Skip to main content
sharethis

สถานการณ์โควิด (อาจจะ?) กำลังคลี่คลาย นั่นก็เป็นคนละเรื่องกับ ‘บาดแผล’ ที่มันทิ้งไว้ โดยเฉพาะกับกลุ่มรายได้น้อยที่แผลทั้งลึกและกว้าง ยากจะสมานในเร็ววัน งานศึกษาของศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พาไปดูข้อเท็จจริงบางด้านเกี่ยวกับผลกระทบของโควิดต่อคนจน ความเหลื่อมล้ำ และมาตรการที่พวกเขาต้องการมากที่สุดหลังจากนี้

  • ช่วงการแพร่ระบาดของโควิดปี 2563-2564 กลุ่มผู้มีรายได้น้อยมีภาระค่าใช้จ่ายด้านอาหาร สาธารณูปโภค และค่าเดินทางคิดเป็นเกือบร้อยละ 90 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่แทบจะไม่สามารถลดได้
  • กลุ่มผู้มีรายได้น้อยต้องขายทรัพย์สินออกไปเพื่อนำมาใช้จ่าย เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ซึ่งถือเป็นทุนทางเศรษฐกิจที่ใช้ประกอบอาชีพ และยังมีการกู้หนี้ยืมสิน ทำให้ส่งผลกระทบยาวนานและยากต่อการฟื้นตัว
  • กลุ่มผู้มีรายได้น้อยระบุว่ามาตรการฟื้นฟูที่ต้องการมากที่สุดคือมาตรการช่วยลดค่าใช้จ่าย ขณะที่มาตรการฝึกทักษะแรงงาน (Upskill/Reskill) ได้รับคะแนนต่ำที่สุด
  • ในระยะยาวรัฐควรสร้างระบบสวัสดิการที่มุ่งอุดหนุนเยียวยาอย่างตรงกลุ่มเป้าหมายที่สุด เช่นตามกลุ่มอาชีพ เพื่อให้เกิดการฟื้นตัว

ผลกระทบจากโควิด-19 ในช่วงสองสามปีมานี้สร้างแรงกดดันทางเศรษฐกิจอย่างหนัก โดยเฉพาะกับคนที่มีรายได้ไม่สูงนักและยิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำที่สูงอยู่แล้วให้สูงขึ้นไปอีก ‘ประชาไท’ ยังคงติดตามผลกระทบนี้อย่างต่อเนื่อง

ธร ปีติดล ศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม

ล่าสุด ธร ปีติดล และเฉลิมพงษ์ คงเจริญ ศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม (Center for Research on Inequality and Social Policy: CRISP) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้พูดคุยกับ ‘ประชาไท’ เกี่ยวกับงานศึกษาผลกระทบจากโควิด-19 โจทย์ใหญ่คือประเด็นความเหลื่อมล้ำโดยเจาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยโดยตรง ซึ่งได้รับงบส่วนหนึ่งจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

คนจนโดนหนักสุด ค่าอาหาร สาธารณูปโภค ค่าเดินทางคิดเป็น 90% ของรายจ่าย

ทางศูนย์ฯ ทำการสำรวจในพื้นที่ 5 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพฯ ชลบุรี ขอนแก่น เชียงใหม่ และปัตตานี กลุ่มที่ทำการสำรวจมีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาท ซึ่งถือว่ารายได้ค่อนข้างน้อย และมุ่งกลุ่มอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 สูง ได้แก่ ค้าขาย/ผู้ประกอบการรายย่อย ลูกจ้างภาคบริการ ลูกจ้างอุตสาหกรรม รับจ้าง ก่อสร้าง เกษตรกร และผู้ว่างงาน ซึ่งผลการสำรวจเพิ่งแล้วเสร็จเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

ผลการศึกษาที่ได้จากการสำรวจข้อมูลแบ่งออกเป็น 4 ส่วนสำคัญคือ ข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสำรวจ ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 การเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือ และการพัฒนามาตรการรองรับในระยะยาว โดย ‘ประชาไท’ จะขอกล่าวถึงใน 3 หัวข้อหลัง

1. ข้อค้นพบสำคัญในส่วนผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่า ผลกระทบต่อรายได้ในปี 2564 รุนแรงกว่าในปี 2563 โดยกลุ่มอาชีพที่มีรายได้ลดลงมากที่สุดในปี 2564 คืออาชีพรับจ้างและค้าขาย ทั้งนี้รายได้ในปี 2564 ลดลงจากช่วงก่อนโควิดถึงร้อยละ 36-39 ส่วนกลุ่มที่เป็นลูกจ้างภาคบริการหรือประกอบอาชีพก่อสร้าง แม้รายได้จะได้รับผลกระทบมากถึงร้อยละ 26-30 แต่ยังน้อยกว่าสองกลุ่มแรก ทั้งนี้จังหวัดที่ประชากรรายได้น้อยมีรายได้ลดลงมากที่สุดคือประชากรที่อยู่ในจังหวัดปัตตานี กรุงเทพ และเชียงใหม่

เมื่อดูสาเหตุที่ทำให้ผู้มีรายได้น้อยมีรายได้ลดลงหรือไม่มีรายได้ก็มาจากทั้งปัจจัยภายนอกและภายใน สาเหตุสำคัญคือความต้องการจากลูกค้าลดลงทำให้กลุ่มอาชีพรับจ้างและค้าขายได้รับผลกระทบและชั่วโมงการทำงานหรือเงินเดือนลดลง ซึ่งเกิดกับกลุ่มอาชีพลูกจ้างทั้งในภาคบริการและอุตสาหกรรม

ในด้านค่าใช้จ่ายที่สร้างภาระมากที่สุดกับผู้มีรายได้น้อยในช่วงระหว่างการระบาดของโควิด-19 คือค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ค่าอาหาร ค่าสาธารณูปโภค และยังมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีกประการหนึ่งคือค่าดูแลสุขภาพ โดยกว่า 3 ใน 4 ของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยไม่สามารถปรับลดค่าใช้จ่ายของตนเองลงได้ในช่วงการระบาด

ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ค่าอาหาร ค่าไฟฟ้า-น้ำประปา อันดับ 3 ซึ่งธรถือว่าน่าสนใจคือค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพต่างๆ เช่น หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ อุปกรณ์ตรวจเชื้อ เป็นต้น อันดับ 4 คือค่าเดินทาง และอันดับ 5 คือค่าโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ต ซึ่งถือเป็นค่าใช้จ่ายที่ลดได้ยาก

เฉลิมพงษ์ คงเจริญ ศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม

เฉลิมพงษ์กล่าวว่า ค่าอาหาร ค่าเช่าบ้านหรือรายจ่ายที่เกี่ยวกับบ้าน และค่าเดินทาง เป็นค่าใช้จ่าย 3 กลุ่มที่คิดเป็นรายจ่ายเกือบร้อยละ 90 สำหรับกลุ่มคนที่จนที่สุดร้อยละ 20 เขาขยายความว่าถ้าแบ่งรายได้ของคนเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มที่จนที่สุดและรวยที่สุดอย่างละร้อยละ 20 จะพบว่าข้อมูลปี 2562 กลุ่มคนที่จนที่สุดค่าใช้จ่ายร้อยละ 50 คืออาหาร ร้อยละ 23 เกี่ยวกับค่าเช่าบ้าน ค่าใช้จ่ายในบ้าน และอีกประมาณร้อยละ 17 คือค่าเดินทาง เมื่อเทียบกับกลุ่มคนที่รวยที่สุดร้อยละ 20 ข้างบน พบว่ามีค่าใช้จ่ายด้านอาหารประมาณร้อยละ 30 ค่าเดินทางร้อยละ 30 และร้อยละ 20 เป็นค่าใช้จ่ายภายในบ้าน

ประเด็นอยู่ที่ว่ารายได้ของกลุ่มคนที่จนที่สุดมากกว่ารายจ่ายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แม้ว่าจะได้รับการช่วยเหลือจากรัฐแล้วก็ตามยังแทบไม่เหลือออม ซ้ำคนกลุ่มนี้ยังได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อมากกว่า

ขายทรัพย์สินเพื่อเอาตัวรอดทำสูญเสียทุนทางเศรษฐกิจ

ส่วนการออมเงิน พบว่า ผู้มีรายได้น้อยมีเงินออมลดลงเล็กน้อยไม่ถึงร้อยละ 1 แต่กลับมีหนี้สินเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 5 โดยการแพร่ระบาดในปีที่ 2 หรือปี 2564 ส่งต่อกระทบต่อหนี้สินที่รุนแรงกว่าช่วงปีแรก ผลกระทบสำคัญเป็นการสูญเสียสังหาริมทรัพย์ เช่น รถยนต์/รถจักรยานยนต์ ของใช้ในบ้าน ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ผู้มีรายได้น้อยนำออกมาหาประโยชน์เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจในครัวเรือน

“ทรัพย์สินที่ถูกเอาไปขายหรือเอาไปจำนำมากที่สุดก็คือรถยนต์กับรถจักรยานยนต์” ธรตั้งข้อสังเกต “นอกนั้นก็จะเป็นพวกของใช้ในบ้าน คือการสูญเสียพวกรถยนต์กับจักรยานยนต์ มันน่าจะเป็นผลกระทบระยะยาวด้วย เพราะว่ามันเป็นทุนประกอบอาชีพ”

ธรกล่าวอีกว่าผลกระทบจากโควิด-19 ที่เกิดต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563-2564 กลุ่มที่มีรายได้น้อยได้รับผลกระทบหนักสุด แม้ขณะนี้สถานการณ์ค่อยๆ ดีขึ้น ทว่า สิ่งที่เขากังวลคือมันได้ทิ้งบาดแผลอะไรไว้บ้าง

“ยิ่งเราบอกว่ากลุ่มรายได้น้อยแบกผลเยอะกว่า คือความเหลื่อมล้ำเพิ่มแน่นอน สิ่งที่สำคัญมากๆ คือปัญหาระยะยาว ในงานสำรวจเราพยายามดูเรื่องนี้ เราถามต่อไปถึงผลกระทบที่เกิดกับทุนในความหมายกว้าง เราดูว่ามีทุนมนุษย์ ทุนทางสังคมอะไรที่เสียไป เพราะการประกอบอาชีพ สุดท้ายคือเรื่องของสุขภาพ เราก็ไปลองสำรวจดู

“อย่างทุนในการประกอบอาชีพ กลุ่มรายได้น้อยต้องระบายทรัพย์สิน ขายรถ ขายมอเตอร์ไซต์ ไม่ใช่ว่าเศรษฐกิจดีขึ้นแล้วกลุ่มนี้กลับมาได้เลย มันมีอะไรที่ต้องเข้าไปอุ้มอีก ต้องไปดูว่าจะฟื้นทุนทางเศรษฐกิจให้กลุ่มนี้ยังไง รวมถึงประเด็นเรื่องหนี้สิน ผมคิดว่ามันมีแนวโน้มว่าน่าจะหนักกว่าที่เขารายงาน อันนี้ผมไม่แน่ใจ อาจเป็นเพราะเขาไม่แจ้งหนี้ที่ไปกู้มา ส่วนในด้านทักษะ เราถามว่าโควิดส่งผลถึงขั้นว่าต้องเปลี่ยนอาชีพ ต้องเรียนรู้อาชีพใหม่ เราเจอว่าในด้านอาชีพเดิมอาจต้องทำอะไรที่ไม่เคยทำบ้าง แต่ไม่ถึงขั้นว่าต้องไปประกอบอาชีพใหม่”

การศึกษาของศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำฯ ยังพบว่า ผู้มีรายได้น้อยส่วนใหญ่ยังไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอาชีพหลัก แต่ต้องปรับสภาพการทำงานหรือหาอาชีพเสริม มีเพียงร้อยละ 5 เท่านั้นที่ระบุว่าต้องเปลี่ยนแปลงอาชีพ ซึ่งโควิด-19 ส่งผลให้ผู้มีรายได้น้อยจำเป็นต้องเรียนรู้และพัฒนาทักษะเพิ่มเติมเพื่อประกอบอาชีพเดิมหรือลักษณะคล้ายเดิมในสัดส่วนที่มากที่สุด นอกจากนี้ ยังส่งผลให้เกิดการย้ายที่อยู่อาศัยของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยในสัดส่วนร้อยละ 8 เกือบครึ่งหนึ่งของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ย้ายที่อยู่อาศัยไปอยู่พื้นที่อื่นในจังหวัดเดิม

ส่วนรูปแบบการละเลยการดูแลสุขภาพที่สำคัญของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยคือ การขาดการดูแลรักษาสุขภาพที่ดี เช่น การออกกำลังกาย และการขาดการตรวจสุขภาพ

จุดที่น่าสนใจคือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อยมีสัดส่วนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตสูง มากกว่าร้อยละ 15 ของผู้ตอบแบบสอบถามที่ระบุว่ามีสมาชิกครัวเรือนป่วยหรือเสียชีวิตจากโควิด (สำรวจเสร็จสิ้นเดือนมกราคม 2565) ทั้งนี้พื้นที่ปัตตานีมีสัดส่วนผู้ตอบแบบสอบถามที่มีสมาชิกครัวเรือนเป็นผู้ป่วยและมีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 สูงถึงร้อยละ 30 ซึ่งสูงกว่าพื้นที่อื่นที่ทำการสำรวจมาก

ผู้มีรายได้น้อยให้คะแนนมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐด้านสุขภาพสูง

2. ข้อค้นพบสำคัญในส่วนสถานการณ์การเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือในช่วงการระบาดของโควิด-19 กลุ่มผู้มีรายได้น้อยระบุว่าภาครัฐเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทในการช่วยเหลือและเยียวยาตนเองมากที่สุดในช่วงที่มีการแพร่ระบาด สัดส่วนที่ระบุว่าได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐสูงถึงร้อยละ 70 อย่างไรก็ตาม สัดส่วนนี้มีความแตกต่างกันอย่างมากในพื้นที่ที่แตกต่างกัน ขณะที่ผู้มีรายได้น้อยในกรุงเทพฯ มากกว่าร้อยละ 90 ระบุว่าได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ ทว่า สัดส่วนดังกล่าวลดลงเหลือเพียงร้อยละ 48 ในปัตตานี

ส่วนมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐที่กลุ่มตัวอย่างเข้าถึงมากที่สุดถึงกว่าร้อยละ 55 คือมาตรการคนละครึ่ง ซึ่งส่วนมากเป็นประโยชน์กับผู้มีรายได้น้อยที่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพฯ และชลบุรี ส่วนมาตรการสำคัญอื่นๆ เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มาตรการเราชนะ และมาตรการเราไม่ทิ้งกัน มีสัดส่วนที่ระบุว่าได้รับอยู่ที่ประมาณร้อยละ 23-29 ทั้งนี้ผู้มีรายได้น้อยในจังหวัดปัตตานีมีสัดส่วนที่ระบุการเข้าถึงมาตรการคนละครึ่งน้อยกว่าจังหวัดอื่นๆ มาก แต่ก็มีสัดส่วนที่ระบุว่าเข้าถึงมาตรการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสูงกว่าจังหวัดอื่นๆ เช่นกัน

ทั้งนี้ผู้มีรายได้น้อยให้คะแนนคุณประโยชน์ของมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐในด้านสุขภาพสูงที่สุด โดยมีคะแนนสูงกว่ามาตรการด้านการดูแลค่าครองชีพและการเพิ่มรายได้

มาตรการการช่วยเหลือของภาครัฐในด้านค่าครองชีพ ลดค่าใช้จ่าย เป็นมาตรการที่ผู้มีรายได้น้อยระบุว่าเข้าไม่ถึงมากที่สุด โดยกว่าร้อยละ 54 ระบุว่าเข้าไม่ถึงมาตรการด้านนี้ เทียบกับมาตรการด้านสุขภาพที่มีเพียงร้อยละ 24 ที่ระบุว่าเข้าไม่ถึง ขณะที่กลุ่มอาชีพที่เข้าไม่ถึงมาตรการการช่วยเหลือของภาครัฐด้านค่าครองชีพ ลดค่าใช้จ่ายมากที่สุดคือกลุ่มเกษตรกร

กลุ่มที่เข้าไม่ถึงมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ในสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 75-79 ระบุสาเหตุสำคัญที่สุดอันดับแรกคือ คิดว่าตนเองไม่มีสิทธิได้รับ ส่วนสาเหตุสำคัญอันดับที่ 2 คือไม่รู้วิธีลงทะเบียน สะท้อนการที่ผู้มีรายได้น้อยไม่ได้รับข้อมูลที่เพียงพอเกี่ยวกับมาตรการการช่วยเหลือของรัฐ

ในด้านการสนับสนุนการจ้างงานถือเป็นมาตรการช่วยเหลือที่สำคัญของภาครัฐ ซึ่งผู้มีรายได้น้อยในสัดส่วนที่มากที่สุดหรือร้อยละ 40 เห็นว่ามีประโยชน์ แต่ภาครัฐกลับยังไม่ค่อยได้ดำเนินการ ขณะที่เพียงร้อยละ 17 ของผู้มีรายได้น้อยเห็นว่ามาตรการฝึกทักษะเป็นมาตรการที่มีประโยชน์แต่ภาครัฐยังไม่ค่อยดำเนินการ

ต้องการสนับสนุนเงินเยียวยาและเงินทุนมากที่สุด ส่วนการ Upskill/Reskill ต้องการน้อยสุด

3. ข้อค้นพบสำคัญในส่วนความเห็นต่อการพัฒนามาตรการรองรับในระยะยาวหลังการระบาดของโควิด-19

ทักษะสำคัญที่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยเห็นว่าจะมีความสำคัญต่อการประกอบอาชีพของตนในช่วงหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 คือการเตรียมพร้อมรับความเปลี่ยนแปลง โดยอาชีพที่ให้ความสำคัญกับทักษะดังกล่าวมากที่สุดคือผู้ประกอบอาชีพค้าขาย ผู้ประกอบการริมบาทวิถี และหาบเร่แผงลอย ในขณะที่ทักษะทางเทคโนโลยีได้รับคะแนนความสำคัญรองลงมา โดยผู้ที่ให้ความสำคัญกับทักษะนี้มากที่สุดเป็นกลุ่มอาชีพรับจ้าง

ทั้งนี้เกือบครึ่งหนึ่งของผู้มีรายได้น้อยระบุรูปแบบความช่วยเหลือที่ต้องการจากภาครัฐมากที่สุดในช่วงหลังการแพร่ระบาดคือการสนับสนุนเงินเยียวยาและเงินทุน โดยเฉพาะที่อาศัยอยู่ที่กรุงเทพฯ ให้ความสำคัญกับมาตรการดังกล่าวสูงสุด ส่วนกลุ่มที่อาศัยในปัตตานีระบุถึงความต้องการความช่วยเหลือในลักษณะการสร้างงาน/อาชีพในสัดส่วนสูงกว่าพื้นที่อื่นชัดเจน ขณะที่มาตรการการฝึกทักษะใหม่ๆ การจัดหาที่พักอาศัย และการสนับสนุนการรวมกลุ่ม/องค์กรชุมชน ถูกระบุเป็นมาตรการที่ต้องการที่สุดในสัดส่วนที่น้อยกว่ามาตรการอื่นๆ มาก โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามเพียงร้อยละ 1-2 ที่ระบุถึงมาตรการเหล่านี้ว่าเป็นที่ต้องการที่สุด

ด้านมาตรการฟื้นฟูทุนทางเศรษฐกิจเป็นประเภทมาตรการฟื้นฟูประเทศระยะยาวที่กลุ่มตัวอย่างระบุว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้มีรายได้น้อยมากที่สุดในอนาคต ทั้งนี้ ตัวอย่างมาตรการฟื้นฟูทุนทางเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญมากที่สุดคือการช่วยเหลือลดค่าใช้จ่าย ค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ ค่าน้ำ ค่าไฟ ซึ่งอาจสะท้อนถึงการช่วยเหลือด้านค่าครองชีพของผู้มีรายได้น้อยในระยะสั้น

เมื่อให้ผู้ตอบแบบสอบถามให้คะแนนกลุ่มมาตรการที่จะเป็นประโยชน์กับตนเองในอนาคต มาตรการฟื้นฟูทุนทางเศรษฐกิจเป็นมาตรการกลุ่มที่ได้คะแนนสูงสุด ขณะที่มาตรการกลุ่มฟื้นฟูทุนทางสุขภาพและการคุ้มครองทางสังคมได้คะแนนรองลงมา มาตรการฟื้นฟูทุนทางสังคมอยู่ในลำดับที่ 3 และมาตาการกลุ่มที่ได้คะแนนน้อยที่สุดคือคือมาตรการฟื้นฟูทุนมนุษย์ ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบมาตรการปลีกย่อย พบว่า มาตรการช่วยลดค่าใช้จ่ายได้รับคะแนนสูงที่สุดคือ 3.99 (จาก 5 คะแนน) ขณะที่มาตรการฝึกทักษะแรงงาน (Upskill/Reskill) ได้รับคะแนนต่ำที่สุดที่ 3.62

เร่งสร้างรัฐสวัสดิการเน้นกลุ่มเป้าหมายอาชีพ

ธรอธิบายถึงประเด็นที่น่าสนใจว่า มาตรการการช่วยเหลือที่เข้าถึงมากที่สุดคือมาตรการคนละครึ่ง ซึ่งเป็นมาตรการกึ่งช่วยเหลือกึ่งกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นการเยียวยาชั่วคราว เขาเห็นว่าในระยะยาวรัฐควรจะหาสวัสดิการเพื่อดูแลคนกลุ่มนี้

“ทุนทางเศรษฐกิจที่เสียไปในช่วงโควิดทำอย่างไรให้ฟื้นฟูกลับมาได้ พอเราถามกลุ่มรายได้น้อยว่ามาตรการอะไรที่เขาให้ความสำคัญที่สุดในระยะต่อไป มันก็จะมีการฟื้นฟูทุนเศรษฐกิจ ทุนมนุษย์ ทุนทางสังคม สุดท้ายก็เป็นด้านสุขภาพ ภาพที่ออกมาคือกลุ่มรายได้น้อยเห็นตรงกันค่อนข้างชัดเจนว่าการฟื้นเรื่องทุนทางเศรษฐกิจสำคัญที่สุด สิ่งที่ถูกสื่อสารออกมาคือการช่วยเหลือเรื่องเงินทุน เรื่องค่าใช้จ่าย อันนี้อาจเป็นลักษณะมาตรการที่เป็นที่ต้องการที่สุด

“ต้องเข้าใจว่าเนื่องจากแบกภาระอยู่ค่อนข้างเยอะ จะให้ออกมาเพื่อกลับไปมีทุนรอน ไปเริ่มต้นอาชีพตัวเองอีกครั้ง มันทำไม่ได้แบบทันที หนี้ที่ตามมาจากตอนโควิดจะทำอย่างไร ผมว่าภาครัฐต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้มันปลดไปได้ ส่วนมาตรการที่ถูกพูดถึงเยอะเวลาคุยกับภาครัฐอย่างการ Reskill Upskill พอไปถามกลุ่มรายได้น้อยพวกเขาให้คะแนนความสำคัญต่ำที่สุด ภาครัฐอาจต้องหามาตรการที่สำคัญกับคนรายได้น้อยจริงๆ”

ทั้งธรและเฉลิมพงษ์เห็นตรงกันว่าควรต้องพุ่งความช่วยเหลือให้ตรงกลุ่มที่สุด ไม่ใช่การแจกแบบถ้วนหน้าเนื่องเพราะเงินไม่เพียงพอและก็ไม่ใช่การพิสูจน์ความจนซึ่งมีความผิดพลาดสูง ทั้งสองเสนอว่าอาจเป็นการอุดหนุนตรงผ่านกลุ่มอาชีพ เช่น กลุ่มหาบเร่แผงลอย กลุ่มรับจ้างอิสระ เป็นต้น

ระบบสวัสดิการที่ดีและเข้าถึงกลุ่มคนที่เดือดร้อนจริงๆ จึงเป็นมาตรการระยะยาวที่ต้องเร่งดำเนินการ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net