Skip to main content
sharethis

ศาลสั่ง สตช.จ่ายค่าเสียหาย “ฤทธิรงค์” กรณีถูกตำรวจจับไปซ้อมคดีวิ่งราวตั้งแต่เขาอายุ 18 สุดท้ายเป็นแพะ 3.38 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับตั้งแต่ปี 52 ถึงเมษา 64แล้วลดเหลือร้อยละ 5 ต่อปีจนกว่า สตช.จะจ่ายครบ

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมรายงานว่าเมื่อวานนี้ (28 มิ.ย.65) ที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีนัดพิพากษาคดีที่ฤทธิรงค์ ชื่นจิตรฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นจำนวนเงิน 13 ล้านบาท จากกรณีถูกจับผิดคนคดีวิ่งราวแล้วถูกตำรวจซ้อมให้สารภาพตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งในขณะนั้นฤทธิรงค์มีอายุเพียง 18 ปีเท่านั้น

ทางมูลนิธิยังรายงานถึงผลคำพิพากษาของศาลว่า บาดแผลตามเนื้อตัวร่างกายของฤทธิรงค์ที่ปรากฎตามผลชันสูตร โดยแพทย์ผู้ตรวจบาดแผลตรวจบาดแผลมีการกดเจ็บที่ข้อมมือสองข้าง กดเจ็บที่คอด้านหลัง ไม่พบบาดแผลที่ท้อง มีลอยถลอกด้านซ้ายบน ที่ท้องด้านซ้ายล่าง ใช้เวลารักษา 3 วัน ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อน แต่แพทย์พบเพียงบาดแผลถลอกบนร่างกาย

นอกจากนั้นฤทธิรงค์ได้เบิกความว่า เขาถูกทำร้ายร่างกายโดยใช้ถุงพลาสติกคลุมศีรษะและมัดรวบด้านหลังทำให้ขาดอากาศหายใจ โดยกระทำหลายครั้งทั้งที่ยังใช้ถุงคลุมหลายใบครอบหลายชั้น จนขาดอากาศจนเขามีอาการชักเกร็ง รวมทั้งใช้เข่ากดบริเวณลำตัวไม่ให้ดิ้น อีกทั้งยังข่มขู่ว่าหากเขาไม่รับสารภาพ ถ้าเขาตายจะนำศพไปทิ้งที่เขาอีโต้เป็นเพียงคดีคนหายเท่านั้น เพียงเพื่อให้รับสารภาพว่าได้กระทำความผิดอาญา

ศาลเห็นว่าการกระทำดังกล่าวต่อฤทธิรงค์เป็นการทรมานในฐานะผู้ต้องหาโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อไม้ให้เกิดร่องรอยบาดแผลบนลำตัวของโจทก์และเป็นการป้องกันตนเองให้พ้นจากความรับผิดทางกฎหมาย ถือเป็นการละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนตามกฎบัตรของสหประชาชาติและกฎหมายรัฐธรรมนูญอีกด้วย

ศาลได้กำหนดให้ สตช.ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฤทธิรงค์รวม 3,380,000 บาท ประกอบด้วย ค่าเสียหายต่อชีวิตร่างกายและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จำนวน 1 ล้านบาท ค่าเสียหายต่อการถูกกักขังหน่วงเหนี่ยวตั้งแต่เวลา 15.00-19.00 น. จำนวน 8 หมื่นบาท ค่าเสียหายต่อชื่อเสียงโดยคำนวนจากสถานภาพของโจทก์ขณะถูกทำร้ายและโอกาสในการประกอบอาชีพในอนาคต ให้ 3 แสนบาท และสุดท้ายค่าเสียหายต่อจิตใจ โดยศาลได้พิจารณาจากคำเบิกความของแพทย์ที่รักษาโจทก์มาเป็นเวลาหลายปี ว่าโจทก์มีอาการทางจิตเวชหรือ PTSD หรือโรคเครียดอย่างรุนแรงจากเหตุการณ์สะเทือนขวัญดังกล่าว จำนวน 2 ล้านบาท

นอกจากนั้นศาลยังระบุให้ สตช.ต้องจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับย้อนกลับไปเป็นเวลา 12 ปีนับตั้งแต่วันที่ทำละเมิดต่อโจทก์คือเมื่อวันที่ 28 ม.ค.2552 จนถึงวันที่ 10 เม.ย.2564 หากรวมดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง เป็นจำนวนเงิน 6,844,500 และให้คิดดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น

อย่างไรก็ตาม ศาลมีคำสั่งให้ยกคำขอในส่วนที่ฤทธิรงค์ขอให้ให้ลบประวัติอาชญากรของโจทก์ออกจากทะเบียนประวัติอาชญากรนั้น

ปรีดา นาคผิวทนายความให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมในส่วนที่ศาลยกคำร้องให้ลบประวัติอาชญากรรมว่า เพราะศาลเห็นตามที่ทางตำรวจได้มาชี้แจงต่อศาลว่าขณะนี้หากมีคำขอมาขอทราบข้อมูลประวัติอาชญากรรมของฤทธิรงค์จะค้นหาในระบบไม่เจอแล้ว

อย่างไรก็ตาม ทนายความเห็นว่าบันทึกลายนิ้วมือและข้อมูลอื่นๆ ที่ตำรวจเก็บเพิ่มไปตอนที่มีการจับกุมยังคงถูกเก็บไว้กับทางตำรวจอยู่ไม่ได้มีการทำลายทิ้งไปและจะถูกเก็บไว้จนกว่าเจ้าของข้อมูลจะเสียชีวิต แม้ว่าฤทธิรงค์จะไม่ได้ถูกดำเนินคดีวิ่งราวแล้วก็ตาม เนื่องจากภายหลังมีการจับกุมผู้กระทำความผิดได้แล้วทำให้ทั้งพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดีต่อฤทธิรงค์

ปรีดามองว่าเรื่องนี้เป็นสิทธิของประชาชนที่จะไม่ถูกรัฐเก็บข้อมูลเกินจำเป็นไปกว่าที่รัฐครอบครองอยู่อย่างเช่นข้อมูลประจำตัว แต่กรณีนี้เป็นกรณีพิเศษที่มีการเก็บข้อมูลอื่นๆ ไปเพิ่มด้วยอย่างข้อมูลลายนิ้วมือ ซึ่งตามหลักประชาชนที่ยังเป็นผู้สุจริตและบริสุทธ์อยู่ข้อมูลเหล่านี้ก็ควรถูกทำลายทิ้ง แต่ศาลกลับไม่ให้การคุ้มครองในส่วนนี้

ปรีดากล่าวว่าจะมีการอุทธรณ์ประเด็นนี้ในศาลชั้นอุทธรณ์ต่อไปซึ่งคาดว่าทาง สตช.เองก็จะมีการอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นนี้เช่นเดียวกัน

คดีนี้สืบเนื่องจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 28 ม.ค.2552 ฤทธิรงค์ ชื่นจิตร ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดปราจีนบุรีจับกุมและซ้อมทรมานด้วยการทำร้ายร่างกาย โดยมีการใช้ถุงดำคลุมศีรษะให้ขาดอากาศหายใจ เพื่อบังคับให้รับสารภาพในคดีวิ่งราวทรัพย์ แต่จากการสืบสวนในเวลาต่อมาพบว่าเป็นการจับผิดคน

จากเหตุดังกล่าวในปี 2558 ฤทธิรงค์จึงได้ฟ้องดำเนินคดีอาญาต่อเจ้าหน้าที่ผู้กระทำความผิดในกรณีดังกล่าวรวม 7 นาย แต่ศาลรับฟ้องเพียง 4 นายและภายหลังเจ้าตัวถอนฟ้องไป 2 นายเนื่องจากยอมรับผิดและขอโทษต่อฤทธิรงค์

ต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาถือว่าถึงที่สุดในส่วนของจำเลยที่เหลือคือ พันตำรวจโทวชิรพันธ์ โพธิราช จำเลยที่ 3 กระทำความผิดจริง ตามประมวลอาญา มาตรา 157, 200 วรรคสอง, 295, 296, 309, 310 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 83 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จึงลงโทษฐาน “เป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจหน้าที่สืบสวนสอบสวนคดีอาญา กระทำการเพื่อจะแกล้งให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดต้องรับโทษ” ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด โดยลงโทษจำคุก 2 ปี และปรับ 12,000 บาท

ทั้งนี้ศาลลดโทษให้โดยเห็นว่าคำให้การของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา จึงลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 1 ปี 4 เดือน และปรับ 8,000 บาท เมื่อคำนึงถึงประวัติ อาชีพ และสภาพความผิดแล้ว และไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงให้รอการลงโทษเพื่อให้โอกาสจำเลยกลับตัว กล่าวคือรอลงอาญาไว้เป็นเวลา 2 ปี

ส่วนพ.ต.ท.ปัญญา เรือนดี ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องโดยระบุว่าเพียงเปิดห้องเข้ามาถามว่าฤทธิรงค์สารภาพหรือยังแต่ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่าทำร้ายฤทธิรงค์ด้วย ส่วนฤทธิรงค์ที่ถูกคลุมหัวก็ไม่ได้เห็นว่าผู้พูดถามเป็นใครจึงเป็นเหตุให้มีข้อสงสัยยกประโยชน์ให้จำเลย

ต่อมา เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2560 ฤทธิรงค์ จึงได้ฟ้องร้องดำเนินคดีแพ่งต่อ สตช. ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัด โดยเรียกค่าเสียหายตาม พ.ร.บ.ความละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 และขอให้ลบประวัติของตนออกจากทะเบียนประวัติอาชญากร เพื่อเป็นการชดเชยความเสียหายต่อร่างกายจากการถูกซ้อมทรมานด้วยการทำร้ายและการคลุมถุงดำบังคับให้รับสารภาพ ถือเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ใช้อำนาจกักขังหน่วงเหนี่ยวไม่ชอบ กระทำให้โจทก์และครอบครัวเสียชื่อเสียง รวมทั้งต้องแบกรับบาดแผลทางจิตใจและภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาและดำเนินคดีมาตลอด 13 ปี

นอกจากคดีที่ฤทธิรงค์เป็นผู้ฟ้องตำรวจแล้ว ทางฝ่ายตำรวจรายหนึ่งที่ถูกฟ้องว่าร่วมกระทำความผิดยังมีการฟ้องเท็จและเบิกความเท็จกับฤทธิรงค์ด้วย คดีในส่วนนี้แม้ว่าในศาลชั้นต้นจะพิพากษาลงโทษฤทธิรงค์ แต่ในชั้นอุทธรณ์และฎีกามีคำพิพากษากลับให้ยกฟ้องเนื่องจากเห็นว่าฤทธิรงค์ฟ้องมาตามข้อเท็จจริงที่ตำรวจนายดังกล่าวมีการตบหัวของฤทธิรงค์จริงแม้ว่าจะไม่ได้เป็นการกระทำที่ให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายและจิตใจก็ตาม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net