Skip to main content
sharethis

25 ปี วันหยุดเขื่อนโลก ชาวบ้านสาละวิน-นักวิชาการวิจารณ์โครงการผันน้ำยวมแซด กระบวนการ EIA ไม่สมบูรณ์ ไร้การมีส่วนร่วมคนท้องที่ที่ได้รับผลกระทบ ละเลยคุณค่าของชุมชนโดยรอบโครงการ ด้านเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขง อีสาน ออกแถลงการณ์จี้หยุดเชื่อนตามลำน้ำโขง แนะใช้พลังงานสะอาดที่มีผลกระทบน้อยกว่า

 

14 มี.ค. 65 สำนักข่าวชายขอบ รายงานวันนี้ (14 มี.ค.) ซึ่งตรงกับวันหยุดเขื่อนโลกประจำปี ที่บริเวณแม่น้ำสองสี บ้านแม่เงา อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ปัจจุบันเป็นพื้นที่ที่ถูกวางแผนให้เป็นสถานีสูบน้ำและปากอุโมงค์ตามโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล หรือเรียกชื่อเล่นว่า “โครงการผันแม่น้ำยวม” ชาวบ้านแม่เงาเป็นเจ้าภาพจัดงานวันหยุดเขื่อนโลก โดยมีชาวบ้านจากลุ่มน้ำสาละวิน เยาวชน นักสิ่งแวดล้อม และนักวิชาการ กว่า 200 คนเข้าร่วม นอกจากนี้ ยังมีนายมานพ คีรีภูวดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ จากพรรคก้าวไกล และนายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ กรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค ร่วมรับฟังปัญหาและรับหนังสือร้องเรียนจากชาวบ้าน

ชาวบ้านสบเงา จ.แม่ฮ่องสอน จัดงานวันหยุดเขื่อนโลก ครั้งที่ 25 ภาพถ่ายโดย สำนักข่าวชายขอบ
 

ภายในงานเปิดโอกาสให้ตัวแทนชาวบ้านจากชุมชนต่างๆ เล่าถึงสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ โดยนายสิงคำ เรือนหอม ชาวบ้านแม่เงา กล่าวว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยงไม่เคยรับรู้เรื่องรายงานผลประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) แต่เราเข้าใจเรื่องความเป็นอยู่ของชาวบ้าน เพราะคนที่มาพูดด้วยใช้ภาษาวิชาการ มารู้อีกทีคือเขาอนุมัติแล้วโดยคนที่เป็นรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) หากโครงการผันน้ำเกิดขึ้นเท่ากับทำลายคลังอาหารของเรา ตนยอมตายเพื่อไม่ให้โครงการนี้เกิดขึ้น การที่เราไม่รู้เรื่อง EIA เพราะเขามาเปิดเวทีให้นายอำเภอฟังแล้วนายอำเภอจะรู้เรื่องอย่างไร แทนที่จะพูดว่ามาสร้างเขื่อนแล้วจะได้หรือเสียประโยชน์อะไร

"หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เคยมาชี้แจง เขาอาจไปบางพื้นที่แล้วล็อกพ่อหลวงเอาไว้ และอ้างว่าจะพัฒนาให้เจริญ มีเงิน มีงาน เอาภาพต่างๆ มาโชว์ แต่ความเจริญขนาดไหนก็ไม่มีความหมายเพราะ EIA นี้ชาวบ้านไม่มีส่วนร่วม เขาจ้าง มหาวิทยาลัยนเรศวรมาศึกษา ชื่อของชาวบ้านเขายังเขียนไม่ถูกเลย เขาไม่เคยศึกษาเรื่องปู ปลา กุ้ง และการได้รับผลกระทบ หากกั้นเขื่อนปูปลากุ้งต้องตายหมด เพราะขึ้นไปไหนไม่ได้ ผมถามเขาว่าจะทำอย่างไร เขาบอกว่าจะทำบันไดให้ปลาขึ้น มัน 'ง่าว' สิ้นดี ตอนนี้จิตใจของชาวบ้านปั่นป่วน เพราะถูกรังแกย่ำยี ชาวบ้านไม่รู้จะฟ้องใคร ฟ้องทหาร ตำรวจเราก็กลัว จะฟ้อง นายปัญญา จีนาคำ ส.ส.แม่ฮ่องสอน เขาก็ไม่เคยมาลงพื้นที่สอบถามพวกเรา" นายสิงคำ กล่าว

น.ส.พรชิตา ฟ้าประทานไพร เยาวชนบ้านกะเบอะดิน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า โครงการอุโมงค์ผันน้ำต้องการใช้พื้นที่ป่าและที่ดินทำกินของชาวบ้านในหมู่บ้าน 91 ไร่ เพื่อเป็นกองดิน แต่ชาวบ้านไม่รู้เรื่องกระบวนการจัดทำ EIA เลย และไม่เคยได้มีส่วนร่วม ซึ่งทั้งกรมชลประทาน และมหาวิทยาลัยนเรศวร เข้ามาในหมู่บ้าน และอ้างว่าได้มาฟังชาวบ้านแล้ว แต่ชาวบ้านยังไม่รู้เรื่องเลย

นายยอดชาย พรพงไพร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่สวด อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า ความคิดผันน้ำยวมให้คนภาคกลางนั้น เราไม่ได้ห้าม แต่เราอยากให้คนที่คิดทำโครงการควรเอาปัญหาที่แท้จริงออกมาก่อน ต้องเอาความจริงมาบอกว่าทรัพยากรเสียหาย การพัฒนาทุกอย่างของแม่ฮ่องสอนต้องใช้พื้นที่ป่า แต่โครงการใหญ่ขนาดนี้ได้ขออนุญาตหรือยังและการสำรวจใน EIA เป็นข้อเท็จจริงหรือไม่ โครงการนี้เชื่อว่าไม่ได้เกิดขึ้น เพราะคนภาคกลางต้องการน้ำ บางคนบอกว่าเรื่องนี้เป็นนโยบายของรัฐจึงไม่จำเป็นต้องขอใคร แต่ตนในฐานะที่เป็นนักการเมืองเหมือนกัน จะทำอะไรยังต้องขออนุญาตชาวบ้าน ถ้าไม่ได้รับการมีส่วนร่วมจากประชาชนย่อมไม่ประสบความสำเร็จ

นายพงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า แม่น้ำสาละวินใหญ่ได้ เพราะแม่น้ำสาขาทำให้มีความอุดมสมบูรณ์ เราไม่ได้คัดค้าน แต่หากไม่ได้รับความร่วมมือจากคนในพื้นที่ การพัฒนานั่นย่อมไม่ยั่งยืน ทุกวันนี้การพัฒนาใดๆ ในแม่ฮ่องสอน ถูกคลุมด้วยกฎหมายมากมาย แต่โครงการนี้กลับถูกตัดสินใจแค่คนกลุ่มเดียว  เราอยากเห็นการทำ EIA จริงๆ ไม่ใช่เป็น EIA แค่เป็นเครื่องซักฟอกให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ จ.เชียงราย กล่าวว่า ทุกๆ ปีมาดูแม่น้ำสาละวินเพราะยังบริสุทธิ์ แต่แม่น้ำโขงถูกเขื่อนทำลายจนจะวิบัติภายในระยะเวลากว่า 20 ปี ถ้าเป็นคนก็คือคนติดเตียงแล้ว การได้มาลุ่มน้ำสาละวินจึงอยากบอกกล่าวเรื่องอันตรายของเขื่อนซึ่งเป็นตัวทำลายแม่น้ำและวิถีชีวิตของประชาชนที่พึ่งพาแม่น้ำ ดังนั้น ความคิดในการสร้างเขื่อนที่ลุ่มน้ำสาละวินจึงล้าสมัย ใครที่จะตัดสินใจในโครงการขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมว่าสร้างได้หรือไม่คือองค์ความรู้ ที่เราพูดถึงคือ EIA โดยที่แม่น้ำโขงการจัดทำ EIA นั้นไม่ได้มีการจัดทำอย่างจริงๆ แต่เป็นการตัดสินใจจากข้างบน และเป็น EIA ที่ตอบสนองต่อโครงการ ไม่ได้ตอบสนองในองค์ความรู้ในทุกๆ มิติ นักวิชาการก็เป็นเพียงคนที่รับจ้างทำ EIA ถ้า EIA ผ่านไปได้โดยประชาชนไม่ลุกขึ้นมาจัดการให้หยุดหรือตกไป ก็จะเป็นโอกาสให้รัฐเข้ามาเป็นข้ออ้าง

นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ กล่าวว่า การจัดการน้ำโดยการสร้างเขื่อนนั้นไม่ยั่งยืน โดยโครงการผันน้ำยวมนี้ไม่ควรเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นแล้ว เพราะเป็นการจัดการน้ำที่ไม่ถูกต้องคือการสูบน้ำขึ้นไปซึ่งรัฐบาลไทยไม่มีทุนพอ จึงต้องไปยืมมือจีนมาทำ ขณะที่ EIA ไม่เคยมีอะไรพร้อมเลย มีแต่ความอยาก และอำนาจทางการเมือง

ชาวบ้านกำลังเล่าถึงปัญหาในพื้นที่ โดยเฉพาะความกังวลเรื่องการผันน้ำยวม (ภาพถ่ายจาก สำนักข่าวชายขอบ)
 

ดร.วาเนสซา แลมป์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ออสเตรเลีย ซึ่งทำวิจัยโครงการผันน้ำยวม กล่าวว่าได้เดินทางไปพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกที่มีโครงการผันน้ำสิ่งที่เห็นคือ 1.รัฐบาลทำวิจัยที่ไม่สมบูรณ์และการใช้ภาษาที่ชาวบ้านไม่เข้าใจ 2.รัฐบาลหรือบริษัทไม่ได้ขออนุญาตชาวบ้านก่อน 3.ชุมชนมีประวัติศาสตร์สำคัญมาก แต่ในรายงาน EIA กลับไม่สนใจในเรื่องนี้

หลังจากนั้น ชาวบ้านได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์โดยระบุว่า แม่น้ำสาละวิน เป็นแม่น้ำนานาชาติแห่งหนึ่งในโลกที่ยังคงไหลอย่างอิสระผ่านพรมแดนไทย-พม่าตรงข้ามรัฐกะเหรี่ยง ตลอดเส้นทางลำน้ำสาขาต่างๆ ทั้งแม่น้ำยวม เงา เมย ลำห้วยน้อยใหญ่ เป็นสายน้ำที่หล่อเลี้ยงวิถีชีวิตของประชาชน ชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมืองหลายสิบล้านคน แม่น้ำสาละวินเป็นที่หมายปองของนักสร้างเขื่อนตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา แต่จวบจนปัจจุบันสายน้ำอันยิ่งใหญ่นี้ก็ยังปราศจากเขื่อนกั้น

ในประเทศไทย รัฐบาลไทย โดยกรมชลประทานผลักดันโครงการผันน้ำยวมเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำให้แก่เขื่อนภูมิพล เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ภาคกลาง โดยในวันครบรอบ 25 ปี หยุดเขื่อนโลก พวกเราชาติพันธุ์จากลุ่มน้ำเงา เมย ยวมสาละวิน ผู้พึ่งพิงอยู่กับผืนป่า สายน้ำ และรักษาป่า รักษาน้ำ รักษาทรัพยากรธรมชาติของโลกใบนี้มาตลอด กำลังจะถูกเบียดบังและเรียกร้องให้เราเสียสละต่อการพัฒนา

“พวกเราขอเรียกร้องให้ยุติโครงการก่อสร้างเขื่อนทุกแห่งทั่วประเทศ และยุติโครงการผันน้ำยวม-เขื่อนภูมิพล ซึ่งจะทำลายระบบนิเวศแม่น้ำและผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์แห่งลุ่มน้ำสาละวิน และวิถีวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่นของเรา รัฐต้องรับฟังและเคารพในสิทธิของพวกเราในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่งที่เป็นเจ้าของแผ่นดิน” แถลงการณ์ระบุ

นอกจากนี้ ชาวบ้านยังได้ร่วมกันยื่นหนังสือถึง กมธ.กิจการศาล องค์กรอัยการ องค์กรอิสระ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีโครงการจัดทำรายงานศึกษาผลประทบสิ่งแวดล้อมระบบในโครงข่ายไฟฟ้า ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนยวม-เขื่อนภูมิพล โดยระบุว่า กฟผ. มีโครงการระบบโครงข่ายไฟฟ้า ลำพูน 3-สบเมย (ส่วนที่พาดผ่านพื้นที่คุณภาพลุ่มน้ำ ชั้น 1) ซึ่งอยู่ระหว่างการทำการศึกษาและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยบริษัทปัญญาคอนซัลแตนท์ จำกัด และมหาวิทยานเรศวร เครือข่ายประชาชนฯ โครงการนี้จะพาดผ่านป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 6 แห่ง และเป็นพื้นที่คุณภาพลุ่มน้ำ ชั้น 1 ระยะทาง 127.96 กิโลเมตร (กม.) โครงการอยู่ในระหว่างการจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ โดยชาวบ้านมีความกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวบ้านซ้ำซ้อน โดยเฉพาะสิทธิในที่ทำกิน ทรัพยากรธรรมชาติ วิถีชีวิต ความเชื่อ วัฒนธรรมของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ตลอดทั้งการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เป็นนิเวศน์บริการที่ชาวบ้านจะต้องใช้พึ่งพิง และส่งผลต่อประโยชน์สาธารณะ เครือข่ายฯ จึงขอท่านได้โปรดตรวจสอบโครงการดังกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันเดียวกันนี้ กลุ่มนักวิชาการมหาวิทยาลัยนเรศวร ที่จัดทำ EIA เดินทางมายัง จ.แม่ฮ่องสอน แต่ไม่ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์ในบริเวณพื้นที่จัดงาน

ชาวอีสานจี้รัฐหยุดเขื่อนแม่โขง 

สำนักข่าวท้องถิ่น “The Isaan Record” รายงานวันนี้ (14 มี.ค.) เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขง อีสาน ออกแถลงการณ์เนื่องในวันหยุดเขื่อนโลก เรื่อง “หยุดสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง” มีใจความว่า แม่น้ำโขง เป็นแม่น้ำแห่งชีวิตของประชาชนทั้ง 6 ประเทศที่พึ่งพาอาศัยดำรงชีวิต แต่ที่ผ่านมา ชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขงทั้งในประเทศไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ต่างได้รับผลกระทบข้ามพรมแดนอย่างแสนสาหัสจากการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง ซึ่งตอนบนในประเทศจีนมีถึง 11 แห่ง และถูกซ้ำเติมด้วยการสร้างเขื่อนไซยะบุรี ในลาว 

"การขึ้นลงของระดับน้ำที่ผิดธรรมชาติ การลดลงของตะกอนจนทำให้เกิดปรากฏการณ์แม่น้ำโขงเป็นสีฟ้า ส่งผลให้ธาตุอาหารลดลง การลดลงของปลาในธรรมชาติและประมงพื้นบ้านหาปลาอย่างยากลำบาก นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงผู้คนชนพื้นเมืองที่ต้องถูกอพยพย้ายถิ่นฐานจากริมแม่น้ำโขง และกลุ่มคนเปราะบางที่พึ่งพาทรัพยากรจากแม่น้ำโขง" แถลงการณ์ ระบุ 

แถลงการณ์ยังระบุอีกว่า วันที่ 14 มีนาคม 2565 เป็นวันครบรอบ 25 ปีของวันหยุดเขื่อนโลก ขบวนการประชาชนที่ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพและคัดค้านการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำจากทั่วโลกที่ได้ร่วมกันเรียกร้องให้มีการหยุดการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อการโยกย้ายถิ่นที่อยู่ของชุมชนท้องถิ่น ส่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมต่อประมงพื้นบ้าน การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ การเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนทำให้ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเลวร้ายลง สำหรับเราแล้วการสร้างเขื่อน  ขนาดใหญ่ ไม่ใช่แหล่งพลังงานหมุนเวียนที่ยั่งยืน ตามที่นักสร้างเขื่อนมักกล่าวอ้าง พวกเราที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงต่างได้รับผลกระทบทางสังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องจากการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง        

"เราขอแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักทุกแห่งที่กำลังจะเกิดขึ้น  ทั้งใน ลาว ไทย กัมพูชา ด้วยกลุ่มทุนให้มีการเร่งรัดการรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนปากแบง ปากลาย ลาว ยิ่งจะเป็นการทำให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงและซ้ำเติมต่อสภาพระบบนิเวศแม่น้ำโขงมากยิ่งขึ้น ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงยุติการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักทุกแห่ง และหันไปใช้พลังงานหมุนเวียนที่สะอาด และมีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมน้อยกว่าเขื่อนขนาดใหญ่ รวมถึงการฟื้นฟูระบบนิเวศ และปกป้องแม่น้ำโขงให้กลับคืนมาเหมือนเดิม" แุถลงการณ์ระบุ


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net