Skip to main content
sharethis

ส.ส.พรรคพลังท้องถิ่นไทและภูมิใจไทย ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของร่างกฎหมายเข้าชื่อเสนอถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นหวั่นมีการซื้อเสียงให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งร่วมเข้าชื่อถอดถอน และเปิดช่องผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจเหนือสภาท้องถิ่น จากการให้อำนาจตั้งคณะกรรมการสอบสวน เผยเสนอแปรญัตติขอกรรมการสอบฯ มาจากคนกลาง

เว็บไซต์สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานเมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2565 ที่ผ่านมาว่านายโกวิทย์ พวงงาม ส.ส.พรรคพลังท้องถิ่นไท แถลงตั้งข้อสังเกตถึงเนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติการเข้าชื่อเสนอถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นพ.ศ. .... ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ สภาผู้แทนราษฎรเพิ่งจะพิจารณาแล้วเสร็จ ว่ามี2 กรณีที่อาจนำมาสู่ความขัดแย้งในท้องถิ่น เนื่องจากเปิดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกินกึ่งหนึ่งสามารถเข้าชื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นให้พ้นจากตำแหน่งได้แต่การกำหนดในลักษณะนี้จะกลายเป็นการนำไปสู่การกลั่นแกล้ง อาจมีกระบวนการจูงใจซื้อเสียงให้เข้าชื่อถอดถอน จนนำไปสู่การเลือกตั้งใหม่ กลายเป็นปัญหาการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายมากขึ้น 

รวมถึงกรณีที่ร่างกฎหมายกำหนดให้ผู้กำกับดูแล ซึ่งหมายถึงผู้ปกครองทางมหาดไทยได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัด สามารถตั้งคณะกรรมการสอบสวนได้ ในกรณีที่มีการเข้าชื่อขอให้สอบสวนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นด้วยเสียงผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 5 พันคน หรือเกิน 1 ใน 5 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งแล้วแต่ว่าจำนวนใดจะน้อยกว่า โดยคณะกรรมการสอบสวนดังกล่าวมีอำนาจในการสอบสวนและหากพบความผิดสามารถให้ผู้กำกับดูแลสั่งให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งได้ซึ่งย่อมกลายเป็นแนวทางที่เปิดช่องให้ผู้กำกับดูแลมีการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมไม่เป็นกลาง หรืออาจมีการกลั่นแกล้งผู้บริหารหรือสมาชิกสภาท้องถิ่นได้ ทั้งที่ผู้กำกับดูแลมีอำนาจกำกับดูแลตามกฎหมายจัดตั้งของแต่ละองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่แล้วอย่างไรก็ตาม ตนได้เสนอแปรญัตติไม่เห็นด้วยต่อประเด็นดังกล่าวไว้แล้วและเสนอให้ผู้เป็นกรรมการสอบสวนต้องมาจากคนกลาง อาทิ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นคนกลางเข้ามาถ่วงดุล

ขณะที่นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ส.ส.กระบี่ พรรคภูมิใจไทย ร่วมแถลงเผยว่า ในการเลือกต้องส่วนท้องถิ่น ต่างได้รับการรับรองผลจากกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แล้ว แต่การออกแบบร่างกฎหมายในลักษณะดังกล่าว จะกลายเป็นการยื่นดาบให้ลงไปที่ท้องถิ่นไม่ใช่กระจายอำนาจ เพราะการถอดถอนควรทำได้ยาก ต้องมีกระบวนการตรวจสอบจนไปถึงชั้นศาล  ไม่ใช่การนำกลุ่มบุคคลมาพิจารณาถอดถอนได้ทันที  กลายเป็นการให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดเหนือสภาท้องถิ่น ในการตั้งคณะกรรมการสอบสวน ที่ควรจะต้องมาจากคนกลางไม่มีส่วนได้เสีย ต้องมีความรอบรู้ มีวุฒิภาวะ และโปร่งใส
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net