Skip to main content
sharethis

สมาพันธ์คนจันท์ต้านเหมืองทอง ยื่นหนังสือต่อสภาผู้แทนราษฎร-รัฐบาล คัดค้านคำขอออกอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำฯ พร้อมเรียกร้องให้ถอนจันทบุรีออกจากเขตพื้นที่ทำเหมือง ชี้เป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญและพื้นที่เศรษฐกิจเพาะปลูกผลไม้


ที่มาภาพ: เว็บไซต์สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

เว็บไซต์สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานเมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2565 ว่าสมาพันธ์คนจันท์ต้านเหมืองทอง และภาคีเครือข่าย ยื่นหนังสือต่อสภาผู้แทนราษฎรผ่านไปถึงรัฐบาล เพื่อขอให้เร่งรัดกระบวนการในการยุติคำขอออกอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำฯ และเรียกร้องให้ถอดถอนจันทบุรีออกจากเขตพื้นที่แหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง โดยมีนางสาวผ่องศรี ธาราภูมิ คณะทำงานทางการเมืองของประธานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายจารึก ศรีอ่อน รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร และนายธีรัจชัย พันธุมาศ โฆษกคณะกรรมาธิการฯ เข้ารับหนังสือ
          
โดย นางสาวอินทิรา มานะกุล เลขาธิการสมาพันธ์คนจันท์ต้านเหมืองทอง ระบุว่าทางสมาพันธ์คนจันท์ต้านเหมืองทอง พร้อมทั้งภาคีเครือข่าย 44 องค์กรในจังหวัดจันทบุรี ได้ประกาศจุดยืนในการคัดค้านการออกอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำฯ ของบริษัทริชภูมิไมนิ่ง จำกัด รวมถึงการขอให้มีการถอดถอนจังหวัดจันทบุรีออกจากเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองโดยเร็ว ซึ่งตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลซึ่งเป็นผู้กำกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อขั้นตอนการขออนุญาติฯ ดังกล่าว ยังเพิกเฉยมิได้มีการดำเนินการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับคนจันทบุรี อีกทั้งพื้นที่จันทบุรีเป็นดินแดนแห่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ ตลอดจนมีการทำพื้นที่เพาะปลูกพืชผัก ผลไม้ ซึ่งมีมูลค่าหลายแสนล้านบาทต่อปี และยังเป็นพื้นที่ที่มีแหล่งต้นน้ำสำคัญที่ชาวจันทบุรีใช้น้ำในการอุปโภค-บริโภค และมีอ่างเก็บน้ำที่ใช้ส่งน้ำไปยังโครงการที่สำคัญของรัฐบาล อาทิ โครงการ EEC หรือโครงการระเบียงเศรษฐกิจในภาคตะวันออก จึงขอพิจารณาและมีข้อสั่งการเพื่อเร่งรัดกระบวนการ และให้ถอดถอนจันทบุรีออกจากเขตพื้นที่แหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่โดยเร็ว

ด้าน รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าในฐานะตัวเเทนรัฐบาล เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นเรื่องที่ขัดเเย้งกัน รัฐบาลจะดำเนินการนำปัญหาดังกล่าวไปหารืออย่างจริงจัง เพื่อพิจารณาหาเเนวทางแก้ไขปัญหา อย่างมีเหตุผลชัดเจน รวมถึงการเเก้ไขปัญหาการขัดกันเรื่องประโยชน์ระหว่างนโยบายภาครัฐเเละประชาชน พร้อมทั้งจะตั้งคณะกรรมการจากหลายฝ่าย เพื่อดำเนินการร่วมกันในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและหาความเป็นธรรมแก่สังคมต่อไป
          
ขณะที่ โฆษก ป.ป.ช. กล่าวว่าคณะกรรมาธิการฯ เคยได้รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าว และได้ลงพื้นที่ไปแล้วหนึ่งครั้ง ซึ่งพบว่า การสร้างเหมืองแร่บริเวณดังกล่าวสร้างควาทเสียหายต่อแหล่งต้นน้ำ และพื้นที่โดยรอบ และวันที่ 6-7 ก.พ. 2565 นี้ คณะกรรมาธิการฯ จะลงพื้นที่เพิ่มเติม เพื่อศึกษาผลกระทบอย่างรอบคอบต่อไป
        
นอกจากนี้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.จันทบุรี ยังกล่าวย้ำว่าคนจันทบุรีมีฉันทามติร่วมกันในการคัดค้านการมีเหมืองแร่ พร้อมต่อสู้ให้ถอดถอนจันทบุรี ออกจาก 1 ใน 12 จังหวัดเขตเหมืองเเร่ เนื่องจากแก่งหางแมวเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญในการกระจายน้ำไปยังพื้นที่ภาคตะวันออก อีกทั้งยังได้ส่งน้ำไปยังโครงการ EEC หากมีสารพิษปนเปื้อนอาจจะเป็นปัญหาวงกว้าง และจันทบุรียังเป็นพื้นที่เศรษฐกิจส่งออกผลไม้ไทยอยู่แล้ว จึงมองว่าเรื่องดังกล่าวไม่มีความคุ้มค่า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net