Skip to main content
sharethis

'เพื่อไทย' ขอ 'กสทช.' ชุดใหม่ หยุดการควบรวม True DTAC เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ชี้ 5 เหตุผลที่ไม่ควรควบรวม แนะ ศึกษาให้ดีไม่เช่นนั้น ปัญหาจะเกิดในอนาคตจนแก้ไขไม่ได้ - สุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีต รมว.คลัง แนะไทยควรมีบำนาญประชาชน และประกันสังคมสำหรับ ปชช.ทุกคน ขึ้นค่าแรงเป็น 500 บาทต่อวัน

22 เม.ย.2565 ทีมสื่อพรรคเพื่อไทย รายงานต่อสื่อมวลชนว่า ศรัณย์ ทิมสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเลย และคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่าง True กับ DTAC กล่าวว่า ตามที่ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการ กสทช. ชุดใหม่ และ ได้เข้ารับตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่เรียบร้อยแล้ว จึงอยากขอให้มีการพิจารณาหยุดยั้งการควบรวมของ True - DTAC ที่ส่อแววว่าจะเกิดปัญหาตามมาอย่างมาก และ ประชาชนจำนวนมากแสดงความกังวลถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการควบรวมครั้งนี้  โดยมี 5 เหตุผลดังนี้

1. ผลกระทบต่อตลาดโทรคมนาคมในไทย ดัชนีการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมของประเทศไทยนั้นก็สุ่มเสี่ยงต่อการต่อการใช้อำนาจเหนือตลาดอยู่แล้วในอดีตที่ การควบรวมของ True – DTAC ในครั้งนี้จะยิ่งทำให้ตลาดโทรคมนาคมของไทยเสี่ยงต่อการสูญเสียสภาพการแข่งขันอย่างเสรี เนื่องจากหากมีการควบรวม 2 ผู้ให้บริการในตลาดโทรคมนาคมของไทยจะกินส่วนแบ่งของตลาดรวมกันกว่า 90 % แล้วนั้น จะทำให้ยากต่อการเกิดผู้เล่นหน้าใหม่ เมื่อการแข่งขันลดลง ผลกระทบก็จะตกอยู่กับผู้บริโภค

2. ความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับกฏระเบียบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการควบคุมดูแลผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากเกิดการควบรวม เนื่องจาก กสทช. มีการออกประกาศ เรื่องมาตราการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ซึ่งเป็นประกาศที่แก้ไขระเบียบในการควบรวม จากการ “ขออนุญาต” เป็นการ “แจ้งให้ทราบ” เท่านั้น ทำให้หน่วยงานไม่มีอำนาจในการให้หรือไม่ให้อนุญาต ตามที่ควร ซึ่งจะส่งผลให้ในอนาคต หากมีการกระทำในลักษณะนี้อีก หน่วยงาน กสทช. ก็จะไม่สามารถรักษาผลประโยชน์ให้กับประชาชนได้ อีกทั้งยังไม่มีระเบียบที่แน่นอนในการดูแลและควบคุมผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหลังการควบรวมธุรกิจ นอกจากนี้ การควบรวมครั้งนี้ยังอาจขัดกับประกาศ เรื่องมาตราการป้องกันมิให้มีการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม อีกด้วย จึงจำเป้นต้องมีการตีความและกำหนดระเบียบให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาลักษณะเดียวกันอีกในอนาคต

3. การศึกษาเปรียบเทียบผลกระทบจากการควบรวมในต่างประเทศที่หน่วยงานใช้ประกอบไม่เหมาะสมในการใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาเรื่องนี้ จากการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาผลกระทบจากการควบรวม True-DTAC พบว่า ข้อมูลซึ่งหน่วยงานใช้ในการศึกษาและเปรียบเทียบผลกระทบที่อาจเกิดหลังการควบรวมเสร็จสิ้นนั้น ไม่สามารถสะท้อนถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยได้ เนื่องจาก ข้อมูลตัวอย่าง แตกต่างจากกรณีการควบรวมในไทยมาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรมีการศึกษาและคาดการณ์ผลกระทบที่จะเกิดต่อประชาชนอย่างละเอียดอีกครั้ง 

4. ที่ปรึกษาอิสระเพื่อให้ความคิดเห็นต่อคณะกรรมการ กสทช. ที่ได้รับการแต่งตั้ง อาจขัดต่อหลักเกณฑ์ในการเลือกที่ปรึกษาอิสระ ซึ่ง กสทช. เป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์เอง ในการประชุมของกรรมธิการศึกษาผลกระทบ ได้มีการสอบถามและชี้ให้เห็นถึง คุณสมบัติที่อาจขัดต่อหลักเกณฑ์ของ กสทช. เอง ซึ่งเป็นที่กังขาและกระทบความเชื่อมั่นของหน่วยงาน

5. ข้อกังวลจากประชาชนและองค์กรต่างๆ ที่ได้ติดตามการควบรวม True-DTAC ในครั้งนี้ ทุกกลุ่มต่างแสดงความเป็นห่วงและข้อกังวลต่อการควบรวมในครั้งนี้ ซึ่งไม่ใช่ครั้งแรกที่สังคมตั้งคำถามถึงความเหมาะสม ความสามารถในการดูแลและคุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชน จากการณีการควบรวมระหว่างสองบริษัทค้าปลีกใหญ่ จนทำให้เสี่ยงจะเกิดการครอบครองตลาดในภาคธุรกิจค้าปลีก ซึ่งทำให้สังคมและองค์กรต่างๆ กักขาในอำนาจการควบคุมของหน่วยงานต่อบริษัทใหญ่เหล่านี้ หากปล่อยให้เกิดการควบรวมระหว่าง True-DTAC ในขณะที่ยังมีข้อกังขาต่างๆมากมาย จะยิ่งตอกย้ำและทำให้ประชาชนหมดความเชื่อมั่นในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กมธ. ศึกษาผลกระทบกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่าง True กับ DTAC ระบุว่าอยากร้องขอไปยังบอร์ด กสทช ชุดใหม่ เพื่อให้มีการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนอีกครั้ง โดยพยายามแก้ไขข้อกังขาต่างๆ ที่ประชาชนและสังคมกำลังตั้งคำถาม เพื่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนไทย

อดีต รมว.คลัง แนะไทยควรมีบำนาญประชาชน และประกันสังคมสำหรับ ปชช.ทุกคน ขึ้นค่าแรงเป็น 500 บาทต่อวัน

สุชาติ ธาดาธำรงเวช

วันเดียวกัน สุชาติ ธาดาธำรงเวช ศาสตราจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และอดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ประเทศไทยในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา​ ประ​ชาชนไทยยากจนลงมาก ตัวเลขธนาคารโลกแสดงให้เห็นว่า​ จำนวนคนยากจนเพิ่มขึ้นถึง 2 ล้านคน จาก​ 4.8 ล้านคน​ เป็น​ 6.7 ล้านคน​ ในช่วงปี 2558 ถึงปี 2561 เทียบกับประเทศจีนที่เคยมีคนจนกว่า 970 ล้านคน วันนี้ไม่มีคนจีนที่อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจนแล้ว

1.   เรื่องที่สำคัญที่สุด คือ “ผู้นำต้องมีความตั้งใจรับใช้ประชาชน” ผู้นำแบบศักดินา เป็นเจ้าขุนมูลนาย นายทุนผูกขาด คิดแต่เป็นนายประชาชน เอาเปรียบประชาชน คอรัปชั่นเงินประชาชน จะไม่มีทางแก้ไขปัญหาความยากจนได้ มีแต่จะทำให้ประชาชนยากจนลง 

2.   การทำชื่อโครงการเพื่อแก้ปัญหาความยากจนในแต่ละประเทศ จะมีชื่อคล้ายๆ กันหมด คือ การให้การศึกษาที่ดี การทำถนนเข้าสู่หมู่บ้านในชนบท การส่งเสริมและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว การเกษตรสมัย การส่งผลผลิตสู่ตลาดผ่านระบบโลจิสติกส์ที่ทันสมัย  การนำอุตสาหกรรมจากเมืองสู่หมู่บ้าน หากประชาชนอยู่ในทะเลทรายในที่ทุรกันดาร รัฐก็จะสร้างคอนโดสร้างแฟลต ให้ย้ายมาอยู่ หาโครงสร้างบริการพื้นฐาน และหางานมาให้

3.   ประเทศจีนแก้ความยากจนได้ดีมาก วันนี้ประชาชนจีน ที่เคยอยู่ใต้เส้นความยากจน ไม่มีแล้ว ทั้งประเทศ เพราะผู้นำและรัฐบาลจีนตั้งใจรับใช้ประชาชน ทำโครงการต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นอย่างตั้งใจ ไม่คอรัปชั่น ไม่เบียดบังเงินภาษีที่มาจากประชาชน แต่ประเทศเจ้าขุนมูลนายพ่อค้านายทุนผูกขาดแบบไทยๆ ที่มีโครงการชื่อเหมือนๆ กัน แก้ความยากจนไม่ได้ กลับทำให้คนยากจนเพิ่มขึ้นมากมาย เพราะไม่ตั้งใจ ทำตัวเป็นนายประชาชน จ้องแต่จะคอรัปชั่น เบียดบังเงินงบประมาณในโครงการช่วยเหลือประชาชน

4.   นอกจากนี้ ประเทศจีนยังจัดเงินสวัสดิการให้ประชาชน (Welfare) ที่ชราภาพอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป เพื่อให้สามารถพึ่งตนเอง ไม่เป็นภาระลูกหลาน ดังนั้น ประเทศไทย คงต้องมีระบบบำนาญประชาชน สำหรับคนที่อายุเกิน 60 ปีขึ้นไปได้แล้ว รัฐบาลไทยควรจัดให้มีระบบสวัสดิการประชาชน โดยให้บำนาญประชาชนทุกคน เดือนละ 3,000 บาท (เป็นเงินที่ต้องใช้จ่ายขั้นต่ำ เป็นระดับเส้นความยากจนในประเทศไทย) ซึ่งปัจจุบันมี 11 ล้านคน ใช้เงินประมาณ 3.8 ล้านล้านบาท เงินจำนวนนี้หามาจาก การลดขนาดรายจ่ายประจำของรัฐบาล ลดจำนวนกระทรวง ทบวง กรม และลดจำนวนรัฐมนตรีลง เลิกวุฒิสภา มีแต่ ส.ส.ที่เป็นตัวแทนประชาชน ให้ทำในลักษณะคล้ายประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีรายได้ของชาติโดยรวม (GDP) ใหญ่กว่าไทยถึงกว่า 10 เท่า แต่มีเพียง 12 กระทรวง 18 รัฐมนตรี

5.   สำหรับประชาชนในวัยทำงาน ประเทศไทยควรให้มีระบบประกันสังคม (Social Security) ให้ครอบคลุมประชาชนทุกคน โดยให้ประชาชนทุกอาชีพ ออมเงินตามความสามารถ โดยรัฐบาลใช้เงินภาษีร่วมสมทบเงินให้ประชาชนแต่ละคน เช่น ออมและสมทบฝ่ายละ 3-10% ของรายได้ เมื่อแต่ละคนอายุครบ 60 ปีแล้ว นอกจากจะได้เงินเดือนสวัสดิการ 3,000 บาทที่รัฐจัดให้ฟรีแล้ว ประชาชนแต่ละคน ยังจะได้เงินเดือนส่วนเพิ่ม ที่ออมไว้ตั้งแต่ยังหนุ่มสาวในระบบประกันสังคมด้วย ซึ่งรวมกันอาจได้ถึง 20,000 ถึง 30,000 บาทต่อเดือน

6.   ทุกวันนี้ สินค้าต่างๆ เริ่มขึ้นราคา โดยเฉพาะสินค้านำเข้า ประเภทน้ำมัน และโภคภัณฑ์ ยารักษาโรค และผลิตภัณฑ์ปุ๋ยเคมี ทั้งนี้ เนื่องมาจากสงครามรัสเซียบุกยูเครน และจากการที่ประเทศใหญ่ๆ พิมพ์ธนบัตร มาใช้ในช่วงโรคระบาดโควิดมากเกินไป รัฐบาลไทย จึงควรขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้พอกิน จากวันละ 300 เป็น 500 บาท โดยรัฐควรปรับค่าเงินบาทให้แข่งขันได้ดีขึ้น จะขายสินค้าและบริการส่งออกได้มากขึ้น​ ได้เงินตราต่างประเทศมา​แล้ว​ ยังแลกเป็นเงินบาทได้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้​เศรษฐกิจ​เติบโตในอัตราสูงขึ้น​ ทำให้สามารถเพิ่มค่าแรงงานได้ ในขณะที่เอกชนก็ได้กำไรมากขึ้น และรัฐบาลได้เงินภาษีมากขึ้นด้วย

7.   ปัจจุบัน ระบบเศรษฐกิจไทยกำลังถอยหลังลงคลอง รัฐบาลบริหารประเทศแบบผิดทิศทาง ทำให้หนี้ภาครัฐเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ด้วยการกู้เงินมาแจก หนี้รัฐบาลคิดเป็น 62% ของรายได้ประเทศ (GDP) แล้ว และหนี้ครัวเรือนก็เพิ่มขึ้นมากมาย เพราะประชาชนไม่มีงานทำ หนี้ครัวเรือนคิดเป็นกว่า 90 % ของ GDP หนี้ทั้ง 2 ประเภทรวมกันเกินกว่า 150% ของ GDP  "ประเทศต้องเปลี่ยนผู้นำเป็นคนรุ่นใหม่ที่รับใช้ประชาชน มีระบบความคิดใหม่ ทำให้ประชาชนมีอนาคต มีความใฝ่ฝัน 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net