Skip to main content
sharethis

กรมอนามัยชี้ 'กัญชาแบบพันลำ' มีอัตราปล่อย PM2.5 เฉลี่ย 3.5 เท่าของบุหรี่ธรรมดา ย้ำหากมีผู้สูบทำให้เกิดกลิ่นหรือควันส่งผลกระทบต่อสุขภาพต่อผู้ที่อยู่ใกล้เคียงถือเป็นเหตุรำคาญ สามารถแจ้งเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ทันที - มส. ห้ามใช้พื้นที่วัดปลูกกัญชา กัญชง ห้ามพระ เณร เสพ เว้นแต่บำบัดรักษาโรค

2 ก.ค. 2565 สำนักข่าวไทย รายงานว่านางณีรนุช อาภาจรัส ผู้อำนวยการกองกฎหมาย กรมอนามัย เปิดเผยว่ากรณีมีการนำเสนอข่าวพบการขาย กัญชามวน และการสูบในที่หรือทางสาธารณะนั้น การสูบกัญชาก่อให้เกิดกลิ่นและควันในที่สาธารณะ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ที่อยู่ใกล้เคียง หรือผู้ที่ต้องประสบภัยกับเหตุนั้น ถือเป็นเหตุรำคาญตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญ พ.ศ. 2565 ซึ่งขณะนี้มีผลบังคับใช้แล้ว ตั้งแต่ 15 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป โดยหากประชาชนพบเห็นการกระทำดังกล่าวสามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนเหตุรำคาญ แก่เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ทันที เพื่อดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย โดยศึกษาข้อมูลเบื้องต้น เช่น สถานที่หรือบริเวณที่ถูกร้องเรียน สถานที่ที่ประชาชนร้องเรียน แหล่งกำเนิดกลิ่นหรือควัน ลักษณะกลิ่น ช่วงเวลาที่ได้รับผลกระทบ เป็นต้น หากเจ้าพนักงานตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วพบว่าเรื่องร้องเรียนไม่เป็นเหตุรำคาญตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นแจ้งผู้ร้องเรียนทราบ และยุติเรื่อง

“หากพบว่าเรื่องร้องเรียนนั้น เข้าข่ายเป็นเหตุรำคาญตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้เจ้าพนักงานพิจารณาออกคำแนะนำเพื่อให้ผู้ก่อเหตุปรับปรุงแก้ไขปัญหาเหตุรำคาญ โดยให้ระบุข้อเท็จจริงที่ตรวจพบ รวมทั้งระบุมาตรการหรือวิธีการที่ใช้การแก้ไข หรือปรับปรุงให้เหตุรำคาญนั้นระงับไปภายในระยะเวลาที่กำหนด จากนั้นเจ้าพนักงานจะติดตามตรวจสอบการดำเนินการตามคำแนะนำของเจ้าพนักงานที่กำหนด หากผู้ถูกร้องเรียนไม่ดำเนินการตามคำแนะนำ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นออกคำสั่งทางปกครอง โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 27 กรณีเหตุเกิดขึ้นในที่หรือทางสาธารณะ หรือมาตรา 28 กรณีเหตุเกิดในสถานที่เอกชน แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม แล้วแต่กรณี เพื่อให้ผู้ก่อเหตุดำเนินการปรับปรุงแก้ไข หรือระงับเหตุรำคาญ ในกรณีผู้ถูกร้องเรียนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งทางปกครอง ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นดำเนินการส่งเรื่องให้ผู้มีอำนาจเปรียบเทียบตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข โดยอัตราโทษกรณีไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นดังกล่าวข้างต้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสองหมื่นห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนกรณีผู้ถูกร้องเรียนปฏิบัติตามคำสั่งทางปกครอง ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นแจ้งผลการดำเนินการให้ผู้ร้องเรียนทราบ และยุติเรื่องต่อไป” ผู้อำนวยการกองกฎหมาย กล่าว

ทางด้าน นางนภพรรณ นันทพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย กล่าวว่าการนำกัญชาไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสมจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ดังนี้ 

1.ควันกัญชา ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหอบหืด หลอดลมอักเสบ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง 

2.เด็กและทารกที่สัมผัสควันกัญชามือสอง อาจได้รับผลกระทบทางจิตประสาทเช่นเดียวกับผู้สูบ 

3.กระตุ้นให้เกิดอาการป่วยทางจิตในกลุ่มเสี่ยงที่มีประวัติซึมเศร้าหรือป่วยด้วยโรคจิตเภทอยู่เดิม 

นอกจากนี้ ยังมีผลการศึกษาที่ระบุว่ากัญชาแบบพันลำมีอัตราการปล่อย PM2.5 เฉลี่ย 3.5 เท่าของบุหรี่แบบธรรมดา ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจ ดังนั้น ประชาชนควรตระหนักถึงผลกระทบต่อสุขภาพ ที่อาจเกิดจากการสูบกัญชา การได้รับควันกัญชามือสอง รวมถึงสถานประกอบการที่อาจมีกิจกรรมรวมกลุ่ม สูบกัญชา ควรมีมาตรการควบคุมไม่ให้เกิดเหตุรำคาญจากกลิ่นหรือควันกัญชา ซึ่งรบกวนประชาชนที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง ขณะเดียวกันหากเจ้าพนักงานท้องถิ่นพบการเห็นการกระทำดังกล่าว ก็สามารถดำเนินการตามบทบาทหน้าที่ ได้ทันที เนื่องจากหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นผู้ใช้อำนาจตามกฎหมาย พ.ร.บ.การสาธารณสุข และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ ร่วมภาคส่วนอื่น เช่น คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ ต้องไปสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพให้เกิดขึ้น รวมถึงเฝ้าระวังไม่ให้เกิดการใช้ในทางไม่เหมาะสม หรืออันตราย

มส. ห้ามใช้พื้นที่วัดปลูกกัญชา กัญชง ห้ามพระ เณร เสพ เว้นแต่บำบัดรักษาโรค

เว็บไซต์ New TV รายงานเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2565 ว่านายนิยม เวชกามา  ส.ส.สกลนคร เขต 2 พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่าจากการที่ประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) ที่ผ่านมามีแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสม สำหรับกัญชา คือ 1.ห้ามวัดทุกวัดใช้พื้นที่วัด หรือที่ธรณีสงฆ์ เพาะปลูกกัญชา กัญชง ใบกระท่อม 2.ห้ามพระภิกษุสามเณร เสพกัญชา กัญชง ใบกระท่อม เว้นแต่เป็นการบำบัดรักษาโรคตามแพทย์สั่ง 3. มอบสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) แจ้งเจ้าคณะผู้ปกครองทุกระดับกำชับให้คณะสงฆ์ในปกครองปฏิบัติตามมติมหาเถรสมาคมดังกล่าวอย่างเคร่งครัด ซึ่งตนขอชื่นชมที่ทางมหาเถรสมาคม ออกคำสั่งอย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในวงการสงฆ์

นายนิยม กล่าวต่อว่าสำหรับการออกคำสั่งต่างๆ รวมถึงแก้กฎหมายที่มีการผลักดันจากนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่เร่งรัดให้ทำให้กัญชาถูกกฎหมาย นี่เป็นเพราะที่ผ่านมาไม่มีผลงานในการบริหารงานเป็นที่ประจักษ์หรือไม่ จึงเร่งมาทำให้กัญชาถูกกฎหมายในช่วงที่จะมีการเลือกตั้งอันใกล้นี้ อย่างไรก็ตามตนเห็นว่าการจะทำให้กัญชาถูกกฎหมาย ควรมีมาตรการที่ให้ความคุ้มครองกลุ่มเปราะบาง ให้ปลอดภัยเสียก่อนไม่ว่าจะเป็น เด็ก สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร พระภิกษุสามเณร การเร่งออกกฎหมายแบบนี้จะทำให้การท่องเที่ยวของไทยเสียหายหรือไม่เพราะในหลายประเทศยังไม่ยอมรับกัญชา หากนักท่องเที่ยวเขากลับไปยังประเทศเขาซึ่งมีกัญชาอยู่ในร่างกายโดยเขาไม่ทราบ เขาจะเดือดร้อนหรือไม่จะกลับมาเมืองไทยอีกไหม และในฐานะประเทศไทยเป็นเมืองพุทธแล้วปล่อยให้กลายเป็นแหล่งยาเสพติด ต่างชาติที่เขาเป็นเมืองพุทธเขาจะมองเราในฐานะที่เคยเป็นอดีตศูนย์กลางพุทธโลกอย่างไร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net