Skip to main content
sharethis

ขณะที่ไทยเพิ่งมีการเปิดโปงเกี่ยวกับการใช้โปรแกรมเพกาซัสสอดแนมผู้เห็นต่าง สื่อต่างประเทศและกลุ่มสิทธิรายงานว่ารัฐบาลทหารพม่าก็กำลังขยายขีดความสามารถในการใช้เทคโนโลยีตรวจจับใบหน้าในหลายเมือง ก่อให้เกิดข้อกังวลต่อความปลอดภัยของนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย และกลุ่มต่อต้านคณะรัฐประหารเช่นกัน 


ที่มาภาพประกอบ: Open Grid Scheduler / Grid Engine (CC0 1.0)

สำนักข่าว DW รายงานเมื่อ 28 ก.ค.2565 ที่ผ่านมาเกี่ยวกับแนวโน้มที่มีมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน โดยอ้างอิงจากรายงานของ Human Rights Watch ในเดือน มี.ค. 2565 ว่ามีการติดตั้งกล้องตามเมืองต่างๆ ในกรุงเนปิดอว์และเมืองย่างกุ้งมาตั้งแต่ ธ.ค. 2563 ก่อนที่กองทัพพม่าจะยึดอำนาจ ภายใต้ความริเริ่มของโครงการ "เมืองปลอดภัย"  

ผู้เชี่ยวชาญและนักกิจกรรมในพม่ากังวลว่าการที่กองทัพสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ได้มากขึ้น จะส่งผลต่อความปลอดภัยของผู้ที่คัดค้านระบอบเผด็จการทหารของพลเอกอาวุโส มินอ่องหล่าย ซึ่งขึ้นสู่อำนาจหลังการรัฐประหารมาตั้งแต่ ก.พ. 2564 

เมื่อต้น ก.ค. 2565 ที่ผ่านมา DW อ้างอิงรายงานพิเศษของรอยเตอร์ระบุว่ารัฐบาลทหารพม่าได้ขยายการติดตั้งระบบกล้องไปตามเมืองต่างๆ ทั้ง 14 รัฐและแคว้นต่างๆ ของประเทศแล้ว โดยกล้องเหล่านี้มีแหล่งการผลิตมาจากบริษัทของจีน ได้แก่ หัวเหว่ย ต้าหัว และฮิควิชัน 

กล้องเหล่านี้มาพร้อมกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งจะแสกนภาพใบหน้าและป้ายทะเบียนของผู้สัญจรไปมาในที่สาธารณะโดยอัตโนมัติ ทั้งยังมีระบบการแจ้งเตือนไปยังเจ้าหน้าที่เมื่อพบเห็นคนที่ตกเป็นเป้าหมายของทางการเมืองด้วย

ตินซาร์ชุนเลยี นักกิจกรรมในย่างกุ้งให้สัมภาษณ์กับ DW ระบุว่า "นี่เป็นภัยคุกคามอีกประการหนึ่งที่กำลังมา ไม่ใช่แค่ทางบกเท่านั้น ตอนนี้เรากำลังต่อสู้กับระบอบอำนาจนิยมดิจิตัลด้วย" 

หลังการรัฐประหารเป็นต้นมา กองทัพพม่าไม่ได้แยแสต่อแรงกดดันจากนานาชาติมากนัก และพยายามปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างหนัก ข้อมูลสมาคมเพื่อการช่วยเหลือนักโทษการเมืองของพม่าระบุว่าตั้งแต่การรัฐประหารเป็นต้นมามีผู้เสียชีวิตไปแล้วกว่า 2,100 คน และมีผู้ถูกจับกุม ดำเนินคดี หรือตัดสินโทษโดยรัฐบาลทหารพม่าไปแล้วกว่า 14,800 คน 

โลกดิจิตัลเป็นหนึ่งในแนวรบที่สำคัญของการปราบปรามผู้เห็นต่าง นอกจากจะพยายามติดกล้องและเทคโนโลยีตรวจจับใบหน้าแล้ว รัฐบาลทหารพม่ายังพยายามสอดแนมผู้เห็นต่างด้วยวิธีอื่นๆ ด้วย เช่น การจำกัดการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต และการระงับเนื้อหาบนโลกออนไลน์ หลังการขายกิจการโทรคมนาคมให้แก่ธุรกิจในเครือข่ายรัฐบาลทหารพม่าของบริษัทเทเลนอร์ 

นอกจากนี้ยังมีรายงานด้วยว่าคณะรัฐประหารได้ติดตั้งสปายแวร์ผ่านบริการโทรคมนาคม และผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตต่างๆ เพื่อสอดแนมหาผู้ที่อาจเป็นปรปักษ์ต่อการปกครองของระบอบทหารพม่า วิธีการเหล่านี้ก่อให้เกิดความกังวลในกลุ่มนักกิจกรรมในพม่าอย่างมาก

"เราไม่ปลอดภัย โดยพื้นฐานแล้ว ข้อมูลของเราทั้งหมดอาจถูกตรวจพบได้ รัฐบาลทหารใช้อำนาจดิจิตัลของตนเองไปอย่างมากในการเผยแพร่ข้อมูลคลาดเคลื่อนและข้อมูลเท็จ รวมถึง การตรวจหาว่าพวกเราอยู่ที่ไหนและพวกเรากำลังทำอะไรอยู่"  ตินซาร์ชุนเลยีกล่าว

ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการทวีปเอเชียของ Human Rights Watch ให้สัมภาษณ์กับ DW ว่ากล้องนั้นเป็น "เครื่องมือชั้นดีในการส่องสอดแนม" และจะส่งผลให้รัฐบาลทหารสามารถเฝ้าดู ติดตาม และนำไปสู่ปฏิบัติการเพื่อโจมตีฝ่ายผู้เห็นต่างในที่สุด

"เราคาดการณ์ว่าระบบเหล่านี้จะถูกนำไปใช้เพื่อค้นหาบุคคลที่อยู่ความสนใจ ติดตามการเคลื่อนไหวของพวกเขา ค้นหารถมอเตอร์ไซค์และรถยนต์ของพวกเขา และติดตามพวกเขาไปถึงที่กบดาลของฝ่ายต่อต้าน ที่ซึ่งกองกำลังของรัฐบาลทหารสามารถโจมตี จับกุม หรือสังหารผู้ที่ต่อต้านรัฐบาลทหารได้ในที่สุด" ฟิลกล่าว

DW เล่าต่อว่าเทคโนโลยีสอดแนมเพื่อความปลอดภัยนั้นถูกใช้โดยรัฐบาลทั่วโลกเพื่อลดปัญหาอาชญากรรม รวมถึงรัฐบาลที่ไม่ใช่ระบอบอำนาจนิยมด้วย เพราะรัฐบาลของอองซานซูจีก็ใช้เทคโนโลยีของจีนก่อนการรัฐประหาร อย่างไรก็ตาม ในบริบททางการเมืองของพม่า Human Rights Watch เห็นว่ารัฐบาลทหารกำลังใช้เทคโนโลยีเหล่านี้เพื่อเสริมอำนาจการปกครองของตนเองให้มากขึ้น 

ฟิล โรเบิร์ตสัน อธิบายว่ารัฐบาลทหารอ้างว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ถูกนำมาใช้ในโครงการ "เมืองปลอดภัย" แต่จริงๆ แล้วคำพูดสวยหรูนี้ "ถูกออกแบบมาเพื่อปกปิดการละเมิดสิทธิ และการส่องสอดแนมภายใต้ข้ออ้างของการต่อต้านอาชญากรรม" และเทคโนโลยีเหล่านี้กำลังส่งผลกระทบในพม่าเด่นชัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

"เราพบว่าตัวเลขการจับกุมเพิ่มสูงขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะในกลุ่มคณะกรรมการนัดหยุดงานของเรา" ตินซาร์ชุนเลยี ให้สัมภาษณ์กับ DW และกล่าวเสริมว่า "นอกจากนี้ การจัดตั้งเพื่อนัดหยุดงานระลอกใหญ่ในพื้นที่เมืองต่างๆ ก็ทำได้ยากขึ้นด้วย" 

ทั้งนี้ ตินซาร์ชุนเลยีซ่อนตัวจากรัฐบาลทหารมาตั้งแต่ต้นปี 2564 แม้ว่ารัฐบาลทหารจะใช้ความรุนแรงอย่างโหดร้ายทารุณ และใช้เทคโนโลยีสอดแนมผู้เห็นต่างมากขึ้นทุกที แต่เธอยังเชื่อว่าการต่อสู้จะดำเนินต่อไป

"พวกเขาอาจสังหารนักปฏิวัติ แต่ไม่อาจดับจิตวิญญาณแห่งการปฏิวัติได้ ตราบที่รัฐบาลทหารยังพยายามปกครองชาตินี้อยู่ กำลังของฝ่ายต่อต้านก็จะดำเนินต่อไป" ตินซาร์ชุนเลยี กล่าว

ในประเทศไทยมีการพูดถึงการใช้เทคโนโลยีสอดส่องของรัฐบาลเช่นกัน เมื่อไม่นานมานี้ iLaw ได้เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับโปรแกรมเพกาซัส ซึ่งถูกใช้เพื่อสอดแนมนักกิจกรรมฝ่ายประชาธิปไตยหลายต่อหลายคน ประเด็นดังกล่าวถูกพูดถึงในการอภิปรายไม่ไว้ใจวางที่ผ่านมา และต่อมาพรรคก้าวไกลได้เผยแพร่เอกสารพบว่าหน่วยรัฐมีการของบประมาณในการซื้อโปรแกรมเพกาซัส รวมถึง โปรแกรมสอดแนมอื่นๆ ด้วย 


ที่มา
How Myanmar's junta is using Chinese facial recognition technology (Enno Hinz, DW, 28 July 2022)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net