Skip to main content
sharethis

'ศิริกัญญา' ส.ส.พรรคก้าวไกลไม่เชื่อมั่นองค์กรกำกับดูแล ชี้ 3 เหตุผลจำเป็นตั้ง กมธ.ศึกษาผลกระทบควบรวม 'ทรู-ดีแทค' หวั่นประชาชนเจอค่าบริการแพง ยิ่งสร้างเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร

17 ธ.ค. 2564 วานนี้ (16 ธ.ค. 2564) ที่รัฐสภา ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล อภิปรายเสนอญัตติด่วน ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาผลกระทบ กรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคม บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ตนเองและคณะเป็นผู้เสนอ โดยระบุว่าการประกาศความร่วมมือ Equal partnership และมีข่าวการควบรวมกิจการทำให้สังคมเกิดความกังวล เนื่องจากทั้ง 2 บริษัทนี้มีบริษัทลูกเป็นผู้ถือใบอนุญาติให้บริการกิจการโทรศัพท์มือถือด้วยทั้งคู่ โดยที่กิจการโทรศัพท์มือถือเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของประชาชนในปัจจุบัน จึงน่ากังวลว่าโครงสร้างตลาดเดิมของธุรกิจโทรคมนาคมซึ่งมีความกระจุกตัวอยู่แล้วนั้น คือมีผู้ให้บริการหลักเพียง 3 ราย ส่วนรายที่ 4 นั้นมีส่วนแบ่งการตลาดน้อย หากการควบรวมครั้งนี้เกิดขึ้นจริง จะทำให้เหลือผู้ประกอบการเพียง 2 รายเท่านั้น โดยที่ทั้ง 2 รายจะกินส่วนแบ่งตลาดรวมกันถึงร้อยละ 98 กลายเป็นตลาดที่มีระดับการผูดขาดที่เรียกได้ว่าเป็นอันตราย และง่ายต่อการใช้อำนาจเหนือตลาดอย่างไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค

"มีผลการศึกษาในหลายประเทศทั่วโลกว่า แม้แต่การควบรวมเพื่อลดขนาดจาก 4 ราย เหลือ 3 ราย ก็จะทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าบริการที่จะสูงขึ้น ซึ่งแม้ต่อหน่วยอาจจะถูกลงแต่ก็จะถูกบังคับขายในแพ็คเกจที่มีราคาแพงขึ้น ซึ่งการควบรวมจาก 4 รายไป 3 ราย ก็มีบางกรณีที่องค์กรผู้กำกับดูแลหลายๆ ประเทศห้ามเพราะจะทำให้เกิดอำนาจเหนือตลาด แต่ทว่า สำหรับการควบรวมจาก 3 ราย เหลือ 2 รายนั้น แทบจะไม่มีเกิดขึ้นเลย ในระยะเกือบ 10 ปีที่ผ่านมานั้นมี 2 กรณีในยุโรป แต่ว่าองค์กรกำกับดูแลก็ไม่ได้ให้การอนุญาต อย่างไรก็ตามนอกจากเรื่องค่าบริการแล้ว ยังส่งผลกระทบเรื่องการเข้าถึงบริการอินเตอร์เน็ตของประชาชนด้วย เพราะในปัจจุบันประชาชนใช้อินเตอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วย ดังนั้น การแข่งขันที่ลดลงก็เท่ากับว่าต้นทุนการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนจะเพิ่มขึ้น ลดโอกาสเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านดิจิตัลของประชาชนด้วย" ศิริกัญญากล่าว

ศิริกัญญากล่าวว่ายังมีอีกเรื่องที่เป็นข้อกังวลยิ่ง เพราะปัจจุบันยังมีข้อถกเถียงจากนักวิชาการและภาคประชาสังคมเกี่ยวกับการกับดูแลขององค์กรของรัฐว่า สรุปแล้วใครเป็นผู้มีอำนาจในการกำกับดูแลและพิจารณาอนุญาตให้เกิดการควบรวมในครั้งนี้ได้ เนื่องจากหน่วยงานที่มีอำนาจการกำกับดูแลเรื่องกิจการโทรคมนาคม อย่างคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ก็ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องข้อกฎหมาย ส่วนคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ซึ่งควรต้องพิจารณาเรื่องควบรวมก็กลับบอกว่าตนเองไม่มีอำนาจ เนื่องจากตาม พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้านั้น ถ้ามีกฎหมายเฉพาะจะต้องใช้กฎหมายเฉพาะ ซึ่งในกรณีนี้ก็จะเป็น พ.ร.บ.กสทช. ซึ่งก็มีปัญหาอีกเช่นกัน เนื่องจากได้มีการออกกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้อง 2 ฉบับ คือ ประกาศเกี่ยวกับการป้องกันการผูขาด พ.ศ.2549 ที่พูดเรื่องการขออนุญาตอย่างชัดเจน หากจะมีเรื่องการถือครองธุรกิจบริการประเภทเดียวกันเกินกว่าร้อยละ 10 จำเป็นต้องขออนุญาต แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีอีกฉบับ คือประกาศในปี 2561 เปลี่ยนจากเรื่องการขออนุญาตเป็นแค่การรายงาน นั่นเท่ากับว่า เป็นการผ่อนปรน เอื้อให้การควบรวมกิจการนั้นเป็นไปได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องขออนุญาต คือเท่ากับว่า กสทช. ไม่มีอำนาจในการยับยั้งการควบรวม เพียงแค่มีอำนาจในการออกมาตรการเฉพาะหรือออกเงื่อนไขเพื่อรักษาระดับการแข่งขันเอาไว้เท่านั้น

"ตรงนี้ทำให้เกิดข้อกังวลว่า การควบรวมกิจการที่จะส่งผลกระทบกับชีวิต กระทบกับผลประโยชน์ประชาชนและประเทศชาติขนาดนี้ ยังจำเป็นต้องมีการขออนุญาตหรือไม่ หรือสามารถกระทำได้โดยที่ไม่ต้องมีการกำกับดูแลแต่อย่างใด แต่อย่างไรก็ตาม ในส่วนสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า แม้ว่าทางบอร์ดจะได้มีการออกมาปฏิเสธว่าไม่มีอำนาจ แต่จริงๆ สามารถแสดงบทบาทหน้าที่ในการเข้ามาสอดส่อง ป้องกันการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการค้าที่จะกระทบกับการแข่งขันที่เป็นธรรมได้ คือป้องกันการฮั้วของทั้ง 2 เจ้านั่นเอง เพราะการควบบริษัทนี้จะไม่ได้เป็นแค่การรวม A กับ B แล้วเป็น A หากแต่เป็นการรวมแล้วเกิดบริษัทใหม่ขึ้นมา เท่ากับว่าต้องเป็นการรวมกันในทุกมิติกิจการ ดังนั้น ในกระบวนการเจรจา อาจจะมีขั้นตอนที่เรียกว่า Due Diligence คือการตรวจสอบกิจการซึ่งกันและกัน ซึ่งสุ่มเสี่ยงมากที่จะเข้าข่ายพฤติกรรมที่เข้าค่ายการปฏิบัติการการค้าไม่เป็นธรรม อาจจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงลึกที่เกี่ยวกับราคา เงื่อนไขบริการ แผนการลงทุนต่างๆ พฤติกรรมเหล่านี้อาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญต่อผู้บริโภคและการแข่งขัน แม้ว่าในท้ายที่สุดการควบรวมกิจการอาจจะไม่บรรลุผลสำเร็จก็ตาม" ศิริกัญญากล่าว

ศิริกัญญา กล่าวว่า สำหรับเหตุผลที่เห็นว่าจำเป็นที่จะต้องตั้ง กมธ.วิสามัญขึ้นมาพิจารณาเรื่องนี้ คือ ประการแรก มีความกังวลของภาคประชาชน เรื่องการกำกับดูแลที่ย่อหย่อน ของทั้ง กสทช. และ กขค. ดังนั้น จึงเป็นเหตุผลหลักที่สภาแห่งนี้จำเป็นต้องตรวจสอบอีกชั้นหนึ่ง เพราะนี่แทบเป็นเครื่องมือเดียวที่เหลืออยู่ในการกำกับตรวจสอบองค์กรอิสระต่างๆ ที่ทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการอื่นๆ ประการที่สอง กรณีนี้มีความซับซ้อนในเชิงเทคนิคที่ต้องการความเชี่ยวชาญเฉพาะใน 2 เรื่อง คือ 1.เรื่องธุรกิจโทรคมนาคมที่มีความซับซ้อน และ 2.เรื่องกฎหมายทางการค้า ซึ่งก็มีความซับซ้อนเช่นกัน ทำให้จำเป็นต้องใช้กลไกผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกเข้ามามีส่วนร่วม ประการที่สาม ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาขององค์กรกำกับดูแล ทำให้เราขาดความไว้เนื้อเชื่อใจ กรณีที่เพิ่งเกิดขึ้นอย่างการควบรวมกิจการค้าปลีกระหว่างซีพีกับเทสโก้ ทำให้เราเกิดความไม่เชื่อมั่นกับองค์กรที่กำกับดูแล ขณะที่ในส่วน กสทช. นั้น กว่า 10 ปี ที่คณะกรรมการชุดนี้ปฏิบัติหน้าที่มา มีหลายกรณีที่ทำให้เราเกิดความกังวล ไม่ว่าจะเป็นกรณีล่าสุดอย่างการยืดหนี้ค่าประมูล 4G ให้กับผู้ได้รับใบอนุญาติ 10 ปี โดยไม่มีดอกเบี้ยจากเดิมที่ต้องผ่อนชำระใน 4 ปี

"กรณีการยืดหนี้ อาจจะไม่ใช่บอร์ดเป็นคนตัดสินใจ แต่เป็นกรณีที่บอร์ดเองถูกแทรกแซงโดย คสช. โดยคำสั่งมาตรา 44 ที่ 4/2562 ให้ผ่อนซำระค่าประมูลได้ และยังมีการให้อำนาจเลขาธิการ กสทช. ข้ามหัวบอร์ด กสทช. อีกทีหนึ่ง ซึ่งบอร์ดกลับเพิกเฉยยอมให้ถูกกระทำ โดยไม่ออกมาปกป้องผลประโยชน์รัฐและประชาชน และยังเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือด้วย เพราะนี่เป็นการแก้ไขกติกาหลังประมูล ซึ่งไม่เป็นธรรมกับผู้เข้าร่วมประมูลรายอื่นๆ หรือเอกชนที่มีศักยภาพที่เข้าร่วมประมูล และตามคำสั่ง ที่ 4/2562 ยังมีการยกหนี้ที่กระทรวงการคลังใช้เงินของกองทุนวิจัยและพัฒนา ของ กสทช. คือมีการใช้ประกาศคำสั่ง คสช. 80/2557 แก้ พ.ร.บ. กสทช เรื่องวัตถุประสงค์การใช้เงินกองทุน จนล้วงเอาเงินกองทุนให้กระทรวงการคลังไปใช้ ต่อมาปี 2562 ก็ใช้คำสั่ง คสช. ในการยกหนี้ให้กระทรวงการคลังไม่ส่งต้องคืน ซึ่งนี่เป็นอีกครั้งที่บอร์ด กสทช.ยอมให้ฝ่ายรัฐบาลขณะนั้นแทรกแซงกิจการตนเองโดย ไม่ป้องประโยชน์ประชาชน ซึ่งนี่เพียงตัวอย่างที่องค์กรกำกับดูแลไม่ได้ทำหน้าที่ตัวเองอย่างภาคภูมิ จึงเป็นเหตุผลที่จำเป็นต้องตั้ง กมธ.วิสามัญครั้งนี้ ตรวจสอบคู่ขนาน เพื่อปกป้องผลประโยชน์ประชาชนเป็นสำคัญ" ศิริกัญญากล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net