Skip to main content
sharethis

'สื่อชนเผ่าพื้นเมือง' รายงาน กฟผ. และบริษัทรับทำ EIA ‘โครงการผันน้ำยวม’ ลงพื้นที่อมก๋อยแจ้งความคืบหน้าการทำ EIA โครงการระบบโครงข่ายไฟฟ้า เลี้ยงเครื่องสูบน้ำยักษ์อุโมงผันน้ำยวม คาดการวางสายส่งไฟต้องตัดต้นไม้ในป่าลุ่มน้ำชั้น 1A ระยะทาง 47 กิโลเมตร ประมาณ 686 ไร่ ด้านประชาชนในพื้นที่ห่วงผลกระทบสุขภาพ – สูญที่ดินทำกิน และมีการป้ายคัดค้าน “ไม่เอาสายส่งไฟฟ้าแรงสูง” 

6 ก.พ.2565 เว็บไซต์เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง (Indigenous Media Network: IMN) รายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ม.ค. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พร้อมด้วยตัวแทนจากบริษัท “ปัญญา คอนชัลแตนท์” ที่ปรึกษาในการจัดทำทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการผันน้ำยวม ได้จัดประชุมนำเสนอความคืบหน้าโครงการผันน้ำยวมลงสู่เขื่อนภูมิพลขึ้นที่ห้องประชุม 2 อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีข้าราชการในอำเภอและผู้นำที่ได้รับหนังสือเชิญร่วมรับฟัง

เจ้าหน้าที่จาก กฟผ. และตัวแทนจากบริษัทปัญญา คอนชัลแตนท์ ได้นำเสนอความคืบหน้าการศึกษาผลและจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงข่ายไฟฟ้า 230 กิโลโวลต์ ลำพูน 3 – สบเมย

โครงการนี้เป็นการดึงไฟฟ้าแรงสูง ขนาด 230 กิโลโวลต์ 2 วงจร จากสถานีไฟฟ้าแรงสูงลำพูน 3 อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน มายังตำบลแม่สวด อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อไปจ่ายกระแสไฟให้กับเครื่องสูบน้ำขนาดยักษ์ของโครงการผันน้ำยวมที่ต้องการกำลังไฟมากถึง 400 เมกะวัตต์ โดยแนวโครงข่ายสายไฟความยาว 147 กิโลเมตร จะพาดผ่านพื้นที่ทำกินของชาวบ้านและพื้นที่ป่าด้วย มีแนวโครงข่ายสายไฟกว้างโดยรวม 40 เมตร และตัวเสาไฟมีความสูงที่ 45 เมตร

วิสุทธิ์ แสงมณี นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมจากบริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ ที่ได้รับการว่าจ้างจาก กฟผ. ให้ทำการศึกษาผลกระทบฯ ชี้แจงว่าในขั้นตอนการศึกษาได้แบ่งการสำรวจเป็น 2 ส่วน ดังนี้ ส่วนที่ 1 ในพื้นที่สบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน และพื้นที่อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ที่จัดอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1A ซึ่งต้องมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และส่วนที่ 2 พื้นที่ส่วนหนึ่งในอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่และพื้นที่อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน ส่วนหนึ่งที่อยู่ในลุ่มน้ำชั้น C ที่จัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (Initial Environmental Examination: IEE)

ผลกระทบต่อพื้นที่ป่าไม้ที่ต้องตัดออกไปเพื่อไม่ให้กีดขวางแนวส่งสายไฟนั้น นายวิสุทธิ์ชี้แจ้งว่า การศึกษาผลกระทบในช่วงพื้นที่ป่าชั้น 1A มีระยะทาง 47 กิโลเมตร รวมเนื้อที่ป่าประมาณ 686 ไร่ ซึ่งเบื้องต้นจะสันนิษฐานว่าต้องใช้พื้นที่ป่าทั้งหมด แต่อาจจะมีการยกเว้นไม่ตัดต้นในบางช่วงที่เป็นหุบเหว

“เราจะประเมินว่าต้องใช้พื้นที่ป่าทั้งหมดเลย แต่ในความเป็นจริง จะตัดเฉพาะต้นไม้ที่เป็นอันตรายต่อแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูงเท่านั้น ไม่ตัดต้นไม้ในหุบเขาที่ไม่ส่งผลกระทบต่อกระแสไฟฟ้า” วิสุทธิ์กล่าว

นอกจากนี้ยังมีบางช่วงที่ต้องเดินสายไฟใกล้กับชุมชนและที่ดินทำกินของชาวบ้านอีกด้วย ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่เกิดความกังวลต่อผลกระทบด้านสุขภาพและการสูญเสียที่ดินทำกินที่อาจไม่ได้รับการชดเชยเยียวยา เนื่องจากที่ดินทำกินส่วนใหญ่เป็นที่ดินที่สืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษ ไม่มีเอกสารสิทธิ์ นายเฉลิมวิทย์ ไกรขาว หัวหน้าแผนกสิ่งแวดล้อมระบบส่ง กองประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม กฟผ. จึงได้ชี้แจงว่า กฟผ. ได้จำแนกชุมชนผู้ได้รับผลกระทบออกเป็น 2 ประเภท คือ ชุมชนที่อยู่ในระยะประชิด (0 – 500 เมตร) และชุมชนที่อยู่ในรัศมี 500 – 2 กิโลเมตรจากแนวโครงข่ายไฟฟ้า และการจ่ายชดเชยค่าความเสียหายก็ได้กำหนดไว้ 2 ส่วน คือ ความเสียหายต่อที่ดินทำกิน ทาง กฟผ. จะจ่ายเป็นเงินช่วยเหลือในลักษณะความเสียหายที่เกิดจากการ “รอนสิทธิ์” โดยจะจ่ายเงินให้ 90% ให้แก่เจ้าของที่ดินที่มีแนวเสาไฟผ่าน และจะจ่ายอีก 100% หากมีฝังฐานเสาไฟ ซึ่งเงินชดเชยจะขึ้นอยู่กับราคาประเมินของคณะกรรมการอีกทอดหนึ่ง ส่วนพืชผลจะจ่ายค่าชดเชยให้เฉพาะส่วนที่เสียหายจากการก่อสร้าง ซึ่งอาจทำให้ไร่หมุนเวียนกำลังพักฟื้นอาจไม่ได้รับค่าชดเชย เพราะเจ้ากน้าที่จะจ่ายค่าเสียหายตามที่ปรากฎ ณ วันทำการสำรวจเท่านั้น

สมเกียรติ มีธรรม ว่าที่ผู้สมัครสส.พรรคก้าวไกล ได้เสนอแนะให้ทาง กฟผ. คำนึงถึงเรื่องภาษาที่ใช้ในการสื่อสารกับชาวบ้านและควรมีล่ามมาด้วยทุกครั้ง และยังตั้งข้อสังเกตว่าอาจมีบางชุมชนที่ตกหล่นจากการสำรวจ หลังจากนั้นวันที่ 28 ม.ค. 2565 เจ้าหน้าที่ กฟผ. ได้เดินทางเข้าไปชี้แจงความคืบหน้าให้ชาวบ้านในพื้นที่บ้านแม่สอ ต.นาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ซึ่งอยู่ในเขตที่จะได้รับผลกระทบจากทั้ง 2 โครงการ ทั้งโครงการอุโมงค์ผันน้ำและสายส่งไฟฟ้าแรงสูง

พูโซะ จำมรจารุเดช ผู้ใหญ่บ้านแม่สอใต้ มีความกังวลว่าชาวบ้านในพื้นที่อาจจะได้รับอันตรายสายส่งไฟฟ้าที่จะเข้ามาตั้งใกล้หมู่บ้าน จึงอยากให้หน่วยงานพิจารณาเรื่องการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำและสายส่งไฟฟ้าอย่างถี่ถ้วน เนื่องจากจะมีชาวบ้านในพื้นที่อีกจำนวนมากที่จะได้รับความเสียหายทั้งในแง่ของที่ดินทำกินและวิถีชีวิต โดยได้มีชาวบ้านจำนวนหนึ่งมาชูป้ายคัดค้านการดำเนินโครงการอุโมงค์ผันน้ำยวมและสายส่งไฟฟ้าอีกด้วย

นอกจากนี้มีรายงานข่าวด้วยว่ามีเยาวชนจำนวนหนึ่งมาถือป้ายคัดค้านโครงการดังกล่าว เช่นข้อความ “ไม่เอาสายส่งไฟฟ้าแรงสูง” ด้วย

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ : เว็บไซต์เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง (Indigenous Media Network: IMN)

อนึ่งโครงการผันน้ำยวมลงสู่เขื่อนภูมิพล เพื่อเติมน้ำให้แก่เขื่อนภูมิพลเป็นโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่กรมชลประทานกำหนดไว้ในแผนการทำงานว่าต้องใช้งบประมาณในการก่อสร้างถึง 71,000 ล้านบาท

  • วันที่ 15 ก.ย. 2564 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม–อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล หรือโครงการผันน้ำยวม มูลค่า 71,000 ล้านบาท ส่งผลให้กรมชลประทานเดินหน้าดำเนินงาน
  • โครงการประกอบด้วย 1.เขื่อนกั้นแม่น้ำยวม ความสูงจากระดับท้องน้ำถึงสันเขื่อน 69.5 เมตร ความยาวสันเขื่อน 260 เมตร เป็นเขื่อนดิน ถมดาดคอนกรีต ระดับกักเก็บปกติ 142 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง 2. สถานีสูบน้ำบ้านสบเงา ติดตั้งเครื่องสูบน้ำลึกจากพื้นดินประมาณ 40 เมตร และปรับปรุงลำน้ำยวม 6.4 กิโลเมตร 3. อุโมงค์อัดน้ำ อุโมงค์พักน้ำ อุโมงค์ส่งน้ำ 61.85 กิโลเมตร ขุดเจาะด้วยวิธีเจาะระเบิด และเครื่องเจาะ TBM (มีพื้นที่จัดการวัสดุจากการขุดอุโมงค์ DA ตลอดแนวอุโมงค์ 6 แห่ง รวมพื้นที่ 440 ไร่ มีพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น1เอ) อุโมงค์เข้าออก และ 4. ทางออกอุโมงค์ส่งน้ำลำห้วยแม่งูด ปรับปรุงลำห้วยแม่งูด 2.1 กิโลเมตร
  • ต้องใช้พื้นที่ป่าไม้ 3,467 ไร่ ในพื้นที่ป่ารอยต่อ 3 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ตาก และแม่ฮ่องสอน เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 4 แห่ง (ป่าแม่ยวมฝั่งซ้าย ป่าอมก๋อย ป่าแม่แจ่ม ป่าแม่ตื่น) พื้นที่เตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติ 1 แห่ง (อุทยานแห่งชาติแม่เงา) มีมาตรการป้องกันแก้ไขและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ต้องปลูกป่าทดแทน 7,283 ไร่ นอกจากนี้ยังมีระบบสายส่งไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จากลำพูน 3-สบเมย
  • กรมชลประทานจัดให้มีโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลขึ้นโดยปัจจุบันได้ว่าจ้าง บริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด และมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นผู้จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งมีข้อครหาถึงความโปร่งใสว่าเป็น “EIA ฉบับร้านลาบ” จากกรณีที่มีการนำภาพ ชื่อ และข้อมูลจากการพูดคุยกับชาวบ้านในร้านลาบไปใช้ระบุว่าเป็นการให้ข้อมูลและรับฟังความคิดเห็น
  • เมื่อประชาชนทำจดหมายไปขอคัดสำเนา EIA จาก สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) กลับมีคำตอบมาว่าต้องมีค่าใช้จ่ายคือค่าคัดสำเนา กระดาษขนาด A4 หน้าละ 1 บาท จำนวน 4,803 บาท และกระดาษขนาด A3 หน้าละ 3 บาท จำนวน 219 หน้าเป็นเงิน 657 บาท รวมเป็นเงิน 5,460 บาท และค่ารับรองสำเนา อัตราคำรับรองละ 3 บาท (5,022 หน้า) เป็นเงิน 15,066 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 20,526 บาท

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net