Skip to main content
sharethis

สื่อ ‘อิรวดี’ คุยกับ 'ลินต์เนอร์' ผู้เชี่ยวชาญเรื่องพม่า ตอน 2 ต่อกรณีความสัมพันธ์จีน-พม่าผ่านมิติประวัติศาสตร์การทูตสมัยใหม่ อิทธิพลในพม่า การทูตจีนตามสหรัฐฯ มาตลอด วันนี้นำหน้ารึยัง และจุดเปลี่ยนสงครามยูเครนจะทำให้จีนมีอิทธิพลต่อกองทัพพม่ามากขึ้น

 

9 ก.ค. 2565 อ่องซอ บรรณาธิการแห่งสำนักข่าวสัญชาติพม่า ‘อิรวดี’ สัมภาษณ์ เบอร์ทิล ลินต์เนอร์ นักข่าวผู้ติดตามสถานการณ์ในพม่าอย่างเจาะลึก โดยตอน 1 มีการพูดคุยถึงยุทธศาสตร์ผลประโยชน์ของจีนต่อพม่า และความสัมพันธ์กลุ่มชาติพันธุ์

อ่านตอนแรก 

ในตอนที่ 2 พวกเขามีการพูดถึงประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างจีน และรัฐบาลในอดีตของพม่า ทั้งในยุคสมัยของเผด็จการทหาร และรัฐบาลพลเรือนนำโดยสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD รวมถึงประเมินท่าทีว่าจีนจะเล่นเกมความสัมพันธ์กับกลุ่มตัวแสดงทางการเมืองเหล่านี้อย่างไรเมื่อเทียบกับรัฐบาลจากประเทศโลกตะวันตก โดยเฉพาะจากสหรัฐฯ 

อ่องซอ : ผมรับทราบว่าจีนไม่ได้รับความไว้วางใจ แต่ทุกวันนี้รัฐบาลจีนเหมือนจะกำลังหนุนหลัง และสนับสนุนรัฐบาลพม่า ซึ่งประชาชนพม่าชิงชัง ประชาชนชาวพม่ารังเกียจรัฐบาลเผด็จการทหาร ในที่แล้วพวกเราเห็นการประท้วงต่อต้านจีนเกิดขึ้นทั้งในนครย่างกุ้ง และเมื่องอื่นๆ มีการโจมตีโรงงานสัญชาติจีน 

หลังจากนั้นทั้งในปีที่แล้ว (พ.ศ. 2564) และในปีนี้เองเราได้เห็นกลุ่มติดอาวุธและกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทำการขู่บริษัทจากจีนและโครงการท่อก๊าซและเหมืองแร่ดีบุกในพม่า จีนเองก็พยายามจะเข้าหากลุ่มต่อต้านรัฐบาลบางกลุ่ม รวมถึง "รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ" (NUG) ซึ่งเป็นรัฐบาลเงาที่ก่อตั้งขึ้นจากอดีตฝ่ายประชาธิปไตยที่ถูกโค่นล้มจากกองทัพ โดยที่จีนเรียกร้องให้กลุ่ม NUG ช่วยปกป้องผลประโยชน์ของจีนและธุรกิจของจีนในประเทศ ขณะเดียวกัน จีนก็เรียกร้องกับรัฐบาลทหารด้วยว่าให้ปกป้องผลประโยชน์ของจีนไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม เพื่อป้องกันไม่ให้มีการโจมตีผลประโยชน์ของจีน และธุรกิจของจีนในพม่า

ลินต์เนอร์: นี่เหมือนกับเป็นการขีดเส้นใต้เน้นย้ำให้เห็นอะไรทั้งหลายเหล่านี้ชัดเจน วิธีการที่จีนโต้ตอบกับเรื่องนี้ การที่จีนถึงขั้นเริ่มพูดคุยกับ NUG และกลุ่มติดอาวุธทั้งหลายในประเด็นแบบนี้ ในแบบที่ปฏิบัติต่างกันออกไปเวลาพบปะแต่ละกลุ่ม แต่ยุทธศาสตร์ผลประโยชน์ของจีนในระยะยาวยังคงเหมือนเดิม แล้วก็มีเรื่องของระเบียงเศรษฐกิจ การใช้พม่าเป็นเส้นทางออกสู่ทะเล อย่างมหาสมุทรอินเดีย ทำให้จีนต้องเล่นบทบาทไม่ทำให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นศัตรู เพราะนั่นจะทำให้ส่งผลทางลบสะท้อนกลับมาหาพวกเขาได้

ย้อนกลับไปตอนที่พม่ายังมีสภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ หรือ SLORC ในตอนนั้นจีนให้ความสำคัญไปกับรัฐบาล SLORC คือ การสนับสนุนกลุ่มกองทัพรัฐบาลพม่าอย่างเดียว ในตอนนั้นพวกเขายังไม่มีความสัมพันธ์กับกลุ่มต่อต้านรัฐบาลเลยแม้แต่น้อย แน่นอนว่าอาจจะมีความสัมพันธ์กับกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์บางกลุ่ม แต่นั่นมันต่างกัน แม้กระทั่งในตอนนั้นจีนก็แสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นในระดับหนึ่ง คือ การที่จีนไม่ถึงขั้นทำให้ใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งกลายเป็นผู้ร้าย รวมถึงพรรค NLD ที่อยู่ตรงข้าม SLORC 

แล้วผมก็พอจะเล่าถึงเกร็ดประวัติจากมุมมองส่วนตัวโดยสังเขปว่า มันเป็นเรื่องน่าประหลาดใจและชวนให้อยากรู้ว่าทำไม หลังจากการลุกฮือในปี 2531 แล้ว (เหตุการณ์การปฏิวัติ 1988) ทุกคนไปอยู่กับที่สถานปฏิบัติการของอองซานซูจีที่มหาวิทยาลัยกันหมดไม่ว่าจะเป็นนักกิจกรรม, หมอ, ทนายความ, นักการเมือง, นักข่าว ทุกคนเลย แล้วสถานทูตชาติตะวันตกก็ไปเยี่ยมอองซานซูจีกับเหล่าผู้นำพรรค NLD แต่ทูตของจีนกลับไม่ทำ ทว่า ไมเคิล อริส ผู้ที่เป็นสามีของอองซานซูจีในตอนนั้นเล่าให้ผมฟังว่า ตอนที่เขาอยู่กับซูจีที่มหาวิทยาลัย เขาสังเกตว่าทูตของจีนไม่มาเยี่ยมเลยในช่วงแรกๆ จนกระทั่งอยู่มาวันหนึ่งเขาเห็นรถที่มีทะเบียนของสถานทูตจีนปรากฏที่ถนนของมหาวิทยาลัย ทุกคนแปลกใจมากในตอนนั้น มีเจ้าหน้าที่ระดับล่างของสถานทูตจีนเดินเข้ามาพร้อมกับกล่องที่เต็มไปด้วยหนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสตร์แบบทิเบต

ผมมองว่า นั่นเป็นวิธีการที่ทูตจีนต้องการจะสื่ออ้อมๆ ว่า "พวกเราระมัดระวังตัว แต่พวกเราก็ไม่อยากให้มองว่าพวกเราเป็นศัตรูหรืออะไรแบบนั้น หนังสือนี่ไม่ใช่สำหรับอองซานซูจี แต่สำหรับสามีของเธอ มันเกี่ยวกับพุทธศาสตร์แบบทิเบต" แต่ทูตจีนก็แสดงออกเช่นนี้ก็เพื่อแสดงให้ทุกคนเห็นว่าแม้แต่ในตอนนั้นพวกเขาก็ยังคงมีความยืดหยุ่นในระดับหนึ่ง พวกเขาไม่รู้ว่ารัฐบาลทหารจะอยู่รอดไหมในตอนนั้น อนาคตของพม่าจะเป็นเช่นไร เพราะอย่างที่เคยบอกไปแล้วว่าผลประโยชน์ในระยะยาวของจีนยังคงเดิม แล้วจีนก็เล่นไปตามเกมหลายเกมเพื่อให้สอดคล้องกับผลประโยชน์ที่ว่า นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น

อ่องซอ : แต่ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่พวก SLORC และพรรค SPDC (สภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ หรือ State Law and Development Council) เข้าสู่อำนาจ ทางการจีนก็ทำการฉวยโอกาสขูดรีดทรัพยากรธรรมชาติอย่างหนักมากในทางตอนเหนือของพม่า

ลินต์เนอร์ : ใช่แล้ว ในรัฐว้ามันมีดีบุกแล้วก็แร่หายากในดินอยู่ เมื่อเราบอกว่าจีนส่งออกแร่หายากจากในดินมันเป็นความจริงแค่ครึ่งเดียว ส่วนใหญ่แล้วมาจากภูเขาของว้าทั้งนั้น นอกจากนี้จีนยังทำการขุดเจาะแร่หายากจากดินในรัฐคะฉิ่นด้วย แน่นอนว่าการที่รัฐเหล่านี้ในพม่าส่งออกเหมืองแร่พวกเขาทำให้กลุ่มติดอาวุธบางกลุ่มมีทุนทรัพย์ในการดำรงอยู่ได้คือกลุ่ม องค์กรอิสรภาพคะฉิ่น (KIO) กองกำลังอิสรภาพคะฉิ่น (KIA) และกองทัพสหรัฐว้า ทุนทรัพย์จากการส่งออกแร่ทำให้พวกเขาซื้อหาอาวุธและดำเนินการต่างๆ ได้ในพื้นที่ของพวกเขา

แต่ทว่า พวกเขาเหล่านี้กับจีนก็มีการพึ่งพากันและกันในแบบหนึ่ง ผมมองว่า ถ้าหากรัฐบาลกลางของพม่ามีวิธีการที่ฉลาดเห็นลู่ทางในการเข้าหาประชาชนอย่างชาวว้า ปัญหาก็จะแก้ไขได้ ผมคิดว่าชาวว้าคงจะชอบมากกว่าที่จะอยู่กับพม่ามากกว่าที่จะพึ่งพาจีน แต่จนถึงตอนนี้มันง่ายที่จะแค่บอกว่าพวกนี้เป็นผู้ค้ายา ซึ่งส่วนหนึ่งก็จริงที่พวกเขาเคยทำการค้ายาเสพติดมาก่อน แต่ในทุกวันนี้ทรัพยากรของพวกเขามาจากแหล่งต่างๆ ที่หลากหลายมากกว่า แต่ต่อให้พวกเขามีรายได้มาจากการค้ายาจริง ใครบ้างล่ะในพม่าที่ไม่ทำเช่นนี้ แม้กระทั่งรัฐบาลพม่าเองก็ทำ

อ่องซอ : ในปีที่แล้ว จีนส่งผู้แทนพิเศษเยือนพม่า 2 ครั้งหลังจากที่มีการรัฐประหาร มีรายงานข่าวว่า เขาขอร้องต่อหัวหน้าคณะรัฐประหาร พลเอกอาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพพม่า ให้มีการอนุญาตให้พวกเขาเข้าพบอองซานซูจีที่ถูกคุมขังอยู่ แต่คำขอร้องนี้ก็ถูกปฏิเสธ แล้วก็มีข่าวที่ออกมาว่าทางการจีนขอให้รัฐบาลทหารพม่าอย่ายุบพรรค NLD คุณคิดว่าจีนมีอำนาจต่อรองทางการเมืองเหนือพม่าหรือไม่ เมื่อเทียบกับประเทศตะวันตกหรือรัฐบาลตะวันตก

ลินต์เนอร์: คุณต้องจำให้ได้ว่า คุณเคยพูดเอาไว้ก่อนหน้านี้ว่ากองทัพพม่าเป็นพวกเกลียดกลัวคนนอกประเทศ พวกเขาไม่เคยลืมสงครามที่ยาวนาน และขมขื่นที่มีกับกองกำลังคอมมิวนิสต์พม่า มีทหารจำนวนมากถูกสังหาร คนหนุ่มจำนวนมากของพวกเขาถูกสังหารด้วยปืนที่มาจากจีน มีเจ้าหน้าที่ที่ปลดเกษียณแล้วเคยบอกผมว่า เรื่องนี้กลายเป็นแผลใจสำหรับกองทัพพม่า พวกเขาลืมมันไม่ได้

แรกเริ่มเดิมที ในช่วงหลังจากการรัฐประหารปี 2532 กองทัพพม่าต้องพยายามสร้างขุมกำลังใหม่หรือเสริมสร้างกองกำลังของพวกเขาขึ้นมาใหม่ ในตอนนั้นจีนพร้อมที่จะขายอะไรทุกอย่างให้ แต่พวกเขาก็กลายเป็นพึ่งพาจีนมากเกินไป พวกเขาไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น ทำให้ในปัจจุบันพวกเขาเริ่มมองหาช่องทางอื่นๆ นั่นคือ ‘รัสเซีย’ แน่นอนว่ามันเป็นไปได้ในชั่วระยะหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้คงอยู่ได้นานนัก ดูจากสิ่งที่เกิดขึ้นกับยูเครนในตอนนี้ ดังนั้น พวกเขาจึงกลับไปหาจีนอย่างช่วยไม่ได้ ด้วยท่าทีเก้ๆ กังๆ แล้วผมก็ไม่รู้ว่าพวกเขาจะจัดการเรื่องนี้อย่างไร ดูเหมือนฝ่ายกองทัพพม่าเองก็ไม่ค่อยชอบให้เป็นแบบนี้เหมือนกัน

แล้วฝ่ายจีน แน่นอนว่ารู้เรื่องที่พม่าอยากกลับมาพึ่งพาพวกเขา พวกเขารู้ว่ากองทัพพม่าไม่ชอบพวกเขา ไม่ไว้ใจพวกเขา แต่ผมคิดว่าจริงๆ แล้วจีนคงมองว่ามันจะเป็นเรื่องง่ายกว่าที่จะได้พบปะหารือตกลงร่วมกันกับอองซานซูจีแทนที่จะเป็นผู้นำทหารอย่างมินอ่องหล่าย มีเรื่องที่ฟังดูน่าประหลาดใจ จากรายงานบางฉบับที่ออกมาก่อนหน้าการเลือกตั้งปี 2558 ระบุว่า จริงๆ แล้วจีนอยากให้พรรค NLD ชนะมากกว่าพรรค USDP (พรรคสหสามัคคีและการพัฒนา) ซึ่งเป็นพรรคตัวแทนฝ่ายทหาร เพราะมันจะทำให้ประเทศพม่าในสภาพการณ์ตอนนั้นมีเสถียรภาพอยู่บ้าง แทนที่จะเป็นการปกครองโดยกองทัพที่ทุกคนรังเกียจ

หวังอี้ รมต.ต่างประเทศจีน (ซ้าย) และวันนาหม่องลวิน รมต.ต่างประเทศ SAC (ขวา) (ที่มา เว็บไซต์ กระทรวงต่างประเทศจีน)

แต่จีนก็เล่นเกมในหลายรูปแบบในเวลาเดียวกัน แล้วมันก็เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องมองภาพใหญ่ๆ ให้แตกว่ามีความเชื่อมโยงอะไรยังไง แล้วก็มองให้ออกว่ามันจะนำพาไปที่ไหน จีนไม่ได้ลงหลักปักฐานกับกลุ่มในกลุ่มหนึ่งหรือคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ ดังนั้นแล้วนโยบายของจีนต่อพม่ามันเลยต่างกันมากกับประเทศตะวันตก ซึ่งมีลักษณะขับเคลื่อนด้วยแรงจูงใจด้านอุดมการณ์ทางการเมืองมากกว่า

อ่องซอ : แน่นอนว่าประชาชนชาวพม่า รวมถึงกองทัพ เป็นพวกที่เกลียดกลัวชาวจีน ประชาชนชาวพม่าทั่วไปเป็นคนที่เอียงไปในทางตะวันตกมากกว่าจีน คุณรู้ดีว่าในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาคุณได้เห็นการที่สหรัฐฯ มีการลงทุนลงแรงทางการเมืองในพม่าในการส่งเสริมประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และเสรีภาพสื่อ ในช่วงไม่นานมานี้สหรัฐฯ ได้เชิญชวนรัฐมนตรีต่างประเทศของ NUG ไปที่กรุงวอชิงตันดีซี ในช่วงเดียวกับที่กำลังมีการจัดประชุมร่วมกันระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ 

เห็นได้ชัดว่ามันมีการแข่งขันกันอยู่ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน แล้วแนวคิดทัศนคติแบบสงครามเย็นแบบนี้ก็กำลังกลับมาอีกครั้งในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก รวมถึงในอาเซียนด้วย พม่าก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ทั้งสหรัฐฯ และจีนต่างก็พยายามส่งอิทธิพลต่อ คุณมองว่าอย่างไรในเรื่องนี้

เวนดี เชอร์แมน จนท.กต.สหรัฐฯ (ขวา) พบกับซินหม่าอ่อง รมต.ต่างประเทศ รัฐบาล NUG (ซ้าย) (ที่มา ทวิตเตอร์ 'Wendy Sherman')

ลินต์เนอร์ : ถ้าหากสหรัฐฯ ต้องการจะได้อิทธิพลมากขึ้นในประเทศพม่า พวกเขาจะต้องมีความกระตือรือร้นต่อพม่ามากกว่าที่ทำอยู่ในทุกวันนี้

อ่องซอ : เหมือนแบบที่พวกเขากระตือรือร้นในเรื่องยูเครนหรือ

ลินต์เนอร์ : อาจจะไม่ได้หมายความถึงขั้นว่าต้องส่งอาวุธที่พวกเขาส่งให้กับยูเครนมาทางนี้ แต่อาจจะมีวิธีการอื่นๆ ที่พวกเขาจะทำได้ในเรื่องนี้ มันดูเหมือนกับว่าสำหรับนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ แล้วประเด็นพม่าในตอนนี้กำลังถูกพักไว้ก่อน พวกเขากำลังหมกมุ่นอยู่อย่างเต็มที่กับยูเครน รวมถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในยุโรป ดังนั้นแล้ว แน่นอนว่ามันก็กลายเป็นการเปิดช่องอย่างใหญ่หลวงให้กับจีนเข้ามาแทรกได้

อ่องซอ : สิ่งที่ผมจำได้คือ ในช่วงปี 2550-2551 นโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ มีความคงเส้นคงวามาก มีการเข้าไปปฏิสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพม่าทุกฝ่าย ทุกกองกำลัง พวกเขามีความกระตือรือร้นมาก แล้วผมก็อยากจะบอกว่ามันน่าประทับใจทีเดียว

ลินต์เนอร์ : ถ้าหากคุณมองไปที่นโยบายเกี่ยวกับพม่าของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มีการปฏิสัมพันธ์กับทุกฝ่ายในพม่า ...มันเกิดขึ้นช่วงก่อนหน้าการเลือกตั้งปี 2558 ที่พรรค NLD ได้รับชัยชนะ แม้กระทั่งในยุคสมัยที่เตงเส่ง เป็นผู้นำ ก็มีการเชิญเขาไปที่ทำเนียบขาว แล้วผมก็คิดว่าจีนในตอนนั้นมองว่าพวกเขา "สูญเสียพม่าให้กับชาติตะวันตกไปแล้ว" ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมได้อ่านพบจากการถอดความวารสารวิชาการของจีน

สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน (ซ้าย) ประชุมกับ วินมยิ้ด ประธานาธิบดีพม่า (ขวา) ณ กรุงเนปยีดอ เมื่อปี 2020 (ที่มา เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศจีน)

นั่นคือสิ่งที่จีนเคยรู้สึก ทำให้พวกเขาหันมาสร้างอิทธิพลกับพม่าอีกครั้ง แล้วพวกเขาก็ทำได้อย่างชาญฉลาดมากด้วย พวกเขาเริ่มเข้าหาพวก "ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย" ในพม่าซึ่งเป็นคำที่ผมไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ ไม่ได้เข้าหาแต่รัฐบาลเท่านั้น เช่นว่าพวกเขาเริ่มปฏิสัมพันธ์กับสื่อซึ่งเป็นสิ่งที่จีนไม่เคยทำมาก่อน พวกเขาเชิญสื่อให้ไปที่จีน เริ่มพูดคุยกับนักข่าว เอกอัครราชทูตจีนในนครย่างกุ้งเริ่มรับโทรศัพท์จากนักข่าวที่โทรหาแล้วก็มีการเดินทางไปพูดคุยหารือกับพรรคการเมืองต่างๆ เพียงเพื่อที่จะตอบโต้การแผ่ขยายอิทธิพลของสหรัฐฯ

แน่นอนว่าในแง่เศรษฐกิจในพม่านั้นจีนมีความเข้มแข็งมากกว่าสหรัฐฯ มาโดยตลอด ในแง่ที่ว่าพวกเขามีการลงทุนที่นั่น และจากปัจจัยอื่นๆ แต่เมื่อมาถึงเรื่องความสัมพันธ์เชิงบุคคลแล้ว พวกเขาล้าหลังกว่าสหรัฐฯ ในตอนนั้น แล้วจีนก็พยายามกลับมาสถาปนาความสัมพันธ์ใหม่อีกครั้ง ไม่ใช่เพราะพวกเขาไม่เคยสถาปนาความสัมพันธ์มาก่อนหน้านี้แต่เพื่อสานสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับสาธารณะกับประชาชนทั่วไปในพม่า พวกเขาเล็งเห็นว่ามันสำคัญ พวกเขาไม่สามารถ "สูญเสีย" พม่าให้กับตะวันตกได้แบบที่นักวิชาการได้ประเมินไว้ในยุคนั้น

อ่องซอ : ผมสงสัยว่า คุณคิดว่าอองซานซูจียังคงมีบทบาทในอนาคตหรือไม่ ตอนนี้เธออายุ 77 ปีแล้ว

ลินต์เนอร์ : ไม่ ผมหมายความว่าเธอได้ทำอะไรบางอย่างเสร็จสิ้นแล้ว เธอมีความหมายต่อประชาชนชาวพม่ามาก บทบาทของเธอนั้นเป็นเรื่องที่ไม่อาจสามารถปฏิเสธได้ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม แต่ในตอนนี้เธอชราภาพแล้วก็เหนื่อยแล้ว และมีคนรุ่นเยาว์อีกจำนวนมากที่เริ่มวิพากษ์วิจารณ์เธอมากขึ้น เพราะมองว่าเธอควรจะทำอะไรในอดีตอีกแบบหนึ่ง

อ่องซอ : เป็นความผิดพลาดของเธอหรือ

ลินต์เนอร์ : ใช่แล้ว ดังนั้น ผมถึงคิดว่าเราควรจะต้องรอให้ถึงรุ่นถัดไป แล้วในรุ่นถัดไปที่ผมว่าผมหมายถึงทั้งในกลุ่มชาวเชื้อชาติพม่า และคนกลุ่มอื่นๆ ด้วย มีผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์จำนวนมากที่ยังคงยึดติดอยู่กับอดีต มีวิสัยทัศน์เก่าๆ แนวคิดเก่าๆ พวกเขาไม่รู้ว่าจะก้าวไปข้างหน้าอย่างไร

อ่องซอ : และคำถามสุดท้ายของผมคือ ไม่ว่าในประเทศใดก็ตามการเปลี่ยนผ่านเป็นประชาธิปไตยจะหยุดลงกลางคันเว้นแต่จะมีการทำให้กองกำลังที่มีอำนาจมาอยู่ภายใต้การควบคุมของพลเรือน ภายใต้บริบทของการสร้างสมดุลระหว่างอำนาจบริหารกับอำนาจนิติบัญญัติของรัฐบาล ประชาธิปไตยจะมีอยู่ได้ก็ต่อเมื่อทหารเป็นผู้รับใช้รัฐไม่ใช่ผทำตัวเป็นเจ้าเหนือรัฐ กองทัพในพม่านั้นต่างออกไป กองทัพพม่านั้นมีโอกาสน้อยมากที่จะยอมรับบทบาทเป็นผู้รับใช้ ดังนั้นแล้ว ก่อนที่เวลาแบบนั้นจะมาถึง การวินิจฉัยเกี่ยวกับประชาธิปไตยในพม่าแทบจะไม่สามารถประเมินออกมาในแง่ดีได้เลย เพราะกองทัพพม่าไม่ว่ายังไงก็จะยึดกุมอำนาจต่อไปเรื่อยๆ

ลินต์เนอร์ : นั่นเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องการทำ ใช่ แต่คุณต้องจำไว้ว่าในตอนที่กองทัพพม่ายึดอำนาจเป็นครั้งแรกในปี 2505 นั้น มันก็เป็นเวลาเดียวกับที่มีการรัฐประหารเกิดขึ้นทั่วโลกในกลุ่มประเทศที่ถูกเรียกว่าเป็นประเทศโลกที่ 3 ผมจะบอกว่าในไทยตอนนั้นก็มีรัฐประหาร ถัดจากนั้นอีก 2 ปีก็มีความวุ่นวายในอินโดนีเซีย แอฟริกา ลาตินอเมริกา และที่อื่นๆ

แต่ในหมู่ประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้ว กองทัพจะแค่พอใจกับการได้ยึดอำนาจทางการเมือง พวกเขาไม่ยึดกุมอำนาจทางเศรษฐกิจไปด้วย แล้วปล่อยให้เรื่องทางเศรษฐกิจมีการจัดการโดยกลุ่มผลประโยชน์อื่นๆ เช่นกรณีของไทย ที่มีความสัมพันธ์เชิงผลประโยชน์สอดรับกันระหว่างกองทัพกับพวกเศรษฐีซิโน-ไทย แล้วกองทัพไทยก็ปล่อยให้บรรษัทเศรษฐีพวกนี้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้ นั่นเป็นสาเหตุว่าทำไมไทยยังมีความมั่งคั่งอยู่ในทุกวันนี้

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีปัจจุบันของไทย และอดีต ผบ.สส.กองทัพไทย

ในอินโดนีเซีย มีลักษณะการจัดการที่คล้ายกัน แล้วก็ในประเทศอื่นๆ ด้วย แต่การรัฐประหารปี 2505 ในพม่านั้นต่างกันออกไปตรงที่กองทัพยึดอำนาจทั้งอำนาจทางการเมืองและอำนาจทางเศรษฐกิจ และสำหรับอำนาจทางเศรษฐกิจที่ว่านี้คือสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า "หนทางสู่สังคมนิยมพม่า" โดยการที่พวกเขาทำการแปรรูปกิจการเอกชนให้เป็นของรัฐทั้งหมดแล้วทำให้อยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพ พวกเขาจะอ้างว่าเป็นการควบคุมโดยรัฐ แต่จริงๆ แล้วคนที่ควบคุมรัฐวิสาหกิจของพม่าหลักๆ คือกองทัพ

แม้กระทั่งเมื่อพวกเขาเริ่มเสนอให้มีการปฏิรูปเศรษฐกิจในปี 2531 เศรษฐกิจในพม่าก็ยังคงต้องมีการพึ่งพิงเกิดขึ้นอยู่... กองทัพพม่ายังคงเป็นผู้เล่นทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งในประเทศของพวกเขา แล้วก็มีพวกคนใกล้ชิดกับกองทัพพม่าก็ต้องคอยพึ่งพิงการสนับสนุนจากกองทัพพม่าโดยทั้งหมด แล้วความสัมพันธ์ระหว่าง 2 กลุ่มนี้ก็ต่างกันออกไปกับความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐีเจ้าของกิจการในไทยกับรัฐบาลทหารไทย เพราะ 2 กลุ่มนี้ในไทยจะปล่อยให้แต่ละฝ่ายทำอะไรของตัวเองไป แล้วต่างก็จะได้รับผลประโยชน์จากกันและกัน

เทียบกับรัฐบาลทหารพม่าแล้ว รัฐบาลทหารพม่ามีการเล่นงานกลุ่มธุรกิจคนใกล้ชิดของพวกเขาบางคนด้วย แต่คุณจะทำแบบนั้นได้อย่างไรถ้าหากคุณต้องการจะเห็นประเทศพัฒนา ดังนั้นแล้วโครงสร้างทางอำนาจในพม่าจึงแตกต่างจากประเทศอื่นๆ เท่าที่ผมได้รู้มา คุณมีกองทัพที่ยึดกุมทั้งอำนาจเศรษฐกิจ และอำนาจทางการเมืองแล้ว ก็ต้องการจะควบคุมทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ถ้าหากคุณสามารถจะพังมันลงได้นั้น ซึ่งผมไม่รู้ว่าจะทำแบบนั้นได้อย่างไร ... พูดตามตรงคือมันจะสามารถเกิดขึ้นได้จากภายในกองทัพเองเท่านั้น แล้วปัญหาก็คือถ้าหากมีความแตกแยกกันอย่างจริงจังภายในกองทัพพม่า ซึ่งจะไม่นับแค่การแปรพักตร์เล็กๆ น้อยๆ คุณก็อาจจะได้เห็นสงครามกลางเมืองที่นองเลือดอย่างหนักมาก

อ่องซอ : นับเป็นเรื่องดีที่ได้พูดคุยกับคุณ เบอร์ทิล ขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่ง


เรียบเรียงจาก

China’s Complicated Game in Myanmar, Irrawaddy, 02-07-2022
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net