Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

 

“...ยูเครนมิใช่เป็นเพียงประเทศเพื่อนบ้านของเรา แต่ยังมีรากฐานการบูรณาการร่วมกันกับรัสเซียในทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ยูเครนใหม่ถูกสถาปนาขึ้นโดยรัสเซีย - บอลเชวิค - หรือโดยแน่ชัดก็คือพรรคคอมมิวนิสต์...” - วลาดิมีร์ ว. ปูติน

ประวัติศาสตร์คือบันทึกแห่งพัฒนาการการแก้ปัญหาของมนุษย์ และวิธีหนึ่งในการแก้ปัญหาของมนุษย์คือความรุนแรง ความรุนแรงเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ง่ายที่สุดและเห็นผลเร็วที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณมีทรัพยากรในมือมากพอ

และจะยิ่งได้เปรียบถ้าอีกฝ่ายไม่มีอะไรมาต่อกรด้วย

บทความนี้เป็นบทวิเคราะห์ถึงประเด็นพิพาทระหว่างรัสเซีย-ยูเครนเหนือดินแดนดอนบาสและไครเมีย เราจะมาหาคำตอบกันว่าประธานาธิบดีปูตินต้องการยูเครนตะวันออกไปเพื่ออะไร ลูกันสค์ โดเนตส์ และยูเครนตะวันออกสำคัญอย่างไรต่อข้อได้เปรียบทางภูมิรัฐศาสตร์ของรัสเซีย รวมถึงและท่าทีและการตอบสนองของรัสเซียต่อประชาคมโลก

ที่มาภาพ: Putin moves into eastern Ukraine, says country created by Communist Russia, CNBC Television

ตั้งแต่ครั้งประวัติศาสตร์ รัสเซียมีจุดบอดสำคัญนั่นก็คือการที่ตนไม่มีทางออกสู่ทะเลน้ำอุ่น เงื่อนไขทางภูมิรัฐศาสตร์บังคับให้รัสเซียต้องหาทางออกสู่ทะเลน้ำอุ่นให้ได้ เพราะถ้าหากทำไม่ได้ ประเทศรัสเซียจะกลายเป็นเพียงยักษ์ใหญ่ที่ไม่มีแขนขา - นอกจากจะเอื้อมไปหาโอกาสใหม่ ๆ ไม่ได้แล้ว ยังถือเป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่จะถูกรุกรานจากประเทศรอบข้างโดยที่รัสเซียสามารถป้องกันตนเองได้ยาก

อย่างไรก็ตาม รัสเซียมีอุปสรรคสำคัญที่ขวางกั้นไม่ให้สามารถเข้าถึงทางออกทะเลได้โดยง่ายคือช่องแคบบอสโฟรัสของตุรกีซึ่งเป็นปราการด่านสำคัญที่รัสเซียเสียเปรียบ รวมถึงไครเมีย - พื้นที่ที่รัสเซียต้องแย่งชิงอำนาจกับตุรกีมาอย่างเนิ่นนานตั้งแต่ยุคจักรวรรดิ และต้องมาสู้รบปรบมือกับยูเครนเพื่อไครเมียอีกหลังจากยานูโควิชถูกถอดถอนให้พ้นจากตำแหน่ง สงครามไครเมียในปี 2014 จึงปะทุขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้จะนำมาซึ่งความเสียหายทางเศรษฐกิจแก่รัสเซียอย่างมหาศาล แต่มันคุ้มสำหรับเครมลินที่จะแย่งชิงเอาจุดยุทธศาสตร์สำคัญในทะเลดำมาอยู่ใต้ปีกของตน

ใครก็ตามที่สามารถครอบครองไครเมียได้ ใครคนนั้นก็จะสามารถแผ่ขยายอำนาจครอบคลุมได้ทั้งทะเลดำ และอำนาจในทะเลดำหมายถึง Zero-sum game ของทั้งฝ่ายรัสเซีย ยูเครน และตุรกี การต่อสู้เพื่อแย่งชิงทะเลดำจึงยืดเยื้อมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ตั้งแต่ครั้งอดีต รัสเซียพยายามแผ่ขยายเขตอิทธิพลของตนให้ครอบคลุมเหนือรัฐต่าง ๆ โดยรอบ อย่างคอเคซัส ยุโรปตะวันออก และบอลข่าน เพื่อล้อมกรอบตุรกี โดยใช้นโยบาย Pan-slavism ซึ่งเป็นการ ‘Russificate’ หรือการกลืนชาติประเทศรอบข้างของรัสเซียโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของหมู่มวลรัฐออร์โธด็อกซ์ แม้กระทั่งหลังจากยุคจักรวรรดิและยุคสหภาพโซเวียต ความพยายามของรัสเซียในการครองอำนาจเบ็ดเสร็จในทะเลดำก็ยังดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม นโยบายภูมิรัฐศาสตร์ของรัสเซียก็มิได้มุ่งเป้าไปยังการคานอำนาจกับยูเครนและตุรกีในทะเลดำเพื่อหาทางออกสู่เมดิเตอร์เรเนียนเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการเผชิญหน้ากับสหรัฐฯ และยุโรปตะวันตกเพื่อช่วงชิงเขตอิทธิพลของกันละกัน ตั้งแต่การแข่งขันระหว่างค่ายประชาธิปไตยทุนนิยมเสรีและคอมมิวนิสต์โซเวียต มาจนถึงการแข่งอำนาจระหว่างโลกตะวันตกที่ตั้งอยู่บนหลักประชาธิปไตยมาตรฐานสหรัฐฯ และระบอบการปกครองประชาธิปไตยกึ่ง ๆ อำนาจนิยมแบบ ‘รัสเซียน อิดิชั่น’ ซึ่งมีหลักการและ Characteristics แบบเฉพาะตัวของรัสเซียเอง โดย ณ ปัจจุบัน ความสัมพันธ์ระหว่างตะวันตกและรัสเซียมีความเป็นไปในรูปแบบ Containment by Russia - Enlargement by the West

หลังจากกำแพงเบอร์ลินพังทลาย ทั้งโลกเริ่มตระหนักได้ว่าคอมมิวนิสต์โซเวียตกำลังอ่อนอำนาจในเวทีโลก NATO จึงมีนโยบาย Enlargement ซึ่งก็คือการแผ่ขยายอิทธิพลของตนอย่างเป็นรูปธรรมเข้าไปยังยุโรปตะวันออกจนประชิดหน้าบ้านรัสเซีย ตั้งแต่ปี 1990 ซึ่ง NATO ผนวกเช็กเกีย ฮังการี และโปแลนด์ เข้าเป็นส่วนหนึ่งในค่าย NATO และก็ได้ขยายสมาชิกอีกในปี 1994 ซึ่งได้แก่รัฐบอลติก โรมาเนีย บัลกาเรีย และบางส่วนของยูโกสลาเวีย ตามด้วยมอนเตเนโกร อัลบาเนีย บอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา และเซอร์เบีย ในปี 2006

จะเห็นได้ว่าความพยายามของรัสเซียในการกีดกันเขตอิทธิพลเก่าให้ยังอยู่กับตนเสื่อมอำนาจลงเรื่อย ๆ ไม่ทันกับกระแสโลกาภิวัตน์ เหลือเพียงยูเครนที่ยังอยู่ในสถานะครึ่ง ๆ กลาง ๆ แล้วแต่นโยบายของประธานาธิบดีแต่ละคนว่าจะวางตัวอย่างไร เช่นในสมัยยานูโควิชซึ่งค่อนข้างเอนเอียงไปทางรัสเซีย โดยยูเครนในสมัยนั้นได้ตัดขาด Partnership for Peace กับ NATO

วิกเตอร์ ยานูโควิช

แต่เมื่อยานูโควิชพ้นจากตำแหน่ง ยูเครนที่นำโดยเซเลนสกีก็เอนเอียงไปยังฝั่งตะวันตกอีกครั้ง โดยมีการระบุอ้อม ๆ ถึงความต้องการเข้าร่วมกับ NATO ดังนี้:

“ถ้าประเทศยูเครนมีเจตจำนงเสรีที่จะเลือกข้างเองได้โดยไม่คำนึงถึงเงื่อนไขอื่น ยูเครนคงจะเข้าร่วมกับนาโต” เซเลนสกีกล่าวไว้เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา “แต่ในความเป็นจริง ทุกการตัดสินใจทางการทูตไม่ได้ตกอยู่ที่ความพึงพอใจของยูเครน - พวกคุณก็คงทราบคำตอบ”

ในปี 2014 รัสเซียสบช่องใช้กำลังทหารเข้าแทรกแซงความขัดแย้งหลังจากชาวไครเมียกว่า 90% ลงประชามติเห็นชอบที่จะแยกตัวจากยูเครนเพื่อรวมตัวกับรัสเซีย และไครเมียก็กลายเป็นของรัสเซียสำเร็จในปีเดียวกันแม้จะต้องแลกมาด้วยความสูญเสียทางเศรษฐกิจนานัปการ ซึ่งยังคงนับว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลรัสเซียต้องเร่งแก้ไข

จนกระทั่งเร็วๆ นี้ รัสเซียก็ได้เดินเกมบุกอีกครั้งด้วยการเปิดการโจมตีทางทหารแถบตะเข็บชายแดนยูเครน โดยมีจุดประสงค์คือสนับสนุนให้ลูกันสค์และโดเนตส์แยกตัวออกมาเป็นประเทศเอกราชขาดจากยูเครน

คำถามที่ 1: รัสเซียมีความชอบธรรมเพียงใดในความขัดแย้งทั้งสองครั้ง ทั้งในปี 2014 และปี 2022

เอกสารกรอบนโยบายต่างประเทศรัสเซีย (Foreign Policy Concept) ประจำปี 2016 ของรัสเซียได้ระบุถึงเป้าประสงค์ของการดำเนินการทางการทูตหลายประการที่น่าสนใจ ในที่นี้ จะหยิบยกมาเพียงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับชนวนขัดแย้งในยูเครนมาเป็นข้ออ้างอิงในการศึกษากรณีดังกล่าว

"รัฐบาลรัสเซียเน้นย้ำความสำคัญถึงการปกปักรักษาสิทธิและผลประโยชน์อันชอบธรรมของชาวรัสเซียในต่างแดน มิให้ถูกรัฐบาลในประเทศที่พำนักกดขี่หรือฝ่าฝืนต่อสิทธิที่ชาวรัสเซียในต่างแดนควรได้รับอย่างเท่าเทียมกับคนในชาตินั้น ๆ"

ทั้งสงครามไครเมียในปี 2014 และการแยกเอาลูกันสค์กับโดเนตส์ออกมาจากยูเครนล้วนแล้วแต่มีพื้นฐานจากแนวคิดนี้ ข้อความดังกล่าวถูกใช้ในการสร้างข้ออ้างในการแทรกแซงประเทศเพื่อนบ้านอย่างชอบธรรม โดยมีจุดประสงค์เพื่อ ‘ปกป้อง’ เพื่อนร่วมชาติของรัสเซียที่ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่ชอบธรรมในดินแดนอื่น หรืออีกนัยหนึ่ง ดังนั้น รัสเซียจึงพยายามให้คำอธิบายว่าตนมีความชอบธรรมในการแทรกแซงอธิปไตยของยูเครน เพราะนั่นเป็นหน้าที่ของรัฐ เป็นความความรับผิดชอบของรัสเซียที่จะปกป้องประชากรของตนในต่างแดนมิให้ถูกละเมิดหรือลิดรอนสิทธิ

แล้วอะไรคือชาวรัสเซียในต่างแดน?

ในเอกสารกรอบนโยบายต่างประเทศรัสเซียระบุว่า ความเป็นชาวรัสเซียได้แก่ความเป็นชาวสลาฟตะวันออก (ซึ่งนั่นสามารถตีขลุมเอาถึงชาวยูเครนและเบลารุส) ความเป็นผู้พูดภาษารัสเซีย ชาวรัสเซียพลัดถิ่น และผู้สืบเชื้อชาติรัสเซีย ซึ่งเป็นลูกหลานของชาวโซเวียตและจักรวรรดิรัสเซีย รวมถึงศาสนจักรรัสเซียออร์โธด็อกซ์ซึ่งก็มีความสำคัญเช่นกันในฐานะผู้สร้างรัฐและชาติรัสเซียให้เป็นปึกแผ่น

ดังจะเห็นได้จากแผนที่ทั้งสาม ยูเครนตะวันตกและตะวันออกมีความแตกต่างกันทั้งในด้านชาติพันธุ์ ภาษา รวมถึงศาสนาที่นับถือ ยูเครนตะวันตกโดยมากเป็นชาวยูเครนโดยกำเนิด พูดภาษายูเครน และนับถือกรีกคาธอลิกหรือออร์โธด็อกซ์ที่สังกัดอยู่กับสังฆมณฑลเคียฟ ส่วนชาวยูเครนตะวันออกโดยมากเป็นชาวรัสเซียและพูดภาษารัสเซีย นับถือออร์โธด็อกซ์มอสโก

แม้กระทั่งในทางการเมือง ชาวยูเครนทั้งสองฟากก็อยู่กันคนละขั้ว ดังจะเห็นได้ว่าชาวยูเครนตะวันออกเทคะแนนเลือกยานูโควิชทั้งแถบ ซึ่งเขานี่เองที่เป็นผู้กรุยทางให้ไครเมียแยกตัวจากยูเครนในเวลาต่อมา ชาวยูเครนตะวันออก - แม้จะไม่ทั้งหมด - แต่โดยมากก็เป็นผู้ที่ต้องการเข้าหารัสเซียเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว รัฐบาลรัสเซียจึงสบโอกาสแทรกแซงอธิปไตยยูเครนเพื่อตีเอาไครเมีย โดเนตส์และลูกันสค์มาเป็นของตน โดยมีคำกล่าวดังที่ยกตัวอย่างไปเป็นข้ออ้างในการ ‘ปกป้องประชากรของตนในต่างแดน’ มาเป็นตัวช่วยเสริมความชอบธรรมให้รัสเซียในการละเมิดอธิปไตยประเทศเพื่อนบ้าน

คำถามที่ 2: รัสเซียต้องการดินแดนยูเครนตะวันตกอีกหรือไม่? และรัสเซียจะได้อะไรจากสองจังหวัดที่แยกตัวจากยูเครนออกมา?

ผู้เขียนไม่สามารถคะเนการตัดสินใจของผู้นำประเทศต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้แม่นยำ 100% แต่ทั้งนี้ จากการศึกษาทั้งประวัติศาสตร์และเศรษฐกิจของรัสเซีย ผู้เขียนมีทรรศนะว่ารัสเซียไม่ต้องการดินแดนยูเครนในภาคตะวันตก หรืออย่างมากที่สุด - ถ้าหากรัสเซียจะขยายผลตีเอาดินแดนเพิ่มเติมโดยไม่คำนึงถึงสายตาประชาคมโลก ข้ออ้างเรื่องการปกป้องชาวรัสเซียในต่างแดนดังกล่าวจะสามารถใช้รับรองความชอบธรรมในการกระทำของรัสเซียได้ถึงเพียงเขตโอเดสซา ซึ่งเป็นท่าเรือน้ำอุ่นและทางออกทะเลที่สำคัญที่สุดของยูเครน แต่รัสเซียจะไม่รุกตีเอายูเครนตะวันตกที่เหลือ

ทำไมล่ะ?

ทำไมล่ะ? ที่ว่า มิใช่คำถามที่ว่า “ทำไมรัสเซียจะไม่รุกตีเอายูเครนตะวันตก” แต่เป็น “ทำไม ผู้เขียนจึงมีความคิดเห็นว่ารัสเซียไม่จำเป็นที่จะต้องทำแบบนั้น”

การตีเอายูเครนตะวันตกมาเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น สิ้นเปลืองทรัพยากร และยังเป็นการ “เรียกแขก” จากตะวันตกให้เข้ามาแทรกแซงได้อย่างง่ายดายและชอบธรรม ยูเครนตะวันตกจึงเป็นสงครามที่ไร้สาระอย่างยิ่งสำหรับรัสเซีย อีกทั้งรัสเซียเองก็ยังไม่ได้สร้างข้ออ้าง (Fabricate pretext) ใด ๆ ที่จะเคลมเอายูเครนตะวันตกมาเป็นของตนได้อย่างชอบธรรมเหมือนที่เคยทำมาแล้วในกรณีไครเมีย-ดอนบาส-ลูกันสค์ รวมถึงกรณีดินแดนอับคาซ (Abkhaz) ที่รัสเซียเคยมีข้อพิพาทกับจอร์เจีย

และถึงแม้รัสเซียจะขยายดินแดนเพิ่มนอกเหนือจากลูกันสค์และโดเนตส์ หรือแม้กระทั่งคิดจะขยายต่อไปถึงโอเดสซา (เพราะนอกเหนือจากไครเมียแล้ว โอเดสซาก็เคยเป็นท่าเรือน้ำอุ่นหนึ่งในไม่กี่แห่งของรัสเซียในครั้งที่ยังเป็นจักรวรรดิและสหภาพโซเวียต อีกทั้งโอเดสซายังถูกจัดว่าเป็นพื้นที่ยูเครนตะวันออกซึ่งได้รับอิทธิพลจากรัสเซียอย่างมาก) แต่ผู้เขียนก็มีความเห็นว่ารัสเซียไม่มีทรัพยากรเพียงพอที่จะขยายผลไปยังสงครามเต็มรูปแบบ เนื่องด้วยตัวเลขทางเศรษฐกิจของรัสเซียในปัจจุบันเองที่กำลังง่อนแง่น คนทำงานเกิดภาวะสมองไหล แถมด้วยยุทธศาสตร์ Greater Eurasia ที่รัสเซียวางแผนพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกอย่างจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ก็ยังไม่ผลิดอกออกผลได้ดีจนสามารถนำผลพลอยได้เหลือ ๆ มาใช้เป็นทุนรอนทำสงคราม

กล่าวคือ ถ้ารัสเซียจะยังดึงดันจะทำสงครามใหญ่เพื่อชิงเอายูเครนตะวันตกมาด้วย คำถามก็คือ รัสเซียจะทำสงครามเต็มรูปแบบได้นานแค่ไหน - รัสเซียยังมีจุดอ่อนคือความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมทางการเงิน (Finance sector) ที่มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับตะวันตกไม่ได้ หลายคนอาจจะเคยเห็นการที่ EU และตะวันตกคว่ำบาตรทางการค้ากับรัสเซียมาแล้ว แต่รัสเซียก็ยังตั้งรับได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากรัสเซียมียุทธศาสตร์ที่จะพัฒนาขีดความสามารถในการผลิตทรัพยากรต่าง ๆ ด้วยตัวเองเองให้มากขึ้น เช่นการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าสินค้าเกษตรกรรมจากยุโรปตะวันตกและช่วยให้รัสเซียเลี้ยงประชากรของตัวเองได้ในยามที่ถูกคว่ำบาตร โดยรัฐบาลรัสเซียได้ริเริ่มความคิดดังกล่าวก่อนที่จะเกิดวิกฤตไครเมียนับสิบปี

แต่สิ่งที่ทำร้ายเศรษฐกิจของรัสเซียอย่างร้ายแรงประการหนึ่งคือการคว่ำบาตรทางการเงิน และ Secondary sanction

การคว่ำบาตรทางการเงินขั้นแรกต่อรัสเซียได้แก่การระงับการทำธุรกรรม การค้า การลงทุน การเข้าถึงตลาดตราสารหนี้ ตราสารทุน และการให้สินเชื่อระหว่างบุคคลสัญชาติสหรัฐฯ และยุโรป กับบุคคลหรือองค์กรสัญชาติรัสเซียโดยเด็ดขาด การคว่ำบาตรขั้นทุติยภูมิ หรือ Secondary sanction จะครอบคลุมถึงการคว่ำบาตรทางการเงินธรรมดา แต่การคว่ำบาตรขั้นทุติยภูมิจะกำหนดไว้ว่า องค์กร บริษัท หรือประเทศที่ไม่ดำเนินการตามมาตรการคว่ำบาตรที่กำหนดไว้นั้น อาจถูกสหรัฐฯ ลงโทษด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าหรือถูกกีดกันการทำธุรกรรมใด ๆ กับทางสหรัฐฯ ตามไปด้วย 

การคว่ำบาตรขั้นทุติยภูมิ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านการเงินจะส่งผลกระทบร้ายแรงแก่ Finance sector ซึ่งยังเป็นอุตสาหกรรมที่ยังไม่แข็งแรงนักของรัสเซียโดยตรง การคว่ำบาตรทางการเงินจากตะวันตกจะทำให้รัสเซียไม่สามารถซื้อขายน้ำมันในสกุลเงินดอลลาร์ได้ ทำให้รัสเซียสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่จะกู้ยืมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของตนได้ยาก อีกทั้งรายได้จากการค้าขายระหว่างประเทศจะลดลงเพราะธนาคารรัสเซียบางแห่งถูกสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีดำ นั่นทำให้ไม่เฉพาะผู้ประกอบการในรัสเซียและสหรัฐฯ จะไม่สามารถติดต่อค้าขายกันได้ แต่นั่นยังกระทบต่อความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างรัสเซียและผู้ประกอบการนอกสหรัฐฯ อีกด้วย

และในท้ายที่สุด ถึงรัสเซียจะฮึดเอาตัวรอดจากการถูกคว่ำบาตรทางการเงินจนมีทุนรอนพอจะทำสงครามใหญ่ได้ แต่การยึดเอายูเครนตะวันตกมานั้นเป็นเรื่องที่ “ได้ไม่คุ้มเสีย” เนื่องจากรัสเซียไม่สามารถใช้ข้ออ้างในการปกป้องสิทธิของชาวรัสเซียพลัดถิ่นได้อีกแล้วในกรณียูเครนตะวันตก นอกนั้นยังรังแต่จะทำให้รัสเซียต้องเสียทรัพยากรไปโดยใช่เหตุกับการจัดการกบฏที่ไม่ยอมก้มหัวให้รัฐบาลใหม่ และการขาดความชอบธรรมอย่างร้ายแรงในการตีเอายูเครนตะวันตกจะเป็นการเปิดช่องให้นาโตเพิ่มขุมกำลังของตนในยุโรปตะวันออกพร้อมช่วยเหลือยูเครนทุกเมื่อ ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่รัสเซีย ‘ขยาด’ กับมันที่สุด ดังที่รัฐบาลรัสเซียได้เน้นย้ำมาตั้งแต่ปี 1990 ก่อนโซเวียตจะล่มสลายว่าไม่ต้องการกองกำลังตะวันตกให้เข้ามาประชิดเขตแดนของตนมากไปกว่านี้อีก

จึงสรุปได้ว่า เนื่องด้วยอำนาจทางเศรษฐกิจของรัสเซียเองที่ยากจะเทียบเคียงกับสหรัฐฯ ประเทศยุโรปตะวันตก หรือแม้กระทั่งเกาหลีใต้ นับเป็นความเสียเปรียบอย่างยิ่งยวดของรัสเซีย ถ้าหากรัสเซียวางแผนจะขยับขยายไปทำสงครามใหญ่ อย่างไรเสียก็ต้องถูกเบรกด้วยการแทรกแซงทางเศรษฐกิจวิธีนี้ รัสเซียอาจมีเงินเหลือใช้อยู่บ้างเพื่อนำไปถลุงกับสงครามก็จริง แต่แน่นอนว่าทำได้ไม่นาน และไม่คุ้มค่ากับความสูญเสีย

และถ้าหากรัสเซียเจอกับการคว่ำบาตรอีกระลอก - โดยเฉพาะการคว่ำบาตรขั้นทุติยภูมิอย่างการทำร้ายระบบการเงิน-การธนาคารรัสเซียโดยตรง จะทำให้รัสเซียไม่มีทรัพยากรมากพอที่จะเสียไปในการทำสงครามใหญ่แบบครั้งเดียวจบ อีกทั้งยังเป็นการหาเรื่องทุบหม้อข้าวตนเองเสียอีกเพราะนั่นจะกระทบถึงเศรษฐกิจภายในประเทศด้วย

แม้กระทั่งปัจจุบัน ผู้เขียนก็ไม่คิดว่ารัสเซียจะกล้าเสี่ยงเอาเศรษฐกิจที่กำลังคลอนแคลนของประเทศไปถลุงกับยูเครนตะวันตก

กระนั้น รัสเซียเองก็มีกลยุทธ์อีกอย่างหนึ่งคือ Frozen Conflict - ความขัดแย้งที่ถูกแช่แข็ง

Frozen Conflict คือศาสตร์ที่รัสเซียถนัดนักในการทำสงคราม นั่นคือการสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนให้มีการปะทะประปรายกันเนือง ๆ ตามเขตชายแดน แต่จะไม่ขยายผลเป็นสงครามหรือการสู้รบเต็มรูปแบบ

กลยุทธ์ Frozen conflict ของรัสเซียนับเป็นการกร่อนทรัพยากรของประเทศเพื่อนบ้านลงช้า ๆ แต่กัดกร่อนให้อีกฝ่ายถดถอยกำลังลงไปได้เรื่อย ๆ ในระยะเวลานาน เพราะยูเครนหรือจอร์เจียก็ต้องเพิ่มงบประมาณ (ที่ตนก็มีอยู่อย่างน้อยนิด) ไปให้หน่วยงานที่รับผิดชอบการตรวจตราความปลอดภัยชายแดนให้มากขึ้น และลดการ์ดลงไม่ได้เพราะไม่รู้ว่ารัสเซียจะทำอะไรต่อ

และในขณะเดียวกัน ความขัดแย้งที่ปล่อยให้ถูกแช่แข็งโดยที่รัสเซียพยายามไม่ไปแตะให้มันบานปลายเกินไป ทำให้ตะวันตกไม่มีข้ออ้างในการเข้ามาแทรกแซงความขัดแย้งแช่แข็งเหล่านี้ เพราะพฤติกรรมการแบ่งแยกดินแดนที่เกิดขึ้นประปรายตามแนวชายแดนรัสเซีย-ยูเครน หรือรัสเซีย-จอร์เจียในแถบอับคาซยังไม่ถือเป็นสงครามอันจะนำมาซึ่งภัยร้ายแรงต่อความมั่นคงในยุโรป นาโตไม่มีความชอบธรรมมากพอที่จะเข้าไปแทรกแซงกิจการรัสเซียในพื้นที่ดังกล่าว

ส่วนคำถามที่ว่ารัสเซียได้อะไรจากการยึดสองจังหวัดของยูเครน - ผู้เขียนมองว่าเป็นการขยับขยายฐานอำนาจของตนในทะเลอาซอฟ เพื่อหาทางออกอันง่ายดายที่สุดสู่ทะเลดำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ณ ปัจจุบันขณะ รัสเซียต้องการขุดคลองเยฟราซียาเพื่อเป็นอีกเส้นทางหนึ่งในการขนส่งสินค้าจากประเทศรอบแคสเปียนออกสู่ทะเลใหญ่ ซึ่งต้องตัดข้ามทะเลแคสเปียนออกไปยังทะเลดำ

ดินแดนอับคาซ

ท้ายที่สุดแล้ว แม้การที่รัสเซียทำสงครามตีเอาลูกันสค์และโดเนตส์มาจากยูเครนอาจเพิ่มโอกาสให้ยูเครนมีสิทธิ์ที่จะได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก NATO มากขึ้น แต่ตะวันตกจะใช้ยูเครนเป็นฐานกองกำลังหรือขีปนาวุธที่หันหน้าเข้าหาคอหอยรัสเซียไม่ได้ หรือถึงทำได้ ก็จะทำให้สถานการณ์ในแถบนั้นกลายเป็นภาวะ Stalemate เพราะฝั่งรัสเซียเองก็มีกองกำลังของตนในไครเมีย, ดินแดนทรานสนิสเตรีย และดินแดนอับคาซซึ่งรัสเซียเป็นผู้รับรองเอกราชให้อยู่แล้ว สิ่งที่รัสเซียทำเป็นการวางขุมกำลังล้อมยูเครนไว้ให้อยู่ตรงกลาง นั่นหมายความว่าถ้าหากตะวันตกจะนำกองกำลังของตนเข้ามาประจำในยูเครน รัสเซียก็สามารถทำแบบเดียวกันได้ในอับคาซและทรานสนิสเตรียดังแผนที่ในรูปก่อนหน้า

ดินแดนทรานสนิสเตรีย

คำถามที่ 3: แล้วเยอรมนีล่ะ?

ในตอนแรก เราจะเห็นได้ว่าเยอรมนีมีท่าทีเป็นกลางกับความขัดแย้งดังกล่าว และติดจะไม่อยากให้มีความรุนแรงบานปลายด้วยซ้ำถ้าหากพิจารณาจากข่าวที่เยอรมนีปฏิเสธไม่ส่งอาวุธไปช่วยเหลือยูเครน อีกทั้งยังมีการที่เยอรมนีระงับไม่ให้เอสโตเนียขายปืนใหญ่แบบ D-30 ให้แก่ยูเครน

ผู้เขียนมีความคิดเห็นว่าเป็นเพราะรัสเซียและเยอรมนียังต้องเจรจาเรื่องท่อแก๊สนอร์ดสตรีม 2 กันอยู่ในตอนเริ่มแรก โดยท่อแก๊สจะถูกต่อตรงไปยังเยอรมนีโดยตรง ไม่ต้องผ่านดินแดนที่มีปัญหากับรัสเซียอย่างยูเครนและโปแลนด์ ทำให้ยุโรปไม่ต้องประสบปัญหาเปิด ๆ ปิด ๆ วาล์วแก๊สกับรัสเซียบ่อยนักถ้าหากมีข้อพิพาทใดเกิดขึ้นอีก เพราะในปัจจุบัน แม้ยุโรปจะสามารถผลิตพลังงานสะอาดใช้เองได้ในบางประเทศ แต่เปอร์เซนต์การพึ่งพาแก๊สจากรัสเซียก็ยังสูงอยู่ถึง 40% ทำให้การที่ท่อแก๊สจากรัสเซียต่อตรงมายังเยอรมนี และเยอรมนีกลายเป็นฮับกระจายแก๊สให้แก่ที่อื่น ๆ นั้นเป็นการการันตีความมั่นคงทางพลังงานในยุโรปได้อีกประการหนึ่ง

กระนั้น การที่เยอรมนียังไม่ “แสดง” ท่าทีอะไรในตอนแรก มิใช่เพราะเยอรมนีต้องเป็นฝ่ายประนีประนอมยอมความแก่รัสเซีย แต่กลับกัน เยอรมนีเองก็จะใช้ท่อแก๊สนอร์ดสตรีม 2 เป็นข้อต่อรองแก่รัสเซียว่ารัสเซียอาจจะต้องคิดทบทวนความเสี่ยงของตนใหม่ถ้าหากจะทำอะไรที่เป็นการ “ล้ำเส้น” ในยุโรป

ฐานะผู้ส่งออกพลังงานรายใหญ่เดียวของรัสเซียในตลาดยุโรปอาจจะเป็นหมากตัวสำคัญของรัสเซียก็จริง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าลูกค้ารายใหญ่ของตลาดส่งออกแก๊สรัสเซียก็คือยุโรป หรือจะกล่าวโดยเฉพาะเจาะจงก็คือยูเครน แต่เมื่อท่อแก๊สอื่น ๆ ที่พาดผ่านยูเครนและโปแลนด์เต็มไปด้วยอุปสรรค ท่อแก๊สนอร์ดสตรีมจึงกลายเป็นเส้นเลือดใหญ่เส้นสุดท้ายที่รัสเซียจะสามารถใช้ต่อรองอำนาจกับยุโรปได้

เร็ว ๆ นี้ เราจึงได้เห็นเยอรมนีก็ย้อนเกล็ดอีกฝ่ายด้วยการใช้แก๊สซึ่งเป็นอาวุธเด็ดของรัสเซียให้กลายเป็นประโยชน์ต่อตน ด้วยการระงับท่อแก๊สนอร์ดสตรีม 2 เมื่อรัสเซียประกาศรับรองเอกราชแก่ดินแดนลูกันสค์และโดเนตส์

นั่นจึงเป็นที่กระจ่างชัดว่าเยอรมนีในเวลานี้ได้ทำให้สถานะของตนกลายเป็นตัวกลาง (Mediator) คนสำคัญระหว่างรัสเซียและยุโรป และท่อแก๊สนอร์ดสตรีม 2 ที่รัสเซียวางแผนไว้ว่าจะใช้เป็นทางแก้ปัญหาด้านพลังงานของตนนั้น ก็ต้องแลกมาด้วยการที่รัสเซียต้องพึ่งพาอิทธิพลของเยอรมนีมากขึ้นบนเวทีการเมืองยุโรป

______________________________________________
 

ทั้งนี้ ผู้เขียน อัพเดตสถานการณ์เมื่อเวลา 12.46 น. 24 ก.พ.2565 ด้วยดังนี้

ตอนนี้นาวิกรัสเซียเข้าโอเดสซาแล้ว

แต่คำถามอยู่ที่ว่า จุดประสงค์ของการบุกคือบุกทำไม บุกเอาโอเดสซา หรือบุกเพื่อบีบคอยูเครนให้รับรองเอกราชดอนบาส?

ผู้เขียนยังคิดคล้าย ๆ เดิมว่ารัสเซียจะไม่บุกเอาดินแดนอื่นต่อ (ยกเว้นจะเอาโอเดสซา ซึ่งคงต้องทำสงครามใหญ่เพราะยูเครนกับนานาชาติไม่น่ายอม)

แต่เรื่องบุกโอเดสซาวันนี้ please note that ถึงรัสเซียตีเอาสองจังหวัดดอนบาสมาได้ ลูกันสค์กับโดเนตส์ก็ "ยัง" ไม่ใช่รัฐเอกราช เพราะยังขาดการรับรองความเป็นรัฐ ไม่ได้ถูกใครรับรองเอกราชให้ยกเว้นรัสเซีย แม้แต่ยูเครนเองก็ไม่รับรองความเป็นอิสระขาดจากกันให้ สิ่งที่ยากกว่าการยึดครองพื้นที่ดอนบาสคือการบังคับให้ยูเครนรับรองว่าพื้นที่นั้นเป็นรัฐเอกราช จึงไม่แปลกที่รัสเซียจะเดินหน้าบุกต่อเพื่อข่มขู่ให้ยูเครนรับรอง

แต่คำถามที่ว่ารัสเซียจะบุกต่อเพื่อยึดเขตแดนอื่นของยูเครนอีกหรือไม่ ผู้เขียนคิดว่าแม้กระทั่งยึดโอเดสซาก็น่าจะเข้าเนื้อรัสเซียอย่างยิ่งแล้ว ความเสียหายทางเศรษฐกิจของรัสเซียที่ถลุงไปกับสงครามมิได้เสียไปเฉพาะยามสงคราม แต่ความลำบากทางเศรษฐกิจที่แท้จริงคือการถูกคว่ำบาตรและกีดกันทางการค้าหลังจากสงคราม เราจึงต้องมาศึกษาและติดตามกันต่อว่าเศรษฐกิจรัสเซียที่ส่อแววทรุดเพราะสงครามจะคุ้มเสียกับวิกฤตยูเครนได้อีกนานเพียงใด

Reference:

  1. [Ukraine crisis EP.1] – สรุปวิกฤตยูเครนสู่การรับรองการแบ่งแยกดินแดนโดยรัสเซีย - https://thanapatofficial.wordpress.com/2022/02/22/ukraine-crisis-ep-1-crisis-summary-and-recognition/
  2. นาโตมีบทบาทอย่างไรในปัญหารัสเซีย-ยูเครน by BBC - https://www.bbc.com/thai/international-60137709
  3. 4. Putin moves into eastern Ukraine, says country created by Communist Russia - CNBC Televisione
  4. 6. No, Russia will not invade Ukraine by Harun Yilmaz - https://www.aljazeera.com/opinions/2022/2/9/no-russia-will-not-invade-ukraine
  5. 7. A question raised by the picture of religion in Ukraine - https://billtammeus.typepad.com/my_weblog/2019/11/11-18-19.html
  6. 8. Map of oil and gas pipelines from Russia (credit: U.S. Energy Information Administration) - https://www.researchgate.net/figure/Map-of-oil-and-gas-pipelines-from-Russia-credit-US-Energy-Information-Administration_fig2_268047847 
  7. 9. Nord Stream 2: ECFR opinions by ECFR.EU - https://ecfr.eu/article/commentary_nord_stream_2_ecfr_opinions/
  8. 10. Ukraine still wants NATO membership after confusion it might back down to avoid Russian invasion by Alix Culbertson - https://news.sky.com/story/ukraine-insists-it-still-wants-nato-membership-after-confusion-it-might-drop-calls-for-peace-with-russia-12542058 
  9. 11. Ukraine-Russia: President Zelensky asked about dropping Nato ambitions by BBC - https://www.bbc.com/news/av/world-europe-60413638
  10. 12. Az európai gázvezetékek felrobbantásával fenyegetőzik Jaros - https://szabadriport.wordpress.com/2014/03/16/az-europai-gazvezetekek-felrobbantasaval-fenyegetozik-jaros/
  11. 13. The Ukraine Crisis in Three Maps by Dave Schuler - https://www.outsidethebeltway.com/the-ukraine-crisis-in-three-maps
  12. 14. FOCUSED AND QUICK (FAQ) Issue 172 - ปรับโฟกัส มองรัสเซีย โอกาสของธุรกิจไทย โดย ณัชพล จรูญพิพัฒน์กุล
  13. 15. Germany Halts Nord Stream 2 Pipeline Certification Amid Worsening Ukrainian Crisis by Charleston Lim - https://www.btimesonline.com/articles/153892/20220223/germany-halts-nord-stream-2-pipeline-certification-amid-worsening-ukrainian-crisis.htm
  14. 16. Why Germany isn't sending weapons to Ukraine by BBC - https://www.bbc.com/news/world-europe-60155002
  15. 17. TASS - Путин сообщил Макрону и Шольцу, что скоро подпишет указ о признании ДНР и ЛНР -https://tass.ru/politika/13790707
  16. 18. Exit Strategy: ภูมิรัฐศาสตร์ออกแบบนโยบายพลังงานของรัสเซียอย่างไร โดย อัณณา จันดี - https://shorturl.asia/JbpiH 

หมายเหตุ : บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกใน เฟซบุ๊ก Anna Giandi วันที่ 23 ก.พ.2565 เวลา 19.46 น. ในชื่อ 'รัสเซียไม่อยากได้ยูเครน (ตะวันตก) หรอก!' และเว็บนิยาย readawrite ทางกองบรรณาธิการเห็นว่ามีเนื้อหาที่น่าสนใจจึงขออนุญาตผู้เขียนมาเผยแพร่ต่อ

เวลา 1.00 น. วันที่ 7 มี.ค.2565 ประชาไทดำเนินการปรับเพิ่มเติมเนื้อหาบางส่วน

สำหรับผู้เขียนบทความชิ้นนี้ อัณณา จันดี เป็น นักศึกษา โครงการรัสเซียศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 3

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net