Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 65 กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเชียงเพ็ง จัดกิจกรรม ‘สืบชะตาลำน้ำเซบายครั้งที่ 5’ เนื่องในวันคุ้มครองโลก (EARTH DAY) ย้ำคนลำเซบายเรียกร้องรัฐประกาศเป็นพื้นที่ปลอดภัย

เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2565 ที่ศูนย์ประสานงานกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเชียงเพ็ง บ้านเชียงเพ็ง หมู่ 1 ตำบลเชียงเพ็ง อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร ได้จัดกิจกรรม สืบชะตาลำน้ำเซบายครั้งที่ 5 (EARTH DAY วันคุ้มครองโลก) โดยมีเครือข่ายชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐมาร่วมกิจกรรมกว่า 100 คน และได้จัดเวทีเสวนา “สิทธิชุมชนกับการลุกขึ้นมาปกป้องทรัพยากรและปกป้องชุมชน เพื่อหาแนวทางร่วมกันให้รัฐประกาศเป็นพื้นที่ปลอดภัย”   ก่อนตั้งขบวนเดินเท้าไปปล่อยกระทงขนาดใหญ่ที่บริเวณริมลำน้ำเซบาย เพื่อสืบชะตาลำน้ำเซบายครั้งที่ 5  พร้อมอ่านคำประกาศ จากลำน้ำเซบาย สู่การปกป้องสิทธิชุมชนยืนหยัดคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล

ด้านนางมะลิจิตร เอกตาแสง อายุ 60 ปี กรรมการกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเชียงเพ็ง กล่าวว่าวันนี้ทางกลุ่มอนุรักษ์อนุรักษ์ลำน้ำเซบายตำบลเชียงเพ็งร่วมกับเครือข่ายพี่น้องที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐ จากเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่างจังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดยโสธร ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมสืบชะตาลำน้ำเซบายครั้งที่ 5 (EARTH DAY วันคุ้มครองโลก) มีการจัดเวทีเสวนา ก่อนตั้งขบวนเดินเท้าและถือป้ายไปบริเวณริมลำน้ำเซบาย พร้อมลอยกระทงขนาดใหญ่ในลำน้ำเซบาย ปล่อยพันธุ์ปลา บวชต้นไม้ และปลูกต้นไม้ริมลำน้ำเซบาย ซึ่งมีวัตถุประสงค์คือ 1.เพื่อต่ออายุ และความเป็นสิริมงคลจะได้เกิดขึ้นกับลำน้ำรวมทั้งผู้คนในชุมชนไปด้วย การสืบชะตาให้กับลำน้ำจึงเป็นการแสดงความศรัทธา ความเคารพ และเหนือสิ่งอื่นใดคือการร่วมกันแสดงออกถึงความห่วงใยต่อลำน้ำ 2.เพื่อเป็นการต่อชีวิตให้กับลำน้ำ และเป็นการขอขมาต่อลำน้ำ สายน้ำที่มีความสำคัญต่อสรรพสิ่งทั้งมวลรวมถึงผู้คนทั้งสองฝั่งลำน้ำและ เป็นการกระตุ้นเตือนให้คนที่อาศัยอยู่บริเวณลำน้ำมีจิตสำนึกช่วยกันรักษา สายน้ำแห่งนี้ให้ยืนยาวอย่างยั่งยืน 3.เพื่อสร้างความตระหนักของชุมชน ความหวงแหน ความเห็นคุณค่าจากการใช้ประโยชน์จากลำน้ำเซบาย 4.เพื่อสร้างความสามัคคีของคนทุกเพศ ทุกวัย ของชุมชน หน่วยงานราชการ และคนภายนอกได้เข้าใจและให้เห็นความสำคัญของลำน้ำเซบายที่เราได้ใช้ประโยชน์อยู่ทุกวัน 5.เพื่อปกป้องทรัพยากร ปกปองสิทธิชุมชน และอนุรักษ์ลำน้ำเซบายตลอดจนให้ชุมชน ทุกหน่วยงาน ออกมาช่วยกันปกป้องลำน้ำเซบายให้อยู่คู่กับชุมชนต่อไป และทางกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเชียงเพ็งยังเรียกร้องให้รัฐประกาศเป็นพื้นที่ปลอดภัยด้าน ดิน น้ำ ป่า อากาศ และคุณภาพชีวิต

ด้านนายสิริศักดิ์ สะดวก อายุ 43 ปี ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเชียงเพ็ง กล่าวว่า ที่ผ่านมาการเคลื่อนไหวของกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเพื่อคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล เรามีจุดยืนที่ชัดเจนในการปกป้องวิถีชีวิตบ้านเกิด ปกป้องทรัพยากร ปกป้องลำเซบาย แต่รัฐบาลไม่เคยที่จะฟังเสียงของชาวบ้าน ในทางกลับกันยังเปิดช่องทางเอื้อให้กับทุน โดยเฉพาะข้อกฎหมาย คำสั่ง หรือแม้กระทั้งมติ ครม. นับได้ว่าเป็นนโยบายที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่ขนาดใหญ่จากนโยบายรัฐ ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพพื้นที่และสภาพแวดล้อมอย่างกว้างขวาง สิ่งสำคัญรัฐบาลไม่เคยมีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ก่อน แต่ดำเนินการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเป็นรายโครงการเท่านั้น รวมถึงการกำหนดนโยบายที่ชาวบ้านในชุมชนขาดการมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้น ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร และเมื่อประชาชนในแต่ละพื้นที่ติดตามข้อมูลโดยยื่นหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแสดงความกังวลในประเด็นผลกระทบที่เกิดจากมลพิษ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกลับบอกว่ามีบรรจุในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม  ทั้ง ๆ ที่ชาวบ้านในพื้นที่ก็ไม่ได้มีส่วนร่วมกับรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งปวดล้อมแต่อย่างใด ตลอดจนพื้นที่ซึ่งมีการดำเนินนโยบายโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยพาะตำบลน้ำปลีก อำเภอเมืองอำนาจเจริญซึ่งคาบเกี่ยวกับตำบลเชียงเพ็ง อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร ในรัศมี 5 กิโลเมตรนั้นเป็นที่ทราบว่าเป็นพื้นที่เปราะบางที่จะได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการ โดยเฉพาะ ชุมชน วัด โรงเรียน การแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งพื้นที่เหล่านี้ควรค่าแก่การอนุรักษ์ฐานทรัพยากร  สร้างความมั่นคงทางอาหาร สร้างฐานเศรษฐกิจชุมชน สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ และเราพร้อมยืนหยัดปกป้องลำน้ำเซบาย เพื่อคนเซบาย

ในขณะที่หลังจากจัดกิจกรรมสืบชะตาลำน้ำเซบาย ครั้งที่ 5 ด้านทางสาวนวพร เนินทราย อายุ 32 ปี ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเชียงเพ็ง ได้อ่านคำประกาศโดยมีเนื้อหาดังนี้ จากลำน้ำเซบาย สู่การปกป้องสิทธิชุมชน ยืนหยัดคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล รัฐต้องประกาศเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ชุมชนจากลำน้ำเซบาย สู่การปกป้องสิทธิชุมชนยืนหยัดคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล เราคนเซบาย ชุมชนเราเป็นผลผลิตที่งอกงามจากความอุดมสมบูรณ์ของลำน้ำเซบาย ลำน้ำอันคดเคี้ยว ล่องไหลอย่างอิสระ ที่มีความสัมพันธ์ ดูแล รักษาระบบนิเวศน์ และวิถีชีวิตของชุมชนเกษตรกรรม ให้ได้มีอาหาร น้ำ และอากาศที่ปลอดภัย เพียงพอต่อการใช้ชีวิตอย่างสงบสุข กระทั้ง เมื่ออำนาจรัฐอันเป็นของประชาชนถูกปล้นชิงไปโดยพวกเผด็จการ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ร่วมมือกับกลุ่มทุน ผ่านนโยบายอย่าง”สานพลังประชารัฐ”  และบีบบังคับให้พื้นที่ของเราต้องมีอุตสาหกรรม โรงงานน้ำตาล และโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยที่พี่น้องในพื้นที่ไม่เคยได้มีส่วนในการร่วมออกแบบนโยบาย กำหนดอนาคตชีวิตของชุมชน โรงงาน้ำตาลและโรงงานไฟฟ้าชีวมวลได้พรากเอาอากาศที่สะอาด ลำน้ำเซบาย และความสงบ ไปจากผืนดินของประชาชนแห่งนี้ ผลักให้ชุมชนไม่มีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่ของตนเอง ไม่มีสิทธิ์ ไม่มีส่วนร่วมของชุมชนและประชาชน ในการกำหนดนโยบาย ออกแบบการเปลี่ยนแปลงที่จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของตนเอง โดยบังคับให้ชุมชนมีหน้าที่เพียงรับผลกระทบกับชีวิตอันเลวร้าย ที่เกิดขึ้น จากการดำเนินไปของอุตสาหกรรม วันนี้ 22 เมษายน ซึ่งเป็นวัน Earth day หรือวันคุ้มครองโลก และเป็นวันสืบชะตาลำน้ำเซบายเชียงเพ็ง เราพี่น้องกลุ่นอนุรักษ์ลำน้าเซบายขอประกาศจากหัวใจของเราว่า รัฐจะต้องประกาศให้มีพื้นที่ปลอดภัย พื้นที่ที่เราจะได้ดำรงค์สิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นชุมชนที่มีอากาศสะอาด ผืนดินที่ชุ่มชื้น แม่น้ำและป่าที่อุดมสมบูรณ์ สามารถดำรงค์วิถีชีวิตได้อย่างปลอดภัย สงบ และสามารถกำหนดอนาคตการเปลี่ยนแปลงได้ด้วยชุมชนเอง
                    

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net