Skip to main content
sharethis

19 ก.ค.2565 ที่หน้ารัฐสภา แยกเกียกกาย กลุ่มนักกิจกรรมมารวมตัวกันทำกิจกรรม “ราษฎรแคมป์ปิ้ง” เพื่อติดตามการอภิปรายไม่ไว้วางใจของส.ส.ในที่ประชุมรัฐสภา รวมถึงจัดให้ประชาชนได้มาร่วมแสดงออกว่าจะมีความเห็นไว้วางใจหรือไม่กับรัฐบาลประยุทธ์คู่ขนานไปกับการอภิปราย

ผู้จัดเริ่มเข้าตั้งเต๊นท์เตรียมสถานที่ตั้งแต่ช่วงสายของวันนี้เพื่อใช้สำหรับกิจกรรมที่จะมีขึ้นในช่วง 17.00 น.ของวันนี้ไปจนถึงวันที่ 23 ก.ค.ที่จะถึงนี้ และกล่องที่เก็บใบลงคะแนนเสียงที่ไม่ไว้วางใจรัฐบาลประยุทธ์ที่เริ่มทำกิจกรรมกันเมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 ที่ผ่านมาในหลายจังหวัดถูกส่งมารวมกันที่หน้ารัฐสภาแล้ว และจะมีการตั้งกล่องสำรวจความเห็นต่อในพื้นที่กิจกรรมโดยจะนับคะแนนกันในคืนวันศุกร์นี้และประกาศผลในวันเสาร์พร้อมกับการลงมติของส.ส.ในสภา

สำหรับกิจกรรมในวันแรกจะมีทั้งการเล่นดนตรีจาก เอ้ เดอะ วอยซ์ และน้ำ คีตาญชลี และจะมีวงเสวนา “จับตาอภิปรายไม่ไว้วางใจ ในสภาเค้ามีประเด็นอะไรยังไงกัน” จากนั้นวง Rap Against Dictatorship จะมาแสดง “RAD 8 บาร์ อภิรายฯ”

วรัญชัย โชคชนะ ปราศรัยว่ารัฐบาลนี้มีการใช้เงินในการซื้อ ส.ส.ฝ่ายค้านและเสียงโหวต เป็นรัฐบาลที่ทำลายประชาธิปไตยและเสรีภาพมากที่สุดและมีการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯมาดำเนินคดีกับคนที่มาแสดงออก

วรัญชัยเล่าว่าเมื่อวานนี้ตนได้ไปยื่นคำร้องให้มีการวินิจฉัยสถานะของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาว่าดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี เมื่อใดและขอให้ติดตามผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกันด้วย

ผู้เข้าร่วมกิจกรรมส่วนหนึ่งทำพิธีขับไล่ประยุทธ์

ณัชปกร นามเมือง จาก iLaw กล่าวในช่วงเสวนาว่าสิ่งสำคัญของการอภิปรายที่ผ่านๆ มาก็คือต้องเข้าใจก่อนว่ารัฐบาลประยุทธ์ไม่ได้เข้ามาตามกระบวนการเลือกตั้งแต่ได้เข้ามาเพราะการมี ส.ว.250 คน การอภิปรายในสภาได้ทำให้เห็นว่าพล.อ.ประยุทธ์ที่เข้ามาเป็นรัฐบาลจากการรัฐประหารตั้งแต่ปี 2557 ก็สร้างความเสียหายมาเรื่อยๆ แต่ก็ยังรอดการอภิปรายมาได้ถึงสามครั้งจนมาครั้งนี้เป็นครั้งที่สี่แล้ว

ผู้ร่วมเวทีอีกคนได้กล่าวต่อว่าที่ประยุทธ์เข้ามาเป็นนายกฯ ได้เพราะ ส.ว. 250 คนนี้เป็นเหมือนกับการตัดขาดเสียงของประชาชน ให้มีอำนาจน้อยลงเพราะไม่ใช่แค่มี ส.ส.ที่เลือกตั้งเข้ามาแต่ยังมี ส.ว.ที่ถูกแต่งตั้งเข้ามาโดยไม่มีประชาชนเกี่ยวข้องแล้วก็เลือกนายกฯ ที่จะต้องเป็นคนที่สะท้อนเสียงของประชาชนที่สุด แต่นายกฯ ตอนนี้กลับไม่ได้ผ่านเสียงของประชาชนเลย

ทั้งนี้เมื่อผู้ดำเนินรายการถามถึงประสิทธิภาพของการอภิปรายไม่ไว้วางใจมีมากน้อยแค่ไหนเพราะจากประวัติศาสตร์ก็ไม่เคยมีครั้งไหนที่ทำให้นายกรัฐมนตรีต้องลาออกได้สำเร็จ

ณัชปกรกล่าวว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นส่วนหนึ่งของกลไกตรวจสอบรัฐบาล ไม่ใช่เรื่องแปลกท่หลายครั้งรัฐบาลรอดจากการลงมติ เพราะการจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ก็ต้องได้รับเสียงข้างมากจากสภาผู้แทนราษฎรแต่พล.อ.ประยุทธ์จะต่างไปตรงที่ตอนมาเป็นนายกฯ นั้นมีเสียงของส.ว. 250 คนด้วยเพราะหากมีแต่เสียงของสภาผู้แทนราษฎรก็ไม่ถึงครึ่ง แต่การมีส.ว.อยู่ทำให้พรรคร่วมรัฐบาลในเวลานี้พลิกขั้วกลับมาสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ด้วย ทั้งที่พรรคประชาธิปัตย์เคยประกาศว่าจะไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของพล.อ.ประยุทธ์ก็ตาม

แต่ประโยชน์ของการอภิปรายไม่ไว้วางใจจริงๆ มีมากกว่าการเอานายกฯ ออก เพราะถ้าเกิดการอภิปรายไม่ไว้วางใจทำให้นายกฯ ต้องลาออกได้แสดงให้เห็นว่าต้องสูญเสียความไว้วางใจอย่างมากเพราะเสียงของคนที่เลือกมาก็ยังรับไม่ได้ แสดงว่าเสื่อมทรามมากจนอำนาจทางการเมืองก็ช่วยไว้ไม่ได้

“มัน(การอภิปราย) เป็นการเปิดแผลรัฐบาลว่ารัฐบาลทำอะไรไม่ถูกต้อง เป้นกลไกในการกดดันอย่างน้อยที่สุดคือเป็นขั้นต่ำว่าใครบริหารประเทศห่วยแตก รัฐมนตรีคนไหนห่วยแตกนายกฯ ก็ไปแก้ซะ ปรับ ครม. เปลี่ยนคนซะ” เจ้าหน้าที่จาก iLaw กล่าว

ณัชปกร เล่าย้อนกลับไปในการอภิปรายในยุครัฐบาลชวน หลีกภัยเมื่อ 20 ปีก่อนที่สุเทพ เทือกสุบรรณถูกอภิปรายก็มีการเปิดหลักฐานว่าสุเทพเอื้อประโยชน์จัดสรรที่ดิน สปก.ให้กับคนในพื้นที่ฐานเสียงของตัวเองแม้ว่าในตอนนั้นการอภิปรายจะยังไม่เริ่มขึ้นแต่ก็เริ่มเห็นแนวโน้มว่ารัฐบาลจะถูกอภิปรายในเรื่องนี้ทำให้รัฐบาลชวนต้องยุบสภาไปก่อนก็ทำให้เกิดการยุบสภา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net