Skip to main content
sharethis

ช่วงกลางมกราคมที่ผ่านมา เศรษฐีที่ร่ำรวยหลักล้านหรือพันล้านขึ้นไปกว่า 102 คน ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกเก็บภาษีพวกเขา เพื่อลดช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนที่กำลังเหลื่อมล้ำขึ้นอย่างสุดขีด ในจำนวนนี้ ยังไร้เงาเศรษฐี 20​ อันดับแรกของเอเชียจากการจัดอันดับล่าสุดของบลูมเบิร์ก ซึ่งรวมถึง ตระกูลเจียรวนนท์ (อันดับ 5) และ ตระกูลอยู่วิทยา (อันดับ 10)

“เก็บภาษีเราเดี๋ยวนี้”

สำนักข่าวเดอะการ์เดียนรายงานว่า เศรษฐีกว่า 102 คนทั่วโลก ได้ลงนามในจดหมายเรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกเก็บภาษีของพวกเขาเพิ่มขึ้น ในจำนวนนี้ มี อะบิเกล ดิสนีย์ ทายาทของบริษัทดิสนีย์ร่วมลงนามด้วย เธอระบุว่าระบบภาษีในปัจจุบันถูกออกแบบมาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับคนรวย และเป็นระบบที่จำเป็นต้องมีการแก้ไขเพื่อทำให้การเก็บภาษีเป็นธรรมกับคนที่ทำงานหนักมากขึ้น และทำให้คนเหล่านี้กลับมาศรัทธาในการเมืองอีกครั้ง

“ในฐานะเศรษฐี เรารู้ว่าระบบภาษีปัจจุบันไม่เป็นธรรม” ข้อความหนึ่งในจดหมายระบุ เมื่อวันพุธที่ 2 ม.ค. ที่ผ่านมา “เราส่วนใหญ่คงพูดได้ว่า แม้โลกจะเผชิญกับความทุกข์ทรมานอย่างใหญ่หลวงตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ในความเป็นจริงเรากลับเห็นว่าความมั่งคั่งของเราเพิ่มขึ้นในช่วงที่มีโรคระบาด ทว่า น้อยคนหรือแทบไม่มีใครเลยที่บอกได้อย่างสัตย์จริงว่าเราจ่ายภาษีในสัดส่วนที่เป็นธรรม”

ผู้ลงนามในจดหมายดังกล่าว เรียกตัวเองว่า “เศรษฐีผู้รักชาติ” และเรียกร้องเสนอให้มี “การเก็บภาษีความมั่งคั่งอย่างถาวรกับกลุ่มคนที่รวยที่สุดเพื่อลดความเหลื่อมล้ำสุดขีดและเพิ่มงบประมาณสำหรับการเพิ่มบริการสาธาณะอย่างยั่งยืนในระยะยาว เช่น บริการสาธารณสุข” จากรายชื่อพบว่าผู้ลงนามเหล่านี้เป็นเศรษฐีในโลกตะวันตก เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมนี แคนาดา นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ และเดนมาร์ก

“การฟื้นคืนศรัทธากลับมาอีกครั้งจำเป็นต้องเก็บภาษีกับคนรวย” จดหมายดังกล่าวระบุ โดยมีการเผยแพร่ออกมาขณะที่ผู้นำโลกและผู้นำธุรกิจเข้าร่วมการประชุมเสมือนของ World Economic Forum ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในเมืองดาโวส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ “โลก และทุกประเทศในโลก จะต้องเรียกร้องให้คนรวยจ่ายภาษีในสัดส่วนที่เป็นธรรม เก็บภาษีพวกเราที่เป็นคนรวย และเก็บภาษีพวกเราเดี๋ยวนี้”

กลุ่มเศรษฐีผู้รักชาติ ซึ่งรวมถึงนิค ฮานูเออร์ นักลงทุนที่มีรายได้กว่า 1 พันล้านดอลล่าร์จากการซื้อหุ้นของอเมซอนในช่วงบุกเบิก ระบุว่าการเก็บภาษีความมั่งคั่งรายปีกับบุคคลที่มีรายได้มากกว่า 5 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ ฯ ขึ้นไปจะทำให้รัฐบาลได้งบประมาณสูงถึง 2.52 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ เงินจำนวนนี้สามารถสร้างประโยชน์ให้กับคนทั่วโลกได้อย่างมหาศาล

กลุ่มเศรษฐีผู้รักชาติระบุว่าเงินจำนวนนี้เพียงพอสำหรับการ “ยกระดับคนให้พ้นจากความยากจนได้กว่า 2.3 พันล้านคน” นอกจากนี้ ยังเหลือพอสำหรับการ “ผลิตวัคซีนให้เพียงพอสำหรับทั้งโลก และสร้างระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าและประกันสังคมให้กับพลเมืองทุกคนที่อยู่ในประเทศที่มีรายได้น้อยและรายได้น้อยถึงปานกลาง (ซึ่งนับเป็นประชากรทั้งหมด 3.6 ล้านคน)”

ทั้งนี้ ข้อเสนอนี้อยู่บนเงื่อนไขว่า จะต้องเก็บภาษี 2% กับคนที่มีรายได้มากกว่า 5 ล้านดอลล่าร์ 3% กับคนที่มีรายได้มากกว่า 50 ล้านดอลล่าร์ และ 5% สำหรับคนที่รายได้หนึ่งพันล้านดอลล่าร์ขึ้นไป กลุ่มเศรษฐีระบุด้วยว่าประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาทำให้เห็นแล้วว่าสังคมที่เหลื่อมล้ำสุดขีดอย่างมากมีจุดจบเป็นอย่างไร ถึงเวลาที่เศรษฐีจะต้องเลือกระหว่าง “ภาษี” หรือ “คราด” เสียบประจาน

ในช่วงไล่เลี่ยกัน กลุ่ม Oxfam ได้เผยแพร่รายงานชื่อ “ความเหลื่อมล้ำฆ่าคนได้” ระบุว่าเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลก 10 อันดับร่ำรวยขึ้น 2 เท่าในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 และมีทรัพย์สินมากกว่าผู้คนทั่วไปถึง 3,100 ล้านคน ขณะความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 21,300 คนต่อวัน ผู้ชายที่ร่ำรวยที่สุด 252 อันดับแรกยังมีทรัพย์สินมากกว่าผู้หญิง 1,000 ล้านคนในแอฟริกา ละตินอเมริกา และประเทศแถบแคริบเบียนรวมกันด้วย

ไร้เงาเจ้าสัวไทย-เอเชีย

แม้เศรษฐีในโลกตะวันตกบางกลุ่มจะเริ่มออกมาเคลื่อนไหวอย่างจริงจังเกี่ยวกับการลดความเหลื่อมล้ำด้วยเก็บภาษี แต่ดูเหมือนว่าประเด็นนี้จะยังไม่ได้รับการตอบรับจากเศรษฐีในเอเชีย จากจดหมายเรียกร้องของเศรษฐี 102 คนข้างต้น มีเศรษฐีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่พอเรียกได้ว่ามีเชื้อสายเอเชียอยู่บ้าง นั่นคือ จาฟฟาร์ ชาลชี ซึ่งเป็นลูกครึ่งอิหร่านและเดนมาร์ก

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานเมื่อวันที่ 29 มกราคมที่ผ่านมาว่า ปัจจุบัน เศรษฐี 20 อันดับแรกของเอเชียครอบครองทรัพย์สินกว่า 495 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ นับว่าสูงขึ้นกว่าปี 2020 ถึง 33 ล้านพันดอลล่าร์สหรัฐ ฯ ในจำนวนนี้มีเศรษฐีไทยติดอันดับ 2 ครอบครัว ได้แก่ ตระกูลเจียรวนนท์ อันดับ 5 มีทรัพย์สิน 30 พันล้านดอลล่าร์ และตระกูลอยู่วิทยา อันดับ 10 มีทรัพย์สิน 19.6 พันล้านดอลล่าร์

ตระกูลจิราธิวัฒน์ เจ้าของเครือเซ็นทรัลในปีนี้ไม่ติด 20 อันดับแรก เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่ตระกูลเชิง เจ้าของบริษัท New World Development และ Chow Tai Fook ผู้นำด้านธุรกิจอัญมณีและอสังหาริมทรัพย์ของฮ่องกงติดอันดับ 7 แต่เรื่องราวได้ขึ้นของบลูมเบิร์กเป็นคนแรก หลังได้รับผลกระทบจากการประท้วงในฮ่องกง และวางแผนว่าจะขายบ้านต่ำกว่าราคาตลาด 50% เพื่อแก้วิกฤติที่พักอาศัยในฮ่องกง

ปัจจุบันครอบครัวที่ร่ำรวยที่สุดในเอเชีย 3 อันดับแรก 2 ครอบครัวมาจากประเทศอินเดีย ได้แก่ อันดับ1 ตระกูลอัมบานี เจ้าของบริษัท Reliance Industries ครอบครองทรัพย์สินกว่า 90.3 พันล้านดอลล่าร์ฯ จากอุตสาหกรรมกลั่นน้ำมัน และอันดับ 3 ตระกูลมิสตรี เจ้าของบริษัท Shapoori Pallonji Group ซึ่งดูแลเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคาร วิศวกรรม และผู้ถือหุ้นในบริษัท Tata Group ซึ่งเป็นเจ้าของ Jaguar Land Rover

อันดับ 2 ตกเป็นของตระกูลฮาร์โตโนจากประเทศอินโดนีเซีย เจ้าของบุหรี่ยี่ห้อ Djarum แและ Bank Central Asia ขณะที่เศรษฐีฮ่องกงยังคง 20 ติดอันดับแรกของเอเชียถึง 5 ตระกูล แม้เผชิญกับการประท้วงและวิกฤติที่พักอาศัย นอกจากนี้เป็นเศรษฐีในเกาหลีใต้ ประเทศไต้หวัน จีนแผ่นดินใหญ่ ฟิลิปปินส์ และญี่ปุ่น บลูมเบิร์กวิเคราะห์ว่าขณะนี้ครอบครัวมหาเศรษฐีในเอเชียกำลังหันไปสนใจเกี่ยวกับธุรกิจสีเขียวและอีคอมเมิร์ซมากขึ้น

 

แปลและเรียบเรียงจาก
 

https://www.theguardian.com/business/2022/jan/19/millionaires-call-on-governments-worldwide-to-tax-us-now

 

https://www.bloomberg.com/features/2022-asia-richest-families/

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net