Skip to main content
sharethis

คุยกับสื่อมวลชนผู้เกาะติดสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนภาคใต้/ปาตานี รวมทั้งการชุมนุมดินแดง เพื่อสะท้อนผลกระทบที่เกิดขึ้น รวมทั้งข้อเสนอต่อผู้สื่อข่าวเพื่อความปลอดภัย มุมมองต่อยุคที่ใครก็สามารถเป็น ‘สื่อ’ ได้เพียงเข้าถึงแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย กับการเกิดขึ้นของสื่ออิสระในช่วงการเมืองร้อนแรง ท่ามกลางการวิพากษ์วิจารณ์ของสื่อหลักในสังคมไทย

  • แชร์ประสบการณ์การทำข่าวในสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ และการชุมนุมทางการเมือง แม้ชายแดนใต้แตกต่างจากการทำข่าวที่กรุงเทพฯ แต่เหตุชุมนุมดินแดง ก็สะท้อนความยากในการทำงานของผู้สื่อข่าว
  • เตือน New normal มาตรฐานใหม่สื่อมวลชนที่รัฐพยายามสร้างอาจทำให้สายตาสาธารณะไปไม่ถึง พร้อมข้อเสนอต่อนักข่าวเพื่อความปลอดภัยท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้ง
  • เปิดมุมมองต่อการชั่งน้ำหนักระหว่างความโปร่งใสกับการได้ข้อมูล ย้ำการเก็บบันทึกเหตุการณ์ช่วยเปลี่ยนแปลงสังคม
  • ขณะที่ภูมิทัศน์สื่อปัจจุบัน บทบาทสื่อมวลชนท่ามกลางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป เมื่อความคิดที่อยากจะสื่อสาร มาพร้อมกับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เมื่อการเมืองเชื่อมโยงกับผู้คนแทบทุกเรื่อง โดยเฉพาะในยุคที่การนำเสนอของสื่อมาพร้อมกับการตื่นตัวด้านการเมืองในสังคม ทำให้ 'สื่ออิสระ' เข้ามาฉายสปอตไลท์ให้บางจุดสว่างขึ้น

ช่วงสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองเข้มข้นตั้งแต่ปลายปี 63 เป็นต้นมา นอกจากผู้ชุมนุมที่ถูกปฏิบัติการใช้ความรุนแรงและจับกุมแล้ว มีสื่อมวลชนถูกจับกุมขณะทำหน้าที่อย่างน้อย 5 คน ถูกยิงกระสุนยางอย่างน้อย 14 คน ถูกทำร้ายร่างกายอย่างน้อย 3 คน และบาดเจ็บจากวัตถุคล้ายระเบิด พลุ หรือประทัด อย่างน้อย 4 คน โดยเฉพาะผู้ถูกจับและได้รับบาดเจ็บทั้งหมดมีสัญลักษณ์แสดงตนเป็นสื่อมวลชน และส่วนใหญ่ได้รับบาดเจ็บขณะยืนรวมกันเป็นกลุ่ม จำนวนมากเป็นสื่อมวลชนอิสระและนักข่าวพลเมือง

ในโอกาสนี้จึงได้สนทนากับ นวลน้อย ธรรมเสถียร ผู้สื่อข่าวอิสระ อดีตนักข่าว BBC และสื่อมวลชนที่ติดตามสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนภาคใต้/ปาตานี รวมทั้งการชุมนุมที่ดินแดง อีกทั้งทำความเข้าใจภูมิทัศน์สื่อปัจจุบัน โดยเฉพาะการเข้าถึงเทคโนโลยีรวมทั้งแพลตฟอร์ม และบทบาทของสื่ออิสระที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้

ประสบการณ์ที่เผชิญความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ และการชุมนุมทางการเมือง

นวลน้อย กล่าวว่า อันตรายสำหรับนักข่าวสามารถเกิดขึ้นหากผู้สื่อข่าวเข้าไปแตะต้องประเด็นที่อ่อนไหว หรือเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่อันตราย โดยพื้นที่ที่ค่อนข้างจะท้าทายสำหรับนักข่าวหากไม่พูดถึงเรื่องชุมนุมทางการเมือง ก็คงไม่พ้นเรื่องพื้นที่ภาคใต้ พร้อมเล่าย้อนถึงความทรงจำอันท้าทายในสมัยที่ตนเป็นผู้สื่อข่าวชายแดนใต้ ว่าพื้นที่แห่งนี้มีความแตกต่างจากที่อื่นๆ ที่เคยพบเจอ

นวลน้อย ธรรมเสถียร

“มันเป็นพื้นที่ที่ไม่ง่าย ในเชิงที่ว่าอันตรายที่มันมีอยู่ มันเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตจากสถานการณ์เอง ถ้าคุณถูกเข้าใจผิดว่าคุณไม่ได้เป็นนักข่าว หรือคุณเข้าไปทำอะไรอย่างอื่น อันนี้ก็แน่นอนเป็นอันตรายอันแรกเลยที่นักข่าวต้องเข้าใจ ด้วยเหตุดังนั้น ความเป็นผู้สื่อข่าวที่เราสามารถจะเดินไปทำข่าวที่ไหนก็ได้ในประเทศไทยเนี่ย  มันเป็นอีกเรื่องนึงสำหรับภาคใต้ ” สื่อมวลชนที่ติดตามสถานการณ์ชายแดนใต้กล่าว พร้อมเสริมว่าพื้นที่ภาคใต้มีเงื่อนไขในเรื่องของความยากลำบาก และแง่ของความปลอดภัย ดังนั้นจึงต้องทำตัวเองให้โปร่งใสและสร้างความเชื่อมั่นให้คนในพื้นที่

“เวลาที่คุณจะไปคุณก็จะต้องทำตัวเองให้โปร่งใส ทำอย่างไรก็ตามแต่ให้คนในพื้นที่เข้าใจว่าคุณเป็นนักข่าวจริงๆ อันนี้นอกเหนือไปจากเรื่องที่ว่าคุณอาจจะโดนลูกหลง หรือคุณอาจตกเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่มีการปะทะกัน คนที่เขากระทำเนี่ยเขาจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็แล้วแต่ ถ้าคุณเกิดติดอยู่ในสถานการณ์แบบนั้นคุณก็มีสิทธิ์ที่จะโดนได้” นวลน้อยกล่าว พร้อมบอกว่าเป็นเงื่อนไขของพื้นที่ที่นักข่าวจะต้องระมัดระวังด้วยตนเอง

ชายแดนใต้แตกต่างจากการทำข่าวที่กรุงเทพฯ

นวลน้อยเล่าว่า การเข้าถึงข้อมูลในชายแดนภาคใต้นั้นมีความซับซ้อนหลายอย่าง ทั้งตัวสภาพของความขัดแย้งในการเข้าถึงข้อมูล รวมถึงความปลอดภัยของตนเอง ซึ่งแตกต่างจากการทำข่าวในกรุงเทพฯ อย่างชัดเจน

“การทำข่าวในกรุงเทพฯ มันจะเป็นความรู้สึกอย่างนึง ในฐานะที่เราเป็นนักข่าวเราจะรู้สึกได้ มันเป็นความรู้สึกที่บอกยาก เวลาที่เราทำข่าวในกรุงเทพฯ มันเหมือนกับว่าการอยู่ในสายตาสาธารณะของเรามันเป็นแบบนึง แต่พอเวลาที่เราไปทำในพื้นที่ข้างนอกกรุงเทพฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ หรืออาจจะบางพื้นที่ที่นอกเหนือไปจาก 3 จังหวัด มันมีความรู้สึกว่าคุณอยู่ไกลปืนเที่ยง คุณอยู่ห่างจากสายตาสาธารณะ อาจจะมีบางสิ่งบางอย่างที่เกิดขึ้นกับคุณได้ หลายสิ่งหลายอย่างที่พยายามจะทำ มันจะมีวิธีการปฏิบัติที่เราจะเลือกทำหรือไม่ทำแตกต่างไปจากเวลาที่อยู่ในกรุงเทพฯ ค่อนข้างชัดเจน ”

ภาพร่องรอยความรุนแรงที่รือเสาะ จ.นราธิวาส (แฟ้มภาพ)

ข้อจำกัดของนักข่าวผู้หญิงในชายแดนใต้

นวลน้อยระบุว่านักข่าวผู้หญิงจะมีข้อจำกัดบางประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของความปลอดภัยในฐานะที่เป็นผู้หญิง รวมถึงการไปไหนมาไหนกลางค่ำกลางคืนคนเดียว ซึ่งในพื้นที่บางพื้นที่นอกเหนือจากความปลอดภัยที่ค่อนข้างชัดเจนแล้ว ความเป็นผู้หญิงอาจจะทำให้การเข้าถึงข้อมูลบางส่วนมีข้อจำกัดมากขึ้นเช่นกัน

นวลน้อยเผยว่า ข้อจำกัดเหล่านี้คือความเป็นความจริงทั้งสำหรับผู้หญิงและคนที่ไม่ได้เป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม แต่หากถามว่าเป็นข้อจำกัดขนาดนั้นหรือไม่ ตนยืนยันว่านักข่าวหญิงก็ยังสามารถที่จะทะลุทะลวงได้ในหลาย ๆ เรื่องหลาย ๆ ราว

“บางครั้งเราก็อาจจะมีบางจุด บางอย่างที่ทำให้เราสามารถเข้าถึงข้อมูลได้มากกว่าความเป็นคนใน หรือมากกว่าความเป็นมุสลิมอะไรอย่างนี้ มันก็มีหลายอย่างที่เป็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน แต่แน่นอนที่สุดความเป็นผู้หญิง ก็อาจจะทำให้การเข้าถึงบางสิ่งบางอย่างเนี่ยมันลดน้อยลง แต่ว่าถ้าต้องการจริงๆ ไม่ได้เป็นอุปสรรคมากถึงขั้นว่าจะทำอะไรไม่ได้เลย ยังสามารถทำได้แล้วก็ทำได้เยอะมาก”  นวลน้อยกล่าวยืนยัน

ความยากลำบากของนักข่าวกรณีเหตุการณ์ชุมนุมที่ดินแดง

นวลน้อยกล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นสื่อหลัก สื่ออิสระ หรือสื่อโซเชียล ทุกสื่อล้วนเจอความยากลำบากและแรงกดดันที่แตกต่างกันออกไปในการทำข่าว โดยคนที่ทำงานเป็นสื่อหลัก จะพบกับความท้าทายว่าจะทำอย่างไรให้เข้าถึงพื้นที่ที่เกิดเหตุการณ์จริงได้ โดยที่ได้รับความยินยอมจากเจ้าหน้าที่ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ก็จะคอยบอกอย่างชัดเจนว่าตรงนี้ห้ามไป ตรงนั้นห้ามไป

“การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน มักจะเกิดขึ้นหลังจากที่มีเคอร์ฟิวแล้ว ซึ่งหมายความว่าหลังจากที่เคอร์ฟิว คนจำนวนหนึ่งก็ต้องกลับบ้าน คนที่ไม่มีปลอกแขน หรือคนที่ไม่มีบัตร เป็นสื่อโซเชียล เขาอาจจะต้องกลับ นั่นหมายความว่า จำนวนคนมันก็ลดน้อยลงไปแล้วระดับนึง แล้วก็เจ้าหน้าที่มักจะบอกว่า คุณไม่สามารถเข้าไปตรงนั้นตรงนี้ได้ ซึ่งพื้นที่ตรงนั้นตรงนี้ที่เขาว่า ก็คือพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่มักจะเข้าไปปฏิบัติการเพื่อที่จะสลายฝูงชนหรือจับกุม” นวลน้อยกล่าว 

นวลน้อยกล่าวเสริมว่า การที่ผู้สื่อข่าวจะเข้าไปในพื้นที่สลายการชุมนุมหรือจับกุมนั้น ต้องฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าหน้าที่ คำถามที่ตามมาก็คือ หากเป็นผู้สื่อข่าวที่มีสำนักอย่างชัดเจนจะทำหรือไม่  เพราะอาจจะสร้างความเดือดร้อนให้กับต้นสังกัดได้ ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวที่จะเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว ก็มักจะเป็นผู้สื่อข่าวที่ไม่มีต้นสังกัด ซึ่งนั่นหมายความว่าอาจมีโอกาสที่จะถูกจับในภายหลัง และอาจจะถูกเหมารวมว่าเป็นผู้ชุมนุม ซึ่งสิ่งเหล่านี้เคยเกิดขึ้นกับผู้สื่อข่าวอิสระบางรายมาแล้วก่อนหน้านี้

ภาพ ศรายุธ ตั้งประเสริฐ ผู้สื่อข่าวประชาไท ถูกกระสุนยางจากเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนยิงเข้าบริเวณหลังบาดเจ็บ ขณะทำการถ่ายทอดสดสถานการณ์ ตำรวจใช้กำลังสลายการชุมนุมปากซอยข้าวสาร ใกล้สี่แยกคอกวัว เมื่อวันที่ 20 มี.ค.64 ที่มาภาพ Noppakow Kongsuwan

เหตุการณ์ชุมนุมดินแดง สะท้อนความยากในการทำงานของผู้สื่อข่าว

นวลน้อยระบุว่า การทำงานของผู้สื่อข่าวในดินแดงนั้นยากมากขึ้น เพราะเกิดความกลัวขึ้นในใจ และความเกรงใจว่าควรจะทำอะไร ไม่ควรจะทำอะไร นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญที่จะเกิดขึ้น ณ พื้นที่ดินแดง คือผู้สื่อข่าวไม่อาจทราบได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับตัวเอง และใครที่จะเป็นคนเข้าไปช่วยเหลือได้ โดยเฉพาะผู้สื่อข่าวอิสระ เพราะไม่มีองค์กรใดที่จะเข้ามาช่วยเหลือ พร้อมระบุถึงเงื่อนไขในการกรองผู้สื่อข่าวว่าจะต้องมีบัตรซึ่งออกโดยเจ้าหน้าที่ และต้องมีปลอกแขนที่ออกโดยทางการ ซึ่งแน่นอนที่สุดสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่ได้มาง่ายๆ 

“คนที่ใช้คำว่าตัวเองเป็นผู้สื่อข่าวอิสระ คือใช้ตัวเองเป็นเครื่องการันตีให้ตัวเอง ดังนั้นโอกาสที่เขาจะได้รับสิ่งเหล่านี้ ก็เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายถ้าเขาไม่มีทุน ถ้าเขาไม่มีอะไรต่างๆ ความยากลำบากเหล่านี้ ในที่สุดแล้วดินแดงมันทำให้คนไปทำข่าว หรือคนที่เป็นสื่ออิสระ หรือคนที่ไม่ทำตามที่เจ้าหน้าที่กำหนด มันมีโอกาสในการที่จะได้รับอันตรายถึงขั้นบาดเจ็บหรือว่าถูกจับกุมได้”

ภาพการปะทะกันของตำรวจควบคุมฝูงชนกับกลุ่มทะลุแก๊ส ที่ดินแดง 29 ส.ค.64 (ภาพโดย นนทวัฒน์ นำเบญจพล)

นอกจากนี้ นวลน้อยระบุว่าเหตุการณ์ที่ดินแดง เป็นการยกระดับประเด็นเรื่องของการมองภาพการทำงานของสื่อไปอีกแบบหนึ่ง เพียงแต่อาจมองแล้วเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก และเป็นสิ่งที่จะไม่มา ณ วันนี้ แต่เป็นสิ่งที่มาแบบเงียบๆ ซึ่งหมายความว่า สิ่งเหล่านี้อาจกลายเป็นมาตรฐานต่อไปในภายภาคหน้า

ตัวอย่างเช่น ในเหตุการณ์ต่างๆ ที่มีลักษณะคล้ายเหตุการณ์ที่ดินแดง เจ้าหน้าที่จะสามารถตั้งเงื่อนไขได้ว่า สื่อจะทำงานได้เพียงระดับนี้เท่านั้น

เตือน New normal มาตรฐานใหม่สื่อมวลชน ที่อาจทำให้สายตาสาธารณะไปไม่ถึง

นวลน้อยกล่าวว่า ปัจจุบันเงื่อนไขการทำงานของสื่อ เริ่มต้นจากเรื่องเล็กน้อย จากนั้นก็ขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งปัจจุบันนี้แทบจะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ของสื่อ หรือเรียกได้ว่า New normal พร้อมยกตัวอย่างมาตรฐานใหม่ของสื่อจากกรณีเหตุการณ์ดินแดง ว่าหากสิ่งที่ผู้สื่อข่าวถูกปฏิบัติ ณ พื้นที่ดินแดงถูกปฏิบัติซ้ำอยู่เรื่อยๆ สื่อจะมี New normal ในลักษณะที่ว่าหากต่อไปถ้ามีการชุมนุม เจ้าหน้าที่อาจจะบอกว่าที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ของการจับกุม ห้ามสื่อเข้าไปทำ หมายความว่าสายตาของสาธารณะไปไม่ถึงในบางจุดบางที่ 

“คิดว่าสายตาของสาธารณะไปไม่ถึง แล้วก็ไม่มีการเรคคอร์ดใดๆ ด้วย สิ่งที่มันเกิดขึ้นที่มันเป็นปัญหามันคือจุดนี้ เพราะว่ามันเป็นการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ แต่ว่าเจ้าหน้าที่มีบันทึกหรือมีอะไรที่สามารถเอามาตรวจสอบได้ไหม เพราะว่าหลังจากนั้น พอเวลาเกิดเหตุการณ์ใดๆ ขึ้น เราไม่สามารถบอกได้ว่าตกลงเกิดอะไรขึ้นจริงกันแน่” 

“มันไม่มีบันทึกใดๆ ที่จะบอกสาธารณะได้เลยว่ามันเกิดอะไรขึ้น ในพื้นที่แบบนี้แน่นอนที่สุด สื่อเข้าไปไม่ถึงอยู่แล้ว แต่ประเด็นก็คือว่า หลายๆ สิ่งหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นซึ่งมันล่อแหลมต่อการละเมิดสิทธิ์ มันควรจะมีบันทึกเพื่อสาธารณะอย่างใดอย่างหนึ่ง การชุมนุมเนี่ยมันอาจจะไม่จำเป็นที่ผู้สื่อข่าวจะต้องไปทุกจุด แต่นั่นหมายความว่ามันต้องมีบันทึกอะไรบางอย่างเวลาที่มีเหตุการณ์การจับกุมเกิดขึ้นแล้วมันมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้น”

แฟ้มภาพ

นอกจากนี้ นวลน้อยย้ำว่า หากไม่มีใครคอยบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้น หมายความว่าความมั่นใจของสาธารณะต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่จะไม่เกิดขึ้น เพราะเจ้าหน้าที่คือตัวแทนของรัฐ หากสาธารณะไม่มั่นใจกับการทำงานของรัฐ ย่อมหมายความว่า สาธารณะไม่มั่นใจต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่เช่นกัน

ข้อเสนอต่อนักข่าวเพื่อความปลอดภัยท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้ง

นวลน้อยระบุว่า ในสภาวะที่ผู้คนเกิดความไม่ไว้วางใจกัน และยิ่งในปัจจุบันเกิดเหตุการณ์แอบอ้างการเป็นนักข่าวเกิดขึ้น นักข่าวจึงต้องทำตนเองให้ชัดเจนตั้งแต่ก้าวแรกในการเข้าใกล้แหล่งข่าว และต้องไปทำงานกันมากกว่าหนึ่งคน

“คุณต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าเราเป็นนักข่าว เรามาที่นี่เพื่อจะหาข้อมูล และดังนั้นการ approach (การเข้าหา) แหล่งข่าวเพื่อที่จะทำงานของเรา มันต้องมีความชัดเจนตั้งแต่ก้าวแรก อันที่สองก็คือว่า เราอาจจะต้องเป็นหูเป็นตาให้ซึ่งกันและกัน มีการเป็น backup ซึ่งกันและกัน อาจจะต้องไม่เดินเดี่ยว ซึ่งสิ่งนี้มันเกิดขึ้นที่ภาคใต้ ในครั้งนึงพี่จำได้ว่าเวลาที่จะไปทำข่าว เราต้องชวนกันไป สมมติเราจะไปพื้นที่ตรงนั้นซึ่งเมื่อคืนนี้เขามีการปะทะกัน แล้วก็มันเป็นเหตุการณ์ที่ถ้าคุณจะเข้าไป เราควรจะไปกันมากกว่าหนึ่งคน “ นวลน้อยกล่าว

นอกจากนี้ นวลน้อยกล่าวเพิ่มเติมถึงการสัมภาษณ์แหล่งข่าวว่า นักข่าวจะต้องบอกแหล่งข่าวอย่างชัดเจนว่าจะเอาไปทำอะไร โดยเฉพาะคนที่เป็นสื่ออิสระ และกล่าวทิ้งท้ายว่า นักข่าวไม่มีอาวุธ นักข่าวไม่มีอะไรอย่างใดอื่น นอกจากความจริงใจของตัวเอง ความโปร่งใสของตัวเอง แล้วก็ผลงานของตัวเองที่จะเป็นหลักประกันความปลอดภัยให้กับตัวเอง

การชั่งน้ำหนักระหว่างความโปร่งใสกับการได้ข้อมูล

นวลน้อยกล่าวว่า ในฐานะนักข่าวต้องตัดสินใจว่าจะทำอย่างไร ในสมัยก่อนที่ตนไปเป็นผู้สื่อข่าวให้กับต้นสังกัด บางสิ่งบางเรื่องที่ไปทำ ทำให้ตนถูกข่มขู่ แต่ทั้งนี้ตนยังมีต้นสังกัดที่เป็นคนดูแล เวลามีปัญหากับเจ้าหน้าที่ก็กลับกลายเป็นการต่อรองระหว่างองค์กร แต่ปัจจุบันนี้หากสื่อไม่ได้มีต้นสังกัดแบบนั้นแล้ว หรือต้นสังกัดไม่ได้มีรัศมีมากพอ คำถามที่ตามมาคือจะทำอย่างไร

“เรื่องนี้เป็นปัญหาสำหรับหลายๆ คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เป็นสื่ออิสระ และการเซนเซอร์ตัวเองไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับคนที่ไม่ได้เป็นสื่อ หรือคนที่เป็นสื่ออิสระ แม้แต่คนที่เป็นสื่อหลัก พี่ก็เชื่อว่ามีการเซนเซอร์หนักมาแล้วหลายเรื่องหลายราวในอดีต ขึ้นอยู่กับว่าองค์กรสื่อนั้นจะกล้าชนแค่ไหน เรื่องนั้นใหญ่แค่ไหน” นวลน้อยกล่าว พร้อมยอมรับว่าไม่มีคำตอบที่ชัดเจน ขึ้นอยู่กับว่าใครจะมีข้างหลังที่ทำให้เผชิญหน้าได้ และหากตัดสินใจว่าจะเดินหน้า ก็ต้องประเมินสถานการณ์ ประเมินความเสี่ยง และรู้ตัวเองว่ากำลังทำอะไร

สุดท้าย นวลน้อยกล่าวว่า เมื่อนักข่าวได้ความจริงมา อาจจะไม่สามารถเผยแพร่ข้อมูลได้ในทันที แต่ท้ายที่สุดแล้ว ตนเชื่อว่าต้องมีบางจังหวะ บางเวลา ที่จะสามารถเอาสิ่งเหล่านี้ออกมาได้

“พอถึงวันหนึ่ง สังคมต้องการความจริง สิ่งที่เรามีอยู่ในมือ มันจะช่วยทำให้เราเข้าถึงความจริงได้ เมื่อบางเวลามาถึง อย่างเช่นเรื่อง 6 ตุลา เป็นต้น วันนี้เราก็ได้ข้อมูลอะไรอีกหลายอย่างมาก เราลองนึกดูว่า ถ้าสมมติเราเก็บข้อมูลทุกข้อมูลตั้งแต่ตอนนี้ ถึงเวลานึงเราอาจจะไม่ต้องรอนานเหมือนอย่าง 6 ตุลาก็ได้ บางสิ่งบางเรื่องอาจจะเปิดตอนนี้ได้ บางสิ่งบางเรื่องอาจจะต้องรอสักนิดนึง แต่เก็บไว้ ทำเรคคอร์ดเอาไว้เถอะ” นวลน้อยกล่าว

ตำรวจควบคุมฝูงชนที่แยกดินแดง (ภาพโดย นนทวัฒน์ นำเบญจพล)

การเก็บบันทึกเหตุการณ์ช่วยเปลี่ยนแปลงสังคม

นวลน้อยกล่าวว่า การที่ผู้สื่อข่าวเก็บบันทึกสิ่งต่างๆ ไว้ จะช่วยเปลี่ยนแปลงสังคมไปนั้นทิศทางใดตนก็ไม่สามารถระบุได้ เนื่องจากขึ้นอยู่กับเรื่องนั้นๆ แต่ตนรู้ว่าการเก็บบันทึกให้สังคมเป็นเรื่องที่ควรทำ และวันหนึ่งมันอาจส่งผลสำคัญ 

“สังคมทุกวันนี้และในอนาคตตนเชื่อว่าขับเคลื่อนด้วยข้อเท็จจริง ถูกหรือผิดไปว่ากันอีกที  สังคมไทยอาจช้ากว่าอีกหลายที่ที่เขาเก็บเรคคอร์ดกันทุกเม็ด บ้านเราเรื่องใหญ่ เรื่องที่เป็นการเมือง โดยเฉพาะเรื่องราวของผู้ที่ถูกกดมักไม่มีใครเก็บ มันไม่สายที่เราจะเริ่ม เพื่อผลักดันสังคมให้แก้ปัญหาบนพื้นฐานของเหตุและผลซึ่งต้องเริ่มที่ข้อเท็จจริง นักข่าวมีหน้าที่ส่วนหนึ่งตรงนี้” นวลน้อยกล่าว

บทบาทสื่อมวลชนท่ามกลางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป

นวลน้อยให้ความเห็นว่า เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปหลายอย่างเข้ามาโดยที่ไม่ทันได้ตั้งตัว จะเห็นว่าผู้คนทำ Live กันได้ง่ายๆ บางทีแทบจะไม่ต้องอาศัยสื่อ และเน้นย้ำว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องคุยกันว่าจะใช้อย่างไรให้เกิดผลประโยชน์สูงสุด พร้อมยกตัวอย่างกรณีกราดยิงโคราชและย้ำว่าแม้กระทั่งสื่อหลักเองก็มีปัญหากับเรื่องราวเหล่านี้เช่นเดียวกัน

“มันไม่ใช่เฉพาะสื่อโซเชียลนะที่มีปัญหา สื่อหลักบางรายก็มีปัญหาด้วยเช่นเดียวกัน  ถ้ามีคนทักขึ้นมามันถึงได้มีการลุกขึ้นมาคิดว่าเราควรจะทำหรือไม่ควรจะทำอะไร บางสิ่งบางอย่างการที่ทุกคนสามารถที่จะทำ Live ได้เนี่ย มันเป็นผลประโยชน์ของสาธารณะบางสิ่งบางอย่างมันไม่เป็นผลประโยชน์ มันเป็นโทษ อย่างเช่นโคราชเนี่ย ถ้าสมมติว่าคุณต้องการส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่จัดการกับปัญหาให้ได้เนี่ยหมายความว่าคุณไม่ควรจะทำอะไรหลายเรื่อง แล้วก็ไม่ใช่แค่เจ้าหน้าที่ เราต้องคิดถึงเหยื่อด้วย” 

นอกจากนี้ นวลน้อยย้ำว่าหลายสิ่งหลายอย่างที่สื่อมวลชนทำไปนั้น เป็นผลกระทบของความพยายามที่จะแข่งขันกันเองของสื่อด้วยเช่นกัน 

“มันไม่ใช่เพราะว่าเขาต้องการที่จะ  serve (ให้บริการ) สาธารณะ แต่ว่ามันมีนัยยะของการแข่งขันกันอยู่ในนั้น ซึ่งมันทำให้ในที่สุดแล้วเนี่ย หลายเรื่องทำไปแล้วมันเกิดผลเสียมากกว่าที่จะเป็นผลดี ซึ่งเรื่องพวกนี้มันต้องคุยกัน แต่ถ้าเราจะบอกว่าเราไม่ควรทำเลย ควรจะให้คนบางคนเท่านั้นที่ทำได้ ประเด็นก็คือว่า ใครล่ะที่ควรจะเป็นคนทำ แล้วคนคนนั้นหรือคนกลุ่มนั้น ผูกขาดความถูกต้องชอบธรรมเอาไว้แต่เพียงผู้เดียว แล้วเราจะแน่ใจได้ยังไงว่าเขาจะใช้มันให้เป็นประโยชน์กับสาธารณะ” 

ภาพขณะตำรวจกันสื่อมวลชนออกจากพื้นที่แฟลตดินแดงเมื่อ 6 ต.ค.64 เวลา 22.30 น. (ที่มา ไลฟ์ถ่ายทอดสด The Reporters) 

เมื่อความคิดที่อยากจะสื่อสาร มาพร้อมกับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย

อดีตนักข่าว BBC กล่าวว่าในยุคที่อินเทอร์เน็ตส่งผลให้มีพื้นที่ที่เป็นแพลตฟอร์มของโซเชียลมีเดียอันก่อให้เกิดสื่อมากมายหรือที่เรียกกันว่า ‘สื่ออิสระ’ นั้นเกิดขึ้นพร้อมกับความคิดที่ต้องการจะสื่อสารในสิ่งที่ต้องการ 

“แน่นอนที่สุดมันมีคนที่อยากสื่อสารนานแล้ว แล้วเขาน่าจะไม่มีโอกาส ช่วงนี้ก็เป็นโอกาสอันดี เทคโนโลยีมันอำนวย มันมีพื้นที่มีเวทีเปิดให้ คุณสามารถที่จะสื่อสารได้โดยที่ไม่ต้องมีอะไรมากมาย มีแอคเคาท์เฟซบุ๊คหรือทวิตเตอร์ มีสมาร์ทโฟน แล้วก็มีความคิดในการที่จะสื่อสาร สิ่งเหล่านี้ก็เป็นปัจจัยที่เอื้ออำนวยมากเพราะสมัยก่อนมันไม่มี” นวลน้อยกล่าว พร้อมระบุว่าอีกแง่หนึ่งในการเกิดขึ้นของสื่อเหล่านี้ ความต้องการในการ ‘สื่อสาร’ เป็นปัจจัยสำคัญ พร้อมยกตัวอย่างการตื่นตัวทางการเมืองที่ทำให้ผู้คนเหล่านี้ได้ส่งเสียง

“เรื่องประเด็นของการเมือง เรื่องของการมีความคิดทางการเมือง ถ้าเรามองย้อนกลับไปในอดีต มีคนที่ตื่นตัวในเรื่องพวกนี้จำนวนไม่น้อย พี่ไม่สามารถที่จะบอกได้ว่าการตื่นตัวในด้านการเมืองในปัจจุบันมันมากขนาดไหน แต่ถ้าเราดูหลักฐานอย่างสำคัญก็คือว่า การพัฒนาของเทคโนโลยีมันเอื้ออำนวยให้คนสามารถส่งเสียงได้มากขึ้น” นวลน้อยกล่าว

เมื่อการเมืองเชื่อมโยงกับผู้คนแทบทุกเรื่อง

นวลน้อยกล่าวว่า การเชื่อมโยงของการเมืองส่งผลให้คนตื่นตัวในหลายๆ เรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องที่ก่อนหน้านี้สังคมไม่ค่อยจะได้ให้ความสนใจกันมากนัก ซึ่งแน่นอนที่สุดว่าการตื่นตัวของคนที่เป็น audience หรือ คนรับคอนเทนต์ มีผลช่วยทำให้สื่อต้องผลิตคอนเทนต์ที่ตอบสนองความสนใจแก่คนในสังคม

“ไม่เพียงสื่ออิสระเท่านั้นในเวลานี้ที่ผลิตงานที่ก่อนหน้านี้เราไม่ค่อยเห็นกันมากนัก แต่แม้กระทั่งสื่อหลักเองก็หันมาผลิตงานเหล่านี้มากขึ้น เพียงแต่เราอาจจะมองสื่อหลักด้วยภาพลักษณ์เดิมๆ ไปหน่อย จริงๆแล้วเค้านำเสนอมากขึ้นในความคิดของพี่ แต่ว่าอาจจะไม่ถึงจุดที่เรารู้สึกว่าเป็นที่พึงพอใจ ซึ่งก็แน่นอนอยู่แล้วเพราะว่าสื่ออิสระอาศัยสิ่งที่ตัวเองใกล้ชิด หลายๆ สิ่งก็อาจนำเสนอได้มากกว่าในหลายๆ เรื่อง” นวลน้อยกล่าว

ภาพจากไลฟ์สดของช่อง Live Real ขณะที่ตำรวจเดินเข้ามายึดกล้องถ่ายทอดสดของแอดมินนินจา เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 64 เวลาประมาณ 23.00 น. ขณะถ่ายทอดสดรายงานสถานการณ์ในพื้นที่ชุมนุมบริเวณแยกดินแดง ทั้งที่มีสัญลักษณ์ปลอกแขนสื่อมวลชนชัดเจน (ที่มา เฟซบุ๊กเพจ Live Real)

การนำเสนอของสื่อ ที่มาพร้อมกับการตื่นตัวด้านการเมืองในสังคม

นวลน้อยระบุว่า ขณะที่ผู้คนสนใจและอยากติดตามเรื่องการเมืองและประชาธิปไตยทุกฝีก้าว แน่นอนที่สุดว่าการรายงานข่าวของสื่อหลักยังไม่ตอบสนองคนกลุ่มนี้อย่างเต็มร้อย ซึ่งสังคมอาจหันไปหาสื่ออิสระมากขึ้น

อดีตผู้สื่อข่าว BBC กล่าวว่า เมื่อการรายงานของสื่อหลักยังไม่ตอบสนอง จึงส่งผลให้เกิดความพยายามในการสื่อสารโดยคนที่เป็นสื่ออิสระ หรือแม้กระทั่งคนที่ไม่ได้เรียกตัวเองว่าสื่ออิสระ แต่ว่าเป็นคนที่ทำข้อมูลในเรื่องนั้นๆ โดยตรง ตัวอย่างเช่น เรื่องของผลกระทบจากการแสดงออกทางการเมืองที่ทำให้คนถูกฟ้องร้อง จะเห็นได้ว่าศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รวมทั้ง iLaw ได้ออกมานำเสนอในเรื่องพวกนี้อย่างต่อเนื่องและก็ลงรายละเอียด

“พวกเขา (ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และ iLaw) ไม่ใช่สื่อ แต่เค้าทำหน้าที่ยิ่งกว่าสื่อ ก็คือว่าเขาให้ข้อมูล เขานำเสนอเรื่องราวของคนที่มีปัญหาเหล่านี้ ซึ่งมันเข้ามาถมช่องว่างในเรื่องของผลกระทบอันเกิดเนื่องมาจากการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมือง ซึ่งความจริงแล้วมันควรเป็นหน้าที่ของสื่อ”  นวลน้อยกล่าว

นอกจากนี้ นวลน้อยให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า บางอย่างที่ขาดตกบกพร่องไปจากสื่อ สิ่งที่ค่อนข้างชัดเจน คือในเรื่องผลกระทบอันเกิดเนื่องมาจากการแสดงออกทางการเมือง อย่างเช่นเรื่องของกรณีดินแดง มีคนที่ได้รับผลกระทบมากมาย สังคมก็ยังไม่เห็นเรื่องราวของพวกเขาเหล่านี้นอกจากเสียงลือเสียงเล่าอ้าง ซึ่งนั่นหมายความว่ามือไม้ของสื่อยังเข้าไปไม่ถึง

นักข่าว จากเพจ สำนักข่าวราษฎร และเพจ ปล่อยเพื่อนเรา ถูกตำรวจควบคุมตัว บริเวณซอยมิตรไมตรี 2 ขณะรายงานสถานการณ์การชุมนุมที่ดินแดง เมื่อวันที่ 13 ก.ย.64

เมื่อสื่ออิสระเข้ามาฉายสปอตไลท์ให้บางจุดสว่างขึ้น

นวลน้อยระบุว่า ทุกวันนี้สังคมเห็นภาพรายละเอียดในบางจุดได้ดีขึ้น เพราะมีสื่อที่เป็นสื่ออิสระ สื่อทางเลือก สื่อกระแสรอง สื่อโซเชียล รวมทั้งคนที่เราอาจไม่นับว่าเป็นสื่อ 

“คนเหล่านี้มาฉายสปอตไลท์ทีละจุด เหมือนเราอยู่ในห้องที่มันสลัว แล้วเราก็มีสปอตไลท์อันนึงที่ส่องมาโดยคนที่ทำหน้าที่แบบสื่อหลัก ในสปอตไลท์นั้นมันก็อาจจะมีจุดที่มันชัดมาก จุดที่ชัดรองก็ว่ากันไป แล้วก็ในบรรดาจุดที่มันสลัวๆ ที่เหลืออยู่ มันก็มีคนที่เป็นสื่ออื่นๆอย่างที่ว่า เขาเอาไฟฉายไปส่องแต่ละจุดๆ ให้เราได้เห็นภาพ เราก็ดีใจที่ในวันนี้ที่เราเห็นภาพที่มันมากขึ้นกว่าเดิมเยอะ มันยังมีอีกหลายอย่างที่เรายังมองไม่เห็น ดังนั้นเราก็จะต้องช่วยกันสนับสนุนส่งเสริมทั้งสองส่วนให้มันมากขึ้น”

นอกจากนี้ นวลน้อยกล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่ตนคิดว่าสื่อหลักถูกวิจารณ์ก่อนหน้านี้ คือการไม่เอาสปอตไลท์ฉายไปยังจุดที่สังคมควรจะรู้

“คุณฉายไฟจ้าเกินไปในจุดที่ไม่ได้จำเป็น เช่น เรื่องราวดราม่า ดารา ใครคบใคร มันไม่จำเป็นถึงขนาดนั้นหรอก คุณเอาสปอตไลท์ของคุณไปฉายที่จุดอื่นให้มากกว่านี้ได้ไหม อันนี้คือข้อวิตกกังวล ข้อวิพากวิจารณ์ที่มีต่อสื่อหลัก จุดหลักๆ ก็คือสปอตไลท์ของคุณเอาไปจุดอื่นด้วยได้ไหม อันที่สองจุดที่คุณไปส่องบางเรื่องบางอย่าง มันควรจะ Cover (ครอบคลุม) มากกว่านี้ พอมาถึงประเด็นที่ผ่านมา เราก็รู้สึกว่า สื่ออิสระเนี่ยเข้ามาเติมเต็ม” นวลน้อยกล่าว

สื่อต้องช่วยกันยกระดับการสื่อสาร

นวลน้อยกล่าวว่า สื่อในฐานะคนที่อยากจะสื่อสารกับสังคม จะต้องช่วยกันยกสิ่งที่กำลังกดทับ เพื่อที่จะให้สื่อได้มีสถานะการทำงานที่ดีขึ้น ในขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องช่วยกันยกทักษะ สิ่งที่ยึดถืออยู่ให้มันดีขึ้น สิ่งเหล่านี้จะช่วยยกระดับสังคมทั้งหมด ในเรื่องของการสื่อสารได้มากขึ้น 

อดีตนักข่าว BBC เผยว่า ขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่จำเป็นจะต้องร่วมกันขบคิดหลักคิดและวิธีการทำงาน ไปพร้อมๆ กับเรื่องของการทำอะไรใหม่ๆ เพราะว่าสื่อหลักเองก็ไม่สามารถที่จะหารายได้จากวิธีการทำงานแบบเดิมๆ ได้ ทุกคนต้องหาวิธีการอยู่ให้ได้ในทางธุรกิจด้วยวิธีการใหม่ๆ ดังนั้น ณ เวลานี้ เราได้เห็นการผันแปรของวิธีการนำเสนอเนื้อหาในหลากหลายรูปแบบ

“มันจึงเป็นเวลาที่เหมาะที่เราจะต้องหันมาหาอะไรใหม่ๆ ร่วมกัน ในเรื่องของหลักคิด วิธีการทำงาน จริยธรรมใหม่ๆ ด้วย เราไม่ควรที่จะบอกว่าเราต้องมาหารูปแบบ วิธีการนำเสนออะไรใหม่ๆ แต่ในขณะเดียวกันเรายังต้องยึดหลักอะไรต่างๆ ที่มันเป็นของเดิมอยู่ เราอาจจะต้องไปด้วยกัน” นวลน้อยกล่าวทิ้งท้าย

สำหรับ ทอฝัน ช่วยชู รายงานบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ เป็นนักศึกษาจากสาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ปัจจุบันเป็นนักศึกษาฝึกงานประจำกองบรรณาธิการข่าวประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net