 ปีก่อน

จนถึงปัจจุบัน (กลางปี 2564) พบยังมีแค่ 6 ประเทศเท่านั้น คือ ฟิจิ อุรุกวัย อาร์เจนตินา เอกวาดอร์ นามิเบีย และโซมาเลีย ที่รับอนุสัญญานี้ และมีเพียง 2 ใน 6 ประเทศเท่านั้น คือ ฟิจิ อุรุกวัย ที่นำไปใช้บังคับในกฎหมายแล้ว โดยประเทศที่เหลืออย่างอาร์เจนตินา เอกวาดอร์ นามิเบีย และโซมาเลีย จะต้องนำไปบังคับใช้ในกฎหมายภายใน 1 ปี หลังจากที่ได้รับรองอนุสัญญานี้

ทั้งนี้ข้อเสนอแนะฉบับที่ 206 และ อนุสัญญาฉบับที่ 190 ของ ILO นั้นได้รับรองสิทธิของทุกคนในโลกแห่งการทำงานที่ปราศจากความรุนแรงและการล่วงละเมิด ซึ่งได้ให้กรอบการปฏิบัติร่วมกันสำหรับการดำเนินการไว้ โดยILO ระบุว่าปัจจุบันความรุนแรงและการล่วงละเมิดในที่ทำงานมีหลายรูปแบบและนำไปสู่อันตรายทางร่างกาย จิตใจ ทางเพศ และทางด้านเศรษฐกิจ โดยการระบาดใหญ่ของ COVID-19 ได้เน้นย้ำประเด็นนี้มากขึ้น โดยมีการรายงานความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับการทำงานและการล่วงละเมิดในหลายประเทศนับตั้งแต่เริ่มมีการระบาด โดยเฉพาะกับผู้หญิงและกลุ่มเปราะบาง


ที่มาเรียบเรียงจาก
ITUC Frontline Poll June 2021 Violence and harassment at work

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net