Skip to main content
sharethis

เดอะวอชิงตันโพสต์เปิดเผยข้อมูลเอกสารรั่วไหลจาก ‘หัวเว่ย’ บริษัทไอทีสัญชาติจีนที่แสดงให้เห็นว่าบริษัทมีส่วนเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการสอดแนมและการระบุอัตลักษณ์บุคคลที่นำไปใช้ในมณฑลซินเจียงอุยกูร์ รวมถึงค่ายกักกันปรับทัศนคติ ไม่ว่าจะเป็นระบบจดจำใบหน้า ระบบระบุอัตลักษณ์บุคคลด้วยเสียง ระบบวิเคราะห์ผลผลิตของแรงงานในเรือนจำ รวมถึงระบบที่ประเมินผลการปรับทัศนคติว่ามีประสิทธิภาพมากน้อยเท่าใด

17 ธ.ค. 2564 สำนักข่าวเดอะวอชิงตันโพสต์ (The Washington Post) รายงานเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. ที่ผ่านมาว่าเอกสารรั่วไหลของทางการจีนเผยให้เห็นว่าหัวเว่ย (Huawei) บริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่ของจีนมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างเทคโนโลยีระบบสอดแนมที่นำไปใช้ในค่ายกักกันแรงงานและปรับทัศนคติชาวอุยกูร์ ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์

เดอะวอชิงตันโพสต์ได้รับข้อมูลเหล่านี้มาในรูปแบบพาวเวอร์พอยต์ (PowerPoint) มากกว่า 100 หน้า ซึ่งหลายหน้าระบุว่าเป็นเอกสาร "ลับสุดยอด" ข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าหัวเว่ยพยายามยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลจีนว่าพวกเขาสามารถช่วยเหลือด้านการระบุอัตลักษณ์บุคคลโดยอาศัยเสียงของเป้าหมายได้ นอกจากนี้ยังใช้สอดแนมความสนใจทางการเมืองของตัวบุคคล ใช้บริหารจัดการการปรับทัศนคติทางอุดมการณ์ รวมถึงจัดตารางแรงงานให้กับนักโทษ ช่วยให้ร้านค้าติดตามผลเกี่ยวกับผู้ซื้อสินค้าโดยอาศัยระบบจดจำใบหน้า

หัวเว่ยเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ทางเว็บไซต์ที่เปิดให้เข้าชมได้แบบสาธารณะ โดยเดอะวอชิงตันโพสต์ได้ไฟล์พาวเวอร์พอยต์นี้มาก่อนที่หัวเว่ยลบไฟล์ดังกล่าวออกจากเว็บไซต์ในช่วงปลายปี 2563 เนื้อหาในพาวเวอร์พอยต์เหล่านี้มีรายละเอียดที่บ่งชี้ว่าหัวเว่นมีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทอื่นๆ ในการสร้างระบบเทคโนโลยีสารสนเทศหลายระบบและมีเมตาเดตา (ข้อมูลที่ใช้อธิบายรายละเอียดของโครงสร้างข้อมูลสารสนเทศ) ที่สามารถสืบย้อนกลับไปได้ตั้งแต่ระหว่างปี 2557-2563

สไลด์พาวเวอร์พอยต์หน้าหนึ่งระบุว่าผลิตภัณฑ์ของหัวเว่ยซึ่งมีชื่อว่า “หัวเว่ยและแพลตฟอร์มเรือนจำอัจฉริยะแบบรวมศูนย์ของหัวเว่ย” เป็นระบบสอดแนมภายในเรือนจำที่ครอบคลุมซึ่งหัเว่ยได้พัฒนาร่วมกับบริษัทเซี่ยงไฮ้ ‘เหอเว่ย’ เทคโนโลยี (Shanghai Hewei Technology) ระบบดังกล่าวสามารถติดตามแผนการผลิตและรายได้แรงงานนักโทษ ทั้งยังสามารถประเมินค่าผลกระทบของการปรับทัศนคติแรงงานนักโทษ นอกจากนี้ ข้อมูลในพาวเวอร์พอยต์ดังกล่าวยังระบุว่าเทคโนโลยีสอดแนมของหัวเว่ยยังถูกนำไปใช้ในเรือนจำอื่นนอกเหนือจากเรือนจำในเขตปกครองตินเองซินเจียงอุยกูร์อีกด้วย เช่น เรือนจำในเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน และเรือนจำในมณฑลซานซี

นอกจากหัวเว่ยแล้ว ยังมีบริษัทไอทีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีที่ใช้ในค่ายกักกันบังคับแรงงานและค่ายปรับทัศนคติในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์

แม้สไลด์พาวเวอร์พอยต์หลายหน้าจะมีโลโก้ของหัวเว่ยอยู่ในนั้น แต่พาวเวอร์พอยต์ดังกล่าวไม่มีการเอ่ยถึงชื่อของชาวอุยกูร์ เช่น สไลด์แผ่นหนึ่งที่ตั้งชื่อว่า ‘หนึ่งคนหนึ่งไฟล์ รายงานวิธีการแก้ปัญหาระดับสูง’ ระบุว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในนครอุรุมชี เมืองเอกของมณฑลซินเจียงอุยกูร์ ใช้ระบบจดจำใบหน้าเพื่อจับผู้ต้องสงสัยว่าเป็นอาชญากรในมณฑลซินเจียงอุยกูร์ โดยระบบจดจำใบหน้าดังกล่าวพัฒนาโดยหัวเว่ยและบริษัท Beijing Geling Shentong Information Technology ของจีนที่ถูกกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ คว่ำบาตรไปเมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ทั้งนี้ รายงานของนักวิจัยเรื่องการสอดแนมด้วยกล้องวิดีโอระบุถึงรายละเอียดว่าหัวเว่ยใช้ระบบจดจำใบหน้าเพื่อระบุอัตลักษณ์บุคคลและส่งแจ้งเตือนไปยังเจ้าหน้าที่เมื่อระบุได้ว่าบุคคลที่พบเป็นชาวอุยกูร์

นอกจากนี้ยังมีสไลด์อีกแผ่นที่กล่าวถึงการระบุอัตลักษณ์บุคคลด้วยลายพิมพ์เสียง (voiceprint) หรือการระบุตัวตนด้วยการใช้กราฟวิเคราะห์ลักษณะเสียงพูดของบุคคลโดยเทียบเคียงกับฐานข้อมูลเสียงที่ถูกบันทึกไว้ ซึ่งแหล่งที่มาของเสียงนั้นมาจากการบันทึกเสียงในโทรศัพท์ และแอปพลิเคชันในสมาร์ทโฟน รวมถึง ‘เสียงที่กสัดหรือได้รับมาจากเป้าหมาย’ ซึ่งแหล่งสุดท้ายไม่ได้ระบุว่าใช้วิธีใดเพื่อนำเสียงมาใช้เป็นข้อมูลอินพุต (Inputs) หัวเว่ยพัฒนาระบบลายพิมพ์เสียงร่วมกับ iFlyTek ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีจีนที่ถูกทางการสหรัฐฯ คว่ำบาตรด้วยเหตุผลว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวอุยกูร์

เมื่อไม่นานนี้ สหรัฐฯ ขึ้นบัญชีดำบริษัทจีนหลายแห่ง และห้ามไม่ให้บริษัทสหรัฐฯ ทำธุรกรรมร่วมกับบริษัทเหล่านั้น โดยทางการสหรัฐฯ อ้างว่าบริษัทเหล่านั้นช่วยรัฐบาลจีนสอดแนมชนกลุ่มน้อยในมณฑลซินเจียงอุยกูร์ ซึ่งหนึ่งในบริษัทที่ถูกขึ้นบัญชีดำมีชื่อของหัวเว่ยรวมอยู่ด้วย หัวเว่ยได้รับความสนใจเป็นพิเศษจากการมีชื่อในบัญชีนี้ เนื่องจากในช่วงสงครามการค้าสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ รัฐบาลสหรัฐฯ เสนอว่าบริษัทโทรคมนาคมควรลงทุนในบริษัทคู่แข่งของหัวเว่ย และกล่าวหาว่าหัวเว่ยสร้าง ‘แบคดอร์’ หรือรูรั่วทางระบบซอฟต์แวร์ ซึ่งเป็นช่องโหว่ให้แฮกเกอร์เจาะระบบอุปกรณ์เหล่านั้นได้

ทั้งนี้ หัวเว่ยปฏิเสธว่าบริษัทไม่ได้พัฒนาหรือขายระบบสอดแนมเหล่านี้ให้กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และบอกว่าบริษัท “ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวมาเป็นอันดับหนึ่ง” นอกจากนี้ ในเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา หัวเว่ยและบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อื่นๆ ให้สัญญาว่าพวกเขาจะไม่นำระบบจดจำใบหน้าหรือระบบสอดแนมอื่นมาใช้ในทางที่ผิด หลังจากที่ถูกกดดันจากจีนและมีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลใหม่มีผลบังคับใช้

เรียบเรียงจาก:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net