Skip to main content
sharethis

 

  • กลุ่มนักกิจกรรมเพื่อสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศจัดงานแถลงข่าวที่สวนครูองุ่น ทองหล่อ เพื่อแสดงจุดยืนสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวันพุธที่ 15 มิ.ย.นี้ พร้อมประกาศว่าไม่สนับสนุนร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิตของรัฐบาลที่อาจจะถูกนำมาพิจารณาพร้อมกับร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม
  • ต้องการเท่าเทียม ไม่ต้องการสิ่งที่คล้ายคลึง พรรคก้าวไกล ชี้ การโหวตให้ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมเท่านั้น คือการยอมรับสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริง ท้วง ครม.นำ ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต มาพิจารณาประกบไม่ได้ เพราะเป็นการเสนอกฎหมายใหม่ อัด เนื้อหาแตกต่าง เพราะ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ยืนบนหลักการมองคนไม่เท่ากันและสร้างเงื่อนไขให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศ ย้ำชัด นี่ไม่ใช่การเรียกร้องสิทธิ แต่เป็นการทวงสิทธิที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศถูกพรากไป 
  • 'ไทยสร้างไทย' ชี้รัฐบาลประยุทธ์ สอบตกนโยบายด้านการรับรองคุ้มครองสถานภาพสตรี และ ความหลากหลายทางเพศ

13 มิ.ย. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มนักกิจกรรมเพื่อสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศจัดงานแถลงข่าวที่สวนครูองุ่น ทองหล่อ เพื่อแสดงจุดยืนสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวันพุธที่ 15 มิ.ย.นี้ พร้อมประกาศว่าไม่สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตของรัฐบาลที่อาจจะถูกนำมาพิจารณาพร้อมกับร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม

พรหมศร วีระธรรมจารี หรือ 'ฟ้า' เป็นตัวแทนกลุ่มนักกิจกรรมในการแถลงข่าว โดยระบุเหตุผลที่ต้องมีการจัดงานแถลงข่าวว่าที่ผ่านมา กลุ่มนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวเพื่อผู้มีความหลากหลายทางเพศได้มีการผลักดันให้มีพ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม เพื่อให้ยกระดับคุณภาพชีวิตของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศและเพื่อได้รับสิทธิเท่าชายหญิง ซึ่งเมื่อวันที่ 9 ก.พ. ที่ผ่านมา ได้มีการนำร่างพ.ร.บ. ฉบับนี้เข้าสู่สภาเพื่อพิจารณาในวาระแรก แต่มีการส่งร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาถึง 60 วัน

ตัวแทนนักกิจกรรมกล่าวว่าต่อมา ร่างพ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมก็กลับมาสู่สภาอีกครั้งในสัปดาห์ที่แล้ว ก่อนจะถูกยกมาพิจารณาในสัปดาห์นี้ ในขณะเดียวกันก็มีรายงานว่าคณะรัฐมนตรีระบุว่ารัฐบาล “ได้มีของขวัญให้กับกลุ่มเพศหลากหลาย” คือพ.ร.บ. คู่ชีวิต ทั้งที่ไม่เคยมีการทำประชาพิจารณ์เกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งพรหมศรระบุว่าเป็นกฎหมายที่ทำให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศกลายเป็นพลเมืองชั้นสอง

“วันนี้พวกเราจึงต้องมารวมตัวกันเพื่อแสดงจุดยืนอย่างชัดแจ้งว่าสังคมต้องการอะไร” พรหมศรกล่าว “งานไพรด์ที่ผ่านมา หรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับชุมชน LGBTQ ทุกคนก็จะได้เห็นแล้วว่ามีประชากรมาร่วมกันอย่างหลากหลายมากมายขนาดไหน เนืองแน่นถนนสีลม หรือมีกิจกรรมอื่น ๆ ในสังคมในช่วงเดือนไพรด์ ก็มีการผลักดันร่วมกันไปกับเราในเดือนนี้กันอย่างเต็มที่ ทางรัฐบาลควรจะเห็นได้แล้วว่า ณ ตอนนี้ ณ เวลานี้ มีอะไรเกิดขึ้นบ้างในสังคม”


ชุมาพร แต่งเกลี้ยง

นอกจากนี้ ชุมาพร แต่งเกลี้ยง หรือ ‘วาดดาว’ นักกิจกรรมจากกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก ยังได้อ่านถ้อยแถลงจากเพจนักวิจัยกฎหมาย LGBTI ที่มีข้อกังวลต่อความแตกต่างทางหลักการของร่างพ.ร.บ. คู่ชีวิตและร่างพ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม โดยระบุว่าพ.ร.บ. คู่ชีวิตเป็นการรับรองการใช้ชีวิตร่วมกันของบุคคลเพศเดียวกัน มีสิทธิหน้าที่ต่อกันตามที่กฎหมายฉบับดังกล่าวระบุเท่านั้น การจดทะเบียนคู่ชีวิตจึงไม่นำไปสู่สภานะของบุคคลตามกฎหมายแพ่ง ในขณะที่การสมรสเป็นสถาบันที่ได้รับการก่อตั้งขึ้นโดยกฎหมายแพ่งและทำให้เกิดสถานะทางแพ่งของบุคคลในกฎหมาย เช่นทำให้กิดสถานะคู่สมรส บิดามารดา หรือการเป็นทายาทโดยธรรมของอีกฝ่าย ซึ่งลักษณะความเป็นสถาบันดังกล่าวนี้ไม่ปรากฎในลักษณะสำคัญของการเป็นคู่ชีวิต

ถ้อยแถลงดังกล่าวยังระบุอีกว่าถึงแม้ว่ากฎหมายทั้งสองฉบับจะเป็นการรับรองและคุ้มครองการใช้ชีวิตร่วมกันของบุคคลของเพศเดียวกัน แต่กฎหมายทั้งสองฉบับมีหลักการและสาระสำคัญแตกต่างกันอย่างมาก การที่นำร่างกฎหมายทั้งสองฉบับมาพิจารณาในเวลาไล่เลี่ยกันอาจทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน จึงควรมีการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความแตกต่างดังกล่าว นอกจากนี้ การพิจารณาร่างกฎหมายทั้งสองฉบับพร้อมกันอาจนำไปสู่ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับหลักการและสาระสำคัญของกฎหมายทั้งสองฉบับ และการลงมติใด ๆ ภายใต้ความเข้าใจผิดดังกล่าว “ย่อมเป็นการบิดเบือนเจตจำนงร่วมกันของประชาชน ซึ่งอาจส่งผลเสียอย่างร้ายแรงต่อรากฐานการปกครองในระบอบประชาธิปไตย”

เอกวัฒน์ พิมพ์สวรรค์ สมาชิกภาคีสีรุ้งเพื่อสมรสเท่าเทียม ระบุว่ารัฐบาลได้มีการแสดงท่าทีว่าพ.ร.บ.คู่ชีวิตเป็นของขวัญ หรือเป็นการให้สิทธิสมรสเท่าเทียม ซึ่งไม่ถูกต้อง เนื่องจากสิทธิสมรสเท่าเทียมที่ภาคประชาชนเรียกร้องหมายถึงการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ทุกคนสามารถสมรสได้อย่างเท่าเทียมกัน การที่รัฐไม่สามารถยืนยันในหลักการได้สะท้อนให้เห็นความเกลียดกลัวกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เป็นการออกกฎหมายที่เลือกปฏิบัติและทำร้ายกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ

เอกวัฒน์ระบุว่าถ้ากฎหมายยังเลือกปฏิบัติ อาจจะเกิดปัญหาในการบังคับใช้จริงในโครงสร้างของรัฐที่ไม่เคยรองรับการมีตัวตนของผู้มีความหลากหลายทางเพศเลย ซึ่งอาจจะเกิดปัญหาที่เกี่ยวพันกับชีวิต เช่นถ้าเกิดอุบัติเหตุ จะต้องรอการอนุโลมตามที่พ.ร.บ. คู่ชีวิตระบุไว้หรือเปล่า ซึ่งมีตัวอย่างอยู่แล้วว่าการอนุโลมนั้นไม่สามารถบังคับใช้ได้

นอกจากนี้ยังมีข้อกังวลในเรื่องของสิทธิเด็กหากต้องรอการอนุมัติการมีบุตรบุญธรรมร่วมกันโดยอนุโลม ซึ่งหากบุคคลที่ขอรับบุตรบุญธรรมเสียชีวิตในระหว่างรออนุมัติ เด็กก็อาจจะเป็นกำพร้าได้ และการรับรองสิทธิการใช้ชีวิตคู่ตามพ.ร.บ.คู่ชีวิต ไม่ปรากฏอยู่ในกฎหมายฉบับอื่น ดังนั้นจึงไม่สามารถอ้างได้ว่าการร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตง่ายกว่าการแก้กฎหมาย ไม่เพียงเท่านั้น การที่กฎหมายคู่ชีวิตแยกออกจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ยังทำให้สุ่มเสี่ยงต่อการตีตราและการเลือกปฏิบัติได้

ตัวแทนภาคีสีรุ้งฯ ยังระบุว่าการที่รัฐเลือกจะร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตแทนที่จะแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ทำให้เกิดคำถามว่าศักดิ์ศรีของคู่เพศหลากหลายต่างจากคู่ชายหญิงอย่างไร นอกจากนี้ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตยังมีการบังคับใช้กฎหมายโดยอนุโลม ต้องพึ่งพาการตีความของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งทำให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศต้องไปขอการรับรองสิทธิ

เอกวัฒน์กล่าวว่ามีนักการเมืองที่แสดงความคิดเห็นว่าได้พ.ร.บ.คู่ชีวิตก็พอแล้ว จะเรียกร้องอะไรอีก ดังนั้นถ้าหากพ.ร.บ. คู่ชีวิตประกาศใช้เป็นกฎหมาย อาจทำให้การผลักดันสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นไปได้ยากขึ้น ทั้งที่กฎหมายสมรสเพียงอย่างเดียวก็ยังไม่ถือว่าเพียงพอ นอกจากนี้การที่ร่างพ.ร.บ. คู่ชีวิตให้ศักดิ์ศรีที่แตกต่างกันระหว่างคู่เพศหลากหลายและคู่ชายหญิงเป็นการขัดรัฐธรรมนูญและหลักการความเท่าเทียมระหว่างเพศ การที่รัฐยืนยันที่จะผลักดันพ.ร.บ.คู่ชีวิต ยังเป็นการเพิกเฉยต่อการเรียกร้องของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งมีหลักฐานให้เห็นเป็นรายชื่อกว่าสามแสนรายชื่อที่สนับสนุนร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมภาคประชาชน และมีกระแส #ไม่เอาพรบคู่ชีวิต ในโลกออนไลน์ เป็นสิ่งที่รัฐต้องฟัง

ศิริศักดิ์ ไชยเทศ นักกิจกรรมอิสระ ระบุว่ากลุ่มนักกิจกรรมมารวมตัวกันเพื่อแสดงจุดยืนว่าเราต้องการความเท่าเทียม ไม่ใช่ความใกล้เคียง และยืนยันว่าประชาชนต้องการพ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม สำหรับพ.ร.บ. คู่ชีวิต รัฐบาลควรจะกลับไปทบทวนเรื่องของสิทธิมนุษยชนเพื่อไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติซ้ำซ้อน และในวันพุธที่ 15 มิ.ย.นี้ กลุ่มนักกิจกรรมจะไปรวมตัวกันที่รัฐสภาเพื่อปักหลักจับตาผลการพิจารณาร่างพ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมที่จะเข้าสู่สภาในวันดังกล่าว

ส่วนชุมาพรระบุว่า ถ้าหากร่างพ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมไม่ผ่านวาระแรก แต่กลุ่มนักกิจกรรมก็ยังมีการเตรียมการเสนอร่างพ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมภาคประชาชน ซึ่งจะต้องดูทิศทางความน่าไว้วางใจของสภาก่อนที่จะนำร่างกฎหมายเสนอเข้าสภา และถ้าสภาปัจจุบันยังไม่น่าไว้วางใจก็จะรอสภาหน้า แต่ก็มีรายชื่อพร้อมยื่นต่อสภาอยู่แล้วถ้าร่างพ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมฉบับพรรคก้าวไกลถูกปัดตก โดยจะทำงานขับเคลื่อนในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งเพื่อให้เห็นชัดเจนว่าพรรคการเมืองใดที่สนับสนุนสมรสเท่าเทียม

สัปดาห์นี้ชี้ชะตา ‘ก้าวไกล’ เรียกร้องทุกพรรคโหวตรับ ‘สมรสเท่าเทียม’

ขณะที่วานนี้ (12 มิ.ย.) ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานต่อสื่อมวลชนด้วยว่า ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วนผู้มีความหลากหลายทางเพศ แถลงเรียกร้อง ส.ส. จากทุกพรรคการเมืองร่วมลงมติให้ ร่างแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ หรือ ‘สมรสเท่าเทียม’ ในวันพุธที่จะถึงนี้

โดยระบุว่า สัปดาห์ก่อนหน้านี้ ที่ประชุมสภามีการอภิปรายยาวนานกว่า 8 ชั่วโมง จนเป็นที่สังเกตว่าอาจเป็นความพยายามดึงเวลาให้ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมไม่สามารถเข้าสู่การพิจารณาได้ทันเวลาหรือไม่ และยังมีความเป็นไปได้ที่คณะรัฐมนตรีจะนำร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต เข้ามาประกบกับร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในวันพุธนี้ด้วย

“พรรคก้าวไกลต้องยืนยันอีกครั้ง ว่าร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ไม่เท่ากับ พ.ร.บ. คู่ชีวิต และในความเป็นจริงไม่สามารถประกบในการพิจารณาได้ เนื่องจากการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ บัญญัติสิทธิในการสมรสไว้อยู่แล้ว ขณะที่ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิตเป็นร่างกฎหมายฉบับใหม่ จะพิจารณาร่วมกันไม่ได้” 

ธัญวัจน์ ยังระบุอีกว่า ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต เป็นกฎหมายที่มีหลักการมองคนไม่เท่ากัน การที่คณะรัฐมนตรีนำมาเข้าประกบจึงเป็นเรื่องการเมืองอย่างไม่สามารถปฏิเสธได้ แม้พรรคก้าวไกลจะมีความกังวล แต่ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ได้พยายามพูดคุยกับ ส.ส. ต่างพรรคต่างฝ่าย อธิบายความแตกต่างระหว่างร่างทั้งสอง ขอฝากถึง ส.ส. จากทุกพรรคการเมือง ว่าการลงมติให้ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมเท่านั้น คือการยอมรับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศแบบไม่มีเงื่อนไข การลงมติให้ พ.ร.บ. คู่ชีวิต เท่ากับยังคงสร้างเงื่อนไขให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศอยู่

“การสมรสคือสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ทุกคนต้องมีไม่ว่าจะเพศอะไร ซึ่งกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศได้ถูกพรากไป เราไม่ได้เรียกร้องสิทธิแต่เราขอคืนสิทธิ เราไม่ได้ต้องการสิ่งที่คล้ายคลึงแต่ต้องการสิ่งที่เท่าเทียม นี่คือเรื่องของเราทุกคน ไม่ใช่แค่กลุ่ม LGBTQ+ ประชาชนต้องร่วมกันส่งเสียงของเรา ว่าเราไม่ได้ต้องการสิ่งที่ใกล้เคียงคล้ายคลึงอย่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต  แต่เราต้องการความเท่าเทียม” ธัญวัจน์ ระบุ

ธัญวัจน์ ยังกล่าวอีกว่าในวันนี้ สังคมทั้งสังคมพร้อมขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ให้สิทธิการสมรสอย่างเท่าเทียมแก่กลุ่มบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศแล้ว เสียงของประชาชนที่ผ่านมา และทุกหน่วยงานที่มาร่วมประชุมกัน ไม่มีหน่วยงานไหนที่ไม่เห็นด้วย ทุกหน่วยงานยืนยันในความเสมอภาค คนที่ปฏิบัติการกับคนในสังคมไม่มีปัญหา ที่มีปัญหาคือสำนักงานกฤษฎีกาเท่านั้น ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับคน

'ไทยสร้างไทย' ชี้รัฐบาลประยุทธ์ สอบตกนโยบายด้านการรับรองคุ้มครองสถานภาพสตรี และ ความหลากหลายทางเพศ

13 มิ.ย. ทีมสื่อพรรคไทยสร้างไทย รายงานต่อสื่อมวลชนด้วยว่า นาดา ไชยจิตต์ คณะทำงานด้านความหลากหลายทางเพศ พรรคไทยสร้างไทย กล่าวถึง กรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดโครงการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี สร้างโอกาสด้านอาชีพ สร้างสรรค์บทบาทสตรี สู่ความเข้มแข็งในชุมชน พร้อมบรรยายพิเศษเรื่อง “พลังสตรีในการขับเคลื่อนประเทศ” โดยได้กล่าวถึงบทบาทของสตรีที่สวนทางกับหัวข้อบรรยายพิเศษว่า ภาระหน้าที่สามอย่างที่หนักสำหรับผู้หญิงคือ การเป็นภรรยา การเป็นแม่ และการช่วยสามีทำอะไรให้ครอบครัว” นาดาในฐานะคำทำงานด้านความเสมอภาคทางเพศกว่า 15 ปี บอกได้คำว่าเดียวประยุทธ์และรัฐบาลสอบตกดานการคุ้มครองและส่งเสริมสถานภาพสตรีอย่างไม่มีข้อสงสัย ยังไม่นับความล้มเหลวในการคุ้มครองผู้มีความหลากหลายทางเพศผ่านการพยายามสอดไส้ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ให้เข้ามาเป็นร่างกฎหมายหลักในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม

นาดา ไชยจิตต์

คณะทำงานด้านความหลากหลายทางเพศ พรรคไทยสร้างไทย ระบุว่า ประยุทธไม่มีความรู้ความเข้าใจถึงแก่นของคำว่า Gender Equality หรือความเสมอภาคทางเพศเลย ซึ่งบทบาทของผู้หญิงในยุคสมัยปัจจุบันนั้นต้องแบกรับทั้งภาระงานดูแลที่ไม่มีค่าตอบแทน (unpaid care work) ในขณะเดียวกันก็ต้องมีส่วนร่วมในการหาเลี้ยงปากท้องด้วยการทำงาน นาดาอยากบอกประยุทธ์ว่า การที่ประยุทธ์มีวิสัยทัศน์ที่แสนจะคับแคบ มองเห็นสถานะของผู้หญิงเป็นได้แค่การเป็นภรรยา หรือเป็นแม่ ทั้งๆ ที่นั่นมิใช้บทบาทหน้าที่เพียงอย่างเดียวของผู้หญิงในบ้าน ที่เห็นแค่ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง แต่แท้จริงแล้วผู้หญิงคือเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้านคือบุคคลที่ร่วมสร้างความสมบูรณ์ของครอบครัว เป็นขุมพลังในการขับเคลื่อนชีวิต และดูแลสารทุกข์สุกดิบของทุกคนในครอบครัว นอกจากนี้ประยุทธ์ยังหลงลืมไปว่าผู้หญิงยังมีบทบาทสำคัญในภาคการเมืองอีกมากมาย ประเทศไทยมีผู้หญิงดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมืองมากมาย อาทิ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย เคยดำรงรัฐมนตรีในกระทรวงสำคัญๆมาหลายยุคหลายสมัย เรามีราชการผู้หญิงที่ดำรงตำแหน่งผู้บริการรำดับสูง กระทั่งวันนี้เรามีอัยการสูงสุดผู้หญิงคนแรกของประเทศ แต่ในสำนึกทางการเมืองของคุณประยุทธ์กลับยังมองเห็นผู้หญิงมีภารกิจอันยิ่งใหญ่ได้แค่การเป็น เมีย แม่ และผู้ช่วยสามีในบ้าน และเพื่อยืนยันพลังของผู้ในในภาคการเมือง พรรคไทยสร้างไทยได้จัดตั้งโครงการ More Women in Politic หรือ More WIP เพื่อยันยันว่าบทบาทและหน้าที่ของผู้หญิงได้อยู่แต่ในบ้านหรือก้นครัวแต่เพียงอย่างเดียว

ในขณะที่สังคมไทยกำลังก้าวสู่สังคมที่ประชาชนร่วมสร้างครอบครัวที่มีความหลากหลาย รัฐบาลประยุทธ์ กลับไม่นับความล้มเหลวที่รัฐบาลของประยุทธ์พยายามยัดเยียดให้สภาผู้แทนราษฎรผ่านร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต โดยมีการลงนามให้สภาฯพิจารณาเป็นเรื่องเร่งด่วนเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ดิฉันได้มีโอกาสศึกษาร่างกฎหมายดังกล่าวแล้วพบว่ารัฐบาลประยุทธ์มีการเลือกปฏิบัติต่อประชาชนผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างชัดเจน เพราะการจดทะเบียนคู่ชีวิตนั้นมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมถึง 500 บาทในขณะที่คู่สมรสหญิงชายไม่ต้องเสียเงินแม่แต่บาทเดียว และหากมีการร้องขอให้มีการจดทะเบียนนอกสถานที่ คู่สมรสหญิงชายต้องเสียค่าธรรมเนียมแค่เพียง 200 บาท ในขณะที่ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมถึงคนละ 1000 บาท แต่ประยุทธ์กับให้ข่าวต่อสาธารณชนว่ากฎหมายฉบับนี้ถูกยกร่างขึ้นบนหลักการสิทธิมนุษยชนสากล ทั้งๆที่เนื้อหาและการบังคับใช้เป็นการเลือกปฏิบัติโดยชัดเจน นี่รัฐบาลของประยุทธ์ถังแตกขั้นที่ต้องมาเรียกรับเอาผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนผู้มีความหลากหลายทางเพศแล้วหรือ

นาดา ระบุอีกว่า หากประยุทธ์และรัฐบาลไม่รู้ว่าจะบริหารประเทศให้คุ้มครองสิทธิสตรี ไม่เชิดชูคุณค่าของสตรี และไม่สามารถดูแลประชาชนผู้มีความหลากหลายทางเพศได้อย่างเสมอภาคเท่าเทียม นาดาขอให้ประยุทธ์และคณะรัฐบาลพิจารณาลาออกจากการบริหารราชการแผ่นดินของประเทศไทยและคืนอำนาจให้กับประชาชนได้เลือกนักการเมืองที่รู้จักคุณค่าของผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศมาบริหารประเทศไทยของเราต่อไปค่ะ อย่าอยู่ต่อเพื่อสร้างมาตรฐานความเสมอภาคทางเพศของประเทศไทยที่มีระดับต่ำกว่ามาตรฐานสากลอยู่แบบนี้เลย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net