Skip to main content
sharethis

15 ก.ย. 2564 วานนี้ (14 ก.ย. 2564) กลุ่มไทยไม่ทน คณะสามัคคีประชาชนเพื่อประเทศไทย จัดเวทีเสวนา "ทวงคืนสมบัติชาติ ภารกิจเพื่อแผ่นดิน" ครั้งที่ 1 เพื่อตรวจสอบการทุจริตประพฤติมิชอบของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กรณีเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ โดยอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา'35 และผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มไทยไม่ทนฯ, ปรีดา เตียสุวรรณ์ นักธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม, อินทร์ แย้มบริบูรณ์ สมาพันธ์คนงานรถไฟ และเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) โดยมีณัทพัช อัคฮาด ผู้ดำเนินรายการ

อินทร์ แย้มบริบูรณ์ สมาพันธ์คนงานรถไฟ กล่าวถึงกรณีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ถูกฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจถึงกรณีบุกรุกที่ดินเขากระโดงว่า เมื่อศาลฎีกาตัดสินแล้วมีผลผูกพันตามคำตัดสินของศาลฎีกา ส่งผลให้กรมที่ดิน จ.บุรีรัมย์ ต้องทำหน้าที่เพิกถอนโฉนดและคืนที่ดินให้การรถไฟโดยทันที ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายที่ดินมาตรา 61 กรมที่ดินไม่สามารถปฏิเสธหน้าที่นี้ได้ แต่ในทางการเมืองแล้วกรมที่ดิน จ.บุรีรัมย์ อยู่ภายใต้อธิบดีกรมที่ดิน กรมที่ดินอยู่ภายใต้กระทรวงคมนาคม ปัญหานี้เป็นเงื่อนไขที่ใหญ่เกินกว่ากรมที่ดิน จ.บุรีรัมย์จะรับไหว

“ระบอบประยุทธ์ถูกค้ำยันด้วยสิ่งเหล่านี้ ตอนแรกท่านก็ด่าประณามนักการเมือง แต่ตอนหลังท่านอยู่ได้เพราะนักการเมืองที่คอยค้ำไว้ เพราะท่านเอานักการเมืองประเภทติดคดี เก็บไว้เป็นตัวประกันเพื่อใว้ต่อรอง ตอนนี้ท่านเองก็พยายามเดินสายเพื่อที่จะเข้าไปสนิทแนบแน่นกับนักการเมืองเหล่านั้นมากขึ้น เพราะท่านเองคงคิดว่าท่านจะอยู่ในอำนาจอีกสมัยหนึ่ง” อินทร์ กล่าว

หลังจากนี้สมาพันธ์คนงานรถไฟคงต้องจี้ให้ผู้รับผิดชอบดำเนินการ เราเห็นว่ามีผลทางคดีแล้วจากการตัดสินของศาลฎีกา แต่อำนาจทางการเมืองแทรกแซงทุกเรื่อง ตอนนี้บ้านเมืองของเราปกครองโดยระบบเผด็จการรัฐสภา ระบอบประยุทธ์จึงพยายามใช้รัฐสภาฟอกความผิดยกมือไว้วางใจฝืนความรู้สึกของประชาชน แม้ว่ารัฐมนตรีจะมีความผิดก็ตาม เพราะฉะนั้นระบบเผด็จการไม่ว่าจะเป็นเผด็จการทหารหรือเผด็จการรัฐสภา ก็ไม่เป็นประโยชน์กับประชาชนทั้งสิ้น ต้องทำให้อำนาจเป็นของประชาชนนั่นคือประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

เมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่า การครอบครองที่ดินเขากระโดงเป็นมหากาพย์การทุจริตประพฤติมิชอบเพื่อครอบครองที่ดินของรัฐกว่า 5 พันไร่ คล้ายกับกรณีที่ดินอัลไพน์ เมื่อกฤษฎีกาชี้มูลความผิดต้องติดคุก 2 ปี และกรณีที่ดินปารีณา ไกรคุปต์ พัวพันการบุกรุกป่าจนถูกฟ้อง ซึ่งจริงๆ แล้วควรมีการแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองเมื่อถูกตรวจสอบ ค่อยมาพิจารณาเรื่องผิดจริยธรรมร้ายแรงตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ และสุดท้ายคดีอาญาแผ่นดิน

ตระกูลทางการเมืองเหล่านี้นั้น เมื่อก่อนมักมีอำนาจเหนือกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงคมนาคม จึงมีอำนาจเหนือกรมที่ดิน เหนือการรถไฟฯ ดังนั้นตั้งแต่คดีที่ดินอัลไพน์มาจนถึงที่ดินไกรคุปต์และชิดชอบนั้น ผลเป็นข้อกล่าวหาของการใช้อำนาจที่มีเพื่อเข้าไปครอบครองที่ดินของรัฐเพื่อผลประโยชน์ส่วนตนทั้งสิ้น สุดท้ายก็มีการเปลี่ยนมือจากที่ดินของรัฐ รวมทั้งมีการพยายามออกเป็นโฉนดที่ดิน แม้จะถือเป็นเอกสารสิทธิ์แล้ว แต่เมื่อศาลตรวจสอบและวินิจฉัยแล้วว่าต้องคืนทรัพย์สมบัติแก่แผ่นดินก็ต้องเร่งดำเนินการ มิใช่รอถูกฟ้องขับไล่ ซึ่งชัดเจนว่าบ้านเมืองนี้ใช้ระบบอำนาจนิยมเหนือกฎหมายบ้านเมือง เบียดบังที่ดินส่วนร่วมของสาธารณะไปหาผลประโยชน์จำนวนมหาศาล ทั้งครอบครองและปล่อยเช่า

ที่ดินในเมืองไทยมีประมาณ 320 ล้านไร่ แต่กระบวนการฉ้อฉลแบบนี้ทำให้นักการเมืองบางคน มีที่ดินเป็นหมื่นไร่ บางตระกูลมีที่ดินมากกว่าครึ่งจังหวัด กลายเป็นบ้านใหญ่ของแต่ละพื้นที่ หรือนายทุนบางคนมีที่ดินเป็นแสนไร่ เพราะไม่มีกฎหมายการจำกัดการถือครองที่ดิน จนเกิดการผูกขาดการถือครองที่ดินโดยนายทุนขนาดใหญ่ และนักการเมืองก็เลียนแบบบ้าง ที่อาจจะใช้ทั้งอำนาจและบารมีไปครอบครองที่ดินของรัฐ ที่รกร้างมากมาย เช่นที่ดินของการรถไฟ ที่ดินราชพัสดุ ที่ดินกรมธนารักษ์ เพื่อขอเช่าใช้ประโยชน์ และสุดท้ายก็ใช้ช่องว่างทางกฎหมายเล่นแร่แปรธาตุออกโฉนด เรื่องนี้ถ้าคนรถไฟไม่เคลื่อนไหว ที่ดินก็เปลี่ยนมือไปแล้วโดยเบ็ดเสร็จ

พวกเขาอยู่ได้ในรัฐบาลของระบอบประยุทธ์ กับเครือข่าย 3 ป. เพราะมีวุฒิสภาค้ำระบอบอยู่ แม้กระทั่งศาลฎีกามีคำสั่งออกมาแล้วปัจจุบันยังไม่สามารถที่จะขับไล่ออกจากพื้นที่ได้เลย กลายเป็นมหากาพย์การฮุบที่ดินของชาติที่รอทวงคืนต่อไป

“ข้อเรียกร้องในสถานการณ์ปัจจุบันคือ ข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด หรือที่ต้องตรวจสอบปราบปรามการกระทำความผิดทั้งหลาย จะต้องแสดงบทบาทอย่างเต็มที่ในฐานะที่รับเงินเดือนภาษีของประชาชน ส่วนนักการเมืองที่ประพฤติมิชอบและถูกข้อกล่าวหาดังกล่าวหลายเรื่องต้องแสดงสปิริตทางการเมืองก่อน อย่าใช้ระบอบนี้พิทักษ์ปกปิดการทุจริตประพฤติมิชอบที่ผ่านมา เพราะหลังจากที่คุณลงจากอำนาจแล้ว สุดท้ายก็ต้องถูกเช็คบิลคืนอยู่ดี อย่าบันทึกประวัติศาสตร์ให้ลูกหลานจดจำเช่นนี้เลย” เมธา กล่าว

เมธา บอกว่า ประเทศไทยเป็นเผด็จการทางการเมือง รัฐบาลใช้อำนาจนิยมบริหาร ที่ดินของรัฐจำนวนมากไปถูกผู้มีอำนาจเข้าครอบครอง ขณะที่เศรษฐกิจเป็นระบบทุนนิยมเสรีเน้นกลไกตลาด ซึ่งนายทุนมือใครยาวสาวได้สาวเอา เกิดการซื้อขายที่ดินมาครอบครองเสรี นายทุนบางคนมีที่ดินถึง 600,000 ไร่ แต่ในประเทศสังคมนิยมในทางเศรษฐกิจ ที่ดินหรือสิ่งใดก็ตามที่มนุษย์ไม่สามารถสร้างสรรค์ขึ้นเองได้ไม่ควรเข้าสู่กลไกตลาดเพื่อซื้อขายครอบครอง ที่ดินจึงเป็นของส่วนรวมโดยรัฐให้ประชาชนเช่าโดยไม่สามารถซื้อขายได้ เหมือนในประเทศสังคมนิยมที่ต้องใช้ผลประโยชน์ส่วนรวมให้เป็นประโยชน์ต่อคนในประเทศ ที่ดินที่เป็นของรัฐก็ต้องนำมาจัดสรรให้ประชาชนหรือบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์ สำหรับในเมืองไทยควรเป็นเศรษฐกิจแบบผสมเหมือนในยุโรปที่เป็นสังคมประชาธิปไตย ต้องยกเลิกการนำที่ดินเข้าสู่กลไกตลาดเสรี ยกเลิกระบบอำนาจนิยมทางการเมืองแบบนี้ ที่รัฐและนักการเมืองเข้าไปยึดเอาที่ดินของรัฐจำนวนมากมาเป็นของส่วนตัว

ปม 'ที่ดินเขากระโดง' เป็นชนักติดหลังครอบครัวชิดชอบ-ภูมิใจไทย ข้อหาฮุบสมบัติแผ่นดิน

“ภารกิจเพื่อชาติทวงคืนสมบัติแผ่นดิน ทางออกในเรื่องนี้ผมจึงคิดว่าครอบครัวชิดชอบคงต้องเร่งคืนที่ดินของรัฐให้การรถไฟไปบริหารจัดการต่อเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ ยังมีที่ดินมักกะสันและอีกหลายที่ถ้าได้รับสัมปทานโครงการให้เอกชนอีกกรณีหนึ่งด้วย เป็นการเบียดบังสมบัติแผ่นดินโดยรัฐบาลอำนาจนิยมที่เอื้อประโยชน์ให้นายทุน ที่ดินส่วนร่วมทั้งหลายที่รัฐดูแลอยู่ไม่ควรให้ระบอบประยุทธ์ที่เป็นเผด็จการอำนาจนิยม หรือนายทุนเข้าไปครอบครองประโยชน์เช่นในปัจจุบัน การจะเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ได้คือนักการเมืองต้องมีจิตสำนึกที่ดี และควรคาดหวังในระบบรัฐสภาไทย อย่างน้อยนักการเมืองที่อยู่ในสภาเกือบ 500 คนช่วยแสดงสปิริตในเรื่องนี้ได้หรือไม่ ก่อนที่บ้านเมืองจะขัดแย้งบานปลายและสภาไม่มีทางออก และเกิดความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้นเช่นในหลายประเทศทั่วโลก ที่มีประวัติศาสตร์เป็นบทเรียนอยู่แล้ว แผ่นดินที่ท่านอยู่กันนั้นอาจจะไม่มีแผ่นดินอยู่ในอนาคตก็ได้” เมธา กล่าว

“รัฐบาลจะอยู่หรือไปเรื่องนี้ยังจะเป็นปัญหาสำคัญที่ติดตัวครอบครัวชิดชอบและพรรคภูมิใจไทยไปด้วย ดังนั้นจะต้องแก้ไขปัญหานี้ก่อนที่ท่านจะลงเลือกตั้งครั้งใหม่ ให้ประชาชนเห็นความจริงใจและแก้ไขความไม่เป็นธรรม ก่อนที่จะเป็นชนักติดหลังท่านตลอดไปในข้อหาของการฮุบสมบัติแผ่นดิน”

แกนนำกลุ่มไทยไม่ทนฯ ซัด 'ระบอบประยุทธ์' ต่ำช้าเลวทราม เกินกว่าที่จะเยียวยา

อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา'35 และผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มไทยไม่ทนฯ กล่าวว่า ตอนที่พวกเราก่อตั้ง 'ไทยไม่ทน คณะสามัคคีประชาชนเพื่อประเทศไทย' นั้น ผมมีความคิดว่าบ้านเมืองเสียหายมากจึงได้เชิญพรรคพวกที่เป็นอยู่ทั้งอดีตสีเหลืองและสีแดงว่าทำอย่างไรถึงจะร่วมมือกัน โดยละวางสิ่งที่ไม่ถูกใจไว้ก่อน เพราะมีบางสิ่งก็ไม่ถูกต้อง ในที่สุดก็มีการประชุมหลายครั้งในที่สุดใช้เวลานานพอสมควร ก็สามารถร่วมมือเป็นที่มาของขบวนการ 4 เมษายน ในวันที่ 4 เดือน 4 ปี 64 มีการจัดเวทีบริเวณอนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม ในเมื่อรัฐบาลนี้ไม่อีนังขังขอบประชาชน และรัฐบาลระบอบประยุทธ์ต่ำช้าเลวทรามเกินกว่าที่จะเยียวยาได้ คือต้นเหตุที่ผมออกมาเรียกร้องประชาชนขับไล่ประยุทธ์ออกไป เพราะคนส่วนใหญ่ไม่เอาระบอบประยุทธ์ และ 3 ป.แล้ว

“แล้ววันนี้ชัดเจนว่า 3 ป. เล่นละครตบตาประชาชน ทั้งที่ความเลวร้ายนี้ทำความเสียหายประเทศชาติหมดสิ้นทุกอย่าง เศรษฐกิจพัง คนตาย นักศึกษาเรียกว่า ประยุทธ์หมื่นศพ แถมยังทุจริตจริตมากที่สุดและไม่เคารพกฎหมายด้วย ตลอด 7 ปีนี้ได้เอาทรัพย์สมบัติของแผ่นดินฮุบไปเพื่อประโยชน์มากมายมหาศาลแล้วก็ไม่มีใครทำอะไรได้ เพราะมีอำนาจใช้กฎหมายปกป้องพรรคพวกตัวเอง ตั้งคณะกรรมการป.ป.ช. และองค์กรอิสระที่เหลือทั้งหมด รวมถึงศาลรัฐธรรมนูญ ทุกครั้งที่มีการวินิจฉัยในเรื่องต่างๆ มันจึงค้านสายตากับความรู้สึกของประชาชนอย่างสิ้นเชิง ดังนั้นจะทำอย่างไรต่อการทวงคืนทรัพย์สินของแผ่นดิน จึงเป็นภารกิจของประชาชน ซึ่งระบอบประยุทธ์ไม่ทำแต่กลับฮุบทรัพย์สินแผ่นดินไปเรื่อยๆ” อดุลย์ กล่าว

อดุลย์ กล่าวว่า เราไม่ได้กล่าวหาและไม่ใช่โจทก์โดยตรง แต่ต้องการทำเรื่องนี้ให้ประชาชนได้รับทราบว่าพวกท่านเป็นเจ้าของแผ่นดิน ท่านเป็นเจ้าภาพ ท่านต้องมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ และพิจารณาว่าถูกต้องหรือไม่ ผมต้องการให้ประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของประเทศ รับทราบว่าแผ่นดินทรัพย์สินแผ่นดินของชาติ ถูกฮุบไปใช้ประโยชน์โดยไม่ชอบ มันได้เวลาต้องคืนกลับให้แผ่นดิน เป็นภารกิจของประชาชนทุกคนในฐานะเจ้าของประเทศ ผมเสียลูกชายจากเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ไม่ประสงค์ที่จะเห็นการใช้ความรุนแรงของรัฐ ที่ทำต่อประชาชนที่มาชุมนุมเรียกร้องสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญอีกต่อไป อย่างที่ทราบกันดีว่าคนที่เขียนรัฐธรรมนูญนี้มีปัญหา ไม่เป็นสากล จนบ้านเมืองวุ่นวาย เป็นคนเดียวกันที่เขียนแล้วธรรมนูญในปี 2534 ที่นำพามาสู่ความตายของประชาชนในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ตราบาปนี้เป็นของมีชัย ฤชุพันธุ์

จี้ ปลด ผบ.ตร. สั่ง คฝ. ใช้ความรุนแรง - ชี้ 'ล็อกดาวน์' ไม่ตรงจุด หวังป้องกันไม่ให้คนมาเรียกร้อง

ส่วนกรณีที่มีการใช้ความรุนแรงจากการที่ตำรวจใช้กำลังมาควบคุมฝูงชน แกนนำกลุ่มไทยไม่ทนฯ กล่าวว่า พยายามเตือนและบอกหลายครั้งแล้วว่า ท่านไม่มีสิทธิ์ที่จะใช้ความรุนแรงกับผู้ที่มาเรียกร้อง แต่รัฐบาลนี้ไม่สนใจ ความผิดที่ทำให้เกิดโควิดรอบ 3 มาจากการประมาทเลินเล่อของตำรวจด้วย ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติต้องรับผิดชอบด้วย แต่รัฐบาลกลับไม่ปลดผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือพักงานเพื่อให้รับผิดชอบปัญหา ความรุนแรงจากการปราบปรามเกินเหตุขนาดนี้ และการบริหารที่ผิดพลาด ทำให้เกิดการตาย เศรษฐกิจพังพินาศ เกิดการฉ้อฉลทุกรูปแบบและนำมาสู่ความไม่พอใจรัฐบาลมากขึ้นในเวลานี้ ผมไม่คิดเลยว่าจะมีรัฐบาลชุดไหนที่ประชาชนจะเกลียดชังมากเท่ารัฐบาลชุดนี้ ครอบครัวคนตายจากวิกฤตก็เต็มไปด้วยความแค้น ประชาชนทั่วไปก็ตกทุกข์ได้ยากจากผลการล็อกดาวน์ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับโควิด แต่เพราะว่าเพื่ออำนาจและเพื่อป้องกันไม่ให้คนมาเรียกร้อง เราจะรอดูจุดจบของระบอบประยุทธ์

อดุลย์ กล่าวว่า ส่วนกรณีเขากระโดงนั้น คำสั่งศาลชัดเจน ทุกคนต้องทำตามกฎหมาย ใครที่ไปออกโฉนดไว้โดยไม่ชอบก็ต้องคืนให้กับรถไฟ อย่างไรก็ตาม ที่ดินดังกล่าวเป็นพระบรมราชโองการตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ยิ่งกว่าที่ดินพระราชทาน ทรงให้ที่ดินเพื่อทำเพื่อประโยชน์ของการรถไฟและประชาชนในวันข้างหน้า เพราะฉะนั้นคนที่ครอบครองอยู่ ท่านก็เป็นผู้ใหญ่ที่มีชื่อเสียง ควรที่จะมีสำนึก ควรทำในสิ่งที่เหมาะที่ควร นอกจากนี้ยังมีทรัพย์สมบัติแผ่นดินอีกกว่า 53 เรื่องที่จะถูกตรวจสอบภายใต้รัฐบาลประยุทธ์ ที่ไทยไม่ทนจะติดตามทวงถามเพื่อขอคืนสมบัติชาติให้แผ่นดินต่อไป

นักธุรกิจชี้ปัญหาคือระบอบเผด็จการรัฐสภาไทย ทำประชาธิปไตยถอยหลังเข้าคลอง

ปรีดา เตียสุวรรณ์ นักธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้เห็นชัดเจนเลยว่า ไม่มีเจ้าภาพของเราเหลืออยู่ในรัฐสภาเพื่อที่จะส่งเข้าไปดูแลทรัพย์สินของแผ่นดิน และสถาบันที่มาปกครองเรา คือฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติในสภาทั้ง 2 สถาบันไม่ทำงาน ผลสำรวจที่ออกมาชัดเจนเลยว่า ประชาชนไม่พอใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และวันเสาร์ที่แล้วได้สร้างความแปลกใจให้เกิดขึ้นจนคนรู้สึกว้าเหว่ว่าประเทศไทยตอนนี้ สถาบันสำคัญของประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฝ่ายบริหารและฝ่ายสภานิติบัญญัติ ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงที่จะดูแลทรัพย์สมบัติของแผ่นดินกลับไม่ทำงาน

นอกจากนี้รัฐธรรมนูญที่มาก็ไม่เป็นสากล สมาชิกวุฒิสภาก็เป็นของเขาก็จะเลือกปกป้องเขาตลอดเวลา และครั้งสุดท้ายนี้ก็เป็นอย่างนั้น ดังนั้นการพลิกล็อกจึงไม่มี เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงเป็นต้นเหตุของการที่เราไม่มีความหวังและเลื่อนลอยในปัจจุบัน และเศร้ายิ่งไปกว่านั้นคือการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตามมาด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อที่จะกำจัดคู่แข่ง การจำกัดดุลอำนาจการตรวจสอบ และกำจัดพรรคที่จะมาตรวจสอบอย่างแท้จริง

"รัฐธรรมนูญต้องมีความเป็นสากล แต่มาใช้เพื่อผลประโยชน์ให้กับคนเฉพาะกลุ่มและจำกัดเฉพาะคนบางกลุ่มไม่ได้ ถือเป็นเผด็จการรัฐสภา เรื่องนี้มีเกิดขึ้นกับรัฐสภาไทยมาตลอด ตั้งแต่สมัยคุณทักษิณ คุณยิ่งลักษณ์และจนมาถึงเดี๋ยวนี้ก็ยังเป็นเผด็จการรัฐสภา เราอยู่กับเผด็จการรัฐสภามา 20 ปีเข้าไปแล้ว สังคมไทยถอยหลังในแง่ของประชาธิปไตย"

ปรีดา กล่าวว่า ทรัพย์สินแผ่นดินที่หายไป ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่ในอ่าวไทยหรือที่ดินเขากระโดง อาจจะมีความหวังอยู่บ้างที่สถาบันตุลาการ ซึ่งแน่นอนเราต้องจับตาดู เพราะว่าวิธีการที่นำทรัพย์สินของแผ่นดินไปก่อให้เกิดรายรับรายได้ขึ้นมหาศาล เขาเหล่านั้นนำไปโดยวิธีการสัมปทานซึ่งไม่เป็นธรรมต่อแผ่นดิน เสร็จแล้วก็นำรายรับเหล่านั้น มาซื้อทุกสถาบันเท่าที่เขาจะซื้อได้ ผมก็หวังว่าสถาบันตุลาการยังไม่ถูกซื้อ เพราะตอนนี้เราเหลืออยู่สถาบันตุลาการที่เราเชื่อถือ แต่ท่านก็เป็นฝ่ายตั้งรับและจะออกมาก็ไม่ได้ ฉะนั้นถึงเวลาแล้วที่ประชาชน จะต้องเป็นผู้ที่ออกมารุกและช่วยกัน ดังที่วีระ สมความคิด เคลื่อนไหวก็เป็นตัวอย่างที่ดีว่ามีบุคคลอย่างนี้เริ่มที่จะออกมาทวงถามทรัพย์สมบัติของแผ่นดิน

'วีระ' ยื่นที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์สอบถามความคืบหน้า

วานนี้ (14 ก.ย. 2564) เวลา 10.00 น. วีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน, พงษ์พิเชษฐ์ สุขจินดาทอง แกนนำคณะไทยไม่ทนสามัคคีประชาชนเพื่อประเทศไทย และคณะของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เดินทางไปพบประภาส อินทรถาวร เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อติดตามความคืบหน้าในการเพิกถอนโฉนดที่ดิน (ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842-876/2560 ลงวันที่ 16 ก.พ.2560 และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2561 ลงวันที่ 22 พ.ย.2561) ซึ่งออกทับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย บริเวณเขากระโดง ต.อิสาณ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ เนื่องจากที่ดินดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ

หลักฐานสำคัญที่ยืนยันว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย คือ หนังสือที่บริษัทบุรีรัมย์ศรีเมืองทอง จำกัด ทำไว้กับการรถไฟแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2504 กรณีได้รับสัมปทานจากกระทรวงมหาดไทยทำการระเบิดย่อยศิลา(หิน) เพื่อย่อยศิลาเขากระโดงของการรถไฟฯ ให้แก่การรถไฟฯ ทำหนังสือขึ้นเพื่อขอให้คนงานของผู้รับเหมาอยู่เป็นการชั่วคราว ที่สำคัญยังมีบันทึกการประชุมร่วม เรื่องข้อพิพาทเกี่ยวกับที่ดินรถไฟเขากระโดง เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2513 โดยชัย ชิดชอบ (บิดาของเนวิน ชิดชอบ และศักดิ์สยาม ชิดชอบ) ยอมรับว่าที่ดินพิพาทดังกล่าว เป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ โดยชัยขออาศัยที่ดินพิพาทจากการรถไฟ ซึ่งจะได้ทำสัญญากันต่อไป

ด้วยหลักฐานต่างๆ นี้ จึงทำให้การออกโฉนดทับที่ดินพิพาทดังกล่าว จึงต้องถูกเพิกถอน และผู้ที่บุกรุกครอบครองที่ดินของการรถไฟฯ (รัฐ) ต้องถูกขับไล่ออกไป เนื่องจากที่ดินรกร้างว่างเปล่าดังกล่าว เป็นที่หวงห้ามเพื่อใช้ประโยชน์ของทางราชการ เป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน ผู้บุกรุกครอบครองไม่สามารถยกอายุความขึ้นต่อสู้ได้ และกรมที่ดินก็ไม่สามารถออกโฉนดให้แก่ผู้ใดได้เช่นกัน ดังนั้น หากกรมที่ดินไม่เพิกถอนโฉนดที่ออกโดยมิชอบ และผู้ว่าการรถไฟฯ ละเว้นไม่ดำเนินการขับไล่ผู้บุกรุกให้ออกไปจากที่ดินของการรถไฟฯ ก็จะมีความผิดตามฎหมาย

โดยเลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน และแกนนำไทยไม่ทน คณะสามัคคีประชาชนเพื่อประเทศไทย จะเดินทางไปยื่นหนังสือถึง ป.ป.ช. ให้เร่งรัดคดีฮุบที่ดิน 5 พันไร่ เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หลังจากมีการจัดเวทีภารกิจชาติ ทวงคืนสมบัติแผ่นดินในวันนี้ต่อไป

สหภาพรถไฟฯ ยื่นหนังสือกดดัน มท. เร่งคืนที่ดินให้รถไฟ

วันเดียวกัน (14 ก.ย. 2564) สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) นำโดยสาวิทย์ แก้วหวาน ประธาน สร.รฟท. และคณะกรรมการ สร.รฟท. เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยวันนี้ เพื่อยื่นหนังสือ ให้เร่งรัดดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ทับซ้อนที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย บริเวณเขากระโดง ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา มอบหมายให้นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยมาเป็นผู้แทนในการพูดคุย และมีนิสิต จันทร์สมวงศ์ อธิบดีกรมที่ดิน เข้าร่วมชี้แจงด้วย ซึ่งทางอธิบดีกรมที่ดินได้ชีแจงว่า

1. กรณีพื้นที 5,083 ไร่ ตามที่การรถไฟแจ้ว่าเป็นกรรมสิทธิ์ ตามพระราชกฤษฎีกาฯ 2462 ให้การรถไฟดำเนินการชี้แนวเขตในแผนที่ระวางที่ดิน ที่กรมที่ดินส่งไปให้ และให้ยื่นขอรังวัดสอบเขตที่ดินเพื่อให้ทราบแนวเขตที่ดินที่ชัดเจนตามขั้นตอน

2. กรณีโฉนดที่ดิน 2 แปลงที่ทาง ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดออกโฉนดทับที่ดินของการรถไฟฯ (เลขที่ 3466 และ 8564) นั้น เสนอให้การรถไฟดำเนินการฟ้องเพิกถอนตามคำแนะนำของอัยการสูงสุด

3. ส่วนที่ดินตามคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 842-876/2560 ลงวันที่ 16 ก.พ. 2560 (สค.1) กรมที่ดินได้ดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ไปเกือบทั้งหมดแล้ว ให้การรถไฟดำเนินการบังคับคดี ตามกฎหมาย ส่วนที่ดินตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2561 ลงวันที่ 22 พ.ย. 2561 (นส.3) อยู่ระหว่างดำเนินการเพิกถอน ใช้เวลาประมาณ 120 วัน ซึ่งทางอธิบดีกรมที่ดินยืยยันว่า ยินดีในการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยให้การรถไฟรีบดำเนินการยื่นขอรังวัด สอบเขตที่ดินกับ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ได้โดยทันที่ ซึ่งทางกรมที่ดินจะจัดส่ง จนท.ร่วมลงพื้นที่ในการรังวัดสอบเขตที่ดินด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net