Skip to main content
sharethis

ศาลอาญา รัชดา ตัดสินประชาชน 5 รายมีความผิดละเมิดอำนาจศาล เหตุร่วมชุมนุมร้องศาลคืนสิทธิประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมือง และปาไข่ มะเขือเทศ และสีแดงใส่พื้นที่ศาล เมื่อ 2 พ.ค. 64 โดย 'อั๋ว' ถูกจำคุก 2 เดือน แต่รอลงอาญา ผู้ถูกกล่าวหาอีก 4 ราย โดนโทษกักขัง 40 วัน และ 2 เดือน ก่อนได้ประกันตัวทั้งหมด   

 

22 ธ.ค. 64 ข่าวสด ออนไลน์ รายงานวันนี้ (22 ธ.ค.) ระบุว่า ศาลอาญา รัชดา ตัดสินให้ผู้ต้องหา 5 ราย ประกอบด้วย ศุภกิจ บุญมหิทานนท์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1, วีรภาพ วงษ์สมาน หรืออาลีฟ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2, พัชรวัฒน์ โกมลประเสริฐกุล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 และจุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 และ ศรัณย์ อนุรักษ์ปราการ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30, 31 (1), 33 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 จากการร่วมชุมนุมเรียกร้องสิทธิประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมือง และปามะเขือเทศ ไข่ ของเหลวสีแดงใส่ป้าย หน้าศาลอาญา รัชดา เมื่อ 2 พ.ค. 64

ภาพเมื่อ 1 ก.ค. 64 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1, 2, 3 และ 5 เดินทางมาศาลอาญา ตามการนัดไต่สวนคดีละเมิดอำนาจศาลกรณีการชุมนุมเมื่อวันที่ 2 พ.ค. 64 (ภาพจาก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน)

ขณะกระทำความผิดผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 อายุ 19 ปีเศษ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2และ 3 อายุ 18 ปีเศษ เห็นควรลดโทษให้ 1 ใน 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 คงจำคุกคนละ 2 เดือน และให้จำคุกผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 และที่ 5 คนละ 3 เดือน ปรับผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 จำนวน 480 บาท

แต่เนื่องด้วยผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 5 คนนำสืบรับข้อเท็จจริงเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละ 1 ใน 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกผู้ถูกกล่าวหาที่ 1-3 คนละ 40 วัน คงจำคุกผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 และ 5 คนละ 2 เดือน ปรับผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 จำนวน 320 บาท

พิเคราะห์พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งคดีแล้วเห็นว่า ขณะเกิดเหตุผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 ร่วมกระทำผิดเฉพาะในส่วนการเข้าไปช่วยยกสิ่งของที่มีผู้นำมาให้ผู้ร่วมชุมนุมใช้ขว้างปา และช่วยคนสีในถังเป็นช่วงเวลาสั้น โดยทางไต่สวนไม่พอฟังว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 เป็นแกนนำจัดให้มีการชุมนุม ทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ขณะร่วมชุมนุม ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 กระทำการใดอันเป็นการก่อความวุ่นวายอื่นอีก และไม่ปรากฎว่าเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน

เพื่อให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 กลับตนเป็นพลเมืองดี จึงเห็นสมควรให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 2 ปี และให้คุมความประพฤติโดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 เดือนต่อครั้ง ภายในกำหนดเวลา 1 ปี และให้ทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์เป็นเวลา 12 ชั่วโมง

สำหรับผู้ถูกกล่าวหาที่ 1, 2, 3 และ 5 มีพฤติการณ์เข้าร่วมชุมนุมโดยใช้ความรุนแรงอันเป็นการไม่นำพาต่อความสงบเรียบร้อยในสังคม จึงไม่มีเหตุรอการลงโทษ แต่เพื่อมิให้มีประวัติต้องโทษจำคุก จึงให้เปลี่ยนโทษจำคุกของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1, 2, 3 และ 5 เป็นโทษกักขัง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23 โดยให้กักขังผู้ถูกกล่าวหาที่ 1, 2, 3 มีกำหนด 40 วัน และกักขังผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 มีกำหนด 2 เดือน โดยทนายความทำเรื่องยื่นคำร้องขออนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 4 คน คือผู้ต้องหาที่ 1, 2, 3 และ 5

ต่อมา เวลา 17.30 น.ที่บริเวณหน้าป้ายรถเมล์ ศาลอาญา รัชดา สำนักข่าวราษฎร ถ่ายทอดสดผ่านเพจเฟซบุ๊ก พบว่า ผู้ต้องหาทั้ง 4 คนได้รับการประกันตัว โดยวางเงินคนละ 50,000 บาท รวมเป็น 200,000 บาท ใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์

เหตุแห่งคดีสืบเนื่องการประท้วงเมื่อ 2 พ.ค. 64 หน้าศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นัดรวมตัวโดยกลุ่มรีสตาร์ทเดโมเครซี หรือรีเดม (REDEM) เพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวให้ผู้ต้องหาทางการเมือง ซึ่งช่วงก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 64 แม้พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน นักกิจกรรมการเมืองจากกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จะอดอาหารเรียกร้องสิทธิประกันตัวร่วมเดือนครึ่ง จนมีอาการถ่ายเป็นชิ้นเนื้อ แต่ศาลอาญาก็ไม่ให้ประกันเพนกวิน รวมทั้งนักกิจกรรมที่ถูกคุมขังในคดีมาตรา 112 คนอื่นๆ รวม 7 ราย แต่อย่างใด

ในวันดังกล่าว ประชาชนมีการใช้เครื่องขยายเสียงตำหนิและด่าทอ นายชนาทิป เหมือนพะวงศ์ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาอยู่ตลอดเวลา และมีการนำสิ่งของ เช่น มะเขือเทศ ไข่ไก่ และน้ำแดง มาแจกให้กับประชาชน จากนั้น ประชาชนนำสิ่งของดังกล่าวขว้างปาใส่บริเวณป้ายศาลอาญา และป้ายสำนักงานยุติธรรม ก่อนยุติการชุมนุมด้วยความสงบ

 

ต่อมา 1 ชั่วโมงให้หลังการประกาศยุติการชุมนุม เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนได้ใช้กำลังเข้าสลายการรวมตัวของกลุ่มบุคคลประมาณ 20-30 คน ที่หลงเหลือ และจับกุมบุคคลรวม 4 ราย โดยเป็นเยาวชนชาย 1 ราย แจ้งข้อหาร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าหน้าที่, ร่วมกันทำลายทรัพย์สินผู้อื่น, มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อความวุ่นวาย และฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ โดย 1 ในผู้ถูกจับเพียงแต่เข้าไปขายเสื้อและหนังสือในที่ชุมนุม และ 3 ราย ได้รับบาดเจ็บระหว่างการจับกุมของเจ้าหน้าที่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คาราวาน REDEM ประจานรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ผู้ไม่ให้สิทธิประกันตัวนักโทษ ม.112

นอกจากนี้ ภายหลังจากวันดังกล่าว เจ้าหน้าที่สืบสวนและสามารถพิสูจน์ทราบบุคคลที่ร่วมกันกระทําการอันไม่สงบเรียบร้อยภายในบริเวณและรอบบริเวณศาลอาญา คือ ผู้ถูกกล่าวหา 5 รายข้างต้น ร่วมกันก่อเหตุให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยภายในบริเวณศาลอาญา รัชดาฯ และรอบศาลอาญา โดยการทำวัตถุสิ่งของมาปาใส่ข้ามรั้วศาลเข้าไปด้านใน ซึ่งถือเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยบริเวณศาลอาญา และฝ่าฝืนข้อกำหนดศาล จึงมีการแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดตามมา 

อนึ่ง นอกจากประชาชนทั้ง 5 ราย ที่ถูกตั้งเรื่องไต่สวนคดีละเมิดอำนาจศาลในคดีนี้แล้ว ทั้งหมดยังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.พหลโยธิน ดำเนินคดีในข้อหา “ดูหมิ่นศาล” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 และข้อหาอื่นๆ รวม 5 ข้อหา จากการทำกิจกรรมที่ด้านหน้าศาลอาญาในวันเดียวกันนี้อีกด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net