Skip to main content
sharethis

ศาลอาญากรุงเทพใต้รับฟ้องคดีหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณากรณี “อังคณา” อดีตกสม.และเจ้าของรางวัลแมกไซไซ ทวิตให้กำลังใจผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ และเรียกร้องให้มีการยุติการฟ้องปิดปากจากบริษัทเอกชน เจ้าตัวระบุรัฐล้มเหลวในการปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งที่ประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ 

อังคณา นีละไพจิตร แฟ้มภาพ

วานนี้ (16 ส.ค. 64 ) เวลา 09.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 604 ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีนัดฟังคำสั่งคดีที่บริษัท ธรรมเกษตร จำกัด (ประเทศไทย) ยื่นฟ้อง อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) และเจ้าของรางวัลแมกไซไซ ข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ตามมาตรา 326 และ 328 ประมวลกฎหมายอาญา ในการโพสต์ทวิตเตอร์สนับสนุนให้กำลังใจ สุธารี วรรณศิริ และ งามศุกร์ รัตนเสถียร ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งถูกบริษัทเอกชนรายดังกล่าวฟ้องมาก่อนหน้านี้ ในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาที่เกี่ยวเนื่องกับสิทธิแรงงานของบริษัทเอกชนรายนี้

ศาลมีคำสั่งรับฟ้องคดีดังกล่าวนี้ และมีคำสั่งอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยโดยไม่ต้องมีหลักประกัน พร้อมทำสัญญาประกันให้จำเลยมาศาลตามกำหนดนัด และศาลได้นัดพร้อมเพื่อไกล่เกลี่ย และเตรียมประเด็นในการนำสืบและจะกำหนดนัดวันสืบพยานทั้งฝั่งโจทก์และจำเลย ในวันที่ 26 ต.ค. 2564 เวลา 09.00 น

อังคณากล่าวภายหลังรับฟังคำสั่งศาลเสร็จสิ้นแล้วว่า ส่วนตัวเคารพคำพิพากษาของศาลที่มีออกมาในวันนี้ แต่ก็ไม่อาจเห็นด้วยได้เนื่องจากการที่เราเขียนข้อความที่ทวิตเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อปกป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและเนื้อในทวิตเป็นเพียงข้อความว่า “ยืนเคียงข้างผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และยุติการฟ้องปิดปาก” แค่นั้นเองไม่ได้มีเจตนาที่จะไปให้ร้ายหรืออาฆาตมาดร้ายหรือใส่ร้ายใคร ซึ่งถือเป็นการทำหน้าที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนโดยบริสุทธิ์ใจ

อดีต กสม. กล่าวต่อว่าในส่วนของคดีไม่มีความกังวลใดๆ เพราะมั่นใจว่าไม่ได้กระทำผิด คดีนี้โจทก์ได้ยื่นฟ้องต่อศาลเมื่อปลายปี 2562 และได้มีการไต่สวนในปี 2563 จนมีคำสั่งรับฟ้องในวันนี้ ระหว่างนี้บริษัทฟาร์มไก่แห่งนี้ยังได้ฟ้องร้องตนและผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอีก 2 คนอีกหนึ่งคดีในข้อหาเดียวกันและเนื่องจากสถานการณ์โควิด 19 ทำให้การไต่สวนต้องเลื่อนออกไปเป็นเดือนธันวาคมปีนี้

อังคณากล่าวอีกว่า คงยืนยันต้องสู้คดีต่อไป แต่ก็ไม่ได้มีเพียงคดีนี้เท่านั้นเมื่อปีพ.ศ.2563 บริษัทนี้ยังฟ้องเธออีกเป็นคดีที่ 2 ในคดีนั้นพอมีสถานการณ์โควิด ศาลก็นัดไต่สวนผู้กล่าวหาเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งทั้งสองคดีตนใช้ระยะเวลาของการต่อสู้ที่ยาวนานมาก

สำหรับคดีวันนี้ที่ศาลรับฟ้อง ศาลได้นัดพร้อมเพื่อไกล่เกลี่ยและกำหนดประเด็นเนื่องจากศาลขอให้คู่ความไกล่เกลี่ยก่อน และมีการกำหนดวันนัดสืบพยาน ในวันที่ 26 ต.ค. 64 สำหรับคดีนี้คงอยู่ที่โจทก์ว่าจะยอมถอนฟ้องหรือไม่ เพราะในส่วนตนเองยืนยันไม่ได้กระทำผิดตามที่โจทก์กล่าวอ้างและในตอนนั้นอยู่ในฐานะของกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เราก็ต้องปกป้องเรื่องสิทธิมนุษยชนอยู่แล้ว ก็คงจะต้องสู้คดีต่อไป ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะยาวนานแค่ไหนเพราะขนาดไต่สวนยังยาวนานถึง 2 ปี

อังคณากล่าวเพิ่มเติมอีกว่า มีคดีที่โจทก์คนเดียวกันได้ยื่นฟ้องแรงงานข้ามชาติ นักสิทธิมนุษยชน และสื่อมวลชนทั้งหมดประมาณ 20 กว่าราย รวม 36 คดี ซึ่งส่วนมากศาลจะยกฟ้อง แต่โจทก์ใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาต่อ การฟ้องคดีในลักษณะนี้จึงเป็นภาระแก่ผู้ถูกฟ้องคดี ทั้งต้องเสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย และส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตอย่างมาก

อังคณายังกล่าวอีกว่า คดีของบางคนศาลชั้นต้นไม่รับฟ้อง บริษัทยื่นอุทธรณ์พอศาลอุธรณ์ไม่รับ บริษัทก็ฎีกาต่ออีก ทุกเรื่องจะสู้ถึงศาลฎีกาหมด เป็นการสร้างภาระให้กับคนที่ถูกฟ้องเป็นอย่างมาก โดยคดีดังกล่าวนี้เริ่มต้นมาจากแรงงานข้ามชาติชาวพม่าจำนวน 14 คน มาร้องเรียนที่กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่าเขาถูกละเมิดสิทธิ ซึ่งจุดเริ่มต้นเริ่มมาจากตรงนั้น โดยกรณีดังกล่าวนี้ศาลแรงงานได้มีคำพิพากษาไปแล้ว เรื่องก็ควรจะจบ แต่โจทก์ก็ยังมีการฟ้องหมิ่นประมาทกับตนอีก

อดีต กสม.กล่าวเพิ่มเติมว่า เธอรู้สึกผิดหวังเป็นอย่างมากต่อกลไกรัฐบาล เราก็รู้ว่าเนื่องจากที่ผ่านมาในช่วงของปี พ.ศ. 2561- 2562 รัฐบาลได้ประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ และมีแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน 2562-2565 เรื่องของการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและยุติการคดีฟ้องเพื่อปิดปาก หรือฟ้องกลั่นแกล้งนั้นถือเป็นหนึ่งในสี่เรื่องสำคัญที่รัฐบาลให้ความสำคัญและจะดำเนินการ แต่ปรากฏว่าจนถึงปัจจุบันนี้เรายังไม่มีมาตรการอะไรออกมาปกป้องนักสิทธิมนุษยชนจากการฟ้องคดีเพื่อปิดปากเลย รัฐบาลโดยกระทรวงยุติธรรมกลับล้มเหลวในการปกป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ที่ผ่านมารัฐบาลเองบอกว่าได้มีการปรับปรุงกฎหมายไม่ให้มีการฟ้องเพื่อกลั่นแกล้งหรือฟ้องปิดปาก แต่ที่จริงแล้วกฎหมายที่ปรับแก้ไข มันใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้เลย หากแต่ที่เกิดขึ้นจริงไม่มีผลในทางปฏิบัติ และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนยังต้องเผชิญกับการคุกคามทางกฎหมายต่อไป

อังคณากล่าวว่า แม้ศาลจะให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ต้องมีหลักประกัน แต่ในฐานะจำเลยเราต้องไปศาลทุกนัด ต้องเสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นการสร้างภาระให้อย่างมากและเป็นการสร้างภาระเกินจำเป็น โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์ที่โควิด-19 กำลัง นอกจากนั้นการถูกฟ้องคดียังส่งผลกระทบทางด้านจิตใจ และคุณภาพชีวิต เพราะการที่เราเป็นผู้หญิงและมีภาระหน้าที่อีกมากมายที่ต้องดูแลครอบครัว การฟ้องร้องในลักษณะนี้เป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น จึงรู้สึกผิดหวังและเสียใจมากต่อกระบวนการยุติธรรมที่ไม่อาจปกป้องผู้บริสุทธิ์

“อยากจะบอกว่าคดีนี้รัฐบาลเองโดยเฉพาะกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ควรนำคดีมาศึกษาแล้วก็ควรที่จะให้การสนับสนุนต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกคุกคามด้วยกฎหมายแบบนี้ และควรจะหาวิธีการใดๆก็ตาม เพื่อที่จะยุติเรื่องนี่เสียที ไม่ใช่ปล่อยให้มีการฟ้องไปเรื่อย ๆ ในขณะที่รัฐเองพยายามบอกกับต่างประเทศว่ารัฐมีมาตรการในการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิแต่จริงๆแล้วคือไม่ กระทรวงยุติธรรมไม่เคยส่งเจ้าหน้าที่มาสังเกตการณ์คดี เวลามีคำพิพากษากระทรวงยุติธรรมก็ไม่เคยมาให้คำแนะนำ หรือมาปกป้อง ดังนั้นจึงป่วยการที่เราจะไปเขียนว่าเรามีแผนปฏิบัติการชาติที่ดี เพราะจริงๆแล้วมันไม่ได้ส่งผลในการคุ้มครองใครเลย”

“ทั้งนี้ ซึ่งส่วนตัวต้องขอขอบคุณหลายๆฝ่ายทั้งทนายความที่ให้การช่วยเหลือ มิตรสหายที่คอยเป็นกำลังใจ รวมถึงศาลเองที่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ต้องประกัน แต่เราก็อยากให้มีกลไกที่ดีเพื่อที่จะคุ้มครองนักปกป้องสิทธิฯทุกคนโดยเฉพาะชาวบ้านเล็กคนน้อย อยากฝากถึงรัฐบาลว่าควรปฏิบัติตามคำมั่นที่ได้ให้ไว้กับประชาชนและองค์การระหว่างประเทศในการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่เป็นเพียงวาทกรรมที่เขียนไว้ในกระดาษแต่ไม่มีผลในทางปฏิบัติ” อังคณา นีละไพจิตร ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวทิ้งท้าย

ทนายความห่วงฟ้องคดีหมิ่นประมาทเพื่อปิดปากทำให้คนให้สังคมไม่กล้าตรวจสอบ

ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ซึ่งเป็นหนึ่งในทนายความเจ้าของคดีนี้กล่าวว่า คดีดังกล่าวนี้ ศาลไม่ได้วินิจฉัยในส่วนว่า กรณีการกระทำนั้นเป็นความผิดหรือไม่ ศาลดูเพียงแค่ว่ามีการกระทำนั้นตามที่โจทก์กล่าวอ้างจริงหรือไม่ และศาลยังไม่ได้วินิจฉัยข้อความหรือข้อมูลที่เราซึ่งเป็นฝ่ายจำเลยส่งโต้แย้งไปในระหว่างไต่สวนมูลฟ้อง ส่วนคำร้องตามมาตรา 161/1ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่จำเลยได้ยื่นไว้ว่าเป็นการฟ้องที่ไม่สุจริต ศาลมีความเห็นว่าชั้นนี้ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าการฟ้องคดีของโจทก์เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

ทนายความกล่าวต่อว่า เท่ากับว่าการดำเนินคดีที่ไต่สวนกันสี่นัดสองปีที่เป็นการใช้เวลาไต่สวนที่ยาวนานมากนั้น ทำให้เรารู้สึกว่าศาลรับฟังเฉพาะพยานหลักฐานโจทก์เท่านั้น ไม่ได้นำข้อโต้แย้งของจำเลยไปวินิจฉัยประกอบเลย ซึ่งประมวลกฎหมายอาญา เรื่องหมิ่นประมาท มีข้อยกเว้นไว้ว่า ถ้าหากเป็นการกระทำในลักษณะที่เป็นการแสดงความเห็นหรือข้อความโดยสุจริต เพื่อความเป็นธรรม หรือในฐานะเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่ หรือติดชมด้วยความเป็นธรรม หรือแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรม ย่อมไม่เป็นความผิด และหากจำเลยพิสูจน์ได้ว่า ข้อความที่กล่าวนั้นเป็นความจริง ก็ไม่ต้องรับโทษ

ส.รัตนมณีกล่าวอีกว่า เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญเพราะกลายเป็นภาระของจำเลยไปทั้งๆ ที่คดีลักษณะแบบนี้โดยเฉพาะคดีเรื่องหมิ่นประมาทมันมีความชัดเจนของมันอยู่ว่า ถ้าสืบไปแล้วและเห็นว่าไม่มีความผิดหรือไม่ต้องได้รับโทษ อย่างไรก็ต้องยกฟ้องหรือยกเว้นโทษไป การที่คดีแบบนี้เข้าไปสู่ในศาลและต้องไปต่อสู้คดีกันอีกในชั้นพิจารณาคดี ก็จะกลายเป็นภาระของจำเลยที่ต้องเข้าไปต่อสู้คดี ซึ่งตนพูดถึงในมุมของจำเลยทั่วไปด้วย และถ้ายิ่งมาพูดถึงในฐานะนักปกป้องสิทธิมนุษยชน หรือในฐานะของ กสม.ที่มีหน้าที่ในการที่จะต้องเข้ามาดูแลหรือส่งเสริมสนับสนุนนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอื่นแล้ว ก็ยิ่งเป็นปัญหาใหญ่เพราะว่าประเด็นเรื่องพวกนี้ถ้ามันเป็นเรื่องประโยชน์สาธารณะที่มันได้รับยกเว้นความผิดหรือยกเว้นโทษได้อยู่แล้ว มันไม่ควรที่จะถูกนำไปสู่การพิจารณาคดีที่ต้องใช้เวลาอีกพอสมควร

ทนายความเห็นว่ากรณีนี้เป็นเครื่องยืนยันว่า ข้อหาหมิ่นประมาทไม่ควรเป็นโทษทางอาญา เพราะมันเป็นภาระหลายอย่าง ตั้งแต่เรื่องของการประกันตัว เรื่องในชั้นไต่สวนมูลฟ้องของศาลหากเป็นเอกชนฟ้องต่อศาลเอง หรือถ้าแจ้งความต่อตำรวจ ก็มีภาระเรื่องของการที่จะต้องไปพิสูจน์ในชั้นสอบสวนของตำรวจ หรืออัยการก็ใช้เวลาพอสมควรเหมือนกัน แล้วสุดท้ายมาพิจารณาคดีในศาลอีกต่างหาก

ทนายความยังแสดงความกังวลถึง ความไม่เข้าใจของสังคมหรือของประชาชนที่พอมีการทักท้วงมีการร้องเรียน มีการพูดถึงหรือขอให้มีการตรวจสอบกรณีต่างๆ แล้วเข้าใจว่า อันนี้เป็นเรื่องหมิ่นประมาท เพราะจะทำให้สังคมไม่กล้าที่จะมีการตรวจสอบความไม่ชอบหรือความไม่ถูกต้องของเรื่องนั้นๆ และที่สำคัญไปกว่านั้น กรณีของอังคณา ก็จะได้มีการพิสูจน์และการพิจารณากันด้วยว่า กสม.มีอำนาจหน้าที่ที่จะต้องทำอยู่แค่ไหน เพราะกรณีนี้เขาอ้างเรื่องจริยธรรมหรือจรรยาบรรณของกรรมการสิทธิด้วย กสม.คงไม่สามารถเป็นกลางในลักษณะที่ยืนอยู่ตรงกลางท่ามกลางปัญหา แล้วไม่หือไม่อือได้เมื่อมีเหตุการณ์การละเมิดสิทธิเกิดขึ้น

ส.รัตนมณี พลกล้า (ซ้ายสุด) อังคณา นีละไพจิตร (คนที่สามจากซ้าย) 

องค์กรสิทธิชี้ UN เคยให้ข้อเสนอแนะความผิดอาญาฐานหมิ่นประมาท ไม่สอดคล้องกับ ICCPR

ปรานม สมวงศ์ จาก Protection International กล่าวว่า ในกรณีที่นักปกป้องสิทธิฯ จำนวนมากโดยเฉพาะผู้หญิงยังต้องเผชิญกับการถูกฟ้องคดีและต้องแบกรับภาระอันหนักหน่วงในการพิสูจน์เสรีภาพการแสดงความเห็นอันสุจริตของตนในการทำเพื่อประโยชน์ทางสาธารณะ เป็นผลมาจากการที่รัฐล้มเหลวที่จะทำงานให้ภาคธุรกิจเอกชนเข้าใจและยอมรับถึงการทำบทบาทอันชอบธรรมของนักปกป้องสิทธิฯ ตามแผนปฏิบัติการธุรกิจและสิทธิมนุษยชนที่รัฐเองอ้างมาโดยตลอด แถมรัฐไม่เคยยืนเคียงข้างและคุ้มครองนักปกป้องสิทธิฯ เหล่านี้ การมาสังเกตการณ์คดีในศาล เพื่อศึกษาหาแนวทางแก้ไขปัญหาหรือแม้กระทั่งทำงานให้ภาคธุรกิจยุติการฟ้องร้องเป็นสิ่งสำคัญ ข้อเรียกร้องเหล่านี้ได้ถูกสื่อสารไปหลายครั้งแล้ว แต่ยังไม่เคยได้รับการปฏิบัติที่จริงจังจากรัฐ

หน่วยงานสิทธิมนุษยชน สหประชาชาติและผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติด้านเสรีภาพในการแสดงออกได้เคยให้ข้อเสนอแนะไปแล้วว่า การใช้กฎหมาย ความผิดอาญาฐานหมิ่นประมาททางอาญาฯ ของไทย ไม่สอดคล้องกับข้อ 14 และ19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ด้วยเหตุผลที่ว่ากฎหมายหมิ่นประมาทเหล่านี้คลุมเครือและตีความได้กว้างเกินไป จนประชาชนไม่ทราบล่วงหน้าได้เลยว่าจะปฏิบัติตัวอย่างไร เพื่อไม่ต้องรับโทษทางกฎหมาย พอเป็นความผิดทางอาญาอนุญาตให้ทั้งจำคุกและปรับ ความเสี่ยงต่อการติดคุกส่งผลให้เกิดความหวาดกลัวต่อเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน ยิ่งไปกว่านั้น การใช้กฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชนสากลและไม่ได้สัดส่วนดังกล่าวเป็นการกดดันและสามารถนำมากลั่นแกล้งเพื่อยุติการทำงานอันชอบทำของนักข่าวและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนตามปฏิญญาว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ เพราะผู้สื่อข่าวและนักปกป้องสิทธิฯทำหน้าที่เผยแพร่ข่าวสารและสนับสนุนการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ข้อเสนอแนะคือต้องไม่ตีความหรือบังคับใช้กฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกเพื่อห้ามหรือลงโทษการใช้สิทธิของนักปกป้องสิทธิฯผู้ปฏิบัติและทำงานเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของสาธารณะและการทำงานรณรงค์เพื่อให้มีการคุ้มครองสิทธิซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net