Skip to main content
sharethis

สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ออกแถลงการณ์โต้คำให้สัมภาษณ์ของโฆษกกระทรวงแรงงาน ประเด็นการจ่ายเงินชดเชยกรณีถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม พร้อมชี้แจงกรณีการชุมนุมที่ยืดเยื้อนานร่วม 1 ปีเต็ม ด้านโฆษกกระทรวงแรงงานระบุจ่ายเงินชดเชยครบแล้ว ขณะที่ผู้นำเครือข่ายแรงงาน 2 แห่งหนุนกระทรวงแรงงาน ประณามอดีตลูกจ้างบริษัทไทรอัมพ์ที่ออกมาใช้สิทธิประท้วงเรียกร้องเงินชดเชย

9 มี.ค. 2565 สหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ชี้แจงและทำความเข้าใจ กรณีที่เธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) กล่าวเมื่อวานนี้ (8 มี.ค. 2565) ว่าถึงการชุมนุมเรียกร้องของสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทยที่ออกมาทวงถามค่าชดเชยหลังนายจ้างต่างชาติลอยแพลูกจ้างมากกว่าพันคน นำมาสู่การชุมนุมต่อเนื่องตั้งแต่วันแรกที่มีการปิดกิจการเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2564 และจะนัดชุมนุมใหญ่ที่ทำเนียบรัฐบาลอีกครั้งในวันที่ 11 มี.ค. 2565

สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ในฐานะผู้เสียหายโดยตรงในคดีเรียกร้องค่าชดเชยเลิกจ้าง ระบุในแถลงการณ์ว่า ทางสหภาพขอชี้แจงและสรุปประเด็นการช่วยเหลืออดีตลูกจ้างบริษัทบริลเลียนท์ อัลไลแอนซ์ ไทย โกลบอล จำกัด ที่ได้รับผลกระทบจากนายจ้างปิดกิจการ เพื่อให้สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย และประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน ชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย รวมถึงเธียรรัตน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน และบุคคลทั่วไปให้เข้าใจตรงกันว่า แม้ว่ากระทรวงแรงงานพยายามกล่าวอ้างบนหน้าสื่อว่าได้ช่วยเหลืออดีตลูกจ้างกลุ่มนี้อย่างเต็มที่ แต่ ณ วันนี้ลูกจ้างยังไม่ได้รับเงินค่าชดเชย และเงินอื่นๆ ที่ลูกจ้างมีสิทธิ์ได้รับตามคำสังพนักงานตรวจแรงงานทั้งที่เวลาผ่านไปเกือบ 1 ปีเต็ม

แถลงการณ์ยังระบุอีกว่าความไร้ประสิทธิภาพในการติดตามคดีของกระทรวงแรงงานนี้เองเป็นเหตุให้อดีตคนงาน สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ และตัวแทนสมาชิกเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชนต้องออกมาชุมนุมกดดันต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม นอกจากกระทรวงแรงงานจะขาดความกระตือรือร้นในการแก้ไขปัญหาให้คนงานอย่างที่ปากว่าแล้ว สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ยังพบว่าโฆษกและที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงแรงงานคนแล้วคนเล่าให้สัมภาษณ์ปรักปรำแกนนำแรงงานที่ออกมาช่วยเหลือเร่งรัดคดีอย่างต่อเนื่อง จนอาจตีความได้ว่ากระทรวงแรงงานพยายามลดทอนคุณค่าของการรวมกลุ่มเรียกร้องสิทธิแรงงาน  สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ในฐานะผู้เสียหาย ขอแสดงความตำหนิต่อท่าทีของกระทรวงแรงงาน และขอชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติม ดังนี้

กลุ่มบริษัท ไทรอัมพ์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ได้เปิดกิจการในไทยตั้งแต่ปี 2517 ช่วงนั้นธุรกิจอุตสาหกรรมสิ่งทอกำลังเฟื่องฟู จึงได้เปิดบริษัทลูกเพื่อทำการผลิตชื่อว่า บริษัท บอดี้ แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด  ในปี 2523 โดยมี 2 สาขา คือ โรงงานที่บางเสาธง และโรงงานที่ จ.นครสวรรค์ มีลูกจ้างรวมกันสองบริษัทประมาณ 5,000 คน และได้ขยายกิจการหลายประเทศทั่วโลก ต่อมา ในปี 2552 ได้มีการเลิกจ้างลูกจ้างในประเทศไทย 1,959 คน จากนั้น บริษัทได้ดำเนินการเรื่อยมาจนกระทั่งปี 2559 กลุ่มบริษัทไทรอัมพ์ฯ ได้ขายบริษัท บอดี้ แฟชั่นฯ ทั้งโรงงานที่บางเสาธง และโรงงานที่ จ.นครสวรรค์ ให้กับกลุ่มบริษัทแมเจลแล็นกรุ๊ป บริษัทสัญชาติออสเตรเลียในวันที่ 28 ม.ค. 2559 ที่มีโรเบิร์ต อึ้ง (ROBERT UNG) เป็นนายทุน จึงทำให้ความสัมพันธ์ของสองบริษัทนี้ขาดลงเพราะไม่ได้มีเจ้าของคนเดียวกันเหมือนเดิม หลังจากนั้นกลุ่มบริษัทแมเจลแล็นกรุ๊ปได้ดำเนินกิจการเรื่อยมาและได้ขาย บริษัท บอดี้ แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด เฉพาะโรงงานที่บางเสาธงให้กับ กลุ่มบริษัทโคลเวอร์ กรุ๊ป (Clover Group Co.,Ltd.) และก่อตั้งบริษัท บริลเลียนท์ อัลไลแอนซ์ ไทย โกลบอล จำกัด ที่มี 'มัน ชี แองเจล่า เลา' สัญชาติฮ่องกงเป็นเจ้าของ

บริษัท บริลเลียนท์ อัลไลแอนซ์ ไทย โกลบอล จำกัด ได้ยื่นจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2562 ทะเบียนนิติบุคคลเลขที่ 0115562016752 ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท โดยสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดสมุทรปราการ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ออกใบอนุญาตจดทะเบียนให้ ณ วันที่ 18 ก.ค. 2562 เอกสารดังกล่าวระบุว่าได้ซื้อกิจการจากบริษัท บอดี้ แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด  ด้วยสถานการณ์และเศรษฐกิจขณะนั้นทำให้มีลูกจ้างมากกว่า 1,000 ยินยอมที่จะย้ายไปบริษัทบริลเลียนท์ฯ เพื่อรักษาการจ้างงานเอาไว้ แต่ก็ยังมีลูกจ้างอีก 344 คนรวมกรรมการสหภาพส่วนหนึ่งไม่ยอมที่จะย้ายไปบริษัทบริลเลียนท์ฯ เนื่องจากเห็นว่าเป็นบริษัทเพิ่งจดทะเบียนใหม่ และมีทุนจดทะเบียนเพียง 1 ล้านบาท ซ้ำยังเช่าพื้นที่บริษัทบอดี้แฟชั่นฯ ทำการผลิต หากย้ายไปคงไม่มีความมั่นคงในการทำงาน

ต่อมา บริษัทบริลเลียนท์จึงไม่อนุญาตให้ลูกจ้าง 344 คนดังกล่าวเข้าในบริเวณบริษัท เนื่องจากไม่ได้ย้ายมาบริษัทบริลเลียนท์ฯ และในที่สุดก็มีคำสั่งเลิกจ้างพนักงานจำนวน 344 คน โดยไม่จ่ายค่าชดเชย พนักงานทั้ง 344 คนได้เขียนคำร้องเรียน คร.7 ต่อกระทรวงแรงงาน พนักงานตรวจแรงงานจึงออกคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินให้ลูกจ้าง แต่นายจ้างไม่จ่าย กลับนำเรื่องสู่ศาลฟ้องเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน ขณะนี้เรื่องอยู่ที่ชั้นศาล จากนั้นไม่นาน บริษัทบริลเลียนท์ฯ ก็ได้ปิดกิจการและเลิกจ้างลูกจ้างที่ยังเหลืออยู่ทั้งหมดจริงตามการคาดการณ์ของลูกจ้าง 344 คน และยังไม่มีใครได้รับค่าชดเชยจากการเลิกจ้างกะทันหัน

ภาพการตั้งขบวนชุมนุมของสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ เมื่อ 22 ก.พ. 65 (ที่มา Chana La)
 

แถลงการณ์ของสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ ระบุว่า กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ ทราบความเคลื่อนไหวเรื่องการโอนย้ายลูกจ้างมาตลอด และในบางครั้งยังอยู่ในเหตุการณ์ด้วย เช่น ในเดือน มิ.ย.และ ก.ค. 2562  มีการประชุมชุมร่วมกันระหว่างสหภาพแรงงานไทรอัมพ์และผู้แทนบริษัท โดยมีผู้แทนสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเข้าร่วมสังเกตการประชุมด้วย แต่ผู้แทนสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานฯ กลับให้คำแนะนำโน้มน้าวให้ลูกจ้างย้ายไปบริษัทบริลเลียนท์ฯ แทนการช่วยยืนยันกับนายจ้างว่าลูกจ้างมีสิทธิโดยสมัครใจที่จะไม่ย้ายงาน ทั้งยังให้ข้อสังเกตเรื่องทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาทไม่ใช่อุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งทางสหภาพมองว่าการปฏิบัติเช่นนี้ของผู้แทนกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ราวกับว่าเป็นตัวแทนฝั่งนายจ้าง

สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ ระบุว่า เนื่องในวันที่ 11 มี.ค. 2565 จะเป็นวันครบรอบ 1 ปีเต็มที่ลูกจ้างบริษัทบริลเลียนท์ถูกนายจ้างปิดกิจการลอยแพ สหภาพแรงงานไทรอัมพ์จึงขอฝากคำถามกลับไปยังกระทรวงแรงงานในฐานะผู้ถูกจ้างด้วยเงินภาษีให้ทำหน้าที่พิทักษ์ผลประโยชน์ลูกจ้าง เพื่อให้ชี้แจงเพิ่มเติมโดยเร็ว ดังนี้

  1. ที่ผ่านมา สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ ทราบเป็นอย่างดีว่าก่อนที่จะมาเป็นบริษัทบริลเลียนท์ฯ มีความเป็นมาเป็นไปอย่างไร แต่กลับปล่อยให้นายทุนต่างชาติที่มีทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาทเข้ามาซื้อกิจการต่อจากบริษัทบอดี้แฟชั่นฯ โดยไม่มีการตรวจสอบและป้องกันใดๆ ไม่มีแม้แต่การตั้งข้อสงสัยต่อนายจ้างตามวิสัยที่ผู้พิทักษ์ผลประโยชน์คนงานควรจะทำสักครั้งเดียว ซ้ำยังช่วยรับรองและโน้มน้าวคนงานแทนนายจ้าง และกรณีนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดกับลูกจ้างบริษัทบริลเลียนท์ฯ ที่แห่งแรก เมื่อเป็นเช่นนี้ กระทรวงแรงงานจะปฏิเสธความรับผิดชอบของตนเอง แล้วโยนว่าเป็นความผิดของนายทุนต่างชาติเพียงผู้เดียวได้อย่างไร
  2. เมื่อเกิดการปิดกิจการและเลิกจ้างคนงานนับพันคนโดยไม่จ่ายค่าชดเชยและเงินอื่นๆ ที่ลูกจ้างสมควรมีสิทธิได้รับ รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานได้แสดงความกระตือรือร้นอย่างไรบ้างในการช่วยเหลือลูกจ้างตามที่ให้สัมภาษณ์กับสื่อ นอกเหนือไปจากการสั่งการให้ข้าราชการสั่งจ่ายเงินกรณีว่างงานจากกองทุนประกันสังคมและเงินสงเคราะห์ลูกจ้าง เนื่องจากเงินทั้งสองส่วนนี้เป็นสิทธิที่ลูกจ้างต้องได้รับอยู่แล้วตามกฎหมาย สรุปอย่างง่าย คือ หากสองเรื่องนี้ถือว่ารัฐมนตรีได้ช่วยเหลือเต็มที่แล้ว ไม่ต้องมีรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ใช้เพียงข้าราชการประจำก็สามารถสั่งจ่ายได้ แล้วหน้าที่ในการติดตามเร่งรัดนายจ้างให้ปฏิบัติตามกฎหมาย หากไม่เป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีแล้วจะเป็นหน้าที่ของใคร หรือที่พยายามตีโพยตีพาย ปัดความรับผิดชอบ และอ้างต่างๆ นานาก็เพื่อกลบเกลื่อนสิ่งที่รัฐมนตรีไม่สามารถแก้ปัญหาให้คนงานได้ เช่นนี้ ภาษาบ้านๆ เรียกว่า “ไร้น้ำยา”

นอกจากนี้ สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ ขอย้ำข้อเท็จจริงที่สำคัญเพิ่มเติม ดังนี้

  1. ที่ผ่านมา สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ยังไม่เห็นรัฐบาลและกระทรวงแรงงานแถลงข่าวแสดงความคิดเห็นใดๆ เกี่ยวกับนายทุนชาวฮ่องกงที่เป็นเจ้าของบริษัทบริลเลียนท์ฯ หรือไปติดตาม ประสานงานกับองค์กรแรงงานระหว่างประเทศหรือองค์กรอื่นๆ ให้นายจ้างชาวฮองกงกลับมารับผิดชอบการกระทำที่เอาเปรียบอดีตลูกจ้างชาวไทยเลยแม้แต่ครั้งเดียว ทั้งที่มีอำนาจรับผิดชอบโดยตรง
  2. การแก้ไขปรับเพิ่มเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างจากระเบียบเดิม ไม่ได้เกิดจากรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานที่มีแนวคิดจะช่วยเหลือลูกจ้างก่อนหน้านั้นแล้ว แต่เกิดจากการต่อสู้เรียกร้องครั้งแล้วครั้งเล่าของลูกจ้างที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงแรงงานจึงไม่มีสิทธิอวดอ้างความสำเร็จนี้เป็นความดีความชอบของตน หนำซ้ำในการเรียกร้องครั้งหนึ่งปรากฏว่ากระทรวงแรงงานจงใจปิดประตูรั้วไม่ให้คนงานเข้าไปยื่นหนังสือร้องเรียนด้านใน เมื่อเป็นเช่นนั้น แกนนำแรงงาน ตัวแทนสหภาพแรงงาน และประชาชนจึงตัดสินใจจัดชุมนุมเรียกร้องค่าชดเชย ณ ทำเนียบรัฐบาลในวันที่  19 ต.ค. 2564 แต่กลับถูกดำเนินคดีความทั้ง 6 คน
  3. ข้อเรียกร้องข้อที่ 1 จากทั้งหมด 4 ข้อที่สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ยื่นต่อรัฐบาลและกระทรวงแรงงาน ที่ระบุให้รัฐบาลนำเงินจำนวน 242,689,682.71 บาท มาจ่ายให้ลูกจ้างตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ  ไม่ได้ระบุเจาะจงเป็นพิเศษว่ารัฐบาลต้องนำ “งบกลาง” มาจ่ายให้ลูกจ้างบริษัทบริลเลียนท์ฯ ที่ถูกนายปิดกิจการเท่านั้น ดังนั้น รัฐบาลจะใช้งบอะไรก็ได้มาสำรองจ่ายให้อดีตลูกจ้างก็ได้ ภายใต้หลักการว่ากระทรวงแรงงานต้องเป็นผู้เร่งรัดเงินชดเชยจากนายจ้าง มิใช่ผลักภาระให้ลูกจ้างซึ่งมีทุนทรัพย์และอำนาจต่อสู้น้อยเป็นผู้เรียกร้องและรอคอยเอง เงินสำรองก้อนนี้จะไม่ใช่การจ่ายสูญเปล่า แต่รัฐบาลจะได้รับเงินคืนจากนายจ้างโดยตรง ด้วยวิธีนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ด้วยว่ากระทรวงแรงงานมี “น้ำยา” ในการจัดการกับนายทุนที่เอาเปรียบแรงงานจริงหรือไม่ ส่วนที่สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ เสนอเรื่องงบกลางขึ้นมาเป็นโมเดลต้นแบบ เพราะสอดคล้องกับระเบียบว่าด้วยการบริหารงบกลาง อีกทั้งลูกจ้างบริษัทบริลเลียนท์ฯ คือประชาชนคนไทยคนหนึ่งที่จ่ายภาษีให้กับรัฐบาลเช่นเดียวกับประชาชนทุกคนของประเทศนี้ พวกเราจึงควรมีสิทธิได้รับการดูแลเช่นกัน ด้วยเหตุผลดังกล่าวมานี้ การเสนอให้นำงบกลางมาสำรองจ่ายจึงเป็นข้อเสนอที่เป็นไปได้และสมเหตุสมผล
  4. ในปี 2565 รัฐสภาได้จัดสรรงบกลางปี 2565 ไว้ 571,047 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 18.4 ของงบประมาณทั้งหมด เพื่อให้อำนาจฝ่ายบริหาร (รัฐบาล) เอาไว้ใช้จ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นตามระเบียบระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลางฯ ที่ระบุไว้อย่างกว้างๆ เช่น ภัยพิบัติ สถานการณ์เร่งด่วน การรักษาความสงบเรียบร้อย เป็นต้น ที่ผ่านมา “งบกลาง” ก้อนนี้ไม่ใช่งบประมาณที่ “แตะต้องไม่ได้” แต่มีการนำออกมาใช้ด้วยจุดประสงค์หลากหลาย เช่น จ้างเหมาพนักงานปฏิบัติงานของกรมอุทยานแห่งชาติ จำนวน 3,999 อัตรา (251 ล้านบาท) แก้ปัญหาราคาหมูแพง (574.11 ล้านบาท) จ้างพนักงานราชการเฉพาะกิจ 2,402 อัตราเพื่อมาช่วยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 (1,084 ล้านบาท) ส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SME โดยจ่ายเงินอุดหนุนให้แก่นายจ้างเป็นระยะเวลา 3 เดือน ในเดือน พ.ย. 2564-ม.ค. 2565 (ประมาณ 36,300 ล้านบาท) อาจทำให้พอเห็นภาพได้ว่า ทำไมสหภาพแรงงานไทรอัมพ์จึงเรียกร้องให้รัฐนำเงินจาก “งบกลาง” มาจ่ายให้ลูกจ้างตามข้อเรียกร้องที่ยื่นต่อนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน
  5. จากการประชุมร่วมกันระหว่างมงคลชัย สมอุดร รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้แทนกระทรวงแรงงาน ผู้แทนสำนักงบประมาณ ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  และผู้แทนสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2565 เวลา  13.00 น. ณ ห้องประชุมศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ 1 ชั้น 2 อาคารสำนักงาน ก.พ. (เดิม) ผู้แทนสำนักงบประมาณไม่ได้ปฏิเสธว่าการของงบกลางนั้นทำไม่ได้ เพียงแต่ต้องมีกระบวนการนำเสนอ คือให้กระทรวงแรงงานเป็นผู้เสนอโครงการเป็นเชิงนโยบายเพื่อนำมาจ่ายช่วยเหลือให้ลูกจ้าง ทั้งนี้ สมภาศ  นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ผู้แทนกระทรวงแรงงานที่เข้าร่วมประชุมไปนำเสนอผู้บริหารเพื่อเป็นผู้นำเสนอโครงการเชิงนโยบายต่อสำนักงบประมาณต่อไป โดยจะประสานทางโทรศัพท์และส่งหนังสือไปที่กระทรวงแรงงาน

สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ และอดีตลูกจ้างบริษัทบริลเลียนท์ที่เฝ้ารอคอยเงินชดเชยตามสิทธิกำลังจับตาว่ารัฐมนตรีกระทรวงแรงงานจะมีท่าทีตอบสนองอย่างไรกับข้อเสนอจากที่ประชุมดังข้อ 5 ที่ผ่านมา

"เราหวังว่าการชุมนุมวันที่ 11 มี.ค. 2565 นี้จะเป็นการชุมนุมครั้งสุดท้าย และจะไม่ต้องมีใครต้องเดือดร้อนจากการไม่ยอมปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ของกระทรวงแรงงานอีก สุดท้าย สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ขอฝากความปรารถนาดีไปยังมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย และประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน รวมถึงชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ที่ให้ความสนใจกับขบวนการเรียกร้องของแกนนำแรงงานจากสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ และเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน เราทราบว่าท่านยินดีกับการแบ่งปันผลประโยชน์เศษเนื้อติดกระดูกจากชนชั้นเผด็จการมากกว่าร่วมสู้ไปกับขบวนการแรงงาน ทั้งนี้ พวกเรามิมีใครเห็นด้วยที่จะยกย่องท่านเป็น 'ผู้นำแรงงาน' ตามที่มีคนยกหางท่านในข่าวแต่ประการใด" สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ระบุในแถลงการณ์

โฆษกกระทรวงแรงงานแถลงก่อนหน้านี้ว่าอย่างไร

แถลงการณ์ของสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ระบุว่าโฆษกกระทรวงแรงงานให้สัมภาษณ์กับมติชนออนไลน์ในวันที่ 8 มี.ค. 2565 กรณีการช่วยเหลือลูกจ้างบริษัท บริลเลียนท์ อัลไลแอนซ์ ไทย โกลบอล จำกัด ที่ได้รับผลกระทบจากนายจ้างปิดกิจการ กระทรวงแรงงานดำเนินการตามขั้นตอนในกรอบของกฎหมายครบถ้วนแล้ว อย่างไรก็ตาม ประชาไทตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่าข่าวที่เผยแพร่ในเว็บไซต์มติชนออนไลน์นั้นมาจากกองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กระทรวงแรงงาน ซึ่งมีเนื้อหาเดียวกัน

ตามข่าวหัวข้อ "โฆษก ก.แรงงานยันช่วยเหลือลูกจ้างไทรอัมพ์ครบถ้วนตามกฎหมาย ด้านผู้นำแรงงานประณามแกนนำบิดเบือนข้อเท็จจริง" ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ของกระทรวงแรงงาน ระบุว่า เธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) กล่าวถึงกรณีที่สหภาพแรงงานไทร อัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนล แห่งประเทศไทย ออกมากล่าวหาว่ารัฐบาลล้มเหลว ปล่อยทุนต่างชาติเหยียบย่ำแรงงานไทย รัฐมนตรีแรงงาน ไร้น้ำยา บังคับใช้กฎหมาย ช่วยเหลือลูกจ้าง และบิดเบือนข้อเท็จจริงว่าลูกจ้างถูกลอยแพยังไม่ได้รับค่าชดเชย โดยจะรวมตัวชุมนุมที่ ทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 11 มี.ค. 2565 นั้น

กระทรวงแรงงานขอชี้แจงสรุปประเด็นการช่วยเหลือลูกจ้างบริษัท บริลเลียนท์ อัลไลแอนซ์ ไทย โกลบอล จำกัด ที่ได้รับผลกระทบจากนายจ้างปิดกิจการว่าสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ติดตามและสั่งการให้ดำเนินการช่วยเหลือดูแลลูกจ้างกลุ่มนี้มาโดยตลอดตามข้อห่วงใยและการกำชับของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตั้งแต่วันแรกที่มีการปิดกิจการเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2564 โดยอำนวยความสะดวกในการยื่นคำร้องเพื่อรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ จัดหางานให้กับลูกจ้างที่ประสงค์ทำงาน และในวันที่ 23 มี.ค. 2564 พนักงานตรวจแรงงานสามารถออกคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายให้กับลูกจ้างจำนวน 242,689,862.71 บาท ดำเนินการจ่ายเงินสงเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างให้แก่ลูกจ้างจำนวน 32,973,275.44 บาท และแก้ไขระเบียบคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง โดยปรับเพิ่มอัตราเงินสงเคราะห์ กรณีนายจ้างเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย สูงสุด 100 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ทำให้ลูกจ้างได้รับเงินสงเคราะห์เพิ่มอีก 10,504,431.44 บาท สำนักงานประกันสังคมจ่ายเงินกรณีว่างงาน เป็นเงิน 65,850,768 บาท ซึ่งการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้กับลูกจ้างทางตัวแทนลูกจ้างได้เข้ามาขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานที่ช่วยดำเนินการให้อย่างเต็มที่แล้ว

สหภาพไทรอัมพ์ขณะเข้าพบผู้แทนกระทรวงแรงงาน (ภาพจากกระทรวงแรงงาน)
 

ด้านคดีความได้ยื่นฟ้องคดีแพ่งต่อศาลแรงงานภาค 1 ซึ่งได้มีคำพิพากษาให้นายจ้างจ่ายเงินจำนวน 220,787,592.71 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ด้านคดีอาญาได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรบางเสาธง พนักงานสอบสวนได้ขอศาลจังหวัดสมุทรปราการออกหมายจับนายจ้างมีอายุความภายใน 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ 5 มิ.ย. 2564 ถึงวันที่ 5 มิ.ย. 2569 ดำเนินการยื่นขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 เนื่องจากศาลล้มละลายกลางได้มีคาสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ในวันที่ 25 พ.ย. 2564 ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2565 กระทรวงแรงงานได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะนัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ในวันที่ 1 มิ.ย. 2565 นอกจากนี้ ได้มีหนังสืออายัดเงินฝากไปยังธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ชื่อบัญชีบริษัทฯ โดยธนาคารได้ส่งแคชเชียร์เช็ค 3 ฉบับ มูลค่า 91,475.29 บาท สั่งจ่ายคืนบัญชีกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง และมีหนังสือถึงอธิบดีกรมศุลกากรและกรมสรรพากรติดตามผลการอายัดทรัพย์สินรายบริษัท บริลเลียนฯ โดยเมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2564 กรมศุลกากรได้มอบเช็คเงินที่ยึดอายัดจากเงินอากรขาเข้าของบริษัท บริลเลียนฯ จำนวน 1,389,388.80 บาท

ทั้งนี้ สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย เคยมายื่นหนังสือให้ทางกระทรวงแรงงานเร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือและได้มีการประชุมหารือและชี้แจง โดยมีแกนนำที่เข้าร่วมประชุมได้ แก่ เซีย จำปาทอง, ศรีไพร นนทรี, ธนพร วิจันทร์, สุธิลา ลืนคำ, จิตร ณ วัชรี พะนัด, เตือนใจ แวงคำ และวาสนา คงหินตั้ง หลังจากการประชุมบรรดาแกนนำได้กล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และข้าราชการกระทรวงแรงงานที่ได้เร่งรัดและให้ความช่วยเหลือลูกจ้างบริษัท บริลเลียนฯ สำหรับประเด็นที่สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ มากล่าวอ้างในภายหลังว่ากระทรวงแรงงานและรัฐบาลไม่ได้ให้ความช่วยเหลือลูกจ้างกลุ่มนี้ และยังขอให้รัฐบาลนำเงินงบกลางจำนวน 242,689,862.71 บาท มาจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าจ้างสาหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี โบนัสและเบี้ยขยันให้กับลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนนั้น ขอยืนยันว่ากระทรวงแรงงานดำเนินการตามขั้นตอนในกรอบของกฎหมายและช่วยเหลืออย่างเต็มที่แล้ว การนำเงินงบกลางมาจ่ายให้ลูกจ้างไม่สามารถกระทำได้เพราะเป็นเรื่องระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ทั้งนี้ไม่มีประเทศใดปฏิบัติตามข้อเรียกร้องดังกล่าว และยังได้ชี้แจงให้ผู้แทนที่เข้าร่วมประชุมได้รับทราบและเข้าใจแล้ว โฆษกกระทรวงแรงงานกล่าวทิ้งท้าย

ด้านมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย และประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน เปิดเผยถึงกรณีที่กลุ่มลูกจ้างกรณีบริษัท บริลเลียนท์ อัลไลแอนซ์ ไทย โกลบอล จำกัด ในนามสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย รวมตัวกันเพื่อติดตามทวงถามความคืบหน้าการดำเนินการช่วยเหลือลูกจ้างได้รับผลกระทบจากนายจ้างปิดกิจการที่ทำเนียบรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเงินค่าชดเชยที่นอกเหนืออำนาจของรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

ที่ผ่านมาในเรื่องนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานพยายามให้มีการเยียวยาตามกฎหมายซึ่งได้มีการแก้ไขปรับปรุงระเบียบโดยเฉพาะกฎกระทรวงให้ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างให้ได้ค่าชดเชยกรณีว่างงาน ซึ่งขณะนั้นสำนักงานประกันสังคม ได้จ่ายเงินว่างงานกรณีลูกจ้างถูกเลิกจ้างไปแล้ว และลูกจ้างกลุ่มดังกล่าวก็ได้ไปขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลด้วยเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานยังได้มีการผลักดันขับเคลื่อนการเพิ่มเงินสงเคราะห์ลูกจ้าง ส่วนกรณีขอให้ดำเนินการหามาตรการป้องกันไม่ให้นักลงทุนต่างชาติมาลงทุนแล้วหอบกระเป๋าหอบเงินหนีปล่อยลอยแพลูกจ้างเช่นนายจ้างรายนี้นั้น ขณะนี้ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษารูปแบบแนวทางในการให้ความช่วยเหลือลูกจ้างเพิ่มเติม โดยมีผู้แทนจากฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้าง ฝ่ายละ 3 คน และผู้แทนจากภาครัฐที่เกี่ยวข้องศึกษาข้อมูลเพื่อนำเสนอคณะทำงานต่อไป

“ในมุมมองผมมองว่าการเคลื่อนของไหวของกลุ่มลูกจ้างที่ออกมาเรียกร้องในครั้งนี้เป็นลูกจ้างกลุ่มเดิมๆ คนเดิมๆ ที่เคยเรียกร้องกันมาหลายครั้ง ผมในฐานะประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย และประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน เป็นผู้นำแรงงานที่เคยทำงานร่วมกับกลุ่มลูกจ้างมาหลายกลุ่ม ไม่เคยคิดที่จะให้ต้องออกมาเรียกร้องด้วยวิธีการเดิมๆ แบบนี้ เพราะที่ผ่านมาก็ได้รับการเยียวยาไปแล้ว การออกมาเคลื่อนไหวในสถานการณ์แบบนี้ เชื่อว่าต้องมีกระบวนการนำพา เพราะมีเรื่องของค่าใช้จ่าย ค่ารถเข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้าเป็นผมมีวิธีการต่างๆ ที่ดีกว่านี้ในการตั้งคณะทำงานนำไปสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกันดีกว่าเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ” มนัสกล่าว

ชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เป็นอีกผู้หนึ่งที่แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ว่า ไม่เห็นด้วยกับสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ที่ใช้วิธีการชุมนุมกดดันเรียกร้องในประเด็นนี้ ไม่มีรัฐบาลไหนเขาทำกันโดยเฉพาะประเด็นที่ให้รัฐบาลนำเงินภาษีของประชาชนมาจ่ายค่าชดเชยแทนนายจ้าง ถ้าหากทำตามที่เรียกร้อง บ้านเมืองก็ไม่มีกฎเกณฑ์ นายจ้างที่เลิกกิจการก็จะพากันเบี้ยวทุกรายภาครัฐจะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายให้ก่อน

“ผมคิดว่าการเตรียมมาชุมนุมในครั้งนี้ต้องแอบแฝงผลประโยชน์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และที่สังเกตดูที่ผ่านมาผู้มาชุมนุมมักเป็นมือปืนรับจ้างไม่ใช่ลูกจ้างของบริษัทบิลเลี่ยนฯ จริง ส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างที่ตกงานเพราะถูกเลิกจ้าง การออกมาบิดเบือนข้อเท็จจริง ชี้นำผิดๆ ผมขอประณามการกระทำของแกนนำในครั้งนี้เพราะเป็นเรื่องที่ไม่หวังดีต่อผู้ใช้แรงงานจริง สำหรับผู้ที่ติดตามกรณีนี้มาจะทราบดีว่าสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ช่วยเหลือและแก้ไขปัญหานี้อย่างเต็มที่ได้เร่งรัดการดำเนินงานทุกขั้นตอนและออกแนวทางใหม่ๆ มาช่วยเยียวยาดูแลลูกจ้าง" ชาลีกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net