Skip to main content
sharethis

สปสช. แจงหลักเกณฑ์การจ่ายค่าบริการผู้ติดเชื้อโควิด-19 แบบผู้ป่วยนอก หลัง สธ. ประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น "เจอ แจก 1,300 บาท จบ" ดูแล 48 ชม. แรกแล้วส่งต่อรักษาต่อหรือแยกกักตัวที่บ้าน พร้อมเผยสายด่วน 1330 คนโทรทะลุ 7,000 ครั้ง/วัน

2 มี.ค. 2565 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ชี้แจงหลักเกณฑ์การจ่ายค่าบริการผู้ติดเชื้อโควิด-19 แบบผู้ป่วยนอก ซึ่งจะเริ่มใช้ตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (3 มี.ค. 2565) เป็นต้นไป โดยกล่าวว่าตามที่กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำแนวทางเวชปฏิบัติการวินิจฉัย ดูแลรักษาและการให้บริการผู้ติดเชื้อโควิด-19 แบบผู้ป่วยนอก ตามแนวทางโดยศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข ที่แจ้งให้หน่วยบริการเตรียมความพร้อมการดูแลผู้ป่วยแบบโรคประจำถิ่น (Endemic) โดยให้เพิ่มการจัดบริการรักษาผู้ป่วยนอก สำหรับผู้ติดเชื้อที่ไม่มีภาวะเสี่ยง หรือแนวทางเจอ แจก จบ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2565 เป็นต้นไปนั้น  

สปสช. ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลการจ่ายชดเชยค่าบริการได้ประชุมหารือร่วมกับกรมการแพทย์ กรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม และกองเศรษฐกิจสุขภาพและประกันสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ไปแล้วในวันที่ 28 ก.พ.2565 เพื่อกำหนดอัตราจ่ายการให้บริการผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่มีภาวะเสี่ยงแบบผู้ป่วยนอก และแยกกักตัวที่บ้าน (OP self Isolation) ทั้งนี้ จากการประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการจัดบริการผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ไม่มีภาวะเสี่ยงแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวที่บ้าน และอัตราการจ่ายชดเชยค่าบริการ 1,300 บาทต่อราย ครอบคลุมคำแนะนำในการแยกกัก การติดตามอาการเมื่อครบ 48 ชั่วโมง การจ่ายตามอาการรวมค่าจัดส่ง และการจัดระบบบริการรองรับการโทรกลับเพื่อให้คำปรึกษาประชาชนเมื่ออาการเปลี่ยนแปลงและนำเข้าสู่ระบบการรักษา 

จากมติดังกล่าว ขณะนี้ สปสช. ได้มีการจัดทำประกาศหลักเกณฑ์การจ่ายชดเชยค่าบริการผู้ป่วยโรคโควิด 19 ที่ไม่มีภาวะเสี่ยงแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวที่บ้านตามนโยบาย เจอ แจก จบ ของกระทรวงสาธารณสุขแล้ว มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2565 เป็นต้นไป และจะชี้แจงทำความเข้าใจกับหน่วยบริการทั่วประเทศที่ร่วมดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ถึงการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์บริการนี้  

สำหรับการจ่ายชดเชยค่าบริการอัตรา 1,300 บาทนี้ จะแบ่งเป็น 2 ส่วนบริการ คือ 

1. การจ่ายชดเชยเหมาจ่าย 1,000 บาทต่อราย ประกอบด้วย ค่าบริการให้คำแนะการแยกกักตัวที่บ้าน การให้ยารักษาตามอาการ การประสานติดตามอาการเมื่อให้การดูแลครบ 48 ชั่วโมง รวมทั้งการจัดระบบส่งต่อเมื่อผู้ป่วยมีอาการเปลี่ยนแปลงจำเป็นต้องส่งต่อ

2. ค่าบริการสำหรับการให้คำปรึกษาหรือการดูแลรักษาเบื้องต้น 300 บาทต่อราย เมื่อผู้ป่วยโควิด-19 มีอาการเปลี่ยนแปลง และหรือให้ปรึกษาอื่นๆ หลังให้การดูแลครบ 48 ชั่วโมง 

นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า แม้ว่าจะมีบริการติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่มีภาวะเสี่ยงแบบผู้ป่วยนอก และแยกกักตัวที่บ้านที่เพิ่มเติมเข้ามาในระบบ แต่ในส่วนของบริการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่บ้าน (Home Isolation) ยังคงให้บริการควบคู่ ขึ้นอยู่กับความพร้อมและความสะดวกในการเข้ารับบริการของผู้ป่วย โดยทั้ง 2 บริการจะมีการให้บริการที่ต่างกันเพียงบางส่วน ดังคือ บริการติดเชื้อโควิดฯ แบบผู้ป่วยนอก แยกกักตัวที่บ้าน จ่ายยาตามอาการ บริการโทรติดตามอาการเมื่อครบ 48 ชั่วโมง มีระบบส่งต่อรักษาเมื่ออาการแย่ลง ส่วนบริการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้าน (Home Isolation) แยกกักตัวที่บ้าน จ่ายยาตามอาการ บริการโทรติดตามอาการทุกวัน ได้รับอุปกรณ์ตรวจประเมินอาการ มีระบบส่งต่อเมื่ออาการแย่ลง และได้รับอาหาร 3 มื้อ ในช่วงที่รับการดูแล  

“บริการทั้ง 2 รูปแบบนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ที่เพิ่มมากขึ้น เข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ ซึ่งบริการติดเชื้อโควิดแบบผู้ป่วยนอกจะเข้ามาช่วยเสริมในกรณีผู้ป่วยที่เข้าสู่ระบบ Home Isolation แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับจากหน่วยบริการ ซึ่งการให้บริการจะแตกต่างกันเล็กน้อยเท่านั้น” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

 

นอกจากนี้ เลขาธิการ สปสช. ยังกล่าวอีกว่า ตามที่มีเสียงร้องเรียนของประชาชนถึงการใช้บริการสายด่วน สปสช.1330 ที่ไม่สามารถติดต่อได้ รวมถึงการจับคู่หน่วยบริการในการเข้าสู่ระบบ Home Isolation นั้น สปสช. ขอเรียนว่าขณะนี้เจ้าหน้าที่สายด่วน 1330 ของ สปสช. และอาสาสมัครที่ร่วมรับสายทุกคนรวมจำนวนกว่า 400 คน ต่างทำงานอย่างหนักและแข่งขันกับจำนวนสายที่กระหน่ำเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ด้วยตระหนักถึงความกังวลและทุกข์ร้อนของประชาชนที่ติดเชื้อโควิด-19

จากข้อมูลสายด่วน สปสช. 1330 ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 21 ก.พ. จนถึง 1 มี.ค. 2565 จำนวนการโทรเข้าสายด่วน สปสช. 1330 แต่ละวันยังคงอยู่ที่ระดับ 40,000-70,000 สาย เช่นเดียวกับช่องทาง Non Voice หรือสื่อสารผ่านไลน์ สปสช. และ Facebook สปสช. ก็เฉลี่ยวันละกว่า 9,000 รายเช่นกัน ด้วยผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นกว่าสองหมื่นรายต่อวัน โดยวันที่ 1 มี.ค. มีจำนวนสายโทรเข้ามากที่สุดสูงถึง 70,300 สาย และช่องทาง Non Voice กว่า 12,000 ราย ยอมรับว่าเป็นจำนวนเกินศักยภาพที่ระบบจะรองรับได้

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ สปสช. พยายามเร่งแก้ไขปัญหา นอกจากการระดมจิตอาสาเข้ามาช่วยรับสายเพิ่มมากขึ้นแล้ว ยังได้มีการประสานกับหน่วยงานองค์กรต่างๆ มาร่วมรับสาย อาทิ กองทัพไทย ธนาคารกรุงไทย วิทยาลัยพยาบาลในสังกัดสถาบันพระบรมราชชนก และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยทางบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด หรือ ดีแทค ร่วมสนับสนุนซิมการ์ดโทรศัพท์ให้จำนวนหนึ่ง และมีทีมจิตอาสาจากประชาชนกว่า 100 รายเข้าร่วมตอบคำถามและรับเรื่องประสานงานจากผู้ติดเชื้อโควิด-19 ผ่านช่องทางไลน์ของ สปสช. ด้วย

ส่วนช่องทางการสื่อสารอื่นผ่านระบบออนไลน์ ทั้ง line @nhso และ Facebook สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และอื่นๆ ที่ประชาชนติดต่อเข้ามานั้น ขณะนี้ สปสช. ได้เร่งตอบกลับในทุกข้อความในทุกช่องทางที่ส่งเข้ามาเช่นกัน       

“เจ้าหน้าที่สายด่วน สปสช. 1330 และอาสาสมัครทุกคนต่างเต็มใจและพร้อมให้การดูแลประชาชนทุกคนที่โทรเข้ามา แต่ด้วยจำนวนสายที่โทรเข้ามาอย่างมากมาย ล่าสุดถึงวันละกว่า 7 หมื่นสายแล้ว จึงต้องขอโทษทุกสายของประชาชนที่โทรเข้ามาหรือสื่อสารผ่านช่องทางต่างๆ และติดต่อไม่ได้ โดย สปสช. จะพยายามแก้ไขปัญหานี้โดยเร็วที่สุด” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

ทั้งนี้ นอกจากสายด่วน สปสช. 1330 แล้ว ในพื้นที่ต่างจังหวัด ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังสามารถ โทรไปที่สถานพยาบาลตามสิทธิ/ใกล้บ้าน หรือสายด่วนเกี่ยวกับโควิด-19 ประจำอำเภอหรือจังหวัด (ดูรายละเอียดที่เฟสบุ๊กหรือเว็บไซต์สำนักงานสาธารณสุขแต่ละจังหวัด ขณะที่ กทม. สามารถ โทรเบอร์สายด่วนของแต่ละเขต (เข้าไปดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์หรือเฟสบุ๊ก กรุงเทพมหานคร: https://bit.ly/3FBOgvw หรือเพิ่มเพื่อนทาง Line @BKKCOVID19CONNECT หรือคลิก https://bit.ly/3Iuw7Si

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net